Skip to main content
sharethis


โดยผู้เคาะเกราะ (S.H.A.N 07/02/49)


 



 


 


 


วันที่ 7 ของเดือนกุมภาพันธ์ ชนชาติรัฐฉาน(ไทใหญ่) ต่างถือว่าเป็นวันชาติของตน ซึ่งหากวันนี้มาถึงก็จะมีการจัดงานฉลองโดยทั่วกัน วันดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เจ้าฟ้าปกครองเมืองและชนชาติต่างๆ ในรัฐฉานมีความเห็นชอบร่วมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490 โดยในปีนี้ย่างเข้าสู้ปีที่ 59 ซึ่งมีการจัดงานฉลองกันเช่นทุกปี และเกิดขึ้นในหลายประเทศเช่น พม่า อินเดีย จีน ไทย ออสเตรเลีย อังกฤษ ศรีลังกา ญี่ปุ่น โดยบางแห่งมีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ ขณะที่บางแห่งก็จัดพอเป็นพิธี และมีหลายแห่งได้จัดก่อนสอง-สามวัน อันเนื่องมาจากความสะดวกในที่นั้นๆ  ส่วนในพม่าปีนี้ (โดยเฉพาะในกรุงย่างกุ้ง) ทางการได้ออกมาเตือนกลุ่มผู้เตรียมจัดงานล่วงหน้า โดยอนุญาตให้ใช้ชื่องานว่า "งานศิลปวัฒนธรรมชนชาติรัฐฉาน" แทนวันชาติไทใหญ่ 


 


หลังการจัดงานวันชาติเมื่อปีที่ผ่านมา (ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. 48) ทางการพม่าได้จับกุมแกนนำทางการเมืองของไทใหญ่ร่วม 30 คน ที่ร่วมกันจัดงานวันชาติ โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า รวมตัวกันคิดก่อการกบฏ ทรยศต่อชาติบ้านเมือง และถูกจำคุกอยู่จนถึงปัจจุบัน ในจำนวนนี้มีบุคคลสำคัญรวมอยู่ด้วยหลายคน ประกอบด้วย เจ้าขุนทุนอู ประธานพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยไทยใหญ่ SNLD -Shan Nationalities League for Democracy พร้อมด้วยเลขาธิการนายญุ้นลวิน (จายนุท) และพลตรีเสือแท่น ประธานสภาสันติภาพรัฐฉาน SSPC -Shan State Peace Council ทำให้การจัดงานวันชาติในปีนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงา เพราะเกรงกันว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยดังเช่นปีที่ผ่านมา  


 


กำเนิดวันสหภาพพม่า


ระหว่างวันที่ 3 - 12 ก.พ. 2490 มีการประชุมของบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ รวม 34 เมือง พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนเผ่าต่างๆ ขึ้นที่เมืองปางโหลง ภาคกลางรัฐฉาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงการเรียกร้องเอกราชคืนจากอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นรัฐฉานถูกกำหนดเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ ขณะที่เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ มีอำนาจปกครองอยู่ในกรอบภายใต้คำแนะนำของอังกฤษ และในสภาสหพันธรัฐที่บรรดาเจ้าฟ้าจัดตั้งขึ้นก็มีข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษเป็นประธาน ด้วยเหตุนี้ทำให้เจ้าฟ้าต่างเกิดความไม่พอใจ ขณะที่ประชาชนเองเรียกร้องให้มีตัวแทนอยู่ในสภาด้วย  


 


ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2489 รัฐฉานได้มีการจัดตั้งสภาสหพันธรัฐขึ้นเอง โดยได้แต่งตั้งให้เจ้าขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าปกครองเมืองน้ำสั่น ซึ่งมีเชื้อสายชาวปะหล่องเป็นประธาน และมีมติร่วมกันว่าประชาชนสามารถส่งตัวแทนเข้าร่วมในสภาด้วย อังกฤษจึงแสดงท่าทีไม่พอใจ โดยให้เหตุผลว่าการจัดตั้งสภาสหพันธรัฐดังกล่าวไม่เป็นทางการ จากนั้นในวันที่ 7 ก.พ. 2490 อังกฤษได้ส่งโทรสารถึงเจ้าฟ้ารัฐฉานซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ โดยมีใจความว่า "หากรัฐฉานต้องการเรียกร้องหรือมีข้อเสนออันใดก็ขอให้มีการจัดการประชุมขึ้นอย่างเป็นทางการที่เมืองตองจี ที่มีข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษเป็นประธาน" จากนั้นในช่วงเย็นของวันเดียวกันได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินระหว่างเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ และประชาชนทุกส่วนในรัฐฉานขึ้น โดยให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นตามที่อังกฤษยื่นข้อเสนอ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ได้แสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยและได้มีมติเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐฉานจะไม่ขออยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกต่อไป เพราะไม่มีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง พร้อมกันนั้นได้ร่วมกันออกแถลงการณ์จัดตั้งสภาสหพันธรัฐภายในวันนั้น (วันที่ 7 ก.พ.) โดยมีตัวแทนเจ้าฟ้า 7 ท่าน และประชาชนอีก 7 คน เป็นผู้ลงนาม


 


ทางด้านนายพลอองซาน (บิดาของนางอองซานซูจี) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำประเทศพม่า หลังทราบข่าวการประกาศของชนชาติรัฐฉานซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากอังกฤษก็ได้แสดงความเห็นชอบด้วย ต่อมาในวันที่ 8 ก.พ. 2490 เขาได้เดินทางไปร่วมประชุมกับเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่เมืองปางโหลงทันที และเขาได้กล่าวในที่ประชุมว่า ทางอังกฤษพร้อมที่จะให้เอกราชแก่พม่าและรัฐต่างๆ ภายในปี 2491 ทว่าอังกฤษเกรงว่าจะเกิดปัญหาในการปกครอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้เรียกร้องให้ชนชาติรัฐฉานและชนชาติรัฐต่างๆ ร่วมเป็นแรงสนับสนุนด้วย


 


จากนั้นในวันที่ 12 ก.พ. 2490 จึงได้มีการทำสัญญาข้อตกลงในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกัน และมีข้อตกลงร่วมกันว่าหากได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว จะร่วมกันปกครองเป็นระยะเวลา 10 ปี จากนั้นทุกรัฐมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึงได้ทำข้อตกลงระหว่างกันขึ้น และได้กำหนดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญหลังการประชุมแล้วเสร็จ ซึ่งระบุว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ให้ถือว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ "สนธิสัญญาปางโหลง" พร้อมกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกำเนิดวันสหภาพพม่านับแต่นั้นเป็นต้นมา


 


แต่ยังไม่ทันจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ นายพลอองซาน ผู้ร่วมลงนามสนธิสัญญาฝ่ายพม่ากลับถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 และภายหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 ความหวังที่รัฐต่างๆ จะแยกออกปกครองตนเองหลังปกครองร่วมกันครบ 10 ปีก็ริบหรี่ ซึ่งพม่าได้ส่งกำลังทหารเข้าครอบครองทั่วพื้นที่ทุกรัฐจนถึงทุกวันนี้  


 


ส่วนในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นวันประกาศเอกราชร่วมกันระหว่างเจ้าฟ้าทั้ง 34 เมือง และประชาชนรัฐฉานแล้ว ยังเป็นวันกำหนดให้ธงชาติสีเหลือง เขียว แดง และวงกลมสีขาว เป็นของชนชาติรัฐฉานทั้งมวลพร้อมกับเพลงชาติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยมีขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าปกครองเมืองน้ำสั่นภาคเหนือรัฐฉาน ประธานสภาสหพันธรัฐฉานขณะนั้นเป็นผู้กำหนด พร้อมกันนั้นได้กำหนดให้วันที่ 7 ก.พ. เป็นวันรัฐฉาน หรือวันชนชาติรัฐฉาน (ปัจจุบันนิยมเรียกวันชาติไทใหญ่) จนถึงปัจจุบัน


 


อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 ก.พ. ที่ถือว่าเป็นวันต้นกำเนิดวันสหภาพพม่า (12 ก.พ.) นั้น ไม่ได้ถูกระบุไว้ในปฏิทินของรัฐหรือแม้กระทั่งในตำราเรียนแต่อย่างใด


 


------------------------------------------------------------------------------------------------


 



 


 



 



 


 0 0 0

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net