บทความเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง: ทักษิณอย่า "ประหารรัฐ" ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


 

แต่เดิม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาลทักษิณ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ทั้งโดยบุคคลระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิชาการภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ว่าต้องการอำนาจเผด็จการ

 

ขณะนั้น รัฐบาลอ้างว่า จะพยายามไม่ใช้หรือหากใช้ก็เฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ แต่มาวันนี้ ผู้นำรัฐบาลบอกว่า เตรียมทุกอย่างพร้อมจะประกาศ โดยอ้างโยงเหตุที่ประชาชนเรือนแสนออกมาชุมนุมขับไล่ทักษิณ เพื่อประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

ผมได้เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวเอาไว้ในวุฒิสภาแล้ว ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ อันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติเสียอีก !           

 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จิตวิญญาณประชาธิปไตยของประเทศไทย เคยถูกเหยียบย่ำโดยคณะปฏิวัติมาหลายครั้งหลายหน

 

ในอดีต คณะปฏิวัติส่วนใหญ่มักจะเป็นคณะทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอำนาจด้วยการกุมกำลังกองทัพ ถืออาวุธบุกเข้าแย่งชิงอำนาจจากฝ่ายรัฐบาล แล้วก็ออกประกาศคณะปฏิวัติ หรือแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร ซึ่งจะมีเนื้อความระบุถึงอำนาจที่ตนสถาปนาขึ้นมาปกครองบ้านเมือง

 

แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลพรรคเดียว ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.2548) ที่มีเนื้อหาสาระ ตลอดจนปรัชญาแนวคิด ที่สามารถศึกษาเทียบเคียงกับประกาศของคณะปฏิวัติหรือเผด็จการผู้ทำรัฐประหารในอดีต

 

1) ประกาศของคณะปฏิวัติ พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อ้างว่า "การยึดอำนาจครั้งนี้ได้กระทำด้วยความจำเป็นที่สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกรัดรึงตรึงเครียด เป็นภัยอันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีใด "

"พ.ร.ก.2548" .ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า "เนื่องจากที่ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐซึ่งมีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปกติได้"

           

            2) เมื่อเข้ายึดอำนาจได้แล้ว คณะปฏิวัติทุกสมัย ก็จะประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อรวบอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาอยู่ในมือของคณะปฏิวัติ ใช้อำนาจออกประกาศ ระเบียบ หรือกฎหมายบังคับใช้เองโดยไม่ผ่านรัฐสภา อาทิเช่น จอมพลสฤษดิ์ ก็เคยได้ประกาศว่า "เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายอันนี้ จำเป็นที่คณะปฏิวัติต้องทำการยึดอำนาจ โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2495"

มาถึง "พ.ร.ก.2548" ตัว พ.ร.ก. ออกโดยรัฐบาล แม้จะผ่านรัฐสภาในภายหลัง ด้วยพวกมากลากไป "จาก พ.ร.ก. กลายเป็น พ.ร.บ." แต่เนื้อหาภายในก็ยังคงมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทำลายรัฐธรรมนูญมาตราสำคัญหลายมาตรา อาทิ มาตรา 29 มาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 44 มาตรา 48 รวมถึงมาตรา 50 ซึ่งเท่ากับว่า "ลบล้าง" สาระสำคัญของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน

 

3) คณะปฏิวัติรัฐประหารในอดีต จะออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง โดยรวบอำนาจการสั่งการ บังคับบัญชา แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มาไว้ในกลุ่มคณะของตน

แต่ใน "พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน" ปรากฏว่า "ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือหลายกระทรวง หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี"

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจ "ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน"

เท่ากับว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำกองทัพไทย

 

4) คณะปฏิวัติรัฐประหารในอดีต จะมีการออกคำสั่ง ห้ามมิให้ประชาชนชุมนุมกัน

"พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน"นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ"ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย"

 

5) คณะปฏิวัติรัฐประหารในอดีต จะมีการออกคำสั่ง ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าว หรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์

"พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน" นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ "ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว"

ยิ่งกว่านั้น ยัง"มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด"

 

            6) น่าแปลกใจ ประกาศของคณะปฏิวัติ พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังรับประกันว่า "จะเชิดชูรักษาไว้ ซึ่งอิสรภาพของศาล ให้ศาลมีอิสระสมบูรณ์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย โดยมิต้องอยู่ใต้อาณัติอิทธิพล หรือการแทรกแซงอย่างหนึ่งอย่างใดจากคณะปฏิวัติหรือจากรัฐบาลที่คณะปฏิวัติจะตั้งขึ้นเลยเป็นอันขาด"

            แต่น่าตกใจ "พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน"พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจบังคับว่า "ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง" ยิ่งกว่านั้น ยังล่วงละเมิดอำนาจศาลและตุลาการ โดยกำหนดว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย"

 

 

7) คณะปฏิวัติรัฐประหารในอดีต จะมีการใช้อำนาจตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำผิดหรือสงสัยว่ากระทำผิดอย่างรวบรัด โดยอาจจะนำไปควบคุมตัวไว้ตามเซฟเฮ้าท์ต่างๆ

แต่"พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน" ถึงกับให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ "จับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน"

เท่ากับว่า แค่ประชาชนไม่ได้กระทำความผิด หรือไม่ได้สนับสนุนการกระทำผิด แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจเอาผิดได้โดยอ้างว่า ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถ "มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ"

 

            ทั้งหมดนี้ เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมในทางอำนาจของคณะปฏิวัติรัฐประหารหรือเผด็จการในอดีต กับกรณี พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

            เผด็จการทหารในอดีต ใช้กำลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ ทำการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ ณ วันนี้ รัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ เป็นรัฐบาลของนักธุรกิจการเมือง ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีผู้ตกเป็น "จำเลยแผ่นดิน" และกำลังถูกพลังประชาชนชุมนุมขับไล่ทั่วประเทศ

เมื่อใด ที่รัฐบาลทักษิณประกาศใช้ พ.ร.บ. สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อนั้น ทักษิณและพวก ก็จะได้ขึ้นชื่อว่า กระทำการ "ประหารรัฐ" โดยปราศจากความชอบธรรมใดๆ

            ทรราชย์ในอดีต ใช้กองกำลังเป็นเครื่องมือปล้นอำนาจของแผ่นดิน

            ในยุคปัจจุบัน หรือจะมีทรราชย์ยุคใหม่ จะใช้กฎหมายอันไม่ชอบธรรมเป็นเครื่องมือในการปกป้องความผิดตัวเอง         

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท