บทความ เจิมศักดิ์ : ซุกหุ้น ภาค 2


ภาพจาก : http://www.thannews.th.com/pagemain.php

 


โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในสถานะนายกรัฐมนตรี กำลังกระทำอยู่ในบ้านเมืองขณะนี้ เป็นเรื่องที่ท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยเตือนสังคมเอาไว้แล้ว ตั้งแต่ครั้งที่มีการพิจารณาคดี "ซุกหุ้น" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

 

ในครั้งนั้น แม้เสียงข้างมากของตุลาการศาลศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิด (8 ต่อ 7) แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประเสริฐ นาสกุล ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดในคดีซุกหุ้น พร้อมกับให้แง่คิดเตือนไว้ว่า

 

"หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้น ผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด"

 

มาบัดนี้ เมื่อเกิดกรณีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ มูลค่า 73,000 ล้านบาท โดยมีปมเงื่อนอันเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษี การใช้ตัวแทนเชิด (nominee) และการข้องเกี่ยวกับบริษัทแอมเพิลริช ที่จดทะเบียนจัดตั้งอยู่บนเกาะบริติชเวอร์จิ้น เกาะสวรรค์ของนักฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี ปัญหาต่างๆ ก็ดูจะ "ซ้ำรอยอดีต" กลายเป็นเรื่อง "ซุกหุ้น 2" ทว่าอุกอาจ และมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากว่า "ซุกหุ้น" ครั้งที่แล้วเสียอีก

 

ลองเรียนรู้จากคำวินิจฉัยคดี "ซุกหุ้น" ของท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้รู้ทันการซุกหุ้น การหลีกเลี่ยงภาษี การใช้บริษัทบนเกาะฟอกเงินเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ และการใช้ตัวแทนเชิด (nominee) ได้เป็นอย่างดี (ฉบับเต็มในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ 3 - Minority Report")

             

1) โยนบาปให้เลขาฯ นิติกรรมอำพราง และการไม่เสียภาษีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์

ในคดี "ซุกหุ้น" ท่านประเสริฐ นาสกุล วินิจฉัยว่า

 

"พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า โอนหุ้นลอยให้แก่คู่สมรส และคู่สมรสจะใช้ชื่อบุคคลอื่นหรือให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทน โดยผู้ถูกร้องไม่ทราบ ในการกรอกข้อความในแบบบัญชีฯ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า เป็นความเข้าใจผิดของเลขานุการส่วนตัว ทั้งๆ ที่ปรากฏว่า คู่สมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณยื่นยันต่อศาลว่า คู่สมรสเป็นผู้สั่งว่า ไม่ต้องกรอก

 

นอกจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณอ้างข่าวประชาสัมพันธ์ 31/2544 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ว่า นางสาวบุญชูฯ นายชัยรัตน์ฯ นายมานัสฯ นางสาวดวงตาฯ และนายวิชัยฯ ถือหุ้นบริษัทต่างๆ แทนคู่สมรสผู้ถูกร้องจริง สำหรับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย แต่การที่คู่สมรสผู้ถูกร้องสั่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ให้นางสาวดวงตาฯ ขายหุ้นบริษัทชินฯ 4.5 ล้านหุ้นๆ ละ 164 บาท เป็นเงิน 938 ล้านบาท ให้แก่นายบรรณพจน์ฯ ซึ่งนายบรรณพจน์ฯ ยอมรับว่า ตนมิได้ซื้อหุ้นจำนวนนี้ หากแต่คู่สมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณแบ่งให้ อาจเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะนายบรรณพจน์ฯ จะต้องเสียภาษีเงินได้ หากนายบรรณพจน์ฯ ไม่เสีย คู่สมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นผู้ให้ต้องเป็นผู้เสีย เลขาธิการ ป... มีหนังสือที่ ปช. 0006/85 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 ส่งหลักฐานการให้การของนายบรรณพจน์ ฯ ตามคำขอของอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว แต่ไม่ทราบว่า กรมสรรพากรจะมีคำตอบการเสียภาษีเงินได้รายนี้หรือไม่ อย่างไร"

 

น่าแปลกใจ ในการซื้อขายหุ้นชินฯ ครั้งนี้ ก็มีการอ้างความผิดพลาดของเลขานุการฯ (คนเดิม) โดยกล่าวอ้างง่ายๆ ว่า "ติ๊กผิด" และก็มีการซื้อขายหุ้นกันนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่จ่ายภาษีอากร

 

 

2) การใช้บริษัทจดทะเบียนบนเกาะฟอกเงินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และการใช้ตัวแทนเชิด (nominee)

 

ในคดี "ซุกหุ้น" มีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น ซึ่งเป็นแหล่งฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะตัวแทนเชิด(nominee) ดังที่ท่านประเสริฐ นาสกุล วินิจฉัยไว้ว่า

 

"กรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ รายงานตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ มาตรา 246 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง (แม้จะเกินกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ถูกร้องยื่นบัญชีฯ แล้ว) ว่า พ.ต.ท.ทักษิณขาย 32,920,000 หุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ผู้อื่น คือ Ample Rich Investments Limited, 189 A Goldhill Centre 51, Thomson Road, Singapore 307629(Correspondent Office) ซึ่ง พ...ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้น 100% (คงเหลือ 32,920,000 หุ้น) นั้น กระทำเพื่ออะไร หากมิใช่เพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อมิให้บุคคลอื่นทราบว่า บริษัทฯ นี้ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ"

 

ยิ่งกว่านั้น ท่านประเสริฐ นาสกุล ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกด้วยว่า

 

"อีกเรื่องหนึ่ง แม้เป็นเหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องยื่นบัญชีฯ แล้ว เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณและคู่สมรสขายหุ้นบริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด 3,549,980 หุ้น และ 2,000,000 หุ้นๆ ละ 10 บาท เป็นเงิน 55,499,800 บาท ให้กับบริษัท Win Mark Limited สัญชาติ British Virgin Island ในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า การโอนขายหุ้นนี้เป็นการขายหุ้นตามปกติ ไม่มีลักษณะการฟอกเงิน เพราะการโอนขายหุ้นนั้น แจ้งหลักฐานการเข้ามาถือหุ้นของบริษัทผู้ซื้อต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้ว ทำให้เกิดปัญหาต้องสงสัยต่อไปว่า บริษัทผู้ซื้อใช้เงินสกุลใด มาจากที่ใด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ น่าเสียดายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มิได้อธิบายด้วย"

 

น่าแปลกใจ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทแอมเพิลริช (Ample Rich) มาตั้งแต่ต้น แม้ในภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณจะแจ้งว่าตนขายแอมเพิลริชไปแล้ว แต่หลังจากนั้น บริษัทแห่งนี้ก็มีชื่อผลุบโผล่ในนามผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ อยู่เป็นช่วงๆ กระทั่ง 26 สิงหาคม 2548 ปรากฏว่า ในรายชื่อผู้ถือหุ้นชินคอร์ปฯ มีผู้ถือหุ้นนาม UBS AG, SINGAPORE BRANCH-FOR A/C AMPLE RI 329.2 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่ พ...ทักษิณ เคยแจ้งโอนให้แอมเพิลริชในครั้งแรก ( หรือ 32.9 ล้านหุ้น พาร์ 10 บาท)

 

ยิ่งกว่านั้น ในการซื้อขายหุ้นชินฯ ครั้งนี้ ปรากฏว่า แอมเพิลริช ได้ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ตนมีอยู่ทั้งหมด (329.2 ล้านหุ้น) ให้แก่ลูกๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาพาร์ (หุ้นละ 1 บาท) และไม่กี่วันต่อมา ลูกๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็นำไปขายต่อให้กลุ่มทุนสิงคโปร์ได้กำไร 15,886 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษี

 

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทำให้สงสัยว่า เจ้าของแอมเพิลริชตัวจริง ย่อมมีความเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ซึ่งต่อมา ปรากฏว่า ลูกๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกรับว่าตนเองเป็นเจ้าของแอมเพิลริช

 

เรื่องนี้ จะต้องมีการสอบสวนกันต่อไปว่า แท้จริงแล้ว แอมเพิลริชเป็นตัวแทนเชิด (nominee) ของใคร? เข้าลักษณะใช้ข้อมูลภายในมาหาผลประโยชน์หรือไม่ ? พ.ต.ท.ทักษิณมีผลประโยชน์หรือมีอำนาจเหนือแอมเพิลริชอย่างไร? เจ้าของแอมเพิลริชตัวจริง ได้มีการแจ้งหุ้นที่ตนถืออยู่ในนามของแอมเพิลริชในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. หรือไม่?

 

อาจจะเข้าลักษณะ "ซุกหุ้น ภาค 2" !!!

 

3) ข้อคิดสำคัญจาก "คดีซุกหุ้น"

 

ในคดี "ซุกหุ้น" ท่านประเสริฐ นาสุกล วินิจฉัยให้แง่คิดเอาไว้ว่า

 

"ผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) และ/หรือคู่สมรส จงใจปกปิดหุ้นของตนโดยใช้ชื่อบุคคลใกล้ชิดถือแทน เพราะ (1) ไม่ต้องการให้ผู้ใดทราบว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริงคือใคร (2) ไม่ต้องการให้ผู้ใดรู้ว่า ตนมีหุ้นเท่าใด คิดเป็นร้อยละเท่าใด (3) เพื่อซื้อขายหุ้นได้ง่าย และ (4) ในกรณีที่มีการเสียหายเกิดขึ้นเกี่ยวกับการถือหุ้น"

 

นอกจากนี้ ยังมีคำวินิจฉัยส่วนตนที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า

 

"การที่รัฐธรรมนูญมิได้บังคับให้คู่สมรสผู้ถูกร้องยื่นบัญชีฯ นั้น มาตรา 291 บัญญัติให้ผู้ถูกร้องแต่เพียงผู้เดียวมีหน้าที่ยื่นบัญชีฯ เพราะมีมาตรา 209 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อมิให้รัฐมนตรีมีผลประโยชน์ขัดกันกับการประกอบธุรกิจของครอบครัว โดยมีพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.. 2543 ใช้บังคับ นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ถึงมาตรา 1474 บัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินของสามีและภริยา ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี ว่าด้วยการเสียภาษีของสามีและภริยาในปีภาษีหนึ่งๆ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จะปฏิรูปการเมือง ซึ่งผู้ใดเข้ามาทำงานการเมืองแล้ว จะต้องโอนการจัดการหุ้นบริษัทต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด มิใช่เพียงบอกกล่าวหรือโฆษณาให้ชาวบ้านทราบแต่เพียงว่า โอนกิจการให้แก่คู่สมรสหรือบุตรแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ถูกร้องยังอยู่เบื้องหลังการประกอบธุรกิจของคู่สมรสและบุตร...

 

... การเอาประโยชน์โดยใช้ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัท แล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแก่คนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และกลุ่มบริษัทเพื่อขยายกิจการ และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม มีการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ การปล่อยข่าวลือ การอำพราง การใช้ข้อมูลภายใน..

 

...ผู้ถูกร้องจะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจ และชัดถ้อยชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ จนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โอนลอยหุ้น และใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน นั้น "เป็นการประกอบธุรกิจตามปกติ ธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้น" ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภ และความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

 

นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องอ้างว่า เลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 และมอบการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากทางรัฐ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (2)) บุตรและเครือญาติ ดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 โอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สิน ในกรณีดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา-ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับไทย)

 

และผู้ถูกร้องเข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะผู้ถูกร้องเสนอโครงการต่างๆ เป็นที่ถูกใจได้นั้น มากมายมหาศาล แต่จำนวนประชาชนดังกล่าวมิได้มากกว่าจำนวนคนที่ทราบว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคสอง เพราะประชาชนสิบเอ็ดล้านกว่าคนนั้น ไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของผู้ถูกร้องและคู่สมรสดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียงสองคนของผู้ถูกร้องและคู่สมรส เพราะเป็นคนละเรื่องกัน...

 

...ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินทองมากมมาย ไม่ทุจริต ผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง โดยโอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้าแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร

 

ปัญหาบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขด้วยการลด ละ และเลิก "ความเห็นแก่ตัว" เป็นอันดับแรก..."

 

0 0 0

 

จากคำวินิจฉัยส่วนตัวในคดี "ซุกหุ้น" ของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ท่านประเสริฐ นาสกุล น่าจะทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันได้มาก

 

ฝากคำถามให้ช่วยกันคิดว่า นักการเมืองที่หลบเลี่ยงภาษี ใช้ตัวแทนเชิดมุ่งหาผลประโยชน์สูงสุด มีการไปจัดตั้งบริษัทบนเกาะที่ขึ้นชื่อเรื่องการฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี ตลอดจนมีปัญหาผลประโยชน์ของครอบครัวขัดกันกับผลประโยชน์ของส่วนรวม

 

"เห็นแก่ตัว" ขนาดนี้ ควรยอมรับให้เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่หรือ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท