Skip to main content
sharethis



 


บทความ (ชื่อเดิม) : 'Tanah tapi tak Air" แผ่นดินแต่ไม่แผ่นน้ำ กับ ประเด็นต่อต้านก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


โดย สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.


 


3 พฤศจิกายน 2548 10:11 น. หลังเกิดเหตุระเบิดที่บาหลีระลอก 2 ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีนั้น ทำให้คำถามเรื่องมาตรการต่อต้านก่อการร้ายภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผุดขึ้นมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง


 


และดูเหมือนว่า คำตำหนิติเตียนจะตกอยู่กับรัฐบาลอินโดนีเซียเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว การก่อการร้ายอาจจะไม่มีพรมแดนหรือมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงในแต่ละรัฐชาติด้วยซ้ำไป


 


เหตุระเบิดดังกล่าวทำให้ทางการอินโดนีเซีย รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญมากขึ้น เช่น สถานทูต สนามบิน หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่ที่น่าแปลกใจคือ มาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเล กลับไม่ได้รับการพูดถึงและใส่ใจมากนัก


 


คำถามที่น่าสนใจตามมาก็คือ ทำไมพื้นที่ทางทะเล จึงสำคัญกับการต่อต้านก่อการร้าย?


 


หากสังเกตพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าสัดส่วนของพื้นที่ทางทะเลมีเกือบครึ่งของส่วนที่เป็นแผ่นดินเลยทีเดียว บางประเทศมีพื้นที่ทางทะเลเป็นพรมแดนระหว่างกัน เช่น ฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งสิงคโปร์กับอินโดนีเซีย แต่ด้วยความที่พรมแดนทางทะเลมีความยากลำบากในการชี้ชัด และบอกพิกัดที่ชัดเจน ทำให้ปัญหาการรุกล้ำน่านน้ำเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ


 


นอกจากนี้ พื้นที่ทางทะเลของภูมิภาคนี้ยังเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรทางทะเลและใต้ทะเล ที่มีมูลค่ามหาศาล ก็เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดแย่งชิงระหว่างประเทศต่างๆ และนำไปสู่ความไม่ชัดเจนของอำนาจเหนือน่านน้ำและพรมแดนทางทะเล


 


ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยพื้นที่ทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่า พื้นที่ส่วนนี้เป็นเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ เช่น ช่องแคบมะละกา เป็นเส้นทางเชื่อมพรมแดนระหว่างทวีปเข้าไว้ด้วยกัน คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียตะวันออก เอเชียใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก พื้นที่ที่เรียกว่า "แผ่นน้ำ" นั้น กลายเป็นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญของบางรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่า "แผ่นดิน" ด้วยซ้ำไป


 


ซึ่งหากเราแปลคำว่า "Motherland" ในคำนิยามของ คนอินโดนีเซีย และมาเลเซียนั้น จะพบว่า พวกเขา ใช้คำว่า "tanah air ( ตาหนะ อาอิร)" ซึ่งแปลว่า "ดินและน้ำ"  แผ่นดินแผ่นน้ำ คือ มาตุภูมิ แต่คนในภาคพื้นทวีป อย่างคนไทยเรา จะใช้ คำว่า "แผ่นดิน" แทนความหมายของมาตุภูมิเท่านั้น


 


ในทางการเมือง รัฐมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างใช้ คำว่า Tanah Air เพื่ออธิบายพื้นที่ทั้ง ดินและน้ำ ในฐานะอาณาบริเวณภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐอีกด้วย


 


ผลประโยชน์ที่ล่องไปแล่นมาอยู่ในทะเลนั้น จึงเป็นที่มาของการก่อกำเนิด "โจรสลัด" กลุ่มโจรสลัดที่มีชื่อเสียงระดับตำนานนั้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มใน Riau และเกาะ Lingga ทางฝั่งทะเลตอนกลางของเกาะสุมาตรา กับกลุ่มทางหมู่เกาะทางใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีฐานอำนาจที่น่าเกรงขามอยู่ ซึ่งในอดีตนั้นเจ้าอาณานิคมอย่างดัตช์และสเปน มีกลุ่มเหล่านี้เป็นคู่ต่อกรทางทะเลที่สำคัญ


 


ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ เราจะเห็นว่า สองพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือชายฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของศรีลังกา และอาเจะห์ของอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมีฐานกำลังอยู่ ทั้งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) และกลุ่มอาเจะห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka) ดังนั้น อำนาจของกลุ่มเหล่านี้ จึงอิงอยู่กับผลประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลเป็นสำคัญ


 


ไม่น่าแปลกใจ หากในโลกสมัยใหม่ที่แม้ว่าจะมีการบัญญัติพรมแดนทางทะเลตามกฎหมายของแต่ละรัฐ เช่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือในระดับสากลดังเช่นน่านน้ำสากลก็ตาม แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทางทะเลก็ยังเคลื่อนที่ไปมาระหว่างพรมแดนรัฐ ซึ่งนั่นย่อมทำให้เรื่องของโจรสลัดไม่จางหายไป อีกทั้งยังทำให้พื้นที่ทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคลุมเครือ จนกลายเป็นพื้นที่อับสัญญาณของมาตรการต่อต้านก่อการร้ายในที่สุด


 


จากสภาพของการเป็นพื้นที่สีเทา ที่คลุมเคลอของพื้นที่ทางทะเล ทำให้ธุรกิจนอกกฎหมาย ทั้งของเถื่อนต่างๆ และแรงงานผิดกฎหมายได้อาศัยพื้นที่ดังกล่าวเป็นเครื่องกำบังอำพรางอีกด้วย จากฝิ่นในยุคสมัยอาณานิคม เป็นน้ำมันเถื่อน อาวุธเถื่อน และของเถื่อนอื่นๆ ในยุคปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนนั่นทำให้อำนาจการต่อรองของโจรสลัด เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นหากจะให้นิยาม "โจรสลัด" ในความหมายของโลกแห่งการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า โจรสลัดนั้น มีพัฒนาการและฐานอำนาจการต่อรองที่เข้มข้น และยาวนานกว่าการก่อการร้ายบนพื้นดินเสียอีก


 


กรณีที่น่าสนใจในการมองพัฒนาการของโจรสลัดก็คือ เหตุการณ์จับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เกาะสิปปาดันของมาเลเซีย โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Abu Sayaf เมื่อหลายปีก่อน  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายอยู่ที่ Zamboanga ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ได้รุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของมาเลเซีย จับตัวประกันไปเพื่อไปต่อรองกับทางการฟิลิปปินส์ ประเด็นการถกเถียงส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการต่อรองระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม Abu Sayaf


 


แต่คำถามต่อการรุกล้ำน่านน้ำที่เป็นเสมือนคุกคามอำนาจอธิปไตยของมาเลเซียนั้น กลับไม่ได้รับการพูดถึง กรณีนี้ทำให้เราเห็นว่า พรมแดนทางทะเลนั้นมีความอ่อนด้อยในแง่การรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่งที่สามารถปล่อยให้กลุ่มกบฏที่มองเผินๆ อาจจะมีสถานภาพเพียงแค่ "โจรสลัด" ลงมือปฏิบัติการที่สามารถสั่นสะเทือนอธิปไตยของรัฐทั้งสองรัฐในเวลาเดียวกันได้


 


ในโลกที่มีการไหลบ่าของทุนที่ไม่จำกัด สัญชาติ เชื้อชาติ และศาสนา พื้นที่ทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อทุนของหลายชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือ ประตูที่เชื่อมการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน เป็นภูมิภาคที่มีการแล่นผ่านของเรือสินค้าที่คับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


 


หากมองในภาพใหญ่จะพบว่าทุนสัญชาติต่างๆ ย่อมมองว่า พื้นที่ทะเลแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ตนต้องรักษาผลประโยชน์เช่นกัน ประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน และญี่ปุ่น ต่างแข็งขัน เรื่องการรักษาผลประโยชน์ของตนในพื้นที่ทางทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน ปัจจุบันยักษ์ใหญ่ทั้งสองก็ยังไม่ลดดีกรีของการรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลแห่งนี้


 


ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐที่จับมือกับอินเดียสนับสนุนจัดตั้ง Regional Cooperation Agreement on Anti-Piracy (ReCAAP) ที่มีความพยายามที่จะส่งเรือของกองทัพร่วมลาดตระเวนในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้มาเลเซียและอินโดนีเซียออกมาต่อต้าน เพราะนั่นเป็น การรุกล้ำอำนาจอธิปไตยเหนือพรมแดนรัฐของตนเอง ((ในที่นี้ เราต้องมองว่า พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของอินเดียนั้น มิได้มีแค่ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่เท่านั้น แต่อำนาจของอธิปไตยแห่งรัฐนั้น คลอบคลุมถึงหมู่เกาะนิโคบาร์ในทะเลอันดามัน ที่ตั้งอยู่ระหว่างกลาง พม่า และ อินโดนีเซีย ณ จุดเหนือสุดของเกาะสุมาตรา)


 


จากสถิติของ International Maritime Organization เมื่อปีที่แล้วพบว่า มีเหตุการณ์ปล้นเรือและก่อการร้ายทางทะเล ของทั้งฝั่งช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้รวมกันแล้วกว่า 450 กรณี หนึ่งในสามของก่อการร้ายทั่วโลกเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพื้นที่ที่เกิดเหตุส่วนใหญ่จะอยู่ในน่านน้ำของอินโดนีเซีย


 


ประเทศที่มีแผ่นน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลและใต้ทะเล ทั้งสัตว์น้ำ และน้ำมัน แทรกตัวระหว่างแผ่นดินที่อุดมไปด้วยป่าไม้ และแร่ธาตุ อย่างอินโดนีเซียนั้น ทำให้การแทรกตัวและมีอยู่ของโจรสลัด ที่วันนี้อาจจะพัฒนากลายเป็นผู้ก่อการร้าย ตามความหมายของวาระแห่งโลกาภิวัตน์และตลาดเสรีนั้นมีความเข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับการที่มาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเลของอินโดนีเซีย นั้น อ่อนด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้การมีอยู่ของกลุ่มเหล่านี้สามารถอาศัยร่มเงาของความซับซ้อนของกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ได้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น


 


การมองภาพของอินโดนีเซียในฐานะของประเทศนั้น บางทีอาจจะทำให้เรานึกภาพพื้นที่เป็นแผ่นดินขนาดใหญ่ ที่แตกแขนงออกไปกว่า 13,000 ส่วน จะทำให้การมองการก่อการร้ายในอินโดนีเซียมีความคล้ายคลึงกับประเทศทั่วไป แต่หากมองว่า อินโดนีเซีย คือการรวมเกาะกว่า 13,000 เกาะเข้าไว้ด้วยกัน ก็จะเห็นว่า ภูมิศาสตร์ของเกาะโอบล้อมด้วยพื้นที่ทางทะเลทั้งหมด ซึ่งเมื่อนำภาพใหญ่มาประกอบกับการเป็นพื้นที่สีเทาและพื้นที่ทางอำนาจของโจรสลัดแล้ว การมองจุดอ่อนของการรักษาความปลอดภัยที่นำไปสู่การระเบิดที่ "เกาะบาหลี" จะมีความชัดเจนมากขึ้น


 


โดยมากแล้ว การโยนบาปส่วนใหญ่จะหล่นไปอยู่กับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่ไม่ค่อยได้รับการให้พิกัดปรากฏตัวในตำแหน่งทางแผนที่ซักเท่าไร ดังนั้น การมองเรื่องประเด็นก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของพื้นที่นี้ ที่มีขนาดของแผ่นน้ำพอๆ กับแผ่นดิน ซึ่งนั่นจะช่วยให้เข้าใจวิธีคิดของคนในภูมิภาคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น


 


ปัญหาพรมแดนทางทะเล โจรสลัด ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคมากกว่าที่เป็นอยู่ หากไม่เช่นนั้น ประเทศมหาอำนาจจะเข้ามีบทบาทกำหนดทิศทางความมั่นคง แทนที่รัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ และจะทำให้ผลประโยชน์ของรัฐแต่ละรัฐในพื้นที่ส่วนนี้มีความซับซ้อนและหลายทิศหลายทางมากขึ้น ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีนักต่อ "ประชาชน" ในภูมิภาคนี้ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จะกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุความรุนแรงมากที่สุด


 


แต่หากปัญหาเรื่องพื้นที่ทางทะเลอยู่คลุมเครือเช่นนี้ ต่อไป "บาหลี" คงไม่ใช่ "ดิน" ผืนสุดท้าย ที่ระเบิดจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง


 


หรือบางที ทุกวันนี้ Air (แผ่นน้ำ) อาจจะเริ่มเลือนหายไปจาก Tanah (แผ่นดิน)  เมื่ออำนาจอธิปไตยของรัฐในประเทศหมู่เกาะแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่อาจจะมีอำนาจเหนือน่านน้ำของตนเองได้อย่างสมบูรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net