ถกประกันสังคมถ้วนหน้า คุณภาพชีวิตดีๆ ที่ยังไม่ทั่วถึง

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องหลักประกันทางสังคมในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา จัดสัมมนาโต๊ะกลมเรื่อง "แนวทางการจัดการระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้า" เพื่อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนระบบประกันสังคมของประเทศไทย


 

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า อยากจะสร้างหลักประกันสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนและหลายด้าน ทั้งสุขภาพ หลักประกันการมีงานทำ กรณีประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ ชราภาพ ชดเชยค่าเสียหาย การเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ ตอนนี้ที่ก้าวหน้าที่สุดคือ หลักประกันสุขภาพ แต่ยังไม่ยุติธรรม เพราะคนที่ไม่อยู่ในระบบจ่าย 30 บาทต่อ 1 ครั้งหรือถ้ายากจนก็ไม่ต้องจ่ายเลย ขณะที่คนในระบบซึ่งยากจนเหมือนกันต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันของตัวเอง รวมถึงปัญหาที่ยังไม่ครอบคลุมถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทย

 

"กองทุนประกันสังคมเองก็มีปัญหาเยอะ ความเป็นเจ้าของของผู้ประกันตนก็ยังไม่เกิดขึ้น เหมือนกระทรวงเป็นเจ้าของมากกว่า ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเองตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ การพัฒนาคุณภาพบริการให้ได้มาตรฐานที่เป็นที่พอใจ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการ เพราะขณะนี้คนที่จะใช้บริการจะอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำมากกว่าคนที่มีรายได้พอที่จะซื้อบริการจากโรงพยาบาลเอกชนทั่วๆ ไป หรือซื้อประกันจากบริษัทเอกชน"

 

นายจอน กล่าวเพิ่มเติมว่า เท่าที่คุยกัน 4-5 ครั้งที่ผ่านมา สรุปได้โมเดล 3 รูปแบบคือ โมเดลจากฮิโรชิ ยามาบานาและ ILO โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดประกันสังคมถ้วนหน้าแก่ประชาชนโดยใช้ภาษีอากรเฉพาะในบางเรื่องที่จำเป็น เช่น เรื่องชราภาพ รวมถึงการเลี้ยงดูบุตรของผู้ปกครองที่ยากจน โมเดลที่สองเป็นของอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เสนอให้มีการประกันรายได้ โดยทุกคนต้องระบุรายได้ คนที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานจะได้สวัสดิการช่วยเหลือที่ประกันเรื่องรายได้และประกันการว่างงาน

 

และโมเดลสุดท้ายเสนอโดยอาจารย์สุรพล ปธานวนิช คณะสังคมสงเคราะห์ มธ. โดยเป็นระบบประกันสังคมแบบที่ใช้ในยุโรปซึ่งทุกคนต้องเปิดเผยรายได้และจะถูกเก็บเบี้ยประกันรายปีหรือรายเดือนตามที่ประเมินรายได้ไว้ ทั้งนี้ โมเดลสองและสามจะคล้ายกันคือ สามารถคำนวณรายได้ของกลุ่มที่ทำงานอิสระได้

 

น.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อยากให้ดูแลคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับการประกันสุขภาพเมื่อป่วยหลังจากเกษียณและได้รับการประกันรายได้หากตกงานด้วย เพราะถือว่าพวกเขาก็อยู่ในระบบมาตลอด และมีส่วนร่วมในระยะเวลาหนึ่ง ไม่อยากให้มองว่าเป็นภาระของรัฐแล้วไปผลักภาระให้โครงการ 30 บาทฯ เพราะจะเป็นการผลักภาระให้สังคม ดังนั้นต้องทบทวนตรงนี้กันใหม่

 

ฮิโรชิ ยามาบานา ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสังคมจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของระบบประกันสังคมอยากให้ช่วยเหลือคนชราและทุพพลภาพก่อน เพราะจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 4 ของแรงงานที่ยากจนนั้นเป็นคนชรา

 

"นอกจากนี้ อยากสนับสนุนให้การรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้ประกันตนด้วย (หมายถึง คู่ครองและบุตรของผู้ประกันตน) โดยจากการศึกษาของ ILO พบว่าสามารถนำ 4.5% ของเงินที่เก็บได้มาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องเก็บเพิ่ม แต่ปัญหาก็คือ บางคู่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจึงไม่รู้จะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการจ่าย นอกจากนี้หากนำส่วนนี้ไปจ่ายจริง ก็ไม่แน่ใจว่าต้องโยกเงิน 30 บาทของคู่มาไว้รวมกับประกันสังคมไหม อย่างไร"

 

ผศ.ดร.เดชา สังขวรรณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ควรวางระบบประกันสังคมให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นและแม้จะไม่ใช่คนไทย แต่ก็อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย

 

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การที่คนมีฐานะมักไม่นิยมใช้บริการจากระบบประกันสุขภาพนั้น แง่หนึ่งมองว่าก็ดี เพราะทรัพยากรมีจำกัด แต่ก็สะท้อนว่า คุณภาพการรักษาหรือบริการไม่ดีพอจึงไม่มีใครมาใช้บริการ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท