Skip to main content
sharethis

ประเวศ  วะสี


๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙


 


๑. นัตถิ  ปัญญา  สมาอาภา


            ในสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อน มีระบบที่ซับซ้อนและดำมากมาย ระบบเหล่านี้ซับซ้อนเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจจึงดำ ระบบเหล่านี้เป็นเสมือน "กล่องดำ" เมื่อสังคมไม่เข้าใจระบบที่ซับซ้อนและดำจึงถูกมันทำร้าย อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรง บ่อย ๆ ครั้งทุกข้างของความขัดแย้งล้วนเป็นเหยื่อของระบบที่ซับซ้อนและดำ สังคมต่าง ๆ แก้ปัญหาไม่ได้หรือวิกฤต เพราะ "กล่องดำ" ทางสังคมเหล่านี้


            ฉะนั้น "ยุทธการแกะกล่องดำ" จึงมีความจำเป็นในการทำให้บ้านเมืองพ้นวิกฤต นั่นคือการใช้ความรู้ ข้อมูล หลักฐาน คลี่ความซับซ้อนออกมาให้สว่าง พอที่สังคมจะเข้าใจ และจัดการกับมันได้อย่างถูกต้อง โบราณจึงว่า นัตถิ ปัญญา สมาอาภา หรือแสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


            สังคมการเมืองไทยกำลังสับสน ขัดแย้ง ร้อนระอุประดุจไฟไหม้ ต้องทำความเข้าใจ ประเด็นของปัญหา สาเหตุ และเครื่องมือในการแก้ปัญหา จึงจะดับไฟที่กำลังเผาไหม้ได้


 


๒. ประเด็นหลักของวิกฤตการณ์ทางการเมือง


นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าไม่สุจริต หรือถึงขั้นทำผิดกฎหมายและหลบเลี่ยงกฎหมาย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและครอบครัวมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ


จนมีบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ออกมาประท้วงและเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ และล่าสุดคือแถลงการณ์ของสภาทนายความและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๙ ที่กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีทำผิดกฎหมาย นี้คือประเด็นที่ไม่ควรจะหลงลืม


 


๓. ๑๙ ล้านเสียงและการเลือกตั้งใหม่ไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธ์ได้


เมื่อประเด็นคือการถูกกล่าวหาว่าไม่สุจริต ทางแก้คือการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง


ถ้านายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดก็ควรจัดให้มีการพิสูจน์โดยกลไกที่เชื่อถือได้ ถ้าไม่ผิด การพิสูจน์ใด ๆ ก็จะเจอว่าไม่ผิด ข้อกล่าวหาก็จะตกไป แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคยยอมให้พิสูจน์


มักอ้างเรื่อง ทรท. ได้รับเลือกมา ๑๙ ล้านเสียง การที่พรรคได้รับเลือกมาไม่ว่ากี่เสียง ๆ ก็ไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำผิด ฮิตเลอร์และมาร์กอส เริ่มแรกก็ได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น หรือประธานาธิบดีนิกสันก็ได้รับเลือกจากประชาชนอเมริกันมากกว่า ๑๙ ล้านเสียง แต่เมื่อทำผิดซึ่งน้อยกว่าข้อกล่าวหาที่นายกรัฐมนตรีกำลังได้รับมากก็ต้องลาออก ไม่สามารถอ้างเสียงหลายสิบล้านคนมาฟอกความผิดได้


การเลือกตั้งใหม่ไม่ใช่เครื่องมือฟอกว่าไม่ผิด คนมีเงินมาก ๆ และมีอำนาจรัฐอยู่ในมือสามารถจัดการให้คนมาออกเสียงให้ตัวได้มาก ๆ แต่ข้อกล่าวหายังอยู่ การจะฟอกว่าไม่ผิดได้คือกระบวนการพิสูจน์ที่เป็นอิสระโดยการสืบสวนสอบสวน ไม่ใช่การโหวต


การเลือกตั้งจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่ได้พิสูจน์ข้อกล่าวหาฉกรรจ์ที่มีต่อนายกรัฐมนตรี การขาดความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) จากนักศึกษา คณาจารย์ สื่อมวลชน คนชั้นกลาง ข้าราชการที่สุจริต ตลอดจนพระราชวงศ์ และองคมนตรี มีแต่จะขยายตัวออกไป ทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้และอาจวิกฤตรุนแรงยิ่งขึ้น


คุณทักษิณมีส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างที่ปิดทางออกของตัวเอง จนสังคมรู้สึกตีบตันว่าจะมีทางออกกันอย่างไร และหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงนองเลือด แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนและทุกภาคส่วนของสังคมที่จะช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุด


 


๔. ระบบการเมืองไม่สามารถดับไฟที่ตัวเองจุดได้


ขณะนี้ไฟกำลังลุกไหม้ระบบการเมือง 


และระบบการเมืองไม่สามารถดับไฟที่ตัวเองจุดได้ จำเป็นที่ภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมการเมืองจะต้องเข้ามาช่วยกันดับไฟ


            แผนผังในตอนที่ ๗ ข้างล่างแสดงภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมการเมืองอย่างคร่าว ๆ


            ระบบการเมืองจุดไฟเผาตัวเอง และไม่มีปัญญาดับ แต่ไฟนั้นลามเลียส่งความร้อนหรือไหม้ส่วนต่าง ๆ ของสังคมไปด้วย ทำให้สับสนวุ่นวายและเหนื่อยกันไปหมดทั้งสังคม เพราะคน ๆ เดียวแท้ ๆ


            ป๋าเปรมอายุ ๘๐ กว่าแล้ว ต้องมาพลอยเหนื่อยและเครียดไปด้วย


            ใครว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เหนื่อย ในสภาพอย่างนี้


            วิกฤตการณ์ทางการเมือง ความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยในครั้งนี้หากนำไปสู่การเรียนรู้ของสังคมทั้งหมด จะให้ประโยชน์ต่ออนาคตที่ถูกต้องของประเทศไทย


            ความไม่ถูกต้องเกิดจากทุนขนาดใหญ่รวมตัวกันมายึดอำนาจทางการเมือง


ทำให้สังคมการเมืองเสียดุลอย่างแรง


            ปรกติความโลภของภาคธุรกิจจะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจรัฐที่มีธรรมาภิบาล


            ธนกิจการเมืองรวมอำนาจเงินและอำนาจรัฐเข้ามาด้วยกัน อำนาจนั้นจึงล้นเกิน เสียดุลยภาพทางสังคมการเมืองอย่างรุนแรง องค์กรอิสระต่าง ๆ ถูกครอบงำและแทรกแซงจนหมดศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถเป็นกลไกตรวจสอบและคานอำนาจได้อีกต่อไป


            กอปรกับนายกรัฐมนตรีมีบุคลิกโดดเด่นผิดธรรมดาในการนิยมให้อะไร ๆ มาขึ้นกับท่านคนเดียว เสมือนกลไกของประเทศทั้งหมดมาขึ้นกับคน ๆ เดียว  ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจสิทธิขาดอยู่ที่คน ๆ เดียว ไม่สามารถฝ่าคลื่นลมทางการเมืองของสังคมสมัยใหม่อันซับซ้อน และโถมถั่งรุนแรงได้ จนต้องปรับเปลี่ยนเป็นระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไปตามๆ กัน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่รอดปลอดภัย


            แปลกที่คุณทักษิณไม่เข้าใจในข้อนี้ ที่ต้องการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวคนเดียว ประดุจ "ไม้ต้นเดียวเปลี่ยวสันโดษ" จะทานแรงลมไปได้อย่างไร ดูรูป (ก)


 


 



           




            ระบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คน ๆ เดียวอันตรายมาก และไม่ยั่งยืนหักโค่นได้ง่าย และเมื่อมีอันเป็นไปก็ไม่มีอะไรต่อเนื่อง ตรงข้ามกับระบบเครือข่ายตามรูป (ข) ที่มั่นคงยั่งยืนกว่า


            ปัญหาสังคมปัจจุบันสลับซับซ้อนและยาก แก้ไม่ได้ด้วยอำนาจ รัฐบาลทักษิณเป็นตัวอย่างที่ดี ที่มีอำนาจมาก แต่แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ มิหนำซ้ำยังกำลังโดนอำนาจอื่น ๆ ตีกลับจนตกอยู่ใน "โครงสร้างมรณะ" ลำบากแทบเลือดตากระเด็น


            หวังว่าความลำบากของคุณทักษิณจะเป็นบทเรียนให้กับภาคธนกิจว่าการจะเข้ามายึดอำนาจทางการเมืองอาจจะไม่ยาก แต่หลังจากยึดแล้วยากสุดกำลังที่จะบริหารประเทศ หวังว่าภาคธุรกิจการเงินจะช่วยกันดูแลให้เกิดความถูกต้องในภาคของตัวและในความสัมพันธ์กับสังคมการเมืองของประเทศ เพราะถ้าปราศจากความถูกต้องแล้วเศรษฐกิจจะเจริญและยั่งยืนไม่ได้


 


๕. ความขัดแย้งรุนแรงใหญ่ๆ เกิดจากนักการเมืองเสมอ


            ประชาชนไม่ว่าที่ไหน ๆ จะสร้างระบบการอยู่ร่วมกัน ดังที่สร้างเป็นกฎกติกาว่าจะไม่ทำร้ายกัน ไม่ลักขโมย ไม่ผิดลูกเมีย ไม่โกหก เป็นต้น ประชาชนจะทะเลาะกันบ้างก็เล็กๆ น้อยๆ หรือแม้โจรก็ไม่สามารถก่อความขัดแย้งรุนแรงได้มากอะไรถ้าเทียบกับความรุนแรงที่ก่อโดยนักการเมือง ในสมัยโบราณนักการเมืองอาจพาคนไปตายเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะความโลภบ้าง เพราะต้องการอิสตรีบ้าง ต้องการช้างเผือกบ้าง ต้องการแผ่อำนาจบ้าง ต้องการรักษาศักดิ์ศรีบ้าง


            ผมมีเพื่อนเป็นหมอชาวศรีลังกา เขาบอกว่าคนสิงหลกับคนทมิฬชนเกาะศรีลังกา เมื่อก่อนก็อยู่ร่วมกันเป็นปรกติ แต่นักการเมืองเข้าไปยุยงให้แตกแยกจนฆ่าฟันกันรุนแรง เพราะนักการเมืองต้องการหาเสียง ต้องการมีอำนาจ ต้องการกลบเกลื่อนความผิดของตัว สงครามเวียดนามที่คนหนุ่มอเมริกันตายไปถึง ๕ หมื่นคน และคนเวียดนามตายไปกว่า ๒ ล้านคน เกิดจากการตัดสินใจของนักการเมืองอเมริกันเพียง ๔-๕ คน


            คนไทยเกิดแตกแยกกันยกใหญ่ เช่น ระหว่างคนเหนือกับคนใต้ ระหว่างคนจนในชนบทกับคนชั้นกลางในเมือง เพราะนักการเมือง ที่จริงคนเหนือกับคนใต้ไม่ใช่ศัตรูกัน คนจนกับคนชั้นกลางไม่ใช่ศัตรูกัน คนชั้นกลางเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิสูจน์ตัวเองหรือแสดงความรับผิดชอบ แต่นายกรัฐมนตรีกลับไปปลุกระดมคนจนให้เกลียดคนชั้นกลาง เหตุกับการกระทำไม่ตรงกัน แต่ก็เป็นธรรมดาของนักการเมือง ดังกล่าวข้างต้น ที่ต้องการหาเสียง ต้องการอำนาจ ต้องการกลบเกลื่อนความผิด โดยไม่คำนึงถึงความแตกแยกและเสียหายที่ก่อให้เกิดขึ้น


            ที่จริงเรื่องความยากจนนั้น ผมเคยพูดมาจนปากเปียกปากแฉะและเคยบอกนายกรัฐมนตรีด้วยว่า เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับคนจน ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ประชาชนมีศักดิ์มีศรีมีสิทธิและมีความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งจะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวร มีเกียรติ มีศักยภาพที่จะกำหนดอนาคตของตนเองได้ ไม่ใช่เอาเงินไปล่อ ให้เขาเสพติดเงิน และตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ


 


๖. มโนสำนึกทางจริยธรรมและการแสดงความรับผิดชอบ


คนเราทำผิดได้ทุกคน มโนสำนึกทางจริยธรรมจะช่วยให้คลี่คลายปัญหาได้ โดยที่นักการเมืองหรือผู้ปกครองมีผลกระทบต่อบ้านเมืองมาก นักการเมืองหรือผู้ปกครองจึงต้องมีจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป ทศพิธราชธรรมจึงกำหนดคุณธรรมจริยธรรมของผู้ปกครองไว้อย่างสูงส่งและละเอียดยิ่ง สังคมจีนแต่โบราณก็บันทึกไว้ว่าถ้าเมื่อใดกษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในความเป็นธรรม บ้านเมืองจะเกิดทุพภิกขภัย ราษฎรเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ดินฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดสงคราม


            มโนสำนึกทางจริยธรรมต้องออกมาเป็นการแสดงความรับผิดชอบ เช่น รัฐมนตรีคลังของอังกฤษคนหนึ่งลาออก เพราะลูกเขยแอบไปสต็อกใบชาเก็งกำไร รัฐมนตรีคมนาคมของญี่ปุ่นคนหนึ่งลาออกเพราะเครื่องบินเจเอแอลตก เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ลาออกเพราะมัวไปตีกอล์ฟกับนักธุรกิจขณะที่กำลังมีปัญหาในบ้านเมือง เหล่านี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบด้วยมโนสำนึกทางจริยธรรม ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำความผิดโดยตรงที่ชัดเจนแต่ประการใด


            ของเรายังไม่ต้องนับข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องทำผิดกฎหมาย เรื่องขายชาติ ฯลฯ เอาแค่ว่าเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถรักษาให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ก็น่าจะต้องรับผิดชอบแล้ว


 


๗. ข้าราชการ - องคมนตรี สมาสัย ดับไฟ


เมื่อไฟไหม้บ้านก็ต้องช่วยกันดับ


ถ้าไหม้เล็ก ๆ น้อย ๆ คนไม่กี่คนก็ช่วยกันดับได้ แต่ถ้าไฟไหม้รุนแรง และไม่มีท่าทีว่าจะดับได้ ทุกภาคส่วนของสังคมก็ต้องช่วยกัน


 


ข้างล่างนี้เป็นแผนผังภาคส่วนทางสังคมการเมืองอย่างคร่าว ๆ ความพยายามและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาโดยภาคส่วนต่าง ๆ


 


 



 


ภาคประชาชน - สังคม นั้นรวมถึงภาควิชาการและสื่อมวลชนด้วย การเมืองภาคประชาชนกำลังเรียกร้องความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีอยู่


ภาคธุรกิจ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมาก แต่ควรเข้ามามีบทบาททำให้เกิดความถูกต้องในบ้านเมือง เพราถ้าปราศจากความถูกต้อง เศรษฐกิจเจริญไม่ได้


ราชประชาสมาสัย เป็นข้อเสนอที่มาแรง แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกันทุกฝ่าย สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อยู่ในฐานะลำบากมากว่าจะทำอย่างไร เมื่อใด แน่นอนถ้ามีการนองเลือดและเกิดสุญญากาศทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องลงมาช่วยแก้ไข แต่ก็มีการเรียกร้องว่าไม่น่าปล่อยให้นองเลือดเสียก่อน


ข้าราชการ - องคมนตรี สมาสัย ข้าราชการตามปรกติก็ถูกการเมืองควบคุมอยู่และว่าต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง คณะองคมนตรีก็อยู่เหนือการเมือง แต่ยามวิกฤต ไฟกำลังไหม้บ้าน และจะลามเลียไปไหม้หมดทุกสถาบันในสังคมเช่นนี้ ทุกคน โดยศักดิ์ศรี ฐานะส่วนตัว และมโนสำนึกเพื่อบ้านเมือง จะช่วยกันทำอะไรได้บ้าง


ความจริงข้าราชการเป็นกลไกของรัฐ สามารถทำอะไรๆ ได้เยอะมากที่จะหยุดยั้งความไม่ถูกต้องในบ้านเมือง องคมนตรีแต่ละท่านนั้นมีเกียรติประวัติอันงดงามจึงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ทุกท่านจึงมีบารมีโดยส่วนตัว


ข้าราชการและองคมนตรีจะให้กำลังใจแก่กันและกันได้อย่างไร ในการก่อให้เกิดมโนสำนึกทางจริยธรรมถึงระดับที่สามารถถอดชนวนความรุนแรงในบ้านเมืองได้ ด้วยสันติวิธี


ขอให้ช่วยกันนำกันไปพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าข้าราชการและองคมนตรีจะให้กำลังใจแก่กันและกันได้อย่างไร จนถึงขั้นดับไฟที่กำลังลุกลามบ้านเมืองอยู่ได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net