วิทยุชุมชนวิกฤติ ศาลชั้นต้นพิพากษา ผิด พรบ.วิทยุคมนาคม 2498


 

 "นายเสถียร จันทร ตัวแทนวิทยุชุมชนอ่างทอง"

 

 

"นายเสถียร จันทร และภรรยา"

 

 

 

ประชาไท—8 ก.พ. 2549 ศาลจังหวัดอ่างทองพิพากษาคดีประวัติศาสตร์วิทยุชุมชน กรณี นายเสถียร จันทร ตัวแทนวิทยุชุมชนอ่างทอง ระบุผิดพ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์กรสื่อระบุเครือข่ายวิทยุชุมชนเครียด นักกฎหมายเสนออุทธรณ์ประเด็นกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ


 

ก่อนหน้านี้ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายเสถียร จันทร ผู้ประสานงานวิทยุชุมชนอ่างทองใน 2 ข้อกล่าวหา คือ 1)การมีและใช้เครื่องส่งวิทยุคมนาคม และ 2)การออกอากาศสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยวานนี้ (7 ก.พ. 2549) เวลา 09.45 น. ณ ศาลจังหวัดอ่างทอง นายไตรรงค์ เกื้อสกุล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง ได้อ่านคำพิพากษาคดีวิทยุชุมชนอ่างทองว่า นายเสถียร จันทร ซึ่งตกเป็นจำเลยในกรณีมีและใช้เครื่องส่งวิทยุ รวมถึงออกอากาศสถานีโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดมาตรา 4, 6, 11, 22, 23 ของ พรบ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 นั้น ศาลฯ เห็นว่า แม้ปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 แต่การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การดำเนินการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์จึงต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ไปก่อน

 

ส่วนที่นายเสถียรอ้างว่ากระทำโดยสุจริต เป็นสิทธิตามที่กำหนดในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ศาลฯ เห็นว่าการใช้สิทธิดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฏหมายเฉพาะเรื่อง อีกทั้งนายเสถียรได้ตอบคำถามค้านในการสืบพยานคดีว่า ทราบว่า การจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย แต่ก็ยังดำเนินการสถานีต่อไปหลังจากวันที่ทราบเรื่องดังล่าว จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการสถานีฯ จะได้เงินจากสำนักงานการลงทุนเพื่อสังคม และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายเช่นกัน

 

ในส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่อนผันเกี่ยวกับวิทยุชุมชน เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำใดๆ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเท่านั้น ซึ่งการจะให้มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับได้ต้องมีกฎหมายรองรับด้วย กรณีนี้เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ การจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายก็ยังดำเนินต่อไป และการที่นายเสถียรอ้างว่าทางจังหวัดอ่างทองไม่มีหนังสือหรือคำตักเตือนไปยังจำเลยนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยกระทำความผิดตามกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องมีหนังสือหรือคำตักเตือน ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

 

จากการวินิจฉัยตามที่กล่าวมาข้างต้น ศาลฯ จึงพิพากษาว่านายเสถียร จันทร มีความผิดฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษ จำคุก 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท ฐานตั้งสถานีวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษ จำคุก 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท รวมโทษ จำคุก 6 เดือน และปรับ 60,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้ก่อน มีกำหนด 2 ปี และให้ริบของกลาง

 

สุภิญญาระบุ เตรียมถกใหญ่ ถามหามาตรฐานกฎหมาย

น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า ภายหลังทราบผลการตัดสิน กลุ่มผู้จัดรายการวิทยุชุมชนซึ่งเดินทาไปให้กำลังใจนานเสถียรต่างแสดงความวิตกกังวล เพราะกรณีของนายเสถียรก็เหมือนกับผู้จัดรายการวิทยุชุมชนอื่น ๆ ที่อ้างอิงรัฐธรรมนูญและมติครม. เหมือนกัน

 

"คุณเสถียรก็เริ่มต้นจากได้ทุนของกองทุนเพื่อสังคมเอามาให้ซื้อเครื่องแล้วก็ทำไป แต่คุณเสถียรเป็นรายเดียวที่โดนจับแล้วก็บอกว่ามีเครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต และออกอากาศโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งตามความเป็นจริงตอนนี้ก็ไม่มีใครได้รับอนุญาตหมด แต่ถ้าต่อจากนี้ รัฐไปจับก็น่าจะเดินตามแนวทางเดียวกันก็จะทำความลำบากให้กับวิทยุชุมชนเพราะไม่รู้ว่ารัฐจะจับตรงไหนไม่จับตรงไหน"

 

สำหรับสถาณการณ์เฉพะหน้า น.ส.สุภิญา กล่าวว่า ทาง คปส.ได้ช่วยเหลือด้านค่าปรับจำนวน 40,000 บาทให้แก่นายเสถียร เนื่องจากนายเสถียรไม่มีเงิน และในขั้นอุทธรณ์ก็ต้องมีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดี

 

สำหรับวิทยุชุมชนอีกกว่า 3000 สถานีที่ขณะนี้เกิดปัญหาความชอบธรรมตามกฎหมายนั้น จะมีการปรึกษาหารือกันครั้งใหญ่ระหว่างสหพันธ์วิทยุชุมชน วิทยุชุมชนท้องถิ่นไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ เพื่อหาความชัดเจนจากนโยบายของรัฐให้ชัดเจนให้เป็นมั่นเป็นเหมาะ ไม่เช่นนั้นรัฐก็ขาดความชัดเจนและอาจจะเลือกปฏิบัติได้

 

นอกจากนี้ยังเกิดคำถามในประเด็นกฎหมายด้วยเมื่อชาวบ้านอ้างตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ศาลพิจารณาตามกฎหมายเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจนว่ากฎหมายทั้ง2 ส่วนจะสัมพันธ์กันอย่างไร

 

นักกฎหมายแนะ อุทธรณ์ประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ

ด้าน ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามกล่าวว่า จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นสิ่งที่ผู้จัดรายการวิทยุชุมชนต้องพึงระวังเพราะเมื่อศาลพิพากษาเช่นนี้ก็หมายความว่ากระบวนการเกิดขึ้นในการทำงานของวิทยุชุมชนมันมีส่วนที่ไปขัดกับกฎหมายจริง

 

"เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ตามกฎหมายบ้านเมืองเขามองว่าผิด เราอาจจะต้องจัดกระบวนยุทธ์ว่าจะทำอย่างไรดีให้เกิดความถูกต้องชอบธรรมขึ้นมา แล้วลองสังเกตดูว่าคนที่อยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ถูกฟ้องและตัดสินว่ามีความผิดด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ ก็แสดงว่าระบบการเป็นตัวแทนของกรมประชาสัมพันธ์ได้รับการยอมรับภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกทางเดียว แต่นั่นจะใช่สิ่งที่ภาคประชาชนต้องการหรือเปล่า"

 

ทั้งนี้ ดร. เจษฎ์กล่าวว่า ถ้าวิทยุชุมชนไม่เลือกแนวทางจดทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ก็อาจจะต้องหยิบยกประเด็นการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเสนอในชั้นศาลอุทธรณ์ได้

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 40 กำหนดไว้ว่าคลื่นความถี่เป็นของประชาชน และใน พรบ. องค์กรจัดสรรมาตรา 26 ระบุว่าคลื่นความถี่อย่างน้อยร้อยละ 20 ต้องเป็นของประชาชน ในขณะที่กฎหมายที่มีผลบังคับใช้จริงกลับเป็นพ.ร.บ. วิทยุคมนาคม 2498 ซึ่งต้องพิจารณาว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกยกเลิกไป

 

"อย่างไรก็ตามต้องรอดูคำพิพากษาของศาลระดับสูงขึ้นไป โดยเฉพาะศาลฎีกาเพราะคำพิพากษาที่จะเป็นบรรทัดฐานที่แท้จริงก็คือคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ต้องดูว่าศาลสูงท่านจะว่าอย่างไร" ดร. เจษฎ์ กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท