Skip to main content
sharethis


 



 


ยิ่งความสับสนวุ่นวายทางการเมืองผ่านไปนานวัน หลักการและเหตุผลเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลัง "พักเอาไว้ก่อน" โดยหันมามุ่งที่ "เป้าหมาย" จนแทบทำให้ "ไม่เลือกวิธีการ"


 


แต่การเข้าถึง "เป้าหมาย" โดยไม่คำนึงถึง "วิธีการ" เป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมกำลังเรียกร้องหา "ประชาธิปไตย" แนว "คุณธรรม" แบบตอนนี้


 


แต่เมื่อกล่าวถึง "คุณธรรม" แล้วก็คงปฏิเสธการหันกลับไปดูแนวคิดทางศาสนามาประกอบไม่ได้ ดังนั้นเพื่อรีบไขข้อกังขา "วิธีการกับเป้าหมาย" ภายใต้แนวคิดคุณธรรม "ประชาไท" จึงไปสนทนาธรรมกับ "พระไพศาลวิสาโล" นักบวชในพุทธศาสนาและนักกิจกรรมทางสังคม ที่มักนำหลักธรรมมาประยุกต์ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางโลกเสมอ และขอนำเอาเรื่องราวในการสนทนามานำเสนอดังต่อไปนี้


 


0 0 0


 


ศาสนาเกี่ยวข้องการเมืองได้หรือไม่


 


การเมืองมีหน้าที่นำพาให้เกิดสันติสุขในสังคม ไม่ว่าจะนิยามการเมืองว่าเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ หรือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจก็ตาม แต่จุดหมายก็เป็นไปเพื่อสันติสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยธรรมะเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นการเมืองจะได้ผลก็ต้องมีจุดมุ่งหมายและวิธีการที่สอดคล้องกับหลักศีลธรรม


 


ความวุ่นวายที่เป็นอยู่จะอธิบายทางศาสนาได้อย่างไร


 


มันก็อธิบายได้หลายอย่าง คนที่ต่อต้านคุณทักษิณเองก็มีวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่จุดประสงค์ร่วมคือการที่ผู้นำหรือคุณทักษิณ ไม่สามารถจะเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมในฐานะผู้นำประเทศได้


 


ถ้ามีเป้าหมายร่วมอยู่ที่คุณทักษิณ แต่ก็ความต่างทางวิธีการ ในทางพุทธจะอธิบายแบบไหน


  


ในเรื่องจุดหมายก็มองต่างไป แต่ในทางศาสนาแล้วมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณทักษิณมากเท่ากับการที่เขาเป็นตัวแทนของระบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีความถูกต้องทางจริยธรรมเช่น การมีเงื่อนงำเรื่องการคอรัปชั่นแบบเก่าๆ ค่าคอมมิชชั่น คอรัปชั่นเชิงนโยบาย บางเรื่องพุ่งไปที่การให้ความสำคัญกับวัตถุกระตุ้นความโลภโดยไม่คำนึงผลกระทบในทางจริยธรรม หรือการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหายาเสพติด


 


ดังนั้น ในแง่ของพุทธศาสนา ปัญหาที่ลึกกว่าคือ การที่เขาเป็นตัวแทนของความฉ้อฉลที่เริ่มกลายเป็นสถาบัน หรือระบอบซึ่งซับซ้อนกว่าแค่ตัวคุณทักษิณ สมมติคุณทักษิณเป็นโรคลมปัจจุบันหมดลมไปบ้านเมืองก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะระบอบทักษิณหรือที่ใหญ่กว่านั้นคือระบอบวัตถุนิยมยังอยู่โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม นี่คือปัญหาใหญ่


 


แต่คิดว่าตรงนี้ก็เห็นไม่ตรงกัน บางคนคิดว่าเอาทักษิณออกไปเพื่อฉันจะได้ไม่สูญเสียอำนาจ จึงเหมือนกับว่า อัปรีย์ไปจัญไรมา ก็ไม่มีประโยชน์ ตราบใดที่คนมาใหม่มาสืบทอดระบบที่มันฉ้อฉลและเป็นตัวแทนกลุ่มทุนที่ไม่คำนึงถึงจริยธรรม


 


ดังนั้นต้องกลับมามองกันให้ลึกว่าความจริงแล้วเป้าหมายก็ไม่ได้ตรงกัน สิ่งที่เราเรียกว่าโครงสร้างแห่งความรุนแรง โครงสร้างแห่งการเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงมันยังฝังลึกอยู่ในสังคม แล้วคุณทักษิณก็เป็นตัวแทนอันหนึ่งเท่านั้น แต่มันไม่ได้มีแค่คุณทักษิณคนเดียว ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา วิธีการโดย โดยมองแค่ว่า คุณทักษิณเป็นปัญหาเอาเขาลงจากอำนาจก็จบจึงไม่ใช่


 


มองแบบนี้จะไม่ต่างกับการที่คุณทักษิณเคยมองว่า ปัญหายาเสพติดเกิดจากคนชั่วไม่กี่คน ก็ฆ่ามันซะพันสองพันคน แล้วจบ แต่มันไม่ใช่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล มันอยู่ที่ระบบ แล้วเราก็โจมตีคุณทักษิณว่ามองปัญหาผิด แล้วเราก็กำลังใช้วิธีนี้มาขับไล่ทักษิณ แต่อาตมามองว่า ตัวบุคคลไม่ใช่ปัญหาเท่ากับระบบ หรือตัวโครงสร้างและวัฒนธรรม


 


ตอนนี้สังเกตได้ว่ามุ่งไปที่ตัวบุคคลจนทำให้เกิดอคติแล้ว


 


แน่นอน เพราะตัวบุคคลมันเห็นง่าย แล้วตัวบุคคลเป็นสิ่งที่กระตุ้นความตื่นตัวได้ง่ายกว่า เพราะถ้าพูดถึงระบอบหรือโครงสร้าง คนไม่เข้าใจ คนเห็นภาพไม่ชัด แต่เห็นด้วยว่า คนกำลังไปเพ่งเล็งตัวบุคคลแล้วทำให้เกิดความจงเกลียดจงชังเขามาก ความจงเกลียดจงชังนี้ทำให้สติและปัญญาเราน้อยลง


 


เหมือนกับเราเคยคิดว่ากำจัดจอมพลถนอม จอมพลประภาส แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ก็เกิด 6 ตุลาใหม่ ดังนั้นสังคมไทยต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้ความเกลียดพุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่ใช้สติและปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงโครงสร้างซึ่งคุณทักษิณเป็นตัวแทน


 


ทราบมาว่าศาสนามีคำสอนเรื่องอคติ หลวงพี่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเตือนสติให้กับสังคมหน่อย เผื่อจะลดอุณหภูมิช่วงนี้ลงมาบ้าง


 


ตอนนี้มีสองอย่างคือ ฉันทาคติ อีกฝ่ายหนึ่งก็ชอบทักษิณ การที่ชอบนี้ส่วนหนึ่งก็ได้อานิสงส์จากนโยบายของคุณทักษิณเช่น แท็กซี่ ชาวบ้านในสลัม โครงการบ้านเอื้ออาทร หรือชาวบ้านในชนบท แล้วฉันทาคติบางครั้งมันก็กลายเป็นเรื่องของการนิยมตัวบุคคลโดยไม่คำนึงถึงว่า เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ พูดง่ายๆคือเอาความชอบใจมากกว่าความชอบธรรม


 


อีกข้อคือภยาคติ กับโทสาคติ หรือความกลัว ความโกรธ เป็นอคติแบบหนึ่งที่ต้องการทำลาย แต่ก็เน้นเรื่องตัวบุคคลเหมือนกัน เขาอาจจะทำดีแต่เนื่องจากไม่ถูกใจฉัน ฉันไม่ชอบ ฉันก็ขับไล่ คนจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านคุณทักษิณก็เพราะว่าสูญเสียผลประโยชน์ ไม่สนใจว่าเขาทำถูกหรือไม่ แต่ฉันไม่ชอบใจเขา ไม่ได้สนใจเรื่องความชอบธรรม


 


ทั้งหมดนี้ก็โยงไปสู่โมหะคติหรือความหลง มีทั้งสองฝ่ายจนมองเห็นแต่ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาตัวบุคคลไม่ใช่โครงสร้างหรือระบบ ต้องมีสติจึงลดทอนได้


 


ในแง่พุทธศาสนาสิ่งสำคัญในตอนนี้อยู่ที่การถือธรรมาธิปไตย ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างอัตตาธิปไตย และโลกาธิปไตย


 


อัตตาธิปไตยคือเอาตัวเองเป็นใหญ่ ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ ความชอบของตัวเองเป็นใหญ่ เอาเกียรติยศหน้าตา ตัวตนอีโก้เป็นใหญ่ ส่วนโลกาธิปไตยคือ แล้วแต่คนว่าอย่างไร ฉันก็ว่าตามเขา ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามหลักธรรมะก็ได้


 


สิ่งที่เราจำเป็นต้องยืนหยัดในธรรมาธิปไตยคือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เราจะได้ไม่ใช้วิธีการโกหก ปล่อยข่าวลือ ฉ้อฉลเพื่อบรรลุจุดประสงค์ ดังนั้นกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ ถ้าเห็นว่าเขาใช้ไม่ได้ในทางจริยธรรม เราก็ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและชอบธรรมด้วย เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ทำเพื่อชัยชนะ แต่ทำเพื่อความถูกต้อง


 


ต้องใช้วิธีการประชาธิปไตย สันติวิธี ที่เขาบอกว่าใช้วิธีการที่เรียกว่าแข็งขืนอย่างอารยะ คือวิธีที่ถูก เพราะไม่ทำร้ายใครเพียงแต่คุณไม่ให้ความร่วมมือกับเขา


 


ฝ่ายที่รักทักษิณก็เช่นกัน ต้องยึดหลักธรรมาธิปไตยด้วย ไม่ใช่เขาทำให้ฉันมีบ้านเอื้ออาทร มีรถแท็กซี่เอื้ออาทร ทำให้ฉันได้ประโยชน์ก็ปกป้องคุณทักษิณโดยไม่สนใจว่าเขาจะโกง จะคอรัปชั่นอย่างไร มิฉะนั้นจะกลายเป็นอัตตาธิปไตย


 


ถ้าใช้วิธีการที่ถูกต้อง หากเห็นว่าทักษิณต้องออกไปก็จะทำให้เห็นทางออกที่มากขึ้น และหากเห็นว่าทักษิณไม่ยอมออกไปแน่ ก็อาจจะต้องมาถอยหลังคนละก้าวหรือเจรจา ก็เป็นอีกประเด็น


 


ตอนนี้มีวิธีการแบบหนึ่งที่มีบางกลุ่มกังขา คือเรื่อง "นายกพระราชทาน" วิธีการนี้ต้องยอมรับว่ามีผลพอสมควรกับการที่ทำให้ "ทักษิณออกไป" ตามเป้าหมาย แต่มันจะขัดกับหลักการที่ถูกของประชาธิปไตยหรือไม่


 


มันก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอยู่แล้ว ในแง่ที่ว่าไม่ได้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามองว่าทำแบบนี้แล้วบ้านเมืองจะไม่นองเลือด อาตมาคิดว่า ก็น่าเสี่ยง


 


แต่เราก็ต้องคิดกันให้รอบคอบ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราทำแบบนี้ ถ้าทำบ่อยๆ มันจะกลายเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วต่อไปก็จะหาทางออกทางนี้อยู่ร่ำไป แล้วคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ในหลวงองค์ต่อๆๆ ไปจะเที่ยงธรรมอย่างในหลวงองค์ปัจจุบัน


 


มันเป็นวิธีการที่อิงตัวบุคคลมาก แต่ตัวบุคคลนั้นไม่มีความแน่นอน ในหลวงองค์ปัจจุบันแม้พระองค์จะเที่ยงธรรมอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ แล้วเราไม่มีหลักประกันว่าในหลวงองค์ต่อไปจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าใช้วิธีนี้เรื่อยไปจะเกิดอะไรขึ้น มันมีความเสี่ยงอยู่


 


อาตมาก็มามองว่า สมัยที่คุณทักษิณเจอคดีซุกหุ้น แล้วคดีมันขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นเราก็เชียร์คุณทักษิณ ก็คิดอยู่ในใจว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้คุณทักษิณพ้นผิดก็ดีเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าคุณทักษิณจะเป็นความหวังของบ้านเมือง เราก็ยอมประนีประนอมกับหลักการ กับกฎหมายในเรื่องผู้นำไม่ควรจะซุกหุ้น


 


คือเราก็รู้ว่าเขาซุก แต่เราก็มองข้ามไปก่อนแล้วกัน อย่าไปถือสามาก ขอให้เขาได้เป็นนายกฯ ไอ้การที่เรายอมประนีประนอมกับหลักการเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า ตอนนี้เป็นอย่างไร ก็เดือดร้อนกันใหญ่ บางทีถ้าคุณทักษิณไปตั้งแต่ตอนนั้น บางทีบ้านเมืองจะสงบมากกว่านี้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้หรือตอนนี้


 


และตอนนี้อารมณ์ของสังคมก็เป็นแบบนี้ คือยอมหลับหูหลับตาสักหน่อยเพื่อให้ได้นายกฯที่เป็นทางออกที่ดีกว่าคุณทักษิณ แล้วมันจะดีจริงหรือ และถึงเป็นคนดีจริงก็ทำให้เกิดเยี่ยงอย่างในทางการเมืองว่า ต่อไปเอะอะอะไรก็จะใช้วิธีการขอนายกฯพระราชทาน เป็นทางออกที่ดีจริงหรือ


 


มีหลักธรรมสอนบ้างไหมว่าเมื่อไหร่ควรหรือไม่ควรประนีประนอมกับหลักการ


 


คือถ้าประนีประนอมหลักการเพื่อตัวบุคคลไม่ค่อยน่าประนีประนอม แสดงว่าเอาบุคคลเป็นใหญ่มากกว่าหลักการ แล้ววันนี้ก็กำลังประนีประนอมหลักการเพื่อตัวบุคคล เพราะคิดอยากได้บุคคลที่ดีกว่าคุณทักษิณ ก็คือความเสี่ยง แต่ถ้าประนีประนอมหลักการเพื่อตัวบุคคล ก็หมายถึงเราทิ้งหลักธรรมาธิปไตย เพื่ออัตตาธิปไตย


 


แต่การประนีประนอมกับหลักการไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เราควรประนีประนอมหลักการย่อย เพื่อรักษาหลักการใหญ่ คือแล้วแต่กรณีเช่น อาจจะยอมโกหกเพื่อไม่ฆ่าใคร หรือไม่ให้ใครถูกฆ่า อันนี้คือการยอมเสียหลักการย่อยเพื่อรักษาหลักการใหญ่ เพราะถือว่าการไม่ฆ่าคนสำคัญกว่าการโกหก นี่เป็นตัวอย่างที่คิดได้แบบเฉพาะหน้า


 


แต่ถ้าพูดถึงธรรมะแล้วมันดูจับต้องยาก ยิ่งช่วงนี้มีคนพูดถึงประชาธิปไตยคุณธรรมกันมาก เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าใช่


 


ไม่ใช่ว่าจับต้องไม่ได้ หรือเป็นเรื่องยาก แต่เราไกล่เกลี่ยกับเรื่องนี้มานานแล้ว เราเลยไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ถ้าทำจนเป็นนิสัยมันก็ชัดเจน มันก็อย่างที่คุณธีรยุทธ บุญมี บอกว่า ชนชั้นนำไกล่เกลี่ยกับความชั่วร้ายมานาน มาถึงตอนนี้มันก็เลยเบลอๆ


 


ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยอาศัยหลักคุณธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินตลอดเวลา ทั้งในระดับบุคคลและส่วนรวม มันจะไม่สับสนแบบตอนนี้


 


พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงว่า เกณฑ์วัดทางจริยธรรมมันชัดนะ มันก็เหมือนกับการทำแท้ง บางครั้งเราก็ไม่สามารถประณามได้ แม้ความจริงจะผิดศีลก็ตาม แต่บางครั้งเขาไม่มีทางเลือก เช่นยากจน ถูกข่มขืน หรือเขาไม่พร้อม


 


ดังนั้นจริยธรรมก็มีส่วนที่เป็นสีเทาตัดสินยาก แต่มันก็เหมือนการตัดสินในทางเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งมีประเด็นที่ตัดสินใจยาก ไม่ชัดเจนอยู่เช่นกันเช่น การทำเอฟทีเอ ระหว่างประโยชน์กับผลเสียที่จะเกิดขึ้นมันก็ตัดสินใจยาก เพราะโลกสมัยนี้มันเป็นแบบนี้ มันซับซ้อนมากขึ้น


 


เมื่อโลกเป็นแบบนี้ประชาธิปไตยคุณธรรมจะเป็นจริงได้หรือ เพราะประชาธิปไตยอาจมองได้ว่าไม่ใช่เรื่องคุณธรรม แต่เป็นเรื่องการยอมรับของคนส่วนมากซึ่งบางครั้งอาจสวนทางกับคุณธรรมก็ได้ เช่น สังคมส่วนมากยอมรับหลักการการปราบปรามยาเสพติดด้วยการฆ่า  


 


คนไทยเราหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่ไม่ได้มองว่าแก้ปัญหาระยะยาวได้จริงหรือไม่ นี่ก็ประกาศสงครามกับยาเสพติดมา 3 ครั้งแล้วก็ยังไม่รู้ต้องประกาศอีกกี่ครั้ง เราหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากเกินไป


 


แต่ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เรื่องจริยธรรมมันซับซ้อน เพราะสังคมมีคนหลายฝ่าย จริยธรรมของแต่ละฝ่ายก็มีมุมมองของเขาเอง ประชาธิปไตยคงไม่สามารถมีข้อตัดสินได้ชัดเจน ถ้าเราเปิดเวทีให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสได้พูดได้แสดง ก็มีโอกาสจะหาข้อสรุปได้ในระดับหนึ่ง


 


จริยธรรมไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แม้กระทั่งจริยธรรมตามนิยามของชาวบ้านกับคนในเมืองก็ต่างกัน ของฆราวาสกับของพระก็ต่างกัน ต้องยอมรับความจริงอันนี้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเอามาปะทะสังสรรค์ มาเสวนากัน อย่าให้ใครคนใดมาผูกขาด ที่ผ่านมา 5 ปี เราให้คุณทักษิณมาผูกขาดว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศ


 


คุณทักษิณคิดว่าตัวฉันคือตัวแทนของประเทศไม่เห็นด้วยกับฉันแสดงว่าไม่ใช่คนไทย  เพราะฉะนั้นต้องเปิดเวทีให้กว้างเพื่อให้คนได้ถกเถียงอภิปรายกันว่า ผลประโยชน์คืออะไร และผลประโยชน์ที่ถูกต้องชอบธรรมนั้นเป็นอย่างไร เราต้องพร้อมที่จะเปิด ไม่ต้องกลัววุ่นวาย


 


แต่ตอนนี้มันสับสนจนคนไม่น้อยต้องการเผด็จการมาตัดสินให้ แต่ว่าถ้าต้องการความสงบที่ยั่งยืนยาวในโลกยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับความหลากหลายในทางผลประโยชน์และทางความคิดในเรื่องระบบของจริยธรรมตามนิยามของแต่ละฝ่ายด้วย


 


บางฝ่ายเรียกร้องถึงขั้นว่าให้ทหารมาปฏิวัติก็เป็นวิธีชอบธรรม เรียกว่าไม่เลือกวิธีการ


 


มีปัญหาเดียวคือคนเขาอยากให้มันสงบแล้วใช้วิธีการอะไรก็ได้ ทั้งหมดนี้คิดแบบเดียวกันคือวิธีการอะไรก็ได้ขอให้ได้เป้าหมายที่ต้องการ เป็นวิธีคิดที่ผิดพลาด และถ้าคิดแบบนี้ คือผิดพลาดกันทุกฝ่าย


 


วิธีคิดคือ วิธีการจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและถูกต้องชอบธรรมด้วย คุณทักษิณใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม คือใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ อย่างที่เคยพูดว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการซึ่งก็ถูก แต่ถ้าอธิบายว่า ฉันไม่ใช้วิธีการประชาธิปไตยบ้างก็ได้ อันนั้นไม่ถูก ต้องถามว่าต้องการความสงบแล้วให้ทหารมาปฏิวัตินี่ถูกต้องหรือไม่ ให้ถามใจตัวเอง


 


แต่ในศาสนาพุทธก็มีหลายวิธีการเพื่อให้ถึงเป้าหมายนิพพาน ทำให้มีหลายนิกาย อย่างนิกายตันตระก็ปฏิบัติสวนทางเถรวาทสุดขั้วเลย เช่นให้เสพเมถุนจนละได้ มันเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้ได้หรือไม่


 


ความสุดโต่งมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว การที่เราจะเลือกทางสายกลางเป็นเรื่องยาก หรือแม้แต่ในเถรวาทก็มีสุดโต่ง เป็นเรื่องที่เราจะต้องใช้สติปัญญาให้ใกล้กับทางสายกลาง คนเราพอไปยึดมั่นถือมั่นมากเกินไปอย่างที่ภาษาทางพระเรียกว่า อุปาทาน ก็มีแนวโน้มที่จะสุดโต่ง เช่นเพื่อให้ได้ชัยชนะฉันจะทำอะไรก็ได้ อันนี้เป็นปัญหา


 


แล้วจะดับมันอย่างไร


 


คือต้องมีสติ ปัญญา และเมตตา สติคืออย่าให้ความโกรธ ความเกลียดเข้ามาครอบงำ ไม่ใช่ว่าหมกมุ่นกับการต่อต้านทักษิณจนนอนไม่หลับ หรือหมกมุ่นจนเห็นใครที่คิดต่างเป็นศัตรู เขาอาจเป็นคนดีก็ได้ วันนี้เขาเห็นต่างกับเรา แต่พรุ่งนี้เขาอาจร่วมมือกับเราก็ได้  ถ้าไม่มีสติมันจะอินและจะแคบ จะมีความอดทนน้อย สติจะเตือนให้เราหลุดพ้นจากการหมกมุ่นจากความโกรธ ความเกลียด


 


ปัญญาก็คือมองไกลๆว่า วันนี้คนที่เราเห็นต่างกัน แต่หลายเรื่องเราก็เห็นเหมือนกันเช่น อาจจะเชียร์แมนยูฯเหมือนกัน ไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐมาบุกอิรักเหมือนกัน รักเทิดทูนในหลวงเหมือนกัน และที่สำคัญคือเป็นคนไทยเหมือนกัน


 


หรือใช้ปัญญาพิจารณาว่า คุณทักษิณไม่ช้าไม่เร็วก็จะต้องไปด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง หรือเพราะแก่ชราภาพ แต่เราทุกคนต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยนี้แล้วจะทะเลาะกันทำไม อีกไม่นานก็ตายจากกันแล้ว ใช้ปัญญาพิจารณาแบบนี้บ้าง


 


สุดท้ายมีเมตตา จะทำให้จิตใจหายเร่าร้อน เพราะถ้า โกรธ เกลียด คับแคบก็จะทุกข์


 


แต่ตอนนี้หลายคนกำลังวิตกจนเกิดทุกข์ในนโยบายที่ทักษิณกำลังจะทำ หากมานั่งรอตามหลักศาสนาว่า เดี๋ยวก็แก่ตาย มันจะช้าเกินไปไหม


 


ก็ใช่ แต่นั่นคือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้  และต้องยอมรับว่าถึงคุณทักษิณไปแล้วได้คนใหม่มาอาจจะแย่กว่าก็ได้ เหมือนสมัยก่อนเราก็เบื่อคุณชวน แล้วได้คุณทักษิณมาบ้านเมืองมันดีขึ้นไหม ถนอม-ประภาส เราขับไล่เขาออกไป แล้วเราก็เจออีกหลายคนที่ไม่เข้าท่า หรือยิ่งกว่านั้น


 


สุดท้ายแล้วเรื่องนี้มันเป็นวัฏจักรที่เราต้องปลงหรือ


 


ก็ต้องปลง ใช้ปัญญาพิจารณาว่านี่คืออนิจจังของโลก มันเป็นวัฏจักรแบบนี้ แต่เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่พอเห็นเป็นวัฏจักรแบบนี้ก็งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร ถ้าใช้วิธีที่ถูกต้องชอบธรรมก็คือหลักประกันว่า เมื่อไรจะมีสันติสุขอย่างแท้จริง


 


แต่ถ้าใช้อย่างการรัฐประหาร หรือทำให้ปะทะกันเพื่อจะได้มีนายกฯพระราชทาน วิธีการเหล่านั้นคิดว่าเสี่ยงและอาตมาอยากพูดตรงไปตรงมาว่า หากคุณทักษิณลาออก วันนี้เขาจะเป็นวีรบุรุษ คนอีก 20 ปีข้างหน้าจะนึกถึง อย่างที่ทุกวันนี้นึกถึงจอมพลสฤษดิ์ ภาพที่ปรากฏ 5 ปี มันมีความสำเร็จ แต่ถ้าให้ปกครองไปอีกสักพัก ความล้มเหลวจะปรากฏมากขึ้น คนจะเบื่อหน่ายไปเอง และคนอีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่นึกถึงคุณทักษิณ


 


ดังนั้นหากให้คุณทักษิณอยู่ต่อไปก็ดีเหมือนกัน เขาจะหมดสภาพความเป็นตำนาน เพราะคนจะเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว และจะเป็นเรื่องดีหาก 20 ปีข้างหน้าเกิดเหตุแล้วสังคมไม่นึกถึงคนอย่างคุณทักษิณ จอมพลสฤษดิ์ โชคดีที่แกอายุสั้น เพราะถ้าแกอายุยืน แกก็จะหมดสภาพอย่างถนอม - ประภาส ที่ครองประเทศ 10 ปี แล้วใครนึกถึงบ้าง


 


มันต้องแลกกับความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ และหากมีการต่อต้าน ก็อาจย้อนกลับมาสู่การใช้ความรุนแรง เหมือนการขับไล่จอมพลถนอม-ประภาส


 


อาตมาไม่คิดแบบนั้น เพราะมองจากตรงนี้ไป คุณทักษิณปกครองประเทศไม่ได้แล้ว จากนี้ไป ถึงเขาจะปกครองได้แค่ไหน จนถึง ปี 2550 - 2551 เขาจะมีสภาพเป็นอย่างไร เศรษฐกิจก็จะแย่ลง ภาพที่เขาสร้างมันก็จะหมดมนต์ขลัง ความรู้สึกของคนในเมืองตอนนี้ก็ไม่ยอมรับเขาแล้ว เขาไม่มีทางผูกขาดอะไรได้อีกแล้ว มันเลยเวลาไปแล้ว


 


เขามีโอกาสที่จะเป็นรัฐบุรุษ แต่เขาเลือกที่จะเป็นเศรษฐี มากกว่า และวันนี้แกมีโอกาสที่จะเป็นวีรบุรุษ แล้วแกก็ทิ้งโอกาส แกก็ต้องรับกรรมของแกไป อยากบอกคนที่ต้านคุณทักษิณว่าถึงเขาไม่ไปวันนี้ ตอนนี้ เขาก็ต้องไปอยู่ดี และจะไปอย่างหมดสภาพด้วย เว้นแต่จะถูกรัฐประหารนะ เขาก็จะกลายเป็นฮีโร่ อาตมามองแบบนี้เลยไม่เดือดร้อนว่าเขาจะไปเมื่อไหร่ ขออย่างเดียวอย่าให้มีการนองเลือด อย่าให้มีรัฐประหาร


 


มีธรรมมะข้อไหนอยากเทศน์ผ่าน "ประชาไท" ไปสู่ทั้งสองฝ่ายบ้าง


อาตมาเชื่อว่าทุกคนมีเชื้อแห่งความดีอยู่ในตัว แต่บางครั้งความดีนั้นไม่สามารถที่จะแสดงพลังออกมาได้ มันถูกกลบด้วยความกลัว ความโกรธ ความเกลียด คุณทักษิณแกมีความกลัวไม่น้อย แต่ถ้าหากเรามีเวลานั่งคิดอย่างสงบ พลังแห่งความดีอาจแสดงออกมาให้สิ่งที่ดีได้ บางครั้งความดีจะแสดงออกมาได้ อีกฝ่ายต้องไปกระตุ้นความดีของเขา ให้เบ่งบานในใจ ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณ ต้องช่วยทำให้ความดีของเขาได้แสดงตัวออกมาและทำความดีให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง


 


ฝ่ายต้านคุณทักษิณ สิ่งสำคัญอยู่ที่การชนะใจผู้คนในสังคม คุณทักษิณเสียพื้นที่ไป เพราะแกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าฝ่ายต้านเป็นตัวแทนที่ชัดเจนในเชิงจริยธรรม ถ้าทำตรงนี้มากขึ้น จนสามารถชนะใจเขาได้ จะได้รับความเห็นใจจากประชาชนที่เป็นกลางมากขึ้น ซึ่งการชนะใจเป็นสิ่งสำคัญกว่าการชนะด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งทำได้ด้วยสันติวิธี ที่เรียกว่าแข็งขืนอย่างมีอารยะ ถ้าทำได้ จะชนะใจคน และเป็นการปักหมุด ปักเสาเข็มแห่งจริยธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มั่นคงมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net