พิทยา ว่องกุล : สถานการณ์ที่บังคับให้เลือกและชัยชนะของประชาชน

เป้าหมายสูงสุดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องการกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเหตุการณ์นองเลือดเช่น เหตุการณ์๑๔ ตุลาคม ๑๖ หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕นั้น จะเป็นเพียงแค่ความฝันของบรรดาผู้นำพันธมิตรหรือไม่? จำเป็นจะต้องอาศัยสถานการณ์หรือเหตุปัจจัยอื่นๆมาวิเคราะห์กันมากมาย

โดยเฉพาะบทเรียนในอดีต แม้จะแตกต่างจากปัญหายุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณหลายประการ แต่ความวิตกกังวลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสูตรสำเร็จรูปที่มักอ้างกันว่า การขับไล่รัฐบาลยุคใดก็ตาม มักไม่อาจหลีกเลี่ยง "ความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การนองเลือด"ได้

เหตุนี้ เมื่อฝ่ายรัฐบาลทักษิณโหมประโคมว่า การชุมนุมของประชาชนเพื่อขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น จึงดูเหมือนจะชักจูงใจให้คนเชื่อกันมาก และเมื่อนำไปประกอบกับการจัดตั้งม็อบเชลียร์พ.ต.ท.ทักษิณของข้าราชการและส.ส.พรรคไทยรักไทย ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่แยกคนเป็นฝักฝ่าย มีนักการเมืองเสี้ยมเขาให้ลูกจ้างรักษาป่าไม้ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ไล่พ.ต.ท.ทักษิณ รวมไปถึงการจัดตั้งคาราวานอีแต๋นลงมากรุงเทพฯเพื่อสนับสนุนรัฐบาล สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจึงมีแนวโน้มขึ้นสู่จุดเดือด ด้วยความหวั่นวิตกว่าจะเป็นการเล่นเกมส์ม็อบชนม็อบ เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินและปราบปรามประชาชน และทำให้สูตรสำเร็จรูปนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นสัจจะต่อไป

บรรดาผู้หวังดีต่อบ้านเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่จากหลายสาขาอาชีพ ทั้งพระภิกษุ บุคคลสาธารณะ นักวิชาการอาวุโส หรือผู้ใฝ่หาความสงบเป็นที่ตั้ง ส่วนหนึ่งจึงเรียกร้องให้ปรองดองกัน ถอยกันคนละก้าว เรียกร้องให้เดินทางสายกลาง หรือเจรจากัน ความปราถนาดีเหล่านี้เกิดมาจากจิตสำนึกที่ไม่ต้องการเห็นเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นอีกนั่นเอง

ทั้งที่สูตรสำเร็จรูปในการขับไล่เผด็จการจนมีเหตุนองเลือดนั้น ทุกครั้งประชาชนไม่เคยก่อขึ้น หากแต่มักเกิดจากการใช้อำนาจรัฐหรือกำลังติดอาวุธปราบปรามประชาชน เมื่อเผด็จการหรือผู้นำเผชิญหน้ากับพลังประชาชนนับแสนเดินขบวนเนืองแน่นถนนราชดำเนิน และลุกลามไปทั่วประเทศ

ขณะนี้ วาทกรรมที่หวาดกลัวเหตุการณ์นองเลือดกำลังถูกสร้างสีสัน และเบี่ยงเบนปัญหาหลักทางการเมืองไปจากเดิม ซึ่งเคยสรุปกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นตอปัญหาบ้านเมือง สิ่งสำคัญยิ่งก็ คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ไต่ระดับความรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นไม่อาจให้เป็นนายกฯอีกต่อไปใช่หรือไม่? และอะไรคือสาเหตุแห่งความไม่ไว้วางใจเช่นนี้?

คำตอบที่ชัดเจน คงต้องยอมรับกันว่า ปัญญาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ครู นักหนังสือพิมพ์ วุฒิสภา ชนชั้นกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมไทย นักเขียน หมอ ศิลปิน รวมไปถึงนักเรียนนิสิตนักศึกษา ล้วนออกมาเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรื อเว้นวรรคทางการเมือง เนื่องจากปัญหาขาดจริยธรรมในการปกครองประเทศ สถานการณ์ลุกลามและทวีความรุนแรงถึงขั้นเดินขบวนขับไล่ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกไป ก็เป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิทางการเมืองที่เดือดสุดๆว่า ประชาชนแตกหักทางการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงขั้นไม่ยอมอยู่ใต้การบริหารปกครองอีกต่อไปแล้ว

ตามหลักทฤษฏี "การต่อเนื่องทางการเมืองที่ประนีประนอมกันไม่ได้ คือ สงคราม หรือการหลั่งเลือด" สถานการณ์เลวร้ายเช่นนั้นกำลังใกล้เข้ามาสู่สังคมไทยแล้วใช่ไหม? จะหลีกเลี่ยงกันได้อย่างไร?

แต่ก่อนเหตุการณ์นองเลือดจะเกิดขึ้น ย่อมมีพัฒนาการที่แสดงถึงการแตกหักทางการเมือง สถานการณ์ปัจจุบันมาถึงจุดนี้แล้ว เมื่อขบวนการนักศึกษาประชาชนรวมตัวมากระดับเรือนแสน กลายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีจิตสำนึกที่หลอมรวมกันเป็นเอกภาพ ประกาศไม่ยอมรับผู้นำเผด็จการรัฐสภา อาศัยยุทธวิธีบอยคอต และขัดขืนไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐบาลอีกต่อไป นี่คือจุดแตกหัก เป็นตัวชี้วัดถึงการสูญเสียอำนาจ และแสดงให้เห็นพลานุภาพของประชาชนก้าวมาถึงจุดที่ "ไม่อาจประนีประนอมกันได้"จริงๆ

เหตุนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ย่อมเป็นไปตามทฤษฎีสงคราม(on war ) ของเคลาท์วิตซ์ ปรมาจารย์ด้านการทหารของโลก ผู้ให้นิยามสงครามหมายถึงความขัดแย้งต่อเนื่องทางการเมืองที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ จึงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหันมาใช้กำลังความรุนแรงกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะมักจะเป็นการกระทำจากฝ่ายที่คิดว่าตนเองมีกำลังเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง และสามารถใช้กำลังทำสงครามหรือกำหราบให้ปรปักษ์พ่ายแพ้ได้

เพราะไม่มีใครที่ตัวเล็กนิดเดียวคิดงี่เง่าไปท้าตีท้าต่อยกับยักษ์ใหญ่ฉันใด ก็ย่อมไม่มีประชาชนหมู่ใดที่ปราศจากอาวุธไปก่อเหตุวุ่นวายท้ารบกับรัฐบาลที่มีกองทัพพร้อมอาวุธทันสมัยฉันนั้น บทเรียนประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นว่า การลุกขึ้นสู้ในเมืองของประชาชนประเทศต่างๆ ซึ่งมีแต่สองมือเปล่า ล้วนยุติลงด้วยการปราบปรามจากรัฐบาลเผด็จการตลอดมา

จะมีบ้างในบางประเทศ เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนกับรัฐบาลเผด็จการมาถึงจุดแตกหัก จนถึงขั้นใช้ตำรวจทหารบางส่วนพร้อมอาวุธเข้าปราบปรามประชาชน และเหตุการณ์นองเลือดทำให้เกิดความแตกแยกในกองทัพ เนื่องจากทหารบางส่วนตัดสินใจเข้าข้างประชาชน หันปากกระบอกปืนใส่รัฐบาลเผด็จการ หรือมีอำนาจที่๓เข้ามาแทรกแซงและอยู่ข้างประชาชน ร่วมมือกันไล่เผด็จการออกไปจากประเทศได้เป็นผลสำเร็จ นี่คือสูตรสำเร็จรูปที่เกิดขึ้นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม๑๖ และพฤษภาคม ๓๕มาแล้ว

หรือว่าการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากขณะนี้ จะต้องเป็นไปตามสูตรสำเร็จรูปเดิมอีกต่อไป โดยมีประชาชนเป็นเหยื่อสังเวยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นในอดีต

ช่างขัดกับสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศว่า จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นอีก นี่เป็นเจตนารมณ์การต่อสู้ในครรลองประชาธิปไตย และใช้สันติวิธีในการผลักดันหรือกดดันให้พ.ต.ท.ทักษิณออกไป ซึ่งถือว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีงามฝ่ายเดียว แต่ไร้เดียงสาทางการเมืองการทหาร หากคู่ปรปักษ์เป็นผู้นำที่เลวบริสุทธิ์ ไร้คุณธรรมทางการเมืองใดๆ

แต่อย่างไรก็เชื่อได้ว่า บางคนในระดับนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นรู้จักสูตรสำเร็จรูปนี้เป็นอย่างดี มีพฤติกรรมหรือการนำที่ส่อแสดงว่า ในที่สุดแล้วการเดินขบวนขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณนั้นยังคงย่ำอยู่กับสูตรเก่า ซึ่งจะต้องโน้มนำไปสู่จุดแตกหักโดยมีการใช้กำลังอำนาจรัฐ หรือสร้างสถานการณ์จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมีประชาชนสองมือเปล่าเป็นเหยื่อเหตุการณ์นองเลือดอีกครั้งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ประชาชนนับแสนที่เข้าร่วมไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยกระดับความกล้าหาญและกล้าเสียสละสูง มีจิตใจเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการถูกจับกุม ปราบปรามหรือใช้กำลังใดๆ ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลหรือการสร้างสถานการณ์ของมือที่ ๓ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการนองเลือด จิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่รักในความเป็นธรรม ใฝ่ในประชาธิปไตยเช่นนี้น่ายกย่องเชิดชูยิ่งนัก นับเป็นการเตรียมพร้อมทางจิตวิญญาณที่สูงส่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ และเป็นคุณค่าสำคัญที่ควรทนุถนอมอย่างยิ่งในการปูพื้นฐานธรรมาธิปไตยไทย

เหตุนี้ จึงขอเรียกร้องระดับนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเป็นต้องมองข้ามสูตรสำเร็จรูปทางการเมืองเดิม โดยการคิดค้นกลวิธีหนีให้พ้นปัญหาซ้ำซากทางประวัติศาสตร์ และลัทธิยอมจำนนในอดีต ด้วยการเปลี่ยนเหตุปัจจัยที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์นองเลือด ไปสู่การสะสมชัยชนะ หรือการยกระดับประชาธิปไตยให้สูงขึ้นและปราศจากการสูญเสียใดให้มากที่สุด

ในที่นี้ ขอนำเสนอการวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยหลักทฤษฎีการแตกหักทางการเมืองที่ก้าวสู่การใช้กำลังความรุนแรง ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับภาคประชาชน และการแก้ไขปัญหาหรือทางออก ด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

๑.จักต้องยอมรับความจริงว่า ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับภาคประชาชน(คนเมืองหรือชนชั้นกลางในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย)มาถึงจุดแตกหักที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ ผลจากความต่อเนื่องนี้ก็คือ พันธมิตรประชาชนฯปฎิเสธการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือระบอบทักษิณอย่างสิ้นเชิง ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณก็แสดงความแข็งกร้าว ไม่ยอมลาออก และอาศัยเพทุบายต่างๆนาๆเพื่อจะให้มีการเลือกตั้งต่อไป โดยมีตนรักษาการและได้เปรียบทุกประตู รวมไปถึงยังมีนักการเมืองลงทุนเกณฑ์คน และว่าจ้างเกษตรกรหรือคนต่างจังหวัดมาชุมนุมสนับสนุนให้อยู่เป็นนายกฯต่อไปฯให้อยู่ตอไป
ฯฯ

๒.การต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาถึงจุดตีบตัน และกำลังยกระดับการต่อเนื่องสู่การใช้กำลังอำนาจรัฐบีบบังคับประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดตามมาภายหลังสถานการณ์สร้างปัญหาม็อบชนม็อบขึ้น หรือการหาเหตุสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือปัญหาการก่อการร้ายของมือที่ ๓ เพื่อช่วงชิงโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉิน รวมไปถึงการปฏิวัติรัฐประหารตัวเอง นี่คือขั้นตอนการใช้กำลังหรือการนองเลือดเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง อันเป็นทางออกสุดท้าย

๓.การแตกหักทางการเมืองพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่อาจร่วมกันได้จริง นั่นคือการแบ่งเป็นฝ่ายอธรรมและฝ่ายธรรมะ ปัญหาทางเลือกระหว่างการไร้คุณธรรมกับการรักษาจริยธรรม ซี่งมีความรู้สึกดีและชั่วเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจน ไม่อาจใช้หลักการสีเทาที่ชอบอ้างกันได้อีกต่อไป ดังนั้น แนวความคิดปรองดอง เป็นกลาง หรือถอยคนละก้าว จึงไม่อาจใช้แก้ไขปัญหาความรุนแรงนี้ได้ เพราะผลที่ตามมาจะเป็นการเข้าข้างฝ่ายที่กุมอำนาจ เปิดช่องทางให้สามารถดำรงฐานะและโอกาสที่เหนือกว่าต่อไปได้ ผลลัพธ์จะเท่ากับเป็นการส่งเสริมและหาทางออกให้ฝ่ายอธรรมสามารถฟื้นตัว ใช้กลไกอำนาจรัฐในการขจัดฝ่ายธรรมะนั่นเอง

๔.การแตกหักทางการเมืองอย่างรุนแรง กำลังส่งผลต่อเนื่องไปสู่การใช้กำลัง(ทหารหรือกลไกรัฐ)ตัดสินชี้ขาด ซึ่งก็คือการนองเลือดหรือการปราบปรามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การสร้างสถานการณ์จลาจลวุ่นวายตามสูตรเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแตกหักทางการเมืองระหว่างภาคประชาชนกับระบอบทักษิณ ได้ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในกองทัพ ทหารตำรวจแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลาง ปกป้องประชาธิปไตย และสถาบันสำคัญของชาติ การแตกขั้วดังกล่าวอย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของอำนาจที่ ๓ในสถานการณ์วิกฤติทางการเมือง

อีกทั้งอำนาจที่ ๓ ยังหมายถึง บารมีหรืออำนาจของผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ดังจะพบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นประชาชนศรัทธาเชื่อมั่นอย่างสูง ในหลวงทรงเปี่ยมด้วยพระบารมีและทรงแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองในภาวะวิกฤติมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งวิกฤติทางการเมืองในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๑๖ และพฤษภาคม ๓๕ หรือในช่วงที่ประชาชนเสื่อมความนิยมระบอบทักษิณ ดังจะพบว่าขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเปิดโปง คัดค้านระบอบทักษิณ และเสนอให้มีการปฏิรูปการเมือง ปรากฎว่า นักวิชาการและประชาชนส่วนหนึ่งก็ออกมาเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจ ส.ว.และนักวิชาการทูลขอรัฐบาลพระราชทาน ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งจากความรุนแรง นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอให้การใช้มาตรา ๗ในรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาพ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมลาออก ท่ามกลางวิกฤติทางการเมืองที่รุนแรงและเข้มข้นยิ่งขึ้น ดังนั้นในที่นี้ จึงรวมเอาพระบารมีหรือพระราชอำนาจจัดไว้ใน "อำนาจที่๓"ด้วย

๕.ตถตา-เป็นเช่นนั้นเองในอิทัปปัจจยตา หรือความจำต้องเป็น(Necessity)หรือ จุดหมายในตัวเอง(Aim in itself)ทางการทหารมาใช้หาทางออกหรือบรรลุวัตถุประสงค์ โดยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังยึดมั่นในหลักการร่วมกันว่า ให้พ.ต.ท.ทักษิณลาออกหรือพ้นไปจากการเมืองไทย และการแสดงพลังของประชาชนนั้นจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดตามสูตรเดิมอีก ดังนั้นผลการวิเคราะห์ความจำต้องเป็นทางการเมืองต่อไปนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธี ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักในระหว่างพันธมิตรประชาชนฯกันให้ดี ได้แก่

การประเมินจิตสำนึกดีชั่วมากน้อยเพียงใดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และควรให้น้ำหนักมากที่สุดในการตัดสินใจกำหนดยุทธวิธีทางการเมือง หรือใช้หาทางออก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะพิจารณาความดีชั่วกันตื้นๆ เพียงแค่ปัญหาการขาดจริยธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงหลังจากเกิดปัญหาการขายหุ้นชินคอร์ปกันง่ายๆไม่ได้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณแสดงตัวตนตลอดเวลาที่เป็นนายกฯ ก็คือ การยึดมั่นถือมั่นใน "อัตตาธิปไตย" ซึ่งเป็นที่มาและเชื่อมโยงสู่ปัญหาการล้มละลายทางความเชื่อมั่นศรัทธาที่ลดลงอย่างรวดเร็วชั่วเวลาปีเดียว ปัญหาลัทธิการเอาแต่ประโยชน์ตนจากนโยบายและวิธีการบริหารประเทศ วิธีซื้อประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม การสร้างภาพและเบี่ยงเบนปัญหาสำคัญ นโยบายการขายประเทศผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและเม็กโปรเจ็กต์ การประเมินกุศโลบายหรือวิธีการพูดกลับกลอกในการแก้ไขปัญหาการเมือง หลังเสียงเรียกร้องให้ลาออก และความพยายามทุ่มเทเพื่ออยู่ในอำนาจอย่างถึงที่สุดไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ภาพรวมทั้งหมดจะบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีผลกำหนดต่อการดิ้นรนเอาเป็นอาตายที่จะเกาะเก้าอี้ไว้จานวินาทีสุดท้าย

การประเมินประชาชนสู้ด้วยสองมือว่างเปล่า เพื่อเอาชนะทางการเมือง ขณะที่นักการเมืองหันมาใช้วิธีการจ้างหรือเกณฑ์คนต่างจังหวัดมาเผชิญหน้ากับคนเมืองกรุง นับวันจะเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าพันธมิตรประชาชนจะขยายชัยชนะทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่การชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนาน ย่อมเปิดช่องทางให้มือที่สามหรืออาจจะเป็นรัฐบาลสร้างสถานการณ์เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินได้ และผลต่อเนื่องก็คือเมื่อพันธมิตรไม่ยินยอม การต่อสู้คัดค้านที่รุนแรงจะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล นี่เป็นเงื่อนไขที่เสี่ยงต่อการสร้างสถานการณ์นองเลือด หากประเทศใดมีผู้นำสติแตกหรือบ้าอำนาจสุดๆนั่งบัลลังก์

ในประเทศประชาธิปไตย การประท้วงหรือชุมนุมแสดงพลังโดยสงบและยืดเยื้อยาวนาน ย่อมเป็นสิ่งธรรมดา เพราะผู้นำมีหิริโอตัปปะ จิตสำนึกประชาธิปไตยสูง และเคารพในสิทธิเสรีภาพประชาชน การลาออกย่อมง่ายดาย และไม่ต้องรอให้ประชาชนเดินขบวนขับไล่

การประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องไปสู่ความรุนแรงที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ม็อบชนม็อบ การก่อกวนสร้างสถานการณ์ การปราบปราม การใช้ความรุนแรงที่นองเลือด หรือสงครามที่ก่อขึ้นโดยรัฐบาล หรือมีมือที่สามเข้าไปก่อกวนให้ประชาชนเกิดจลาจล และตอบโต้รัฐด้วยความรุนแรง จนเปิดช่องให้มี "อำนาจที่ ๓"เข้ามาแก้ไขปัญหา ท่ามกลางการสูญเสียของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ดังนั้น การชุมนุมของประชาชนเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออก โดยหวังว่าไม่มีเหตุการณ์นองเลือด จึงเป็นการเสี่ยง และทางออกดีที่สุด คือไม่ควรสุ่มเสี่ยงในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเหตุปัจจัยทางการเมืองและจิตสำนึกของรัฐบาลเสื่อมหนัก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ควรไว้ใจทางวางใจคนที่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงได้หน้าตาเฉย

การประเมินความจำต้องเป็นในการหาทางออก จากองค์ประกอบทางการเมืองอย่างรอบด้าน โดยตัวของมันเองได้ชี้ให้เห็นว่า ก่อนที่การแตกหักโดยใช้กำลัง หรือกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมาถึง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยน่าจะช่วงชิงโอกาสเป็นฝ่ายรุก เพื่อเข้าสู่ชัยชนะอีกขั้นหนึ่ง โดยสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยการอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือกับ "อำนาจที่๓"หรือเลือกทางออก ดังนี้

๑.สถานการณ์บังคับให้จำเป็นต้องยอมรับและแสดงพลังประชาชนขับเคลื่อนทางออกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗ ชั่วคราว ที่ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยทูลเกล้าฯขอนายกฯรักษาการแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วยืดเวลาเลือกตั้งออกไป พร้อมเปิดรับสมัครใหม่ แต่ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังเลือกตั้ง ก็คือ อาจจะยังคงมีระบอบทักษิณอยู่ต่อไป โดยไม่มีเจ้าของชื่อเป็นนายกฯ ปัญหาการปฎิรูปการเมืองก็ย่อมเผชิญอุปสรรค

๒.สถานการณ์บังคับให้ยอมรับรัฐบาลพระราชทาน เพื่อทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฎิรูปการเมือง และเลือกตั้งใหม่ โดยล้างระบอบทักษิณและไม่มีตัวพ.ต.ท.ทักษิณในแวดวงการเมืองไทย แต่ควรกำหนดเวลาสั้นๆเพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

๓.สถานการณ์ชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ เพื่อให้ความรู้และสร้างสำนึกประชาธิปไตย และขยายพันธมิตรทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ โดยเพิ่มมาตรการ การเรียกร้องแซงชั่น และการบอยคอต ซึ่งนำไปสู่กระแสตื่นตัวของพนักงาน ข้าราชการ ธุรกิจ และประชาชน กระทั่งนัดหยุดงานได้ในวงกว้างทั้งประเทศ เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทำให้รัฐบาลต้องลาออกไป แต่ปัญหาของยุทธศาสตร์นี้ก็คือต้องใช้ช่วงเวลายาวนาน สุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้ง และสร้างสถานการณ์นองเลือดตามสูตรเดิม

นี่เป็นทางออกที่จำต้องเป็น เพื่อจะหลีกเลี่ยงการนองเลือดที่จะเกิดขึ้น หรือคำนึงถึงชีวิตประชาชนสำคัญกว่าอื่นใด อันเป็นสำนึกในคุณธรรมและมนุษยธรรมมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบตะวันตก อีกทั้งยังยกระดับจิตวิญญาณเข้าสู่ "ธรรมาธิปไตย" ปรัชญาการปกครองสูงสุดของตะวันออก และนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่องค์กรประชาธิปไตยจะต้องเจ็บปวดในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะต้องเลือกข้อใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท