Skip to main content
sharethis

                                


                                                    นายอนุช อาภาภิรม


 


ประชาไท—2 มี.ค. 2549 โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทยสรุป 11 ประเด็นประเทศไทย ระบุเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในขั้นจัดการได้ การเมืองร้องแรงฉุดรั้งการพัฒนา ชี้อนาคตจับตาโลกอิสลาม


 


โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (TTMP) โดยนายอนุช อาภาภิรม และคณะ ภายใต้ทุนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำเสนอรายงานล่าสุดประจำปี 2548 ในการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ประเทศไทยปี 2548 เรื่อง "ประเทศไทย 2548 : บ่ายหน้าสู่ทางใด" วันที่ 1 มีนาคม 2549 ณ ห้องประชุม 1 สกว. นายอนุช นำเสนอสาระสำคัญของการศึกษา 11 ประการ ดังนี้


 


กระแสโลกาภิวัตน์แข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผลสำเร็จของหลายประเทศสังคมนิยมหรือกึ่งสังคมนิยมเดิมที่นำระบบตลาดไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย ยุโรปตะวันออกและอินเดีย เป็นต้น แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายประการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในศูนย์อำนาจโลก ที่สหรัฐค่อยๆสูญเสียการนำลงไป ตลาดโลกและการแข่งขันในตลาดโลกยังคงเป็นกระแสหลักสำหรับประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย


 


โลกอิสลาม ได้กลายเป็นพลังทางการเมืองที่ไม่อาจมองข้ามได้และน่าจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมาก หากได้ดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม หลายประเทศในลาตินอเมริกาได้หันไปในแนวทางกลาง-ซ้าย ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งหันไปในทางกลาง-ขวา


 


ในรอบปี 2548 รัฐนาวาประเทศไทย ต้องเผชิญกับคลื่นใต้น้ำจากหลายด้าน ทั้งคลื่นใต้น้ำสึนามิ ไข้หวัดนก


การก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้ประกาศรับผิดชอบ ผลกระทบทางไกลจากน้ำมันราคาแพง


และที่สำคัญได้แก่ความขัดแย้งภายในชนชั้นนำด้วยกัน ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพและความมั่นใจอย่างเห็นได้


 


เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตพอสมควร พื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ในสภาพมั่นคง ฐานะการเงินการคลังของประเทศยังอยู่ในภาวะดูแลจัดการได้ การประกอบการของธุรกิจเอกชนยังคงมีกำไร อัตราการว่างงานต่ำ


แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวัง ในเรื่องดุลการค้า การออมภายในประเทศ การต่อสู้กับการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น และผลกระทบจากความไม่ได้สมมาตรของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก


 


สถานการณ์การเมืองในประเทศร้อนระอุตลอดปี มองในด้านลบเป็นการฉุดรั้งการพัฒนา ความมั่นใจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มองในด้านบวกเป็นการขับเคลื่อนเพื่อยกมาตรฐานการเมืองขึ้นสู่ระดับใหม่ อันจะสามารถนำพารัฐนาวาไปอย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม การสร้างความปรองดองภายในชาติโดยรวม และภายในชนชั้นนำโดยเฉพาะ การเพิ่มประสิทธิภาพและความเที่ยงธรรมขององค์การตรวจสอบการลดทอนคอร์รัปชันอย่างจริงจัง การลดทอนอิทธิพลมืดในท้องถิ่นการมีส่วนร่วมและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ของฝ่ายต่างๆ เหล่านี้น่าจะช่วยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยได้


 


ประชากรไทยเพิ่มในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ จำนวนประชากรจะถึงช่วงคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ และประเทศจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การเป็นเมืองมีอัตราเร็วขึ้น จิตใจแบบประกอบการกำลังเข้าแทนที่จิตใจแบบชาวนาในชนบท แรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลง แต่จะกลายเป็นแรงกดดันที่ต้องการยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนมากกว่า ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับการสร้างแบบจำลองการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงาน


 


ในด้านท่วงทำนองดำเนินชีวิต กระแสหลักยังคงเป็นวัฒนธรรมผู้บริโภค แต่เกิดวัฒนธรรมย่อยที่น่าสนใจขึ้น ได้แก่ วัฒนธรรมบันเทิง วัฒนธรรมการแสดง และวัฒนธรรมความสุข เป็นที่สังเกตว่าวัฒนธรรมจากประเทศที่มีทุนพัฒนามากกว่าได้ไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และท้ายสุดได้แก่เกาหลีใต้ ตั้งแต่สินค้า แฟชั่น ไปจนถึงภาพยนตร์ มีการเสนอวัฒนธรรมความสุขทางด้านจิตใจเพิ่มขึ้น และวัฒนธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมที่เป็นไสยศาสตร์ก็ต่อสู้กันอยู่ อนึ่งวัฒนธรรมมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์อย่างเห็นชัดขึ้น มีการควบรวมและซื้อกิจการทางด้านนี้


 


อาหารและสาธารณสุขเป็นจุดแข็งของประเทศ โดยนายอนุชกล่าวว่า อาหารไทยมีความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในรสชาติและมีผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น การปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิต รวมทั้งมีนโยบายอาหารทั้งระบบ มีความจำเป็นต่อความมั่นคงทางอาหาร การสร้างสุขภาพแก่ประชาชน และการแข่งขันในตลาดโลก การสาธารณสุขไทยได้ผ่านการทดสอบที่สำคัญ เช่น กรณีไข้หวัดนก การควบคุมโรคเอดส์ การดำเนินงานระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งการจัดการด้านอนามัยในพื้นที่ประสบธรณีพิบัติภัย ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ที่ควรจะได้พัฒนาต่อไปทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ บุคลากร องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และการบริหารจัดการ


 


การศึกษาของไทยก้าวสู่ขั้นสำคัญ ได้แก่การเคลื่อนไหว 3 ส่วนคือ การถ่ายโอนสถานศึกษาให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น, บทบาทที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจเอกชนตลอดจนสถานศึกษาต่างประเทศต่อการศึกษาของไทย


และความพยายามของรัฐในการยกคุณภาพการศึกษาของชาติ เช่นการแก้ปัญหาบุคลากรทางการศึกษา การแปรการศึกษาให้เป็นแบบดิจิตัล หากการเคลื่อนไหวทั้งสามส่วนนี้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกัน ก็คาดว่าจะขับเคลื่อนระบบการศึกษาอย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพได้


 


วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการค้นพบและเกิดนวัตกรรมจำนวนมากในวิทยาศาสตร์ระดับสูง ขณะที่มีการแข่งขันสูงด้วย เพื่ออำนาจทางทหารและทางเศรษฐกิจ การแข่งขันทางธุรกิจก่อปัญหาไม่น้อยต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทยมีความตื่นตัวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้น แต่ก็ยังคงล้าหลัง ต้องพึ่งพาและสั่งเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศต่อไป ควรเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงในทุกด้าน โดยเฉพาะ เทคโนโลยีชีวภาพ


 


ประเทศไทยมีแนวโน้มขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจ/สังคมความรู้ ทั้งนี้เป็นไปตามบริบทของโลก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยนี้เป็นไปโดยเต็มใจบ้าง ไม่เต็มใจบ้าง เร็วบ้าง ช้าบ้าง เศรษฐกิจ/สังคมความรู้นี้ดูจะเป็นด่านทดสอบความอยู่รอดของประชาชาติต่างๆ มากกว่าการเป็นสังคมในอุดมคติ


 


นายอนุชสรุปทิ้งท้ายว่า "แม้สังคมไทยบ่ายหน้าสู่เศรษฐกิจสังคมความรู้ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นสังคมในอุดมคติหรือเปล่า"


 


ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ. สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม กล่าวว่า การอยู่รอดในสังคมโดยรวมควรมีการส่งเสริมการวมตัวกันของคนทุกระดับเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อจะอยู่อย่างมั่นคงในการทำกิจกรรม กิจการ หรืองานใด ๆ ก็ตามให้ดีขึ้น และทำกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ การแก้ปัญหาบ้านเมืองปัจจุบันคือต้องดูแลเด็กวัยรุ่นให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ในสังคมเศรษฐกิจความรู้ทำอย่างไรจะตีความและให้ทุกคนปฎิบัติได้ ทุกระดับเพราะ ไม่ว่าอย่างไร สังคมไทยก็ต้องอยู่ให้ได้และอยู่อย่างมีการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยจึงต้องหาความเข้มแข็งของตนเองให้เจอ นั่นคือเรื่องของการรวมกลุ่มกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ การจัดการความรู้นั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net