แสงประชาธิปไตยที่ยังมองไม่เห็นในพม่า

วันที่ 17 มี.ค. มูลนิธิฟอรั่มเอเชีย จัดการประชุม "ไทย - พม่า หุ้นส่วนภาคประชาชน" ที่มูลนิธิกองทุนไทย เพื่อหารือกันระหว่างองค์กรภาคประชาชนในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า


 

นายอัษฎา ชัยนาม อดีตทูตถาวรสหประชาชาติซึ่งเคยประจำอยู่ในประเทศพม่านาน 4 ปี กล่าวว่า ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายกับพม่าที่ยืดหยุ่น กล่าวคือไม่มีท่าทีกร้าวกับพม่า แต่ก็ปฏิเสธการคบค้าโดยไม่มีการไปพม่าอย่างเป็นทางการโดยเด็ดขาด ทำให้สถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นไปได้ด้วยดี

 

แต่หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ให้ความสำคัญในเรื่องธุรกิจเป็นหลัก จึงคบค้ากับรัฐบาลทหารพม่า ทั้งเข้าไปตั้งบริษัท ทำธุรกิจโรงแรม มือถือ ดาวเทียม เป็นต้น ผลกระทบที่ตามมา ทำให้ความพยายามกดดันพม่าของประชาคมโลกไม่เป็นจริง นอกจากนี้ประเทศที่มีชายแดนติดกับพม่าอื่นๆ ก็มองผลประโยชน์ทางธุรกิจในลักษณะเดียวกันด้วย เช่น จีนหรืออินเดีย

 

ส่วนความสัมพันธ์นั้นก็แย่ลง เพราะนายกรัฐมนตรีเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับ พล.อ.ขิ่นยุ้นต์ เป็นพิเศษ เพื่อต้องการให้เอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจในพม่า เมื่อมีการปฏิวัติจนทำให้ พล.อ.ขิ่นยุ้นต์หมดอำนาจ พม่าจึงมองไทยในท่าทีไม่ค่อยดีนัก

 

นอกจากนี้ นายอัษฎา ยังกล่าวอีกว่า ช่องทางที่เคยหวังว่า สหประชาชาติจะกดดันพม่าได้ ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ยาก แม้สหรัฐจะพยายามผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคง ก็ทำได้เพียงอยู่ในการพูดคุยนอกวาระ การล็อบบี้เองก็ทำได้ยาก เนื่องจากสมาชิกถาวรอย่างจีนและรัสเซียซึ่งมีสิทธิในการวีโต้ มีแนวทางเดียวกับพม่า คือไม่ต้องการให้ประเทศใดมายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน รวมทั้งประเด็นปัญหาของพม่าถูกตั้งคำถามว่า เป็นประเทศเล็กๆ จะมาทำลายความมั่นคงของโลกหรือภูมิภาคได้อย่างไร

 

การกดดันจากภาคประชาชนหรือการต่อต้านภายในนั้น ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน เพราะคนมีความกลัวอำนาจทหารมาก อีกทั้งต้องคิดถึงเรื่องปากท้องของแต่ละวันเป็นอันดับแรก การยอมทำตามรัฐบาลพม่า หมายถึงการมีงานทำ ดังนั้นการเคลื่อนไหวที่มากที่สุดทำได้เพียงการต่อต้านผ่านทางการทูตของคนที่หนีออกนอกประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงที่สุดแล้ว ในการกู้ชาติพม่าจากเผด็จการทหาร เป็นเรื่องที่คนพม่าต้องทำเอง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย สามารถทำได้เพียงเห็นใจและรองรับคนที่ได้รับผลกระทบจนต้องหนีมาเท่านั้น

 

อีกประเด็นที่รัฐบาลทหารพม่ากลัวมากคือ นางอองซาน ซูจี ซึ่งหากปล่อยตัวให้ออกมาพบปะผู้คนหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้ จะมีพลังมากในการชักนำให้ประชาชนหายกลัวและลุกฮือมาต่อต้านรัฐบาลทหาร อีกทางที่อาจคาดหวังได้คือ การรอให้มีทหารรุ่นใหม่ที่มีจิตใจเห็นแก่ชาติของตัวเองลุกขึ้นมาปฏิวัติ ถึงที่สุดแล้วแนวทางนี้อาจเป็นทางเลือกที่มีการนองเลือดน้อยที่สุดก็เป็นได้ในการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบพม่า

 

ด้านนายศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ซึ่งติดตามสถานการณ์ในพม่ามาอย่างต่อเนื่อง เห็นไปในทิศทางเดียวกับนายอัษฎาว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ายังดูมืดมนแบบไม่เห็นทางออก และการที่จะรอให้ทหารรุ่นใหม่มาปฏิวัติ พล.อ.ตานฉ่วย ยิ่งเป็นเรื่องยาก

 

ทั้งนี้ นายศุภลักษณ์ระบุว่า ตั้งแต่กลุ่มทหารหัวก้าวหน้าอย่าง พล.อ.ขิ่นยุ้นต์ ถูก พล.อ.ตานฉ่วยโค่นล้มไป ก็ทำให้เกิดการสับเปลี่ยนกำลังครั้งใหญ่สุดกว่า 1,000 นาย ผู้มาแทนที่ล้วนเป็นเครือข่ายของ พล.อ.ตานฉ่วย ทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้ พล.อ.ตานฉ่วย ยังได้วางตัวผู้ดูแลเขตภาคเหนือของพม่าให้เป็นคนของตัวเองเพื่อลดอำนาจของ พล.อ.หม่องเอ ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจอันดับ 2 ของพม่าลง ตอนนี้ทำให้มีกองกำลังเพียงไม่กี่กองทัพในภาคใต้

 

การสับเปลี่ยนกองกำลังดังกล่าว ทำให้เกิดการเลื่อนยศตำแหน่งของทหารด้วย จึงลดความกดดันในการช่วงชิงอำนาจ กลายเป็นการเกิดเป็นดุลอำนาจที่ไม่ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นวิธีการบริหารอำนาจที่ทำให้อำนาจของ พล.อ.ตานฉ่วย อยู่ต่อไปได้ สำหรับทหารรุ่นใหม่ที่คิดจะล้มล้างก็มีตัวอย่างให้เห็นจากชะตากรรมของกลุ่ม พล.อ.ขิ่นยุ้นต์

 

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านทหารพม่าด้วยกำลังทหาร และเคยมีอำนาจต่อรองบ้างนั้น ในปัจจุบันมีกองกำลังเพียงพอในการป้องกันตัวเองได้เท่านั้น

 

สำหรับประเทศไทย คงทำได้เพียงการรองรับหรือช่วยเวลาที่มีผู้หนีความตายเข้ามา ส่วนแนวคิดว่าสามารถกดดันพม่าโดยภาคประชาชน คิดว่าถ้าจะทำได้ก็ต้องมีคนต่อต้านในปริมาณที่เยอะมากๆแต่ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

วิธีเดียวที่น่าจะคาดหวังได้ก็คือ อาจมองหามหาบุรุษเข้าไปแก้สถานการณ์โดยชาวพม่าเอง ซึ่งในกลุ่มแรงงานพม่าที่มาอยู่ในไทย หากได้รับการศึกษาเพื่อเปิดโลกทัศน์ในการคิดด้านประชาธิปไตยหรือเห็นสังคมไทยพอสมควรจนทำให้รู้สึกอยากแสวงหาสังคมในลักษณะนี้ ก็อาจเกิดคนที่อยากกลับไปแก้ไขสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในพม่าตอนนี้

 

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในพม่าคงต้องใช้เวลาสั่งสมไม่น้อยกว่า 20 ปี คนกลุ่มแรกๆที่กล้าเข้าไปทำอาจเสียชีวิต แต่คนกลุ่มที่ 2 หรือ 3 จะตามมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท