Skip to main content
sharethis

กระโปรงบานขาสั้นรวมตัวเสนอทางออกของการเมืองระดับชาติ แถลงผลโพลล์ เปรียบเทียบเหตุวิกฤตทางการเมืองกับปัญหาครอบครัวแตกแยก เรียกร้องให้ทุกฝ่ายนัดชี้แจงพร้อมกันผ่านสื่อทีวี ประกาศกร้าวหากฝ่ายไหนไม่ร่วมด้วย แสดงถึงความไม่จริงใจ ย้ำ หากไม่ให้เด็กยุ่งเกี่ยวการเมือง ขอให้ยกเลิกการสอนเรื่องประชาธิปไตยในวิชาเรียน


 


เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2549 ที่ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการมีเดีย วอช (Media Watch Project) นำโดยขบวนการตาสับปะรด ร่วมกับสำนักข่าวเด็ก และเยาวชน ศูนย์ประสานงานเด็ก และเยาวชนสร้างสรรค์ เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม (YPLE) และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงผลการสำรวจ Pineapple Eyes Poll "เมื่อพ่อ - แม่ทะเลาะกัน" เปรียบเทียบการเมืองใหญ่ เด็กไทยได้ทางออกแล้ว พร้อมเสนอแนะทางออกในการแก้ไขปัญหาการเมืองระดับชาติ


 


นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ คณะทำงาน Pineapple Eyes Poll กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น ได้มีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นความเห็นที่ทั้งตรงใจ และไม่ตรงใจใครๆ อีกหลายฝ่าย สุดท้ายมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เด็กไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องของผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กในขบวนการตาสับปะรดเห็นว่าเป็นเรื่องที่เด็กๆ ก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะทุกครั้งที่มีปัญหาต่างๆ ผู้ใหญ่จะเข้ามาจัดการให้เด็ก โดยไม่ปล่อยให้เด็กคิดเอง แต่สุดท้ายผู้ใหญ่ก็ตอบไม่ได้แม้กระทั่งความดีคืออะไร วันนี้เด็ก และเยาวชนจึงขอรวมตัวกันเสนอทางออกเพื่อชาติ


 


โดยการจัดสำรวจผลโพลล์ดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อสำรวจเปรียบเทียบการเมืองไทยในปัจจุบัน สุ่มตัวอย่าง 530 คน เป็นเพศหญิง 64.4% เพศชาย 35.6% และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก และเยาวชนอายุระหว่าง 11 - 20 ปี 40.9% รองลงมาเป็นช่วงอายุ21 - 30 ปี 30.2% ซึ่งการที่นำเรื่องครอบครัวมาเทียบเคียงการเมืองก็เพราะ ถ้าใช้คำถามเรื่องการเมืองออกไปตรงๆ ผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะก็ไม่รู้ว่าจะเข้าข้างใคร และจะตอบอย่างไรดี ดังนั้นการเลี่ยงมาเปรียบเทียบกับครอบครัวน่าจะทำให้สามารถแสดงความเห็นได้มากกว่า


 


ภายในงานเด็ก และเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น เปรียบเทียบครอบครัวกับสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ โดยนายกันตวิช โปรียานนท์ นักจัดรายการวิทยุเด็ก และเยาวชน AM 891 กล่าวว่า ผลโพลล์ข้อแรกระบุ 96.4% เห็นว่าพ่อแม่ ทะเลาะกันส่งผลกระทบ และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อลูก เปรียบเทียบได้ว่า การเมืองขณะนี้เปรียบเหมือนพ่อแม่กำลังทะเลาะกัน และกำลังจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อลูกๆ หรือเด็ก และเยาวชน ซึ่งกระทบตรงที่ว่าประชาชนกำลังสับสน เพราะไม่รู้ว่าตนจะอยู่ฝ่ายพ่อ หรือแม่ดี รวมทั้งไม่รู้ว่าจะสามารถเชื่อถือสื่อมวลชนใดได้ นอกจากนี้ เมื่อได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ผ่านสื่อ เด็กๆก็จะซึมซับมาเป็นตัวอย่าง วันนี้เด็กเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ในอนาคตก็พร้อมปฏิบัติตาม


 


และกล่าวถึงผลโพลล์ต่อว่า ลูกๆ ควรจะเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ สรุปออกมาว่าไม่ควรเลือก 73.7% เปรียบเทียบกับการเมืองได้ว่า เหตุการณ์ในขณะนี้ เด็ก และเยาวชนมีฐานข้อมูลไม่มากพอที่จะไปตัดสินอะไรได้ นอกจากนี้ 97.0% เห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายสื่อสารอย่างเท่าๆ กัน ไม่ควรปิดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้ตนเห็นว่า โอกาสในการสื่อสารของทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่ทัดเทียมกัน โดยฝ่ายพ่อมีช่องทางสื่อสารได้มากกว่าแม่ ดังนั้นเด็กๆ ก็จะเชื่อฝ่ายพ่อมากกว่า ตนจึงขอให้สื่อเปิดช่องทางมากขึ้น และให้โอกาสทั้ง 2 ฝ่ายได้สื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารมากพอที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้


 


ด้านนางสาวสุดารัตน์ ขจรวุฒิเดช นักจัดรายการวิทยุเด็ก และเยาวชน AM 891 กล่าวเสริมผลโพลล์ต่อว่า 86.6% คิดว่าหากตนเป็นลูกติดของฝ่ายหนึ่ง จะเปิดใจยอมฟังเสียงของอีกฝ่าย สามารถเปรียบได้กับขณะนี้สังคมเราเริ่มแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น หากเรายังคงแบ่งฝ่ายโดยไม่รับฟัง หรือเลือกที่จะรับข่าวสารเพียงฝ่ายที่ตนเชื่อถือ ปัญหาที่เกิดก็จะไม่สามารถคลี่คลายได้ โดยทางออกก็เป็นอย่างที่ผลโพลล์ระบุ คือทุกฝ่ายต้องยอมฟังความเห็นของอีกฝ่ายให้มากขึ้น


 


และกล่าวเผยผลโพลล์ต่อว่า 95.8% อยากให้พ่อ - แม่ หันหน้ามาพูดความจริง ต่อหน้าลูกๆ ทุกคนพร้อมๆ กัน มากกว่ามาพูดใส่กันคนละที นั่นคือให้ทั้ง 2 ฝ่าย หาโอกาสออกมาพูดความจริงให้ประชาชนรับรู้พร้อมๆกัน โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือมาสร้างสันติ เพราะผลโพลล์ก็ระบุอยู่แล้วว่า การพูดคุยกัน จะนำไปสู่การสร้างสันติ และหากได้ทำการเชิญมาแล้ว แต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มาแสดงว่าฝ่ายนั้นไม่จริงใจในการสร้างสันติ


 


นอกจากนี้ 84.5% ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทั้งสองฝ่าย พาญาติของตัวเองมาช่วยกดดัน  ช่วยตัดสินปัญหาในครอบครัว  ในเรื่องการเมืองเห็นว่าไม่ควรหาฝักหาฝ่ายเข้ามาตัดสินให้ เพราะจากการตีกันเล็กๆ ก็อาจจะเกิดเหตุลุกลามใหญ่โต และการมีคนอื่นมาช่วยตัดสิน ตนเห็นว่าไม่ใช่หนทางที่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหา แต่เป็นการดึงคนเข้ามาสร้างความบาดหมางมากขึ้น


 


ส่วนข้อที่ตนเห็นว่าน่าสนใจก็คือ ผลโพลล์ที่ระบุว่า 46% คิดว่าเมื่อสามีภรรยาทะเลาะกัน ไม่ควรไปรบกวน ให้เจ้าอาวาสที่นับถือมาช่วยตัดสินแก้ไขปัญหา แต่อีก 48.4% เห็นว่าควรให้เจ้าอาวาสตัดสิน เพราะการที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า เมื่อมีปัญหา แล้วควรจะไปรบกวนเจ้าอาวาส หรือบุคคลเบื้องสูงของเราเข้ามาตัดสิน แสดงว่า สังคมไทยของเราตัดสินใจอะไรเองไม่ได้


 


สุดท้ายนายกันตวิช กล่าวเพิ่มว่า ผลโพลล์ระบุ 79.4% คิดว่า ลูกๆ ไม่ควรปล่อยให้พ่อ - แม่ ทะเลาะกันไปเรื่อยๆ โดยคิดเพียงว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็กไม่เกี่ยว ตนเห็นว่า ถ้าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องมาสอนเด็กเรื่องนี้ในวิชาเรียน


 


นอกจากนี้ในเวทีมีการเสนอทางออกของการเมืองไทยโดย นางสาวน้ำค้าง คำแดง ประธานดูแลเยาวชนในขบวนการตาสับปะรดกล่าวว่า เด็ก และเยาวชนควรมีสิทธิเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งเรื่องของประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับเราแน่นอน จึงขอเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดให้ประชาชนฟังพร้อมๆ กันผ่านเครื่องมือการสื่อสารที่มีในประเทศเช่นทีวีเฉพาะกิจ รวมทั้งอยากให้ประชาชน ช่วยกันเฝ้าดูว่าผลของการพูดพร้อมๆ กันของทั้ง 2 ฝ่ายจะออกมาแบบไหน แล้วเรียนรู้ร่วมกัน ให้รู้ว่าใครที่จริงใจกับประชาชน


 


"เราไม่รู้ว่าพวกคุณคิดอะไรกัน แต่อยากบอกว่าความขัดแย้งของผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย ควรเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ พวกเรารอความเป็นจริงอยู่ ถ้าวันนี้คุณโกหก เยาวชนอย่างเรากำลังเดินตามรอยเท้าของคุณอยู่ แล้วในอนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร" นางสาวน้ำค้างกล่าว


 


และกล่าวต่อว่า ตนไม่ทราบว่าฝ่ายไหนจะถูกหรือจะผิดอะไรอย่างไร แต่เชื่อว่า ผู้ที่กล้าออกมาเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย กล้าพูดต่อหน้าประชาชน ย่อมแสดงว่าเป็นผู้ที่มีความจริงใจ และอยากให้สื่อมวลชนในประเทศนำเสนอข่าวของทั้ง 2 ด้านอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเวลานี้ตนเห็นว่าสื่อไม่ได้ตอบสนองความเป็นจริง และความต้องการของใครหลายๆ คน สื่อละเมิดสิทธิของเรา เพราะเราไม่สามารถอยู่บ้านแล้วรู้สถานการณ์อะไรได้ เราต้องออกมาเสี่ยงอันตรายนอกบ้าน เพื่อให้ได้รู้ว่าบ้านเรากำลังเกิดอะไรขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net