Skip to main content
sharethis


ประชาไท - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ตอบคำถามในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.แปรรูป บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) 2 ฉบับ คือพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งประชาไท ดังนี้

 


คำถามแรก 1.นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ.อย่างไร 2.สถานภาพของ กฟผ.ต่อจากนี้ไปจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามเดิมหรือไม่


 


นายมีชัยตอบว่า 1.ผลแห่งคำพิพากษา แสดงว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดำเนินการเรื่องนี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบเป็นการเฉพาะตัว และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า


 


"ในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา 211 และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี"


 


เมื่อในขณะนี้ไม่มีรัฐสภา ก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เมื่อศาลปกครองวินิจฉัยว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายจนมีผลให้พระราชกฤษฎีกาถึง 2 ฉบับไม่มีผลใช้บังคับ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจึงไม่มีทางปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ส่วนจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับวิธีคิดของแต่ละคน ที่นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ลาออกนั้น ความผิดพลาดคือการไปตีกอล์ฟในขณะที่บ้านเมืองยังมีปัญหา แต่ชักไม่แน่ใจว่านั่นจะถือเป็นมาตรฐานของสากลได้หรือไม่


 


ส่วนคำตอบข้อที่ 2.คือ กฟผ.ก็ต้องกลับมาเป็นอย่างเดิม


 


คำถามที่สอง การปฏิรูปการเมืองนั้นมีรายละเอียดว่า รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยคนหนึ่ง (โภคิน พลกุล) ออกมาเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ เพื่อเปิดทางให้สามารถเป็นรัฐมนตรีและนักธุรกิจพร้อมๆ กัน ความเห็นที่ว่านี้ ถือเป็นการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ครับ และการปฏิรูปทางการเมืองที่หลายฝ่ายเรียกร้องจะช่วยผ่าตันทางการเมืองได้หรือไม่


 


นายมีชัยตอบว่า ถ้าจะแก้ไขอย่างนั้น ก็เอาเสียให้ถนัดกว่านี้เลย เช่น ยอมให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปทำมาหากินได้ จะได้ไม่ต้องไปตีความกันในภายหลัง หรือจะเอาให้เจ๋งกว่านั้น ก็บัญญัติเสียด้วยว่า จะให้รัฐมนตรีเรียกเปอร์เซ็นต์ได้กี่เปอร์เซ็นต์ นายมีชัยระบุ


 


ด้านนายวิษณุ เครืองาม รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ก็ต้องยกเลิกการแปรรูป และกลับไปสู่สภาพรัฐวิสาหกิจเหมือนวันที่ 23 มิถุนายน 48 เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเหมือนเดิม ส่วนหุ้น กฟผ.ก็ต้องไปซื้อกลับคืนมาทั้งหมด ทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาพเดิมหมด


 


ส่วนประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าความเสียหายหมายถึงอะไร ไม่ว่าจะเป็นที่พนักงานที่ต้องไปกู้เงินมาซื้อหุ้น หรือที่ กฟผ.ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ ก็ต้องเคลียร์กลับไปให้หมด ซึ่งยอมรับว่าอาจจะเกิดความยุ่งยากได้ และตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ถามว่า นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่เพียงสั้นๆ ว่า ไม่ทราบ แต่ยอมรับว่ารัฐบาลเป็นผู้ออก พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับ แต่รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไรนั้นไม่ทราบ


 


ทั้งนี้นายวิษณุ ได้ตอบคำถามกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศว่าจะมีการฟ้องร้องรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ได้แปรรูปไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องกลับไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองในรายละเอียดเสียก่อน บางเรื่องอาจจะนำคำวินิจฉัยของศาลปกครองในกรณีนี้มาเป็นบรรทัดฐานได้ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า การบินไทยไม่เหมือนกันกับกรณี ปตท. เพราะการบินไทยเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว เพียงแต่มีการขายหุ้นเพิ่ม แต่บริษัทไปรษณีย์ไทยและ กสท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งเป็นบริษัทตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ มีการแปรทุนเป็นหุ้น ถือเป็นคนละลักษณะกับการบินไทย เพราะการบินไทยไม่ได้แปรทุนเป็นหุ้น แต่เป็นหุ้นมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 10-20 ปีมาแล้ว ส่วน ปตท., องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย, การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งต้องไปพิจารณาว่ารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งนั้นดำเนินการถูกต้องหรือไม่


 


ขณะที่นายทนง พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง กล่าวไม่เห็นด้วยที่จะมีการเรียกร้องจะทวงคืนรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ที่มีการแปรรูปเข้าไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้านี้ถือเป็นการถอยหลัง ควรจะทำให้เกิดการเดินหน้าเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นจะดีกว่า และการจะทำให้บริษัทเหล่านั้นที่แปรรูปเข้าไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดรวมกันหลายแสนล้านบาท อาจจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาลได้ อาจจะทำให้ตลาดทุนได้รับความเสียหายถึงขั้นล้ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net