บทความเจิมศักดิ์ : ข้อครหา "สีเทา" ที่ กกต.จะต้องตอบ ก่อนจะเป็น "สีดำ"

โดย ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง

 

 

            การเลือกตั้งที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 นี้ นับเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อครหามากที่สุด นับแต่เริ่มมีการเลือกตั้งมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

            ไม่ต้องกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีผู้สมัครสังกัดพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เคยมี ส.ส.อยู่ในสภาเมื่อสมัยที่แล้ว ลงสมัครแข่งขันด้วยเลยแม้แต่พรรคเดียว  แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีเพียงพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียว ที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั่วประเทศ  โดยมีกว่า 271 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศที่พรรคไทยรักไทยได้ส่งผู้สมัครโดยไม่มีคู่แข่งเลย

นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้นับการเลือกตั้งที่มีระยะเวลาเตรียมการสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในกรณียุบสภา  คือมีเวลาให้พรรคการเมืองอื่นๆ ได้ทราบก่อนวันเลือกตั้งแค่ 30 กว่าวัน

ยิ่งกว่านั้น การยุบสภาของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ว่าเป็นการผลักภาระปัญหาและประเด็นข้อครหาที่สังคมมีต่อตัวนายกรัฐมนตรี  ตัดสินใจยุบสภาโดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยครรลองของระบบรัฐสภา

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายนนี้  จึงถูกครหาอย่างมากว่า จะเป็นการสร้างความชอบธรรมและฟอกความผิดเฉพาะตัวให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 นั่นเป็นเพราะ "ระบอบทักษิณ" ที่ยึดกุมสังคมการเมืองอย่างถึงแก่น ได้ทำให้ระบบราชการ ระบบตรวจสอบ และระบบการทำงานขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมทุกฝ่ายว่าจะสามารถทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล

กล่าวเฉพาะตัว กกต. ก็ปรากฏว่า มีข้อครหาหลายประเด็น ที่ กกต. จะต้องให้ความกระจ่างแก่สังคมให้ได้เสียก่อน  ไม่เช่นนั้น ย่อมจะเป็นเหตุแห่งการไม่ยอมรับในตัวองค์กรผู้ดำเนินการการเลือกตั้ง และนำไปสู่การไม่ยอมรับรัฐบาลหลังเลือกตั้ง  

แทนที่การเลือกตั้งจะเป็นทางออกของความขัดแย้ง ก็จะกลายเป็นชนวนเหตุและเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมต่อไป

กกต. จะต้องเร่งชี้แจงในข้อครหาต่อไปนี้

 

1) กรณีที่ กกต.ชุดนี้ มีการออกระเบียบขึ้นเงินค่าตอบแทนให้แก่ตนเองในลักษณะเดียวกันกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ซึ่งบัดนี้ ป.ป.ช.ชุดที่กระทำการดังกล่าว ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ต้องโทษจำคุก เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

กกต. ชุดนี้ ซึ่งมีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันกับ ป.ป.ช. จะยังมีความชอบธรรม และยังสมควรจะได้รับการเชื่อถือให้ปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับการยุติธรรมในกระบวนการเลือกตั้ง อีกต่อไปหรือ?

 

2) กกต. ชุดนี้ ได้มีพฤติกรรมในการออกระเบียบและการเบิกจ่ายงบลับอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย  โดยเมื่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบ หลังจากที่นายจรัล บูรณะพันธ์ศรี (หนึ่งใน กกต. ภายหลังได้เสียชีวิตแล้ว) ได้ให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการฯ ว่า กกต.ไม่เคยมีการประชุมในเรื่องนี้เลย  คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญ กกต.ทั้ง 4 คน เข้ามาชี้แจงเรื่องระเบียบ เกี่ยวกับการใช้งบลับ ว่ามีการประชุมกี่ครั้ง ใครเข้าร่วมประชุมบ้าง และมติออกมาว่าอย่างไร แต่กลับไม่ยอมมาชี้แจง โดยอ้างเหตุเรื่องเอกสาร

 

3) การจงใจไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในการสรรหา กกต.คนใหม่ หลังจากที่นายจรัล บูรณะพันธ์ศรี หนึ่งใน กกต.ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2548 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 138 กำหนดไว้ว่า การสรรหา กกต.ต้องสรรหาให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ทั้งนี้ หากกรรมการสรรหา กกต. สรรหาไม่เสร็จ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา เสนอชื่อแทนภายใน 15วัน แสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มี กกต.ครบ 5 คนโดยเร็ว แต่จนบัดนี้ ก็ยังมี กกต.อยู่เพียง 4 คน โดยไม่ยอมให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการ  จึงไม่น่าสอดคล้องหรือเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

 

4)  กกต.ชุดนี้ ได้มีการแบ่งพื้นที่ดูแลตามภาค ในขณะที่ กกต.ชุดที่แล้วแบ่งกันรับผิดชอบตามหน้าที่ จึงมีข้อกังขาว่า กกต.เจ้าของพื้นที่จะให้ใบแดง ใบเหลือง กับใครก็ได้ อาจเกิดช่องว่างในการวิ่งเต้น

 

5) กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งโดยร่วมกันกับหัวหน้าพรรครัฐบาลและที่ปรึกษากฎหมายเพียงฝ่ายเดียว  ทั้งๆ ที่ กกต.ชุดที่แล้ว ได้กำหนดวันเลือกตั้งโดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมกำหนด  นำไปสู่การกำหนดให้มีการเลือกตั้งอย่างกระชั้นชิดที่สุดในประวัติศาสตร์

 

6) มีข้อสงสัยในเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่ให้กองสลากเป็นผู้จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ทำให้มีปัญหา เพราะที่ผ่านมา มีครหาเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน  เคยมีบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้งไปถูกเผาได้ อีกทั้งยังมีการมัดบัตรเลือกตั้งเป็นมัดๆ ละ 500 ใบ ซึ่งเป็นการง่ายต่อการสับเปลี่ยน และมีผลการลงคะแนนที่ปรากฎว่า บนกระดานมี 500 คะแนนที่เลือกเบอร์และใช้หมึกสีเดียวกัน กาแบบเดียวกันบนบัตรเลือกตั้ง  ในภายหลังเมื่อถูกท้วงติงก็มาใช้ตรายางลงคะแนนแทน

 

7) ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ปรากฏว่า กกต. เคยมีมติให้ใบเหลืองใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง  แต่ประธาน กกกต. กลับมีการประกาศใบเหลืองใบแดงไม่ตรงกับมติของคณะกรรมการ กกต.  ทั้งๆ ที่ การลงมติจะต้องเป็นมติเอกฉันท์ แต่บางกรณี กรรมการ กกต.บางคนยังไม่ได้ลงชื่อ ก็นำไปประกาศ

 

8) คุณสัก กอแสงเรือง สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า  ในเมื่อ กกต. ถูกตั้งข้อสงสัยทั้งทั้งในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่และพฤติกรรมการรับเงิน ดังนั้น ควรพิจารณาว่าจะทำหน้าที่ต่อหรือไม่ และถ้าจะทำหน้าที่ต่อไปแล้วจะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ จะได้รับการยอมรับเชื่อถือหรือไม่? 

 

            ทั้ง 8 ประเด็นนี้ กกต.ควรจะต้องชี้แจงอย่างกระช่างชัดต่อสาธารณะให้ได้ 

            มิเช่นนั้น  การเลือกตั้ง 2 เมษายน ก็จะไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งสีเทา  แต่จะเป็นการเลือกตั้งสีดำ เป็นรอยเปื้อนอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสืบไปอีกนานเท่านาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท