Skip to main content
sharethis


คงจำกันได้ ว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางเป็นประธานพิธีเปิดเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอย่างเป็นทางการ หลังจากเกิดโรคเลื่อนมาหลายต่อหลายครั้ง ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าปัญหาความไม่พร้อมของการปรับพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ให้เป็นพื้นที่โครงการสวนสัตว์กลางคืน รวมไปถึงปัญหาการนำเข้าสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จากต่างประเทศ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านของกลุ่มองค์กรอนุรักษ์จากหลายประเทศ รวมไปถึงประชาชนคนเชียงใหม่และคนไทยทั้งประเทศ


 


ในวันเปิดตัวเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอย่างเป็นทางการนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวในตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีนโยบายให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภาคเหนือ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว Man Made หรือแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นใหม่เพิ่มเติมให้คนประทับใจและอยากกลับมาเที่ยวซ้ำ เมื่อมาเที่ยวเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจะพบกับศิลปวัฒนธรรม อุทยานช้างและเคเบิ้ลคาร์เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวไม่แพ้ดิสนีย์แลนด์ โดยจะเน้นเรื่องธรรมชาติ วัฒนธรรม


 


"หากอุทยานช้างแล้วเสร็จ จะทำบูติค พาร์ค เพื่อสร้างกิจกรรมสำหรับคนในครอบครัวที่มาเที่ยวแบบพักค้างแรมด้วย โดยจะทำเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีให้ใหญ่ที่สุด และจะเพิ่มสัตว์เข้าไปอีก เพราะฉะนั้น นักอนุรักษ์ไม่ต้องกังวล เพราะภายในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีโรงพยาบาลสัตว์พร้อมสัตวแพทย์ดูแลอย่างดี จะมีการส่งเสริมการทำวิจัยสัตว์ป่า เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่มีชีวิต" พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว


 


ในขณะที่ นายนิคม พุทธา จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ภาคเหนือ และองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้ออกมานำเสนอรายงานสถานการณ์สัตว์ป่า และกิจกรรมอื่นๆ ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในอีกมุมมองอีกมิติหนึ่ง ซึ่งอยู่กันคนละขั้วกับรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง


 


"เราต้องการให้ประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ข้อมูล สถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า และกิจกรรมอื่นๆ ในโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ และองค์กรพันธมิตรต้องการชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนี้ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมา มักจะอ้างว่า เพื่อการศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจ" นายนิคม กล่าว


 


นายนิคม กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าที่ว่านี้ เป็นที่น่าสงสัยว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างเช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) รวมไปถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วม เช่น การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การกำกับดูแล ติดตามตรวจสอบ เป็นต้น


 


"เป็นที่น่าสังเกตว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีหลายเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ และการบริหารงานที่ใช้อำนาจซีอีโอ รวมไปถึงการใช้ระบบ Fast Track ซึ่งส่อเค้าในเรื่องของความไม่โปร่งใส ความไม่ถูกต้องในการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ทำไมจนกระทั่งเวลานี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใด หรือกลไกของภาครัฐ และองค์กรอิสระเข้าไปกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ แล้วนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ร่วมกันอย่างเปิดเผย" เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ กล่าวทิ้งท้าย


 


แอบเจรจานำเข้าสัตว์ป่าเคนยา ท่ามกลางกระแสต่อต้านทั่วโลก


ทั้งนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ได้วิพากษ์ถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย.2548 โดยทางรัฐบาลไทยได้ทำการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) ระหว่างสองประเทศกับเคนยา เพื่อจะนำสัตว์ป่าจากเคนยา รวมทั้งหมด 175 ตัว จาก 24 ชนิด ไปยังประเทศไทย


 


จากการที่รัฐบาลไทยไปทำ MOU กับเคนยา ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งจากทั้งในประเทศเคนย่าและนานาชาติ อันเป็นเหตุให้องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลกกว่า 65 องค์กร ได้รวมตัวกันเพื่อทำการประท้วงต่อกรณีการจับสัตว์ป่าจากเคนย่า เพื่อนำมายังสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีในประเทศไทย แม้กระทั่งชนเผ่าในเคนยาก็ออกมาประท้วง กระทั่งถึงขั้นประกาศว่า จะจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อปกป้อง หากรัฐบาลของเขาจะทำการจับสัตว์ป่า


 


จนกระทั่ง ประมาณกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าไนโรบีและสมาคมคุ้มครองสัตว์ป่าของเคนย่า ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลเคนยาต่อศาลสูง ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและเคนยา กระทั่งในวันที่ 20 ธ.ค.2548 ศาลสูงประเทศเคนยา โดยนายโจเซฟ นยามู ผู้พิพากษาศาลสูงในกรุงไนโรบี เมืองหลวงเคนยา มีคำสั่งห้ามทางการเคนยาส่งสัตว์ป่าจำนวน 175 ตัว มอบให้แก่รัฐบาลไทยอย่างน้อยเป็นเวลา 60 วัน


 


โดยระบุว่า การลงนามระหว่างรัฐบาลไทยและเคนยาที่รัฐบาลเคนยาจะมอบสัตว์ป่าจำนวน 175 ตัว ให้รัฐบาลไทยนั้น เป็นเพียงการลงนามในบันทึกความเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันระดับประเทศ และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้การมอบสัตว์ป่าของเคนยาจำเป็นต้องระงับไปชั่วคราว


 


จะเห็นว่า ไม่เพียงแต่ข้อกล่าวหาว่า ประเทศไทยผิดเงื่อนไขสัญญา หรือข้อตกลงในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกภาคีความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือ Cites เท่านั้น นานาประเทศยังถามถึงคุณธรรม จริยธรรมขั้นพื้นฐานของผู้นำประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยทางด้านฐานทรัพยากรฯ และวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าต้องตกต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน


 


"รัฐบาลไทยไม่ควรจะนำเข้าสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จากต่างประเทศ เพราะเท่ากับว่า เป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า หรือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการล่า ทำลายสัตว์ป่ามากขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวการณ์แพร่กระจายของเชื้อโรคจากต่างประเทศที่รุนแรงอีกด้วย"


 


ชี้ "ปลอดประสพ" สะท้อนภาพลักษณ์ไม่น่าไว้วางใจ


รายงานดังกล่าว ยังได้พูดถึงภาพลักษณ์ของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ คนปัจจุบัน ว่า ได้เคยมีเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ป่าในประเทศไทย และต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง จนเป็นที่ไม่ไว้วางใจของกลุ่มอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสือไปประเทศจีน การเข้าไปแทรกแซงในกิจการองค์การสวนสัตว์ การส่งช้างไทยไปออสเตรเลีย การคิดที่จะเปิดร้านอาหารขายเนื้อสัตว์ป่าในสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดหาสัตว์ป่า ที่จะนำมาไว้ในไนท์ซาฟารี ทั้งมีการระดมนำเอาสัตว์ป่าภายในประเทศ เป็นต้น


 


ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความถูกต้อง ความโปร่งใส และความเหมาะสม ในฐานะที่ประเทศไทย เป็นสมาชิกภาคีความร่วมมือของ Cites และโดยเฉพาะความพยายามในการนำสัตว์ป่าจากประเทศต่างๆ นั้น ได้ถูกตั้งคำถามถึงอย่างมากมาย ถึงความเหมาะสมที่ได้นำบุคคลเช่นนี้มาดำรงตำแหน่งของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนี้ได้อย่างไร


 


จนท.ไนท์ซาฟารีสุดทน แฉมาตรฐานการดูแลสัตว์ไนท์ซาฟารีห่วย สัตว์ตายเพียบ


ในรายงานยังมีการวิพากษ์ถึงมาตรฐานการดูแลสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี อีกว่า จากการสำรวจและติดตามตรวจสอบเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ป่าของสัตว์ป่าในสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พบว่า สิ่งที่องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เคยวิตกกังวล ไม่ว่า เรื่องการขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะมาดูแลเอาใจใส่สวัสดิภาพของสัตว์ป่า ตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการอย่างแท้จริง จนเป็นเหตุให้สัตว์ป่าเกิดอาการเครียดจัด จนตายในที่สุด หรือแม้กระทั่งการทำให้สัตว์ตายจากการรักษาของสัตว์แพทย์อันมีสาเหตุมาจากการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยของสัตว์ผิดพลาด


 


โดยมีการสรุปรายงานสัตว์ป่าที่บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก เช่น นกแร้งหิมาลัย 1 ตัว กวางผา 2 ตัว เพราะถูกวางยาสลบเกินขนาด นกกระเรียนหงอนฟู 12 ตัว เหยี่ยวรุ้ง 2 ตัว นกออก 1 ตัว นกกาบบัว 10 ตัว หงส์ขาว 7 ตัว หงส์ดำ 5 ตัว นกเป็ดน้ำ 25 ตัว และนกฟามิงโก้ 5 ตัว ล้วนตายเนื่องจากถูกตัดปีก


และยังมี นกอีมู 2 ตัว ระหว่างการขนย้ายสัตว์เกิดอาการตื่นกลัว เครียด และช็อคตาย และวิลด์เดอร์บีสท์ 4 ตัว ได้วิ่งชนกำแพงตาย เพราะตื่นตระหนกเกิดอาการเครียดจากเสียงรถยนต์ รวมไปถึงหมาป่าดิงโก้ และวัลลาบี้ ที่ตายระหว่างการขนส่ง โดยไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน


 


นอกจากนั้น ยังมี กวางซิการ์ 1 ตัว กวางรูซ่า 3 ตัว กวางป่า 2 ตัว ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่สำคัญ แบล็คบัค 3 ตัว ได้ขาหัก และ ไฮยีน่าลายจุด 2 ตัว ที่ได้กัดกันเองจนบาดเจ็บ แต่ตายด้วยสาเหตุจากการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพของสัตว์แพทย์ในไนท์ซาฟารี


 


โดยภาพรวมแล้ว มีสัตว์บาดเจ็บล้มตายไปทั้งหมดเป็นอย่างน้อย 21 ชนิด เป็นจำนวนประมาณ 104 ตัว ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์บาดเจ็บและล้มตายนี้ ได้รับมาจากเจ้าหน้าที่ภายในของสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2549 ที่ไม่สามารถทนได้กับพฤติกรรมการขาดเอาใจใส่ และไม่มีทักษะในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่า จนทำให้สัตว์ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีต้องบาดเจ็บและล้มตาย


 


ว่ากันว่า นี่เป็นเพียงความเสียหายส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น ที่เจ้าหน้าที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีพยายามปกปิด ในขณะที่ภาคประชาชนได้พยายามถามถึงความรับผิดชอบ


 


ทั้งนี้ ในรายงานได้สรุปเรื่องประเด็นการเคลื่อนย้ายสัตว์ ของนายสัตวแพทย์พีรพร มณีอ่อน ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะอนุกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2548 ว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์และความเป็นอยู่ของสัตว์ จะต้องให้ความสำคัญของหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) เป็นสำคัญ ต้องไม่ทรมานสัตว์ ยิ่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติแล้ว ยิ่งต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว


 


และต้องใช้ระยะเวลาในการปรับสภาพของสัตว์เป็นเวลานาน โดยการปรับสภาพจากสัตว์ที่อยู่ในสภาพอิสระ ไม่มีกรง ไม่มีการจำกัดอาณาเขต ค่อยๆ จำกัดพื้นที่มาอยู่ในพื้นที่ๆ ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จนสัตว์สามารถปรับสภาพตัวเองเข้ามาอยู่ในกรงเพื่อการเคลื่อนย้ายข้ามประเทศ มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด และมีคนเข้าชมมากๆ ในไนท์ซาฟารี ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะละเอียดและต้องใช้ระยะเวลานาน


 


ในรายงาน ยังชี้ให้เห็นถึงการใช้พื้นที่และกรงสัตว์ที่ไม่เหมาะสมกับชนิดของสัตว์ ซึ่งสัตว์บางชนิดอาศัยอยู่ในกรงที่คับแคบ และไม่มีความคล้ายคลึงหรือเลียบแบบสภาพธรรมชาติที่สัตว์ป่าแต่ละชนิดนั้นๆ ได้อาศัยอยู่ อีกทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในแต่ละจุด เพื่อดูแลความปลอดภัยของสัตว์ป่าที่อยู่ในกรงเปิดของแต่ละจุด รวมทั้งการขาดเอาใจใส่ในเรื่องการบำบัดน้ำเสียของแต่ละกรง พบว่า หลายกรงด้วยกันมีกลิ่นน้ำเสียเหม็นคลุ้ง โดยเฉพาะกรงหมี กรงเสือดาว


 


และที่สำคัญ ไม่มีการวางแผนแม่บทการจัดโซนนิ่งของสัตว์ป่าในระยะยาวอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์เฉพาะหน้าของผู้บริหารเป็นหลัก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไม่มีความแน่นอนทางหลักวิชาการ ใช้วิธีการการตัดสินใจบนพื้นฐานความรู้สึกของตนเองเป็นหลัก


 


รายงานสรุปในตอนท้ายว่า ขณะนี้ รัฐบาลไทย กำลังมีการประสานงานที่จะนำเข้าสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จำนวนมาก จากหลายๆ ประเทศ เช่น เคนยา อินเดีย จีน ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ การนำเข้าสัตว์ป่าและการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดการล่า การกักขัง การขนย้าย การซื้อขายสัตว์ป่า


 


การดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกประณามอย่างรุนแรง จากกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น กรณีชนเผ่ามาไซ และชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศเคนยา ได้ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้านการจับสัตว์ป่า ที่รัฐบาลไทยใช้เงิน 40 ล้านบาท แลกกับสัตว์ป่าจำนวน 175 ตัว จนทำให้ศาลสูงสุดของประเทศเคนยา ต้องสั่งระงับชั่วคราว


 


จนกระทั่งล่าสุด(13 มี.ค.2549) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ต้องเปิดแถลงข่าวทันที หลังจากนายนิคม พุทธา ได้ออกมาเผยข้อมูลกรณีสัตว์ไนท์ซาฟารีตายเป็นจำนวนมากถึง 104 ตัว ซึ่งทางด้านนายปลอดประสบ ได้ออกมายอมรับยีราฟแม่ลูกนั้นตายจริง ส่วนนกก็ตายเพราะถูกตัดปีกจริง รวมทั้งหมาไฮยีน่าก็กัดกันตายจริงอีก และยังชี้อีกว่า สัตว์ตายเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ เป็นการตายแบบปกติธรรมดา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นตกใจ ทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีก็ไปหาเอาใหม่ ส่วนที่ตายระหว่างขนส่ง ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของไนท์ซาฟารี



จากข้อมูลนี้นี่เอง ที่ทำให้เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทักษิณ และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ต้องออกมาบอยคอต เรียกร้องให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ


 


"ไม่เอาทักษิณ" และ "ไม่ต้องเที่ยวเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี"


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net