Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท—17 ก.พ.2549 สิทธิมนุษยชนในเนปาลส่ออาการน่าเป็นห่วง เหตุจากการเมืองภายในประเทศปั่นป่วน สถาบันกษัตริย์ล่ม เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองและประชาชนขาดสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่นักศึกษาชาวเนปาลระบุปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศจากจีนและอินเดียเป็นตัวเร่งความรุนแรง


 


เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL: Asian Network for Free Elections) สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเซีย (AIHR: Asian Institute of Human Rights) และองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย (AI: Amnesty International) ร่วมกันจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง "วิกฤตประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศเนปาล" ขึ้น ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


สุเวชชา อาทิคารี ตัวแทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเซีย กล่าวถึงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในเนปาล โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัย 3 ประการที่ทำลายกระบวนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ ได้แก่ ความล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักวิชาการ ประชาชนทั่วไป และกองกำลังลัทธิเหมา ส่วนปัจจัยประการสุดท้ายคือการที่ชาวเนปาลไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทำให้ประเทศขาดผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ส่งผลให้ความรุนแรงภายในประเทศยิ่งร้อนระอุเข้าไปใหญ่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า ผู้บริสุทธิ์ถูกลูกหลงจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกองกำลังลัทธิเหมาจนเสียชีวิตไปแล้วนับพันคน


 


ด้าน ดิเพนทรา จาห์ นักศึกษาชาวเนปาลซึ่งมาเข้าร่วมการสัมมนา แสดงความคิดเห็นว่าการที่เนปาลเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนและอินเดีย มีส่วนทำให้สถานการณ์ตึงเครียดภายในเนปาลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอ้างถึงความสัมพันธ์อันดีที่กษัตริย์กิเนนดรามีต่ออินเดีย ขณะเดียวกันกองกำลังผู้นิยมลัทธิเหมาก็ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ทั้งสองฝ่ายมีผู้สนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ความพยายามที่จะประนีประนอมก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะถึงแม้ว่ากองกำลังลัทธิเหมาจะประกาศหยุดยิงต่อสู้มาแล้วถึงสองครั้ง แต่ทางรัฐบาลไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว และต้องการที่จะเอาชนะด้วยการต่อสู้และปราบปรามกองกำลังลัทธิเหมาให้สิ้นซาก


 


การเสนอให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้นำด้วยตนเอง ถือเป็นการแก้ปัญหาอีกแนวทางหนึ่งซึ่งประชาชนเนปาลและสื่อมวลชนทั่วโลกลงความเห็นว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะมิใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดหรือยั่งยืนที่สุด แต่ก็ต้องถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำพาเนปาลไปสู่ความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิมนุษยชน


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศซึ่งเข้าร่วมในการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามว่ากษัตริย์กิเนนดราทรงควรจะสละราชบัลลังก์เพื่อเห็นแก่ประชาชนและยินยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เอกอัครราชฑูตเนปาลประจำประเทศไทย พลตรีทารา บาห์ดูร์ ทาปา ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้นต่อกรณีนี้


 


สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ถึงแม้อดีตนายกรัฐมนตรีเนปาล เชียร์ บาห์ดูร์ เดออูบา (Sher Bahadur Deuba) และนักโทษทางการเมืองอีก 43 คนจะถูกปล่อยตัวออกมาแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 แต่สถานการณ์ในเนปาลยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่มาก เพราะปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของชาวเนปาลกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ


 


นับตั้งแต่กษัตริย์กิเนนดราทรงประกาศยุบสภาเมื่อเดือนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 และทรงยึดอำนาจในการปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเดออูบาทุจริตต่อประเทศชาติ และ ต่อจากนั้นก็ทรงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เอง ทำให้มีการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรงต่อเนื่อง จากพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรค รวมถึงประชาชนทั่วไป และกองกำลังผู้นิยมลัทธิเหมาด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net