เปิดข้อมูลลับ "สิทธิบัตรยา" เอฟทีเอสหรัฐ (ฉบับย่อยง่าย)


เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวแว่วว่า เอกสารการเจรจาเอฟทีเอว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาของฝ่ายสหรัฐ หลุดรอดออกมาจากโต๊ะเจรจารอบ 6 ที่เชียงใหม่ ถัดจากนั้นไม่นานนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่รวมตัวกันในนาม "เอฟทีเอวอทช์" ก็ระดมสมองประชุมกันยาวเหยียดเพื่อวิเคราะห์ข้อเรียกร้องของสหรัฐ ก่อนจะมาแถลงข่าวสมาคมนักข่าวในวันนี้ (7 ก.พ.)

 

สรุปแล้วไม่ใช่ใครขโมยมาให้ แต่มันไปปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.bilateral.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาการค้าทวิภาคีทั่วโลก นักวิชาการคณะนี้คาดกันว่า หลุดมาจากฝั่งสหรัฐเอง เนื่องจากคณะเจรจาของสหรัฐต้องชี้แจงข้อมูลกับกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาคองเกรสอย่างละเอียดโดยตลอดกระบวนการเจรจา

 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย ให้คำจำกัดความข้อเรียกร้องว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐว่า "น่าเกลียดมากๆ" ถึงขนาดที่คณะเจรจาฝั่งกระทรวงสาธารณสุขต้องควันออกหูกับข้อเรียกร้องที่สหรัฐระบุไว้อย่างมากมายก่ายกอง ราวกับดูถูกสติปัญญาของคณะเจรจาไทยและประชาชนไทย

 

ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ศึกษาเรื่องสิทธิบัตรยามากว่า 30 ปี บอกว่า เห็นเอกสารนี้แล้วตกใจมาก เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่สูงที่สุดเท่าที่สหรัฐเคยทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ เลยทีเดียว

 

"เนื้อหามันแย่ที่สุดเท่าทีเคยเห็นมาเลย ทั้งที่เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง" ดร.จิราพร กล่าว

 

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า มันคือยุทธวิธีของการเจรจา มีหลายเรื่องที่เรียกร้องได้น่าเกลียดเหลือเกิน แต่นั่นน่าจะเป็นการเรียกเผื่อไว้ให้ไทยต่อรอง เพื่อให้เรารู้สึกว่าเราต่อรองอะไรได้บ้าง ให้รัฐบาลอธิบายได้ว่าต่อรองแล้ว แต่สาระสำคัญของความน่าเกลียดนั้นจะยังคงอยู่ เพราะสหรัฐยืนยันว่าไม่มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ก็ไม่มีการเจรจาเอฟทีเอ

 

และเนื่องจากความน่าเกลียดนี้ จำแลงกายมาในรูปของความสลับซับซ้อนมากมายที่ต้องพึ่งพิงการอรรถาธิบายขยายความจำนวนมากกว่าจะเห็นแก่นแกนของมัน

 

บทสนทนาระหว่างนักข่าวและเพื่อนสาวจึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางหลุดจากความเบื่อหน่ายของความเป็นทางการ และประหยัดพลังงานในการเล่าเรื่อง 

 

 

นักข่าว    :    เพื่อนรักช่วยหน่อย ช่วยคุยเรื่องเอฟทีเอด้วยกันหน่อย

 

เพื่อนสาว :    อะไรของแกวะ

 

นักข่าว    :    ไปฟังแถลงข่าวเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มันยุบยับไปหมด อยากสร้างบท

                   สนทนาง่ายๆ

 

เพื่อนสาว :    ก็ได้  เห็นเขาประท้วงกันที่เชียงใหม่ พวกเกษตรกรกับผู้ป่วย  

 

นักข่าว    :     รู้รึป่าว เขาประท้วงอะไร แล้วแกเชื่อเขามั้ย

 

เพื่อนสาว :    เรื่องยาแพง เกษตรกรล่มจม อะไรพวกนี้ ระหว่างชาวนากับนายกฯ ฉันย่อมตั้งคำถาม

                   กับนายกฯ มากกว่า

 

นักข่าว    :    อคตินี่หว่า

 

เพื่อนสาว :    บ้า เขาเรียกวิจารณญาณส่วนตัว

 

นักข่าว    :    วันนี้จะลองอธิบายตามนักวิชาการดูว่า ทำไมยาแพง และทำไมเกษตรกรจะแย่

 

เพื่อนสาว :    เออ ว่ามา

 

นักข่าว    :    อันนี้เป็นข้อมูลจาก text ที่ยื่นกันบนโต๊ะเจรจาเลยนะ

 

เพื่อนสาว :    เอออออ ว่ามา

 

นักข่าว    :    โฟกัสที่สิทธิบัตรยาก่อนเลย เรื่องนี้อ.จิราพรอธิบายให้ฟัง ข้อเรียกร้องอเมริกามีเยอะมาก

                   ประเด็นหลักๆ อันแรกคือ ขอให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการ

       ผ่าตัด สรุปแล้วไอ้ที่เป็นข่าวครึกโครมตอนรอบ6 น่ะ ของจริง

 

เพื่อนสาว :    มันแปลว่าไรวะไอ้ที่พูดมาทั้งหมด

 

นักข่าว     :    อ้าว ก็หมอจะตรวจสอบว่าแกเป็นโรคอะไร ต้องใช้สารเคมีทดสอบ ปกติแกก็จ่ายแค่ค่าสารเคมีที่

                   ใช้ทดสอบ แล้วก็ค่ายา แต่คราวนี้เขาบอกวิธีทดสอบนั่นก็ของเขา แกต้องจ่าย พอรู้ว่าแกเป็นโรค

                   อะไร จะรักษาแก นั่นก็วิธีรักษาของเขาอีก แกต้องจ่าย หมอบอกผมคิดว่าคุณต้องผ่าตัด วิธีการ

                   ลงมีดผ่าตัดก็......

 

เพื่อนสาว  :    โอเค พอๆ เข้าใจแล้ว ตกลงฉันจ่ายหมดทุกขั้นตอน

 

นักข่าว     :    อันนี้พิเศษมากนะ สหรัฐเรียกร้องกับไทยเป็นที่แรก ไม่เคยเรียกร้องที่อื่น

 

เพื่อนสาว  :    โห ซึ้งจริงๆ

 

นักข่าว     :    สอง ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร

 

เพื่อนสาว  :    เขามีการค้านกันด้วยเหรอ

 

นักข่าว     :   ก็ปกติจะประกาศให้คนอื่นยื่นคัดค้านก่อนได้ ถ้าเห็นว่าสิทธิบัตรนี้มันไม่ถูกไม่ต้อง แต่นี่คัดค้าน

                   ก่อนไม่ได้ สาธารณะจะตรวจสอบก่อนไม่ได้ จะยื่นคัดค้านได้ก็ต้องหลังให้สิทธิบัตรแล้ว ซึ่งนั่น

                   ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ แถมยังพิจารณาชักช้าไม่ได้ด้วยนะ ไม่งั้นต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรด้วย

                   ช้าเกินกำหนดไปเท่าไหร่ก็ทบไปเท่านั้น ตรงนี้จะเป็นปัญหามาก

 

เพื่อนสาว  :    จุดนี้ยังงง

 

นักข่าว     :    ดักหน้าดักหลังบังคับให้เราออกสิทธิบัตรให้เขาอย่างรวดเร็ว ผลก็คือเราไม่ทันจะได้พิจารณา

                   สิทธิบัตรอย่างรอบคอบ ทั้งๆ ที่ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้วยพัฒนา มีคำขอสิทธิบัตร

                   ห่วยๆ ซึ่งไม่น่าได้อนุมัติเยอะแยะตาแป๊ะไก่ เขาเรียก evergreening patent หรือสิทธิบัตรไม่มี

                   วันตาย ดัดแปลงนิดหน่อย วิ่งมาขอจดสิทธิบัตรใหม่อีกแล้ว ผูกขาดต่ออีกแล้ว

 

เพื่อนสาว  :    โห ชื่อเท่ห์ว่ะ สิทธิบัตรไม่มีวันตาย

 

นักข่าว     :    ฮ่า ๆ ๆ แต่ในอินเดียเขาห้ามเลยนะเรื่องนี้ จะมาทำเป็นศรีธนญชัยไม่ได้

 

เพื่อนสาว  :    แต่ว่าก็ว่านะ ระบบสิทธิบัตร ถ้าเราทำเข้มงวด มันก็ดีกับนักประดิษฐ์ไทยด้วยไม่ใช่เหรอ

                   ไม่ได้เลือกคุ้มครองเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งนี่หว่า มันก็ต้องมาตรฐานเดียวกันหมด

 

นักข่าว     :    แม่นแล้ว แต่ปัญหามีอยู่นิดเดียว ถ้าเราตั้งต้นไล่ๆ กัน เก่งพอสูสีก็คงดี แต่นี่เกรงว่าจะต้องจ่ายค่า

                    สิทธิบัตรให้เขาบานตะเกียงมากกว่า จะพัฒนาอะไรก็ลำบาก เพราะเขาจดดักไว้หมดแล้ว

 

เพื่อนสาว  :    อ้าวๆ ว่าคนไทยโง่ดิ เดี๋ยวเหอะ "ไอ้พวกไม่รักชาด" J   

 

นักข่าว     :    ไม่ได้ว่าโง่ แต่จะพัฒนาลำบากจริง เคยมีงานวิจัยของอ.จิราพร นี่แหละ บอกว่าตั้งแต่มีการแก้ไข

                    กฎหมายการจดสิทธิบัตรมา มีการออกสิทธิบัตรยาไป 2,444 ฉบับ เป็นของไทย 1.3% หรือ 32

                    ฉบับ ดูจากตัวเลขก็พอรู้ว่า ยกระดับคุ้มครองให้เข้มข้นใครได้ประโยชน์

 

เพื่อนสาว  :     มันก็พูดยากนะ

 

นักข่าว     :     โอเค ไม่เป็นไร งั้นดูอันต่อไป เขาเรียกว่า จำกัดการบังคับใช้สิทธิ

 

เพื่อนสาว  :     อะไรคือการบังคับใช้สิทธิ

 

นักข่าว     :     คือ เวลามีการผูกขาดตลาดทำให้ยาแพง ยาขาดตลาด เกิดความเดือดร้อนในการเข้าถึงยา รัฐ/

                    เอกชนสามารถบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรได้เลยไม่ต้องรอเจ้าของอนุญาต แล้วค่อย

                    จ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของอย่างเหมาะสม แต่สหรัฐเรียกร้องให้ทำได้ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ

                    เท่านั้น แล้วต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงด้วย

 

เพื่อนสาว  :     หืม ยังดีนะ เขายังอุตส่าห์เห็นใจ ให้ใช้ตอนฉุกเฉิน ก็ไม่เลวนะเว้ย

 

นักข่าว     :     ประชดเหรอวะ ยังมีอีก ต้องให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง

 

เพื่อนสาว  :     เฮ้อ แต่ละประโยคที่แกพูดมานี่นะ มันฟังไม่ค่อยเป็นภาษาคนเลยว่ะ ไม่เข้าใจ        

 

นักข่าว     :     ก็มันซับซ้อน เขาเขียนมาประโยคหนึ่ง ฉันต้องอธิบายเพิ่มเป็นห้าประโยค สิบประโยคกว่าจะ

                    เข้าใจนัยคร่าวๆ ของมันได้  นี่ขนาดอธิบายกันแบบหยาบๆ นะ

 

เพื่อนสาว  :     ฉันจะเป็นลม

 

นักข่าว     :     เฮ้ย ไม่ได้ เดี๋ยวงานฉันไม่เสร็จ

 

เพื่อนสาว  :     เอาก็เอา ถึงไหนแล้ว ให้แก้ไขคำขอได้ 1 ครั้ง แปลว่าอะไรของแก

 

นักข่าว     :     แปลว่า เป็นการเปิดโอกาสให้มีการจองสิทธิบัตรในสิ่งที่ยังค้นไม่พบ ก็คือ สักแต่ว่าจดไว้ก่อน

                    แล้วเดี๋ยวค่อยมาแก้ แก้ในสาระสำคัญก็ได้ ไม่มีการห้าม

 

เพื่อนสาว  :     หมดแล้วหรือ

 

นักข่าว     :     หมดแล้วส่วนที่หนึ่ง

 

เพื่อนสาว  :     เฮ้ย เหลืออีกกี่ส่วนวะ

 

นักข่าว     :     อันนี้เป็นส่วนที่ระบุในเอกสาร เกี่ยวข้องกับระบบสิทธิบัตรโดยตรง แต่มันมีของแถมซึ่งเป็นเรื่อง

                    การขึ้นทะเบียนยา ไม่เกี่ยวกับระบบสิทธิบัตรอีก ของแถมนี้อ.จิราพรอธิบายไปโกรธไป เสนอให้

                    คณะเจรจาตัดทิ้งไปเลย เอื้อประโยชน์บรรษัทอย่างน่าเกลียดเกินไป

 

เพื่อนสาว  :     บรื๋อออ

 

นักข่าว     :     ไม่กี่ข้อเอง จะสรุปสั้นๆ แต่มันเป็นภาษาเฉพาะหน่อยนะ

 

เพื่อนสาว  :     ว่ามา ฉันชินแล้ว

 

นักข่าว     :     เขาขอผูกขาดข้อมูลยาใหม่ 5 ปีและสารเคมีการเกษตรใหม่ 10 ปี ทำให้เกิดการผูกขาดตลาด

         ยาใหม่อย่างสมบูรณ์ 5 ปี แม้ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลสาธารณะในไทยหรือต่างประเทศแล้วก็

         ตาม แถมยังขอผูกขาดข้อมูลคลินิกใหม่ในตัวยาเก่า 3 ปีด้วย

 

เพื่อนสาว  :     หมดแล้วใช่มั้ย

 

นักข่าว     :     ใช่  เข้าใจป่าว

 

เพื่อนสาว :     เข้าใจ

 

นักข่าว     :     งั้นลองทวนให้ฟังซิ

 

เพื่อนสาว  :     เฮ้ย !!!!

 

นักข่าว     :     ล้อเล่น แต่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญานี่ มันมีเรื่องที่เกี่ยวกับภาคการเกษตรอีก

 

เพื่อนสาว  :     ไหนบอกหมดแล้ว

 

นักข่าว     :     หมดเรื่องยาไง

 

เพื่อนสาว  :     ทำไมชาวนาต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรอะไรอีก

 

นักข่าว     :     ก็ไม่แน่นะ เพราะสหรัฐระบุให้ไทยมีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ จุลินทรีย์

 

เพื่อนสาว  :     ตอนนี้เขายังไม่มีการจดหรือ

 

นักข่าว     :     ตอนนี้มีการจดสิทธิบัตรเฉพาะจุลินทรีย์ตามที่กำหนดในองค์การการค้าโลก  ส่วนการคุ้มครอง

                    พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ เราใช้กฎหมายเฉพาะของเรา พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ พ.ศ.2542 ซึ่ง

                    มันเวิร์คกว่าระบบสิทธิบัตร

 

เพื่อนสาว  :     อื้อหือ เพิ่งเห็นแกชมก็คราวนี้

 

นักข่าว     :     ก็พ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ เรามันโอเค มีกลไกการปกป้องเกษตรกร เช่น ให้ความสำคัญในการพิจารณา

         กำหนดชนิดพืชเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครอง จะเน้นพันธุ์ที่นักปรับปรุงพันธุ์ไทยมี

         ศักยภาพ เป็นพันธุ์พื้นเมืองเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร แล้วก็มีการคุ้มครองพืชพื้นเมือง พืช

         เฉพาะถิ่น รวมทั้งการกำหนดการเข้าถึงพันธุ์พืชด้วย

 

เพื่อนสาว  :     ข้อเรียกร้องของสหรัฐจะทำให้เราเดือดร้อนยังไง

 

นักข่าว     :     เราก็ต้องเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องไง โดยเฉพาะกฎมาย

                    สิทธิบัตร ซึ่งบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ บอกว่าตอนนี้มีการยกร่างกฎหมายสิทธิบัตรใหม่ ซึ่งมี

                    เนื้อหาสอดคล้องกับข้อเรียกร้องสหรัฐเด๊ะเลย

 

เพื่อนสาว  :      อ้าว แล้วกัน

 

นักข่าว     :     เสร็จในระดับกระทรวงแล้ว รอเข้าครม. ต้องจับตาดูดีๆ  

 

เพื่อนสาว  :     หมดแล้วใช่มั้ย

 

นักข่าว     :     มีอีก ระบบสิทธิบัตรไม่ได้ดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพนะ เลยไม่

                    มีเงื่อนไขแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประดิษฐ์กับประเทศเจ้าของทรัพยากร ที่

                    สำคัญ มีการผลักดันให้เราเข้าเป็นภาคี PCT ด้วย

 

เพื่อนสาว  :     PCT โทรศัพท์บ้านเคลื่อนที่น่ะหรือ

 

นักข่าว     :     บ้า ไม่ใช่ PCT เป็นระบบการจดสิทธิบัตรแบบด่วนพิเศษ

 

เพื่อนสาว  :     ยังไงวะ

 

นักข่าว     :      PCT มีสมาชิกร้อยกว่าประเทศ เวลาใครไปจดสิทธิบัตรในระบบนี้ก็จะมีการตรวจสอบ แล้ว

                     ส่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นไปยังประเทศสมาชิก ทำให้ย่นเวลาในการตรวจสอบได้มาก พูด

                     ง่ายๆว่าจดสิทธิบัตรง่ายขึ้น เร็วขึ้น กระจายตามประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น อันนี้จะยิ่งทำให้เรา

                     เสียเปรียบ อีกหน่อยก็ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้เขาหมดทุกอย่าง

 

 

         ยกตัวอย่างนะ ปี 2002 สหรัฐยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในระบบ PCT นี้ 41,296 ฉบับ ถ้าเราเป็น  

         สมาชิก PCT คำขอพวกนี้อาจหลั่งไหลมาไทยด้วย ถ้าเขาต้องการ แล้วกรมทรัพย์สินทาง

         ปัญญาเราจะตรวจสอบไหวมั้ย ยังจินตนาการไม่ถูก

 

เพื่อนสาว  :     ฟังแล้วเหนื่อยว่ะ

 

นักข่าว     :     เออ พูดแล้วก็เหนื่อยเหมือนกัน แค่นี้ก่อนแล้วกัน ไม่เข้าใจเดี๋ยวค่อยคุยกันใหม่ ขอบคุณนะ

 

เพื่อนสาว  :     ไม่เป็นไร แต่วันหลังไม่หลงกลแล้ว

 

นักข่าว     :     J

 

 

เอกสารประกอบ

วิเคราะห์ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเจรจาเอฟทีเอในบทว่าด้วยสิทธิบัตร(ppt)

วิเคราะห์ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในการเจรจาเอฟทีเอในบทว่าด้วยสิทธิบัตร

ข้อเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญษเขตการค้าเสรี ไทย-อเมริกา รอบที่6(เชียงใหม่).pdf

วิเคราะห์ข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเจรจา FTAเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรพืชและสัตว์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท