Skip to main content
sharethis

หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีชินคอร์ปฟ้องหมิ่นประมาท "สุภิญญา กลางณรงค์" และ "หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์" เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 เวทีพันธมิตรฯ บริเวณสี่แยกมิสกวัน ต้อนรับชัยชนะครั้งนี้อย่างภาคภูมิ


 


หลังจากนั้น 2 วัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนาเรื่อง "สื่อชนะ ประชาชนชนะ กรณีศึกษา : สุภิญญา- ไทยโพสต์ ชนะชินคอร์ป" เพื่อทบทวนชัยชนะครั้งนี้ และทิศทางที่จะต้องก้าวเดินต่อไป


 


"เราเองก็ไม่แน่ใจว่า ที่สู้กันมานี้มันเป็นชัยชนะของประชาชน ของสื่อหรือเปล่า ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำให้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่" สุภิญญาเปิดใจในเวที


 


ไม่เฉพาะสุภิญญา หากแต่วงเสวนาทั้งหมดได้ทำให้ ชื่อหัวข้อเสวนา "สื่อชนะ ประชาชนชนะ" ถูกเติมเครื่องหมายคำถามอย่างน่าคิด


 


ถ้ายังจำกันได้เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วมีข่าวเกรียวกราวเมื่อชินคอร์ปฟ้องสุภิญญา กลางรณงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ในข้อหาหมิ่นประมาทพร้อมเรียกค่าเสียหาย 400 ล้าน ฐานที่เธอเปิดประเด็นงานวิจัยผลประโยชน์ทับซ้อนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกับชินคอร์ป อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ขณะเดียวกันก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และผู้บริหารด้วยฐานที่เป็นสื่อกลางลงบทสัมภาษณ์


 


สุภิญญา กล่าวว่า การที่ชินคอร์ปฟ้องตัวเธอและไทยโพสต์นั้นสะท้อนวิธีคิดว่ารัฐได้ก้าวลึกไปกว่าความพยายามที่จะควบคุมสื่อมวลชน หากแต่ต้องการควบคุมการแสดงความคิดเห็น หรือสิทธิในการพูดในระดับปัจเจกเลยทีเดียว


 


"ถ้าห้ามคิดได้ด้วยเขาคงห้าม แต่โชคดีที่ความคิดมันห้ามกันไม่ได้"อย่าไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของทั้งสองสิ่งนี้


 


คำบอกเล่าของเธอสะท้อนว่า ชีวิตส่วนตัวของเธอได้เปลี่ยนไปหมด และต้องผ่านความยากลำบากไม่น้อยกว่าจะมาถึงวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น กรณีนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับบรรทัดฐานสิทธิเสรีภาพของสาธารณชน และได้กลายมาเป็นประเด็นสาธารณะไปแล้วด้วยตัวมันเอง เธอจึงต้องฟันฝ่าการตัดสินใจที่ยากยิ่งระหว่าง ชีวิตส่วนตัว และประโยชน์สาธารณะ แต่ด้วยความที่มีกำลังใจ มีที่ปรึกษาจากองค์กรต่างๆ ที่เข้มแข็ง เธอจึงตัดสินใจเลือกอย่างหลังมาโดยตลอด แม้กระทั่งวินาทีที่คู่ความมาขอประนีประนอมจะถอนฟ้อง


 


"มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่ใครจะปฏิเสธการถอนฟ้อง ยิ่งคนที่เคยถูกฟ้องจะเข้าใจเรื่องนี้ดี" ก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งที่เข้าใจประเด็นดียิ่ง


 


เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะต้องลุ้นกันต่อว่าชินคอร์ปของเทมาเส็กจะอุทธรณ์หรือไม่ รวมถึงจะยอมถอนคดีแพ่งหรือไม่ กระนั้นก็ตาม  ก็ยังมีกองเชียร์ส่งเสียงเรียกร้องให้เธอฟ้องกลับ ซึ่งเธอได้แต่ตอบเหนื่อยๆ ว่า มันคงเป็นความคาดหวังให้เราต้องทำอะไรต่ออีกมากมาย จนบางทีก็ไม่แน่ใจว่าจุดจบแท้จริงอยู่ตรงไหน ตกลงมันจบหรือมันเพิ่งจะเริ่ม !


 


ขณะที่ กรรณิกา วิริยะกุล จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจกล่าวอย่างปลอบใจกันได้ว่านี่เป็นชัยชนะของสื่อและประชาชนด้วย เพราะคำตัดสินนี้เป็นใบเสร็จที่แสดงว่าสิ่งที่สุภิญญาพูดและไทยโพสต์นำเสนอนั้นเป็นความจริง


 


พร้อมกันนั้นเธอได้กล่าวชื่นชมความกล้าหาญของแหล่งข่าวอย่างสุภิญญา เพราะมีไม่น้อยเลยที่เมื่อถึงที่สุดแล้ว แหล่งข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้ให้สัมภาษณ์ ปล่อยให้หนังสือพิมพ์โดนเล่นงานทั้งขึ้นทั้งร่อง ไม่เว้นแม้แต่คนที่ขึ้นไฮด์ปาร์กบนเวทีพันธมิตรก็ตาม


 


"ไทยโพสต์เราเป็นแค่สื่อกลาง ถ้าแหล่งข่าวไม่ยืนยันในหลักการ คงไม่มีวันนี้ เพราะเก๋บอกเราที่ศาลเลยว่า "ไม่ต้องห่วงนะคะพี่ เก๋จะยอมรับว่าเก๋พูดทุกคำ" "


 


ดูเหมือน กรรณิกาจะมีท่าทีผ่อนคลายกว่าสุภิญญามาก อาจเพราะไทยโพสต์เป็นหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจอย่างรุนแรงจนเคยชินกับการถูกฟ้อง เฉพาะในเครือข่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีเกือบ 10 คดี


 


"รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ตลกร้ายที่สุด แต่ไหนแต่ไรมา เขาจะฟ้องบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แต่ยุคนี้ฟ้องแหล่งข่าว ฟ้องนิติบุคคล ดิฉันเป็นเอ็มดีก็โดนด้วยคนละ 100 ล้าน และล่าสุดก็ไปฟ้องที่เชียงใหม่อีก คุณทักษิณฟ้องเองเลย เพราะเราลงที่ประชาธิปัตย์หาเสียง"


 


"มันโดนเยอะจนสามีดิฉันบอก เราหย่ากันดีกว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น เรายังมีบ้านอยู่ คิดหนักเลยนะ เพราะใครจะคิดว่าจะมีวันนี้ ตอนนั้นเขาเป็นพรรคการเมืองที่ใครๆ ก็รัก"  กรรณิกากล่าวและว่า แต่สำหรับไทยโพสต์ พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความสง่างามตั้งแต่สิ้นสุดคดีซุกหุ้นภาคแรก และตั้งแต่นั้นมาจึงตั้งมั่นว่าจะตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีคนนี้อย่างตรงไปตรงมา


 


เธอระบุว่าด้วยว่า ไม่เฉพาะกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้นที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปาก แต่ยังรวมไปถึงกฎหมาย ปปง. ด้วย จากกรณีที่เคยโด่งดังเพราะรัฐบาลใช้กฎหมายนี้ตรวจสอบทรัพย์สินนักข่าวเมื่อหลายปีก่อนจนสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ออกมาโวยวายต่อสาธารณะ รวมถึงไทยโพสต์ ล่าสุด ไทยโพสต์ได้รับหมายศาลระบุความผิดว่า  เปิดเผยความลับของราชการ!


 


ต่อกรณีนี้ ก่อเขตต์ กล่าวว่า ขณะนี้ดูเหมือนกฎหมายหมิ่นประมาทถูกใช้ให้เปลี่ยนจากกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของผู้ถูกล่าวถึง ให้กลายเป็นกฎหมายที่ปิดปากสื่อ และเป็นประเด็นสำคัญที่ทางสมาคมนักข่าวได้หารือกันเพื่อหาทางออก


 


"มันมีแบบที่ฟ้องไปทั่ว ตั้งแต่เหนือสุด ใต้สุด ตะวันออกสุด ตะวันตกสุดของประเทศ ชนิดที่ต้องนั่งเรือข้ามเกาะไปเป็นวันๆ เพื่อประกันตัวก็มี เรียกว่าแทบไม่ต้องทำอะไร นอกจากตระเวนเดินเรื่องคดี"


 


เขาเสนอว่า ทางออกที่ดีสุดสำหรับผู้ถูกกล่าวถึง แต่ไม่ค่อยได้ใช้กันคือ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484  มาตรา 41 ที่ระบุว่าหากหนังสือพิมพ์ลงข่าวคาดเคลื่อน ให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงทำข้อเท็จจริงของเขาส่งไปให้กองบรรณาธิการ เป็นลายลักษณ์อักษร และบก.จะต้องนำตีพิมพ์มิชักช้า โดยที่ต้องเด่นและเยอะพอสมควร


 


กลับมาที่เรื่องชัยชนะสื่อ ชัยชนะประชาชน (บวกเครื่องหมายคำถาม) ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ คนล่าสุด ให้ความเห็นว่า คดีนี้เป็นการรับรองสิทธิในทางวิชาการที่สุภิญญา ในนามคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ หรือ คปส. ได้ทำ ซึ่งมีความหมายมาก เพราะจะผลักดันให้สื่อมวลชนใช้ความรู้ ใช้งานวิจัยมากขึ้น


 


เขากล่าวต่อไปว่า กรณีนี้จะไม่มีความหมาย หากสุภิญญาไม่สามารถแปรชัยชนะของตัวเองเป็นชัยชนะของประชาชนให้ได้ โดยต้องทำให้คนลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเองในการวิพากษ์รัฐ ในบรรยากาศบ้านเมืองที่มีแต่คนขายตัว


 


นอกจากนี้กระบวนการไต่สวนนั้น พยานทั้ง 15 คนทำการบ้านมาดีมาก หากมีการถอดองค์ความรู้ออกมาอย่างเป็นกระบวนการจะเปิดประโยชน์ต่อสังคม และเป็นตัวอย่างให้กับแหล่งข่าว นักวิชาการที่ยืนหยัดว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร


 


แต่สำหรับสื่อมวลชนแล้ว ภัทระมองว่านี่ไม่ใช่ชัยชนะ หากแต่เป็นความขมขื่นกับการต้องโดนคดีจำนวนมาก โดยมีจำนวนไม่น้อยที่ไปฟ้องตามหัวเมืองเป็นปัญหาดังที่ก่อเขตต์กล่าว อย่างไรก็ตาม สภาการหนังสือพิมพ์ได้ต่อสู้ให้มีการรวมคดีฟ้องในที่เดียว และใช้ให้ตำแหน่งบรรณาธิการประกันตัวได้ รวมทั้งมีความพยายามกันในแวดวงสื่อเพื่อให้มีการตั้งกองทุนสื่อมวลชนขึ้นมาช่วยเหลือการดำเนินการต่างๆ ในคดีที่ถูกฟ้องโดยเฉพาะ


 


เขากล่าวด้วยว่า ในหลายประเทศได้ยกเลิกไม่ให้มีการฟ้องหมิ่นประมาทสื่อมวลชน และการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายแล้ว แต่สื่อมวลชนก็ต้องพัฒนาการควบคุมกันเอง


 


"ที่เศร้าไปกว่านั้น คือ สาธารณชนถูกกระบวนการอธิบายความเป็นการเมืองครอบงำ มองสื่อเป็นแค่เครื่องมือ เป็นธุรกิจเท่านั้น ในนายกฯ มีบทบาทสำคัญในการลดทอนภาพพจน์ของสื่อ"


 


"จริงๆ แล้วมันเป็นธุรกิจที่ต้องถูกตรวจสอบโดยสังคม ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมกำกับอยู่ ถ้าปราศจากการสนับสนุนของประชาชน เราทำหน้าที่แทนประชาชนไม่ได้ ประชาชนต้องเข้ามาตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องสื่อด้วย" นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าว


 


คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า นี่คือการเรียกร้องให้ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนเป็นหลังพิงให้กันและกัน เพื่อจะหลุดพ้นจากการครอบงำทั้งปวง ซึ่งบ่อนทำลายพลังทางสังคมอย่างสำคัญ


 


ส่วนผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ จากสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ตั้งคำถามสำคัญไปยังสื่อมวลชนว่า ช่วงที่มีการฟ้องสุภิญญานั้น สื่อมวลชนมุ่งแต่นำเสนอภาพของสุภิญญา แต่ไม่ได้ตามแกะเนื้อหาหรือสิ่งที่สุภิญญาพูดไว้เลย และหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่มีสื่อกระแสหลักที่สนใจประเด็นนี้


 


"มันต้องทำให้คนเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หาญหล้า แต่เป็นการแสดงข้อมูลและการตรวจสอบ ให้ตระหนักกันว่ามีประเด็นสาธารณะอะไรที่ต้องช่วยกันดู แหล่งข้อมูลอยู่ตรงไหนบ้าง รวมทั้งต้องถอดกรณีนี้ออกมา เพื่อให้เห็นว่าสื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน จะเดินตามได้อย่างไร และต้องกระเพื่อมต่อไปเลยว่าบุคคลสาธารณะต้องพร้อมถูกตรวจสอบ และเครื่องมือที่สง่างามที่สุดคือ การชี้แจง" ผศ.ดร.เอื้อจิตกล่าว 


 


หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องขยายผลเพื่อสร้างวัฒนธรรมในการตั้งประเด็น ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนการชี้แจงของบุคคลสาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net