Skip to main content
sharethis


 



 


 


วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2006 18:13น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


กอส.ตั้ง"บวรศักดิ์" ศึกษาแนวทางยกร่างพรบ.ส่งเสริมสันติสมานฉันท์ชายแดนใต้ แก้พรบ.อิสลามปรับกระบวนบริหาร ตั้งศาลพิจารณาคดีมรดก-ครอบครัว-ธุรกรรม มุสลิมโดยเฉพาะ "ชัยวัฒน์""วางกรอบพิจารณาข้อเสนอให้โดนใจสังคมไทย เตรียมนำผลการประชุมบรรจุในร่างข้อเสนอฉบับที่สาม


 


ในการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมมีการหารือถึงประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ของข้อเสนอคณะทำงานเรื่องวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน ข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย ในประเด็นต่างๆ รวม 7 ประเด็น ซึ่งประกอบด้วย พระราชบัญญัติส่งเสริมสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎหมายนิรโทษกรรม แนวทางการพัฒนาตามหลักศาสนธรรมอิสลาม ความพร้อมรับผิดสำหรับสังคมไทยทุกฝ่าย ศาลชารีอะห์ กองทัพไม่ติดอาวุธ(สันติเสนา) และองค์กรศาสนาอิสลามเพื่อดูแลจัดการศาสนบริจาค


 


ทั้งนี้ประเด็นซึ่งที่ประชุมจะร่วมกันพิจารณาทั้ง 7 ประเด็น ส่วนใหญ่บรรจุอยู่ในร่างรายงานข้อเสนอกอส.ฉบับที่สอง มีเพียงประเด็นศาลชารีอะห์ ซึ่งเป็นระบบการพิจารณาคดีแพ่ง เช่นธุรกรรมอิสลาม คดีมรดกและครอบครัว โดยใช้หลักการศาสนาอิสลามเป็นกรอบในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เสนอโดยคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ โดยเสนอให้มีศาลชารีอะห์หรือศาลที่ใช้กฎหมายอิสลามในในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นทั่วไป และเตรียมขยายไปถึงระดับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยให้ดาโต๊ะยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันมีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาแก่ผู้พิพากษา ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีเหล่านี้ด้วย


 


นอกจากนี้นายวรวิทย์ บารู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เสนอให้จัดระบบการจัดการอิสลาม โดยตั้งเป็นองค์กรส่งเสริมศาสนาอิสลาม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดการกิจการศาสนาอิสลามอาทิกิจการมัสยิด ศาสนบริจาค รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิลาม พ.ศ.2540 และองค์กรนี้จะมีหน้าที่พิเศษในการการประสานความเข้าใจกับโลกมุสลิมทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยที่ประชุมมอบให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับไปศึกษาแนวทาง


 


แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในการประชุมครั้งนี้ นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กรรมการ กอส.ซึ่งเป็นผู้ยกร่างรายงานข้อเสนอดังกล่าว ได้กำหนดกรอบให้กรรมการทุกคนพิจารณาว่าจะรับข้อเสนอทั้ง 7 ประเด็นนี้หรือไม่ หากมีมติไม่รับก็จะตกไป หากรับโดยแก้ไขความก็จะนำไปบรรจุไว้ในรายงานกอส.ร่างที่ 3 หรือหากรับโดยต้องปรับปรุงสาระ ก็จะต้องพิจารณาต่อไปว่า หลักการของข้อเสนอสอดรับกับแนวคิดสมานฉันท์ของกอส.อย่างไร


 


"อาจารย์ชัยวัฒน์กำหนดกรอบเพื่อพิจารณาเอาไว้ด้วยว่า การปรับปรุงสาระนอกเหนือจากที่เสนอในร่างฉบับที่ 2 ต้องมองด้วยว่าข้อเสนอนี้เสนอต่อใคร เสนอต่อรัฐบาลหรือสังคมไทยโดยรวม ถ้าเป็นการเสนอต่อรัฐบาลหมายถึงหน่วยงานใดโดยเฉพาะหรือไม่ หรือถ้าเป็นข้อเสนอต่อสังคมไทย จะหมายถึงสังคมไทยโดยรวม หรือเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องพิจารณาย่อยลงไปอีกว่า ถ้าเป็นข้อเสนอเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึงเฉพาะชาวมุสลิมหรือสำหรับชาวพุทธในพื้นที่ และต้องพิจารณาด้วยว่าข้อเสนอนี้จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร และข้อเสนอนี้โดนใจสังคมไทยหรือไม่"


 


สำหรับการพิจารณาในประเด็นพระราชบัญญัติส่งเสริมสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายปิยะ กิจถาวร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พิจารณารายละเอียด


 


ทั้งนี้ในร่างข้อเสนอฉบับที่สองของกอส. ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตราพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง โดยใช้มาตรการทางการเมืองแนวสันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์หลักนำหน้าการทหาร ขจัดเหตุไม่เป็นธรรม การทุจริต การกดขี่ สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้ความเป็นอยู่และรายได้ประชากรสูงขึ้นและแตกต่างน้อยที่สุด กำหนดวิธีเพื่อการรับรู้ปัญหาของประชาชน และปฏิบัติต่อผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวหรือจับได้ด้วยมิตรไมตรีในฐานะเพื่อนร่วมชาติ และช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ในสังคมอย่างเหมาะสม เปิดพื้นที่ทางสังคมให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายความมั่นคงในพื้นที่


 


นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังเสนอให้จัดตั้งองค์กรพิเศษปกครองพื้นที่ฝ่ายพลเรือนโดยให้มีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหาทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การบริหาร วัฒนธรรม มีทหารและตำรวจเป็นฝ่ายสนับสนุน ให้มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีองค์กรของรัฐ ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าทีรัฐและประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น สร้างเงื่อนไขความไว้วางใจรัฐและประชาชน ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการกอส.และเลขานุการคณะรัฐมนตรี และนายปิยะ กิจถาวร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไปพิจารณาในรายละเอียด


 


ประเด็นต่อมาที่กอส.จะพิจารณาคือกฎหมายนิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดทุกฝ่าย และส่งเสริมอภัยวิถีในสังคมไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ศาลจะพิจารณายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอให้เชื่อว่ากระทำผิดจริง ขณะที่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำการไม่เหมาะสม ประกอบกับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ ประกอบกับเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง จึงไม่สมควรที่จะดำเนินการในการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเห็นควรให้ประเด็นนี้ตกไป


 


การแก้ปัญหาความรุนแรงในระดับบุคคล ประเด็นข้อเสนอของกอส.ที่น่าสนใจคือ เสนอให้มีการตั้งกองทัพไม่ติดอาวุธ(สยามสันติเสนา) เป็นการเสนอแนะให้กองทัพตั้งกองกำลังพิเศษไม่ติดอาวุธ เพื่อเข้าแทรกแซงในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน อย่างเช่นกรณีม็อบตากใบ โดยมีแนวคิดว่าการเผชิญหน้ากับความรุนแรงเพื่อหาทางยุติความรุนแรงด้วยชัยชนะทางการเมืองในแนวทางสมานฉันท์ ต้องอาศัยการพร้อมรับความเสี่ยง การนำเสนอแนวคิดกองทัพไม่ติดอาวุธ เป็นนวัตกรรมการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งต้องพร้อมรับความเสี่ยงในสถานการณ์อันตราย กองทัพไม่ติดอาวุธจะมีหน้าที่เฉพาะคือป้องกันมิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามกลายเป็นความรุนแรง เพราะการที่ภาครัฐจัดการผิดพลาดในบางกรณี สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนก็อ่อนแอเสียหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net