Skip to main content
sharethis

 


 


 







บทความใน "มุมคิดจากนักเรียนน้อย" เป็นแบบฝึกหัดที่นักศึกษาทำเพื่อส่งผู้บรรยายในวิชาระดับปริญญาตรีของ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


พรรณอุมา สีหะจันทร์


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน วิถีชีวิตของเราก็ต้องเปลี่ยน


 


เช่นเดียวกับ "ชุมชนบ้านค้อใต้" ชุมชนชาวประมงริมแม่น้ำมูล ที่ตั้งอยู่ในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในชุมชนที่ถูกเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตจากการสร้างเขื่อนปากมูล


 


 "เขื่อนปากมูล" เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มี "แผน" ในการผลิตไฟ ๑๓๖ เมกกะวัตต์ แต่เอาเข้าจริงสามารถผลิตได้เพียง ๔๐ เมกกะวัตต์ ในช่วงเวลาเพียงแค่ ๔ ชั่วโมง ที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน


 


 "เขื่อนปากมูล" เขื่อนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่มีการสร้างบันไดปลาโจน บันไดที่มีไว้ให้ปลาอพยพตามฤดูกาลจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำมูล เพื่อเข้าไปวางไข่และย้ายพื้นที่หากิน ซึ่งการมีบันไดปลาโจนของเขื่อนปากมูลดูเหมือนจะดี หากแต่ขัดแย้งกับรายงานขององค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ (FAO) ที่ว่า "ไม่มีบันไดปลาโจนในเขตร้อนที่ไหน ที่สร้างขึ้นมาแล้วปลาจะสามารถว่ายข้ามพ้นไปได้"


 


เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น ได้ออกแบบบันไดปลาโจนไว้สำหรับปลาแซลมอนโดยเฉพาะ เนื่องจากปลาแซลมอนมีนิสัยชอบกระโดด


 


แต่แม่น้ำมูลไม่มี "ปลาแซลมอน" และประเทศไทยก็ตั้งอยู่ใน "เขตร้อน" เช่นกัน


 


การสร้างบันไดปลาโจนขึ้นมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในเมื่อผลกระทบของการสร้างเขื่อนทำให้ปลาในลำน้ำมูลหดหายไป ปลาจากเดิมที่มีกว่า ๒๐๐ ชนิด เหลือเพียงไม่ถึง ๕๐ ชนิด ซึ่งความหลากหลายของพันธุ์ปลาถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำ


 


ชาวบ้านชาวประมงแทบจะหาปลาไม่ได้ จากที่เคยลงลานเพียงแค่ไม่กี่หลัง ก็จะได้ปลาถึง ๔-๕ กิโลกรัม แต่เดี๋ยวนี้กลับต้องใช้ตุ้มลานถึง ๓๐ หลัง โดยลานกว่า ๓๐ หลังนี้ก็ใช่ว่าจะจับปลาได้เท่าเดิม ทั้งปลาที่ได้ก็มีขนาดเล็ก ไม่เกินฝ่ามือ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน ปลาขนาดนี้ชาวบ้านจะไม่แตะมันเลยเสียด้วยซ้ำ


 


เพราะกระแสน้ำเปลี่ยน วิถีชีวิตก็ต้องเปลี่ยน


ชาวประมงผู้หาปลากลับต้องซื้อปลากิน


ลูกชาวประมงผู้หาปลา ผู้มีวิถีชีวิตอยู่ริมน้ำกลับว่ายน้ำไม่เป็น


 


อาชีพประมงที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตและได้สร้างประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมชุมชนกำลังจะเลือนหายไป ชุมชนมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่กับเด็กเล็กๆ อาศัยอยู่ คนวัยหนุ่มสาวต้องเข้าไปหางานทำในเมือง เพราะทนต่อความแร้นแค้นไม่ไหว


 


แล้วใครเล่าจะเป็นผู้สานต่อวิชาชีพนี้ ภูมิปัญญาในการจับปลาของชาวประมงลุ่มน้ำมูลจะเป็นอย่างไร เครื่องมือจับปลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตุ้ม ลาน มอง เบ็ดเผียก หรือแห จะกลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำเท่านั้นหรือ


 


ทำไมชาวประมงผู้หาปลา ต้องผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่น เช่น เป็นแรงงานรับจ้างในเมืองหลวง ในเมืองที่ชุมชนบ้านเกิดของตนเองต้องสละชีวิตความเป็นอยู่ ต้องรับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เขื่อนที่เขาแทบไม่มีโอกาสได้ใช้ เขื่อนที่มีไว้ผลิตไฟฟ้าให้กับคนกรุง


 


ในเมื่อคนเมืองหลวงยังไม่เคยเสียสละให้กับชาวบ้านตาดำๆ แล้วทำไมชาวบ้านที่มีรายได้ทั้งปี ไม่ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท กลับต้องเสียสละให้คนที่มีรายได้เฉลี่ยทั้งปี ๒๐๐,๐๐๐ บาทด้วย


 


กฟผ.ช่วยตอบที?!?


 












บทความทั้งหมด

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ยังมีโอกาสแก้ตัว ?
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ใครโง่ ?
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แม่น้ำมูลกับปลาแซลมอน
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : เซ็กส์ยังคงเย้ายวน
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : จะส่องไฟไปทำไม
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : พูดมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แห่นางแมว: ฝนไม่ตก ก็สุขได้
 มุมคิดจากนักเขียนน้อย: อยู่ได้อย่างเป็นสุข (ในใจ)
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย:น้อมรับพระราชดำรัส พูดง่ายแต่ทำยาก

 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แก้มลิง
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : Children of Heaven เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
 
มุมคิดจากนักเรียนน้อย : ชนะเลิศ...ได้ "ที่สาม"
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : สิทธิบัตรชีวิต
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ โอกาสหรือหายนะ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net