Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท—มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยื่นจดหมายจี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของประธานอนุกรรมการพิจารณาการคัดค้านของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาในเรื่องสิทธิบัตรยา COMBID ของบริษัท GlaxoSmithKline Ltd.(GSK) ชี้ ไม่เข่าข่ายได้รับความคุ้มครอง ระบุหากผ่าน ผู้ป่วยเอดส์ต้องจ่ายแพงกว่าเดิม 5 เท่า


 


หนังสือดังกล่าวระบุว่า จากกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แต่งตั้งอนุกรรมการชุดที่มีนายอำพล ไมตรีเวช เป็นประธานอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาการคัดค้านการขอสิทธิบัตรยา COMBID ของบริษัทยา GSX ที่ถูกยื่นคัดค้านโดยมูลนิธิสาธารณสุขับการพัฒนานั้น พบว่าภรรยาของประธานอนุกรรมการทำงานอยู่ในบริษัทดังกล่าวในตำแหน่ง Human resort and Corporate affair Director ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยในความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อน


 


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าที่มาที่ไปของเรื่องนี้คือ ยา COMBID เป็นยาที่มีส่วนผสมของตัวยา 2 ตัวคือ AZT กับ 3TC โดยยา 2 ตัวนี้เป็นยาเก่า ใช้เป็นสูตรต้นๆ ที่ผู้ป่วยผู้ติดเชื้อในเมืองไทยต้องใช้ และองค์การเภสัชก็ผลิตยา 2 ตัวเดี่ยวๆ มาหลายปีแล้ว และปี 2540 ก็เป็นการเอายา 2 ตัวนี้มารวมกัน ในขณะที่บริษัทดังกล่าวก็เอายาทั้ง 2 ชนิดมารวมกันแล้วตั้งชื่อว่า COMBID


 


"ยาทั้ง 2 ตัวนี้ใครๆ ก็รู้ว่าไม่มีสิทธิบัตร เพราะเป็นยาเก่า แต่ประมาณปี 2540 บริษัทก็ยื่นขอจดสิทธิบัตรยาตัวนี้ แล้วพวกเราก็ได้ยื่นคัดค้านการขอจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2543 ยื่นแล้วก็ใช้เวลาประมาณ 5 ปี กรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงค่อยตอบว่าที่เรายื่นคัดค้านไม่เป็นผล"


 


ทั้งนี้ ในการยื่นคัดค้านการจดสิทธิบัตรยาดังกล่าว เป็นการคัดค้านโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา โดยระบุว่าตัวยา COMBID ไม่มีคุณสมบัติที่จะจดสิทธิบัตรยา เนื่องจากไม่ใช่ยาใหม่ และไม่ได้อาศัยการประดิษฐ์ขั้นสูง


 


อนึ่ง คุณสมบัติของยาที่จะเข้าข่ายจดสิทธิบัตรได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการคือ


 


1.ต้องเป็นยาใหม่ ไม่เคยมีขายในประเทศที่มีการขึ้นทะเบียนภายใน 12 หรือ 18 เดือน 2.ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการประดิษฐ์ขั้นสูง และประการที่ 3 ก็คือสามารถที่จะผลิตจำหน่ายหรือทำให้ขายได้ในเชิงอุตสาหกรรม


 


"ตอนที่เรายื่นคัดค้าน เราก็บอกว่ามันไม่เข้าเงื่อนไขความใหม่และการประดิษฐ์ขั้นสูง เพราะมันได้ประกาศจดทะเบียนในต่างประเทศมานานเกิน 12 เดือนแล้ว และการผลิตก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอะไร คนที่จบเภสัชที่ไหนก็ทำได้" นายนิมิตร์กล่าว


 


อย่างไรก็ตามหลังจากมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาได้ยื่นจดหมายคัดค้านไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อปี 2543 ผ่านไป 5 ปี กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้พิจารณาว่า คำร้องดังกล่าวไม่มีน้ำหนักและยกเลิกคำร้องในปลายปี 2548 ทางมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาจึงยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมาโดยกรมทรัพยสินทางปัญญาได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ดังกล่าวโดยมีนายอำพล ไมตรีเวช ครบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธาน และอนุกรรมการดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าคำอุทธรณ์ของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาฟังไม่ขึ้น


 


ต่อมามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้รับข้อมูลและการยืนยันจากบริษัท GSK ว่า ภรรยาของประธานอนุกรรมการฯ ทำงานอยู่ในบริษัทดังกล่าว มูลนิธิเอดส์จึงเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อนในการวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ของมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์จึงตัดสินใจยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว


 


ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ให้ข้อมูลว่าในปัจจุบัน ผู้ป่วยเอดส์ที่ใช้ยาสูตรดังกล่าวโดยซื้อจากองค์การเภสัชมีจำนวนประมาณ 4,000 คน ราคายาของบริษัทดังกล่าวมีราคาแพงกว่าขององค์การเภสัช 5 เท่า คือยาของเภสัช 25 บาท ของ GSK ขาย 150 ถ้าคิดเป็นสูตรก็คือ ยาขององค์การเภสัชจ่ายเดือนละ 1,500 ของบริษัทดังกล่าวอยู่ที่ 8,600 บาท


 


หากยา COMBID จดทะเบียนสิทธิบัตรได้ ก็จะส่งผลให้องค์การเภสัชไม่สามารถผลิตและจำหน่ายยาชนิดเดียวกันได้อีก ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องข้อมูลละเมิดสิทธิบัตรด้วย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพที่เป็นคนซื้อยาก็ต้องไปซื้อจากบริษัทยาตัวนี้ในราคาที่สูงกว่าที่เคยซื้อจากองค์การเภสัช

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net