Skip to main content
sharethis

ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่อจุดยืนและความคิด ความห่วงใยต่อบ้านต่อเมืองถูกถ่ายทอดและไหลเวียนอยู่ในกระแสสังคม ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการชุมนุมประท้วงเท่านั้น "ประชาไท" ได้รับอีเมลล์จากผู้สื่อข่าวอาวุโส นักวิชาการ นักกิจกรรม ฯลฯ เป็นการภายใน และด้วยข้อความจำนวนหนึ่งเป็นข้อความที่น่าจะชวนกันคิด ถกเถียง เราจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ โดยความยินยอมของผู้เขียน

 

 

 

ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่อจุดยืนและความคิด ความห่วงใยต่อบ้านต่อเมืองถูกถ่ายทอดและไหลเวียนอยู่ในกระแสสังคม ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการชุมนุมประท้วงเท่านั้น "ประชาไท" ได้รับอีเมลล์จากผู้สื่อข่าวอาวุโส นักวิชาการ นักกิจกรรม ฯลฯ เป็นการภายใน และด้วยข้อความจำนวนหนึ่งเป็นข้อความที่น่าจะชวนกันคิด ถกเถียง เราจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ โดยความยินยอมของผู้เขียน

 

 

0 0 0

 

คนที่ 7: ธงชัย วินิจจะกูล (แปลจากภาษาอังกฤษ)

 

ความเห็นของผมค่อนข้างแรง แต่ผมเชื่อว่าสุภาพและมีมารยาทพอ ผมต้องขอโทษด้วยถ้าหากว่าอาจจะดูสับสนสักเล็กน้อย เพราะผมเขียนรวดเดียว

 

ผมไม่เห็นด้วยกับ คนที่ 2  ที่เห็นว่ายังไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯเรื่อง royal intervention เพราะอาจทำให้พันธมิตรฯแตกแยก ความคิดของผมตรงกันข้ามกับของเขา ผมคิดว่ามันล่าช้าไป บางทีอาจจะสายเกินไปแล้วด้วยซ้ำ

 

การวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯเรื่อง royal intervention สายเกินไปตั้งแต่เบื้องต้น

1. กลุ่มต่อต้านทักษิณที่ไม่ได้โหนกระแสสนธิมาตั้งแต่แรกนั้น รวมตัวกันได้ไม่ทันการณ์พอ หรืออาจจะไม่เข้มแข็งพอในเวลาที่มีโอกาส  ในตอนนั้นแม้แต่สนธิซึ่งพลาดจากการบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและกำลังพยายามหาทางลง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวของเขายังคงเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่มีพลังในการต่ิอสู้กับทักษิณ ไม่ใช่ใครอื่นในบรรดาพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน และไม่ใช่การเคลื่อนไหวของนักวิชาการ

2. เพราะฉะนั้น สนธิฉลาดมากที่ดึงกลุ่มพันธมิตรฯ มาเป็นพวกในการเคลื่อนไหวของตัวเอง (ซึ่งตอนนั้นดูเหมือนจะคับแคบเพราะเป็นการเคลื่อนไหวแบบนำคนเดียว) ทำให้การเคลื่อนไหวของสนธิมีความชอบธรรมมากขึ้น พันธมิตรฯ ไม่ได้ดึงสนธิมาเป็นแนวร่วม แต่สนธิต่างหากที่ดึงพันธมิตรฯ เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวและได้ประโยชน์จากมูลค่าที่พันธมิตรฯมีให้ (คือความชอบธรรมทางการเมืองที่กว้างขวางขึ้น) ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็เพลิดเพลินไปกับฐานมวลชนของสนธิ แต่พันธมิตรฯไม่ใช่ผู้นำตัวจริงมาตั้งแต่ต้นแล้ว สนธิต่างหากที่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวนี้มาโดยตลอด

 

พันธมิตรฯ (ไม่รวมสนธิ) สายเกินไปทุกทีในเบื้องกลาง

1. ก่อนหน้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุมครั้งแรก นับตั้งแต่มีข่าวอื้อฉาวกรณีดีลชินคอร์ปฯ ออกมา แนวร่วมหลายฝ่ายที่กลายมาเป็นกลุ่มพันธมิตร มักจะบอกใครๆ ที่คัดค้านเรื่องพระราชอำนาจให้เงียบเสียงไปก่อน โดยให้เหตุผลประกอบเหมือนที่เคยพูดๆ กันมา นั่นก็คือว่า มันเร็วเกินไปที่จะพูดแบบนั้น มันอาจจะทำให้เกิดการแตกแยกภายใน เราควรจะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง หรืออะไรประมาณนี้  เวลานี้สถานการณ์ก็ดำเนินมาถึงจุดที่ royal intervention เป็นไปได้มากอย่างยิ่ง (probable)หรือคงจะเกิดขึ้น (likely) ไม่ใช่เพียงแค่ "เป็นไปได้" (possible) ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ชาญวิทย์ว่า ตอนนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราจะทำอะไรได้เพื่อหยุดเรื่องนี้ มาถึงป่านนี้แล้ว ยังบอกว่าควรจะหยุดเสียงคัดค้านพระราชอำนาจไปก่อนด้วยเหตุผลเดิมๆ  ถ้าแสดงออกตอนนี้ถือว่าเร็วเกินไป ผมก็ไม่แน่ใจแล้วว่า เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่เหมาะสมเสียที

อย่างไรก็ตาม ผมมีความพอใจอยู่เล็กน้อยว่านี่อาจเป็นครั้งแรกๆในประวัติศาสตร์ของไทยยุคใกล้ ที่เสียงค้าน ไม่เอารัฐบาลพระราชทาน ดังจนได้ยินในหมู่สาธารณชน เสียงที่บอกว่า รัฐบาลพระราชทานไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังพอที่เราจะได้ยินทั่วกัน ผมมั่นใจว่าเสียงนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ royal intervention ต้องคิดให้หนัก

 

2. ผมไม่เคยเสนอให้มีการแยกทางกันในบรรดาพันธมิตรฯ แต่ผมสงสัยว่าทำไมจะต้องกลัวการแยกทางกัน?

คำตอบที่ 1 ถ้าพันธมิตรฯไม่มีสนธิหรือพวกที่นิยมเจ้ามาร่วมด้วย พันธมิตรฯอาจจะบ้อท่าไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถ้าตอนนี้สนธิไม่มีพวก non-royalistในพันธมิตรฯเป็นแนวร่วม ผมคิดว่าขบวนการของสนธิก็ยังอยู่รอดต่อไปได้ ความกังวลว่าจะมีการแยกทางจึงเป็นเรื่องที่พวก non-royalistในพันธมิตรฯ ต้องการอยู่รอดให้ได้แบบพอไม่ขายหน้า การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างในสถานการณ์แบบนี้จึงไม่ใช่นโยบายก้าวหน้าเพื่อหาพันธมิตรกว้างขวาง แต่เป็นการหลอกตัวเองเพื่อไม่ให้ตัวเองโดนทอดที้งแค่นั้นเอง  ในขณะที่พวก non-royalistในพันธมิตรฯพยายามปรามมิตรสหายที่คัดค้าน royal intervention ให้เงียบเสียง พวกเขาไม่เคยตำหนิสนธิ จำลอง หรือพวกนิยมเจ้าคนอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นพยายามเรียกร้องให้มีรัฐบาลพระราชทานอยู่ตลอดเวลา นี่ต่างหากที่เป็นความน่าผิดหวังที่แท้จริง

ด้วยเหตุนี้ คำถามที่แท้จริงที่พวก non-royalist ในพันธมิตรฯ หลบเลี่ยงอย่างไม่รู้ตัวก็คือ - เราจะยอมละทิ้งสิ่งที่เราเชื่อมั่นและหลักการประชาธิปไตยไป เพียงเพื่อต้องการอยู่รอดให้ได้แบบพอไม่ขายหน้าเท่านั้นน่ะหรือ?

 

คำตอบที่ 2 การแยกทางกันในบรรดาพันธมิตรฯจะทำให้ทักษิณ "หลุดมือ" รอดไปทันที เรื่องนี้มองเห็นได้ง่ายและชัดเจนกว่า  แต่อีกคำถามหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่และบรรดาพันธมิตรฯพยายามเลี่ยงก็คือ - อะไรคือราคาที่ต้องใช้จ่ายเพื่อให้ทักษิณไม่หลุดรอดไปได้? อะไรคือราคาของ "ชัยชนะ"? ถ้าหากว่าชัยชนะมาพร้อมกับรัฐบาลพระราชทานและการนองเลือดแม้เพียงเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่า "ชัยชนะ" ได้หรือ?

มีคำตอบต่างๆ นานา สำหรับคำถามนี้ -นับตั้งแต่คำตอบว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายแบบไหนที่รับได้เลย ไปจนถึงคำตอบที่ว่า บางอย่างเป็นเรื่องที่พอรับได้ -คำตอบต่างๆกันเหล่านี้จะทำให้เราต้องคิดถึงผลที่อาจมากับการขับไล่ทักษิณออกเดี๋ยวนี้ และคำตอบที่หลากหลายพวกนี้จะทำให้เราตระหนักดีขึ้นว่า เสียงคัดค้านเรื่องรัฐบาลพระราชทานช้าหรือเร็วเกินไปกันแน่

ถ้าจะให้ผมพูดอย่างเป็นรูปธรรมตามความเห็นของผม ผมคงต้องเสนอความคิดเห็นคัดค้านการตัดสินใจหลังๆถึงล่าสุดของฝ่ายพันธมิตรฯ ซึ่งต้องการรุกฆาตทักษิณ เพื่อที่พันธมิตรฯจะได้ชัยชนะในทันทีทันใด การทำอย่างนั้นทำให้พันธมิตรฯดูเสมือนกองทหารมากกว่าจะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านการเมือง พันธมิตรฯ จะไม่สนใจรณรงค์ให้ประชาชนกาในช่องไม่เลือกใครในวันเลือกตั้งเลยเพราะพันธมิตรฯ ต้องการชัยชนะเดี๋ยวนี้เท่านั้น

 "ความสำเร็จ" ของการชุมนุมประท้วงหลายต่อหลายครั้ง (ผมว่ามันคงขึ้นอยู่กับจะมอง"ความสำเร็จ" ยังไง ผมเห็นว่าฝ่ายพันธมิตรฯ ยกย่องในความสำเร็จของตัวเองง่ายไป ตบหลังตบไหล่ชื่นชมกันเองง่ายไปหน่อย ไว้ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ทีหลังดีกว่า)  "ความสำเร็จ" ของการชุมนุมทำให้พันธมิตรฯ ประเมินตัวเองสูงเกินไปสักนิด พวกเขาอาจจะคิดว่าได้กลิ่นชัยชนะอยู่แค่เอื้อม มันคืออะไรกัน? มันอยู่ที่ไหน? และชัยชนะนั่นจะมาเมื่อไหร่?

ผมขอสนับสนุนความคิดของ คนที่ 4 ว่า ผมไม่ไว้ใจ พวกที่เป็นแกนนำในพันธมิตรฯ พวก non-royalist ในพันธมิตรฯเป็นพียงไม้ประดับ  การนำที่แท้จริงอยู่ในมือสนธิและจำลอง  ผู้นำบางคนนี้มีพวกที่สามารถใช้วิธีการสกปรกไร้อุดมการณ์ได้ ภูมิหลังของคนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมองข้ามกันไปได้ง่ายๆ นอกเสียจากว่าคุณจะแสร้งมองไม่เห็น ทักษิณไม่มีเหตุผลที่จะเป็นฝ่ายจบเรื่องราวเหล่านี้ในเวลาอันรวดเร็วนัก เขาต้องการทำให้มันยืดเยื้อออกไป อย่างน้อยจนถึงเลือกตั้ง จะมีก็แต่ฝ่ายพันธมิตรฯ เท่านั้นที่ต้องการให้เหตุการณ์นี้จบลงเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรฯ จึงไม่เคยสนใจในการรณรงค์ให้ประชาชนกาในช่องไม่เลือกใคร  ในความคิดของผม  นั่นคือการตัดสินใจที่ผิดสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวด้านการเมือง ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะว่า ผมไม่อาจยอมรับราคาที่ต้องจ่ายซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่ได้

ผมไม่สนใจถ้ารัฐบาลง่อยเปลี้ย (lame duck) ของทักษิณจะอยู่ในอำนาจนานกว่านี้ ต่อให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 2-3 ปีในฐานะรัฐบาลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือและง่อยเปลี้ย  ก็ยังดีเสียกว่าปล่อยให้มีการนองเลือดเกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะเป็นการนองเลือดที่เล็กน้อยเพียงใด หรือแม้แต่การจัดตั้งรัฐบาลพระราชทานก็ตามที

รัฐบาลพระราชทานในวันนี้ มีค่าเท่ากับ โยน 14 ปีที่ผ่านมาลงถังขยะของประวัติศาสตร์

            ถ้าแรงกดดันสามารถส่งผลให้ทักษิณประกาศลาออกในเร็วๆ นี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก ผมก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่มันจะเป็นไปได้จริงๆ น่ะหรือ? ที่ผมต้องค้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเพราะผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมพันธมิตรฯ ถึงเชื่อมั่นกันนักหนาว่า เหตุการณ์นี้จะพ้นตาอับและรุกฆาตทักษิณ จบลงได้ในเวลารวดเร็ว (อันที่จริงผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมพันธมิตรฯ ถึงอยากจะเข้ามาหาตาอับแบบนี้) การประเมินค่าตัวเองสูงเกินไปพามาสู่ตาอับ แทนที่จะเตรียมต่อสู้ในระยะยาวกว่านี้

รูปแบบการต่อสู้กับทักษิณที่เน้นการชุมนุมประท้วงแบบเผชิญหน้ามีตรรกอันตรายแอบแฝงอยู่ในตัวมันเอง นั่นคือแต่ละครั้งต้องยกระดับเป้าหมาย เขยิบสูง รุกคืบขึ้นเรื่อยๆ เดินเข้าใกล้หรือ provoke การเผชิญหน้าเสียเองก็มี เพราะถ้าไม่มีการเขยิบขึ้นเรื่อยๆอาจจะถูกมองว่าเป็นการชุมนุมที่ล้มเหลว นี่จึงไม่ใช่รูปแบบการประท้วงที่จะใช้ต่อสู้ไปได้ในระยะยาว นอกจากนี้การประท้วงแบบเผชิญหน้ายังเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่เรียกร้องจิตใจผู้ร่วมชุัมนุมสูง คือ ต้องรู้ว่าอาจเจ็บตัวได้ อาจเจอสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานได้ การเคลื่อนไหวประเภทนี้จึงมักต้องปลุกเร้าสร้างความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวกับผู้ร่วมชุัมนุม วิธีที่มักทำกันคือการทำให้ฝ่ายตรงข้ามลดค่าลงไป ด่าทอด้วยคำพูด เหยียดหยามฝ่ายตรงข้ามจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคน เพื่อความฮึกเหิมกับผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม สิ่งที่ คนที่ 5 ไม่อยากเห็นจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป และกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการชุัมุนมแบบเผชิญหน้า การชุมนุมแบบนี้มาพร้อมกับการดูถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม (ผมหวังว่าสักวันหนึ่งการชุมนุมแบบเผชิญหน้า จะเป็นไปอย่างมีการศึกษาและสุภาพมากขึ้น แต่ผมไม่คิดว่าความหวังนี้จะเป็นจริงในเร็ววัน และนี่คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สายเกินไป)

เสียงคัดค้านเรื่องรัฐบาลพระราชทานในเครือข่ายพันธมิตรฯ เป็นสิ่งล่าช้าไปเสียแล้วในเบื้องปลาย คือ ระยะเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

            ผมสนับสนุนความคิดของอาจารย์ชาญวิทย์ว่า มันออกจะช้าไปแล้วที่จะหลีกเลี่ยงรัฐบาลพระราชทาน แต่ผมยังมองโลกในแง่ดีอยู่อีกนิดว่า การคุมเชิงครั้งนี้อาจจะดำเนินต่อไปอีกสักพัก สร้างความง่อยเปลี้ยให้กับทักษิณจนไม่สามารถเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ได้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าโลกในแง่ดีอันน้อยนิดของผมจะถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของทักษิณหรือฝ่ายพันธมิตรฯ กันแน่ อาจจะเป็นฝ่ายพันธมิตรฯ เพราะตอนนี้พวกเขาอยากจะได้ชัยชนะกันเหลือเกินแล้ว

ด้วยเหตุผลข้อนี้ ผมจึงไม่มองว่าการท้าทายที่ยืดเยื้อจะเป็นผลเสีย ถึงแม้ผมจะยังเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันอันตรายเกินกว่าที่เราจะรู้สึกดีไปกับมันได้  ดังนั้น แทนที่จะห้ามปรามไม่ให้มีการคัดค้านรัฐบาลพระราชทานในตอนนี้ ผมคิดว่าเราควรจะคัดค้านทันทีด้วยเสียงอันดังกว่าที่เป็นอยู่

โปรดเข้าใจด้วยว่า ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดการแตกหักภายในพันธมิตรฯ เพราะผมเห็นว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของผม  แต่พันธมิตรฯ ควรจะรับฟังเรื่องการคัดค้านพระราชอำนาจอย่างไม่ลังเลมาตั้งนานแล้ว  แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพันธมิตรฯก็เกิด  ถ้าหากว่า พันธมิตรฯหยุดกลุ่มผู้นิยมเจ้าได้ตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรฯ เราก็ไม่ควรจะต้องมาวิตกกังวลเรื่องเสียงคัดค้านรัฐบาลพระราชทานในตอนนี้ แต่นี่คือความล้มเหลวของพันธมิตรฯ เพราะข้อตกลงแต่แรกตั้งพันธมิตรฯก็คือ เอาเรื่องรัฐบาลพระราชทานออกไป แต่สัญญานี้ถูกละเมิดตลอดเวลา กลับไม่เห็นมีใครจัดการอะไรจึงทำให้เสียงคัดค้านยิ่งดังและรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน

ยังไงก็ตาม...ทำไมผมจะต้องตอบคำถามนี้อย่างยืดยาวด้วยนะ ทั้งที่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายพันธมิตรฯ เลย  ผมหวังว่ากลุ่มที่ผมกำลังแลกเปลี่ยนด้วยขณะนี้คงจะไม่เหมือนกับสหายเก่าเดือนตุลาฯของผมหลายคนที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์ (ผมหมายถึงอดีตและสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน "อนาคต" ด้วย)

 

 

Thongchai Winichakul

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net