Skip to main content
sharethis


อุณหภูมิต้นเดือนกุมภาพันธ์ร้อนอบอ้าวขึ้นในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา คล้ายจะสมรู้ร่วมคิดกับอุณหภูมิการเมืองไทยที่ระอุเกือบทะลุจุดเดือดชนิดที่แอร์ในบ้านจันทร์ส่องหล้าก็ช่วยอะไรไม่ได้


 


ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คล้อยหลังจาก เรียลลิตี้โชว์แก้จนที่อาจสามารถไม่ทันข้ามสัปดาห์ คนไทยหลายกลุ่มกลับเล่นไม่เลิกถึงขั้นเข้าคิวโหวต "แม้ว v4" (ชื่อที่ อ.ธีรยุทธ บุญมี ตั้งให้) ออกอย่างพร้อมพรัก หลังพบว่านายกฯของเราทำตามสูตร สร้างข่าวเกรียวกราวให้ทุกคนพุ่งความสนใจไปที่อาจสามารถ แต่ข่าวสำคัญจริงๆ กลับอยู่แถวๆ ตลาดหลักทรัพย์นี่เอง เพราะเมื่อนายกฯ เดินทางกลับจากอาจสามารถ ข่าวผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทชินคอร์ปเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นามพานทองแท้ ชินวัตร พิณทองทา ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบรรณพจน์ ดามาพงษ์ ขายหุ้นให้กับ บ.เทมาเสก สัญชาติสิงคโปร์ก็กระหึ่มขึ้นทันใด


 


ภายหลังสื่อมวลชนใช้เวลาอยู่เกือบสัปดาห์ตามหาที่มาที่ไปของการซื้อขายหุ้นดังกล่าว (แล้วไปพบในเว็บไซต์ของนายกอรปศักดิ์ สภาวสุ) ความหลังเรื่อง "ซุกหุ้น" ก็ไหลย้อนกลับทวนเข็มนาฬิกามาให้ประชาชนไทยได้ตั้งคำถามด้านจริยธรรมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


เคราะห์ซ้ำกรรมซัดจริงๆ ที่ช่วงเวลาแห่งการ "แฉ" สอดรับกับเวลาแห่งการประกาศ "กู้ชาติ" ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งค่ายสื่อผู้จัดการในวันที่ 4 ก.พ. อย่างเหมาะเหม็ง เสียงขับไล่ซึ่งดังอยู่เฉพาะในวงรายการเมืองไทยรายสัปดาห์มานานเนิ่นก็ขยายวงไปสู่นักวิชาการ


 


ดูเหมือนว่าการขายหุ้นเทมาเสกจะเป็นน้ำหยดสุดท้ายที่ล้นแก้วพอดีสำหรับความอดทนของเหล่านักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสำนักแรกที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกในวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว ถือว่าผิดความคาดหมายที่สำนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเป็นผู้เบิกโรง อย่างไรก็ตามคล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง นักวิชาการจากหลากหลายสำนักก็ทยอยลงชื่อร่วมกันเรียกร้องให้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเช่นกัน


 


เพียง 2 วันให้หลังทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ทำลายสถิติการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีนักวิชาการออกมาขับไล่อย่างเป็นทางการเป็นกิจจะลักษณะมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย


 


แม้จะยังคงรักษาฟอร์มมั่นใจตอบไวว่า "ชาติหน้าตอนสายๆ" แต่จังหวะขึ้นลงของคนอยู่เหนือการการันตีของปาก ฉะนั้น แม้ท่านนายกฯ จะเพิ่งผ่านการเรียลลิตีโชว์มาไม่นาน แต่การเป็นนายกฯของประเทศไทยนั้นมีข้อต่างจากบ้านอะคาเดมีอยู่ที่ว่า เก้าอี้นายกฯไม่มีประตูให้เดินออกเฉยๆ ออกไปแล้วก็อาจจะไม่ได้ออกเทปหรือเล่นละคร ที่สำคัญก็คือจะออกไปยังไงไม่ให้โดนลูกติดพัน แหม! พูดไปก็คล้ายขู่ แต่อย่าลืมด้วยว่า นายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ นั้น ไม่มีการแฉแหลกเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนขนาดนี้


 


นายกรัฐมนตรีไทยที่เดินลงจากเก้าอี้ไปตามวิถีประชาธิปไตยจริงๆ และไม่ยุบสภานั้น จะมีก็แต่ท่านนายกฯทักษิณในรัฐบาลทักษิณ 1 เท่านั้น แต่ทางลงที่เป็นกระแสหลักของนายกรัฐมนตรีไทยที่เหลือก็คือ จากไปด้วยการยุบสภาบ้าง ไปเพราะถูกปฏิวัติยึดอำนาจบ้าง ถูกขอร้องให้ลง (ก่อนจะโดนปฏิวัติบ้าง) ถูกประชาชนขับไล่ก็มีอยู่ 2 คน และพึงระลึกว่า หลังประชาชนออกมาขับไล่ นายกทั้ง 2 ได้ใช้วิธีเดียวกันคือเรียกทหารออกมาปราบ แต่แล้วก็ต้องกระเด็นจากเก้าอี้ไปด้วยเหตุแห่งการใช้ทหารมาปราบนั่นเอง คนที่ตายคาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเห็นจะมีอยู่คนเดียวคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เรื่องมรดกฉาวก็ถูกสาวจนหมดสภาพรัฐบุรุษไปชนิดตายทั้งตัวตายทั้งชื่อจริงๆ


 


ในภาวการณ์ผลักไสไล่ส่งกันอย่างเป็นจริงเป็นจังเช่นนี้ "ประชาไท" จึงขอนำเสนอ "ทางลง" ของนายกฯ ผู้กำลังถูกโดดเดี่ยวดังนี้


 


เลือกเอง


ทางออกที่ 1 ลาออก : เป็นกระแสเรียกร้องจากทั้งนักวิชาการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวที่ทำให้กระแสขับไล่นายกฯ มีน้ำหนักอยู่ในขณะนี้ การเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก ถือเป็นการพูดแบบสุภาพตามประสานักวิชาการ แต่ก็สอดรับกับเป้าหมายของกลุ่มชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าวันที่ 4 ก.พ. ที่พูดแบบบ้านๆ ว่า ไล่นายกนั่นเอง


 


ทางเลือกนี้ หากนายกฯ เลือก จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีหมดวาระตามไปด้วย จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาที่จะต้องสรรหานายกฯ คนใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองเสียงข้างมากก็ไม่พ้นพรรคไทยรักไทยอยู่นั่นเอง ซึ่งก็ขึ้นกับพรรคไทยรักไทยละว่า จะเลือกใครขึ้นมาแทนที่นายกฯ ผู้ฉลาดคิดด้วยสมองทั้ง 2 ข้างคนนี้


 


ทางเลือกที่ 2 ยุบสภา : เป็นวิธีที่ไม่ควรใช้ ถ้าสภาผู้แทนฯ เขาไม่ได้ทำผิดอะไรด้วย แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไทยเลือกใช้เป็นแนวทางหลัก อาทิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บรรหาร ศิลปะอาชา ชวน หลีกภัย บางคนถูกจดจำมากหน่อย เพราะถูกอภิปรายพุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลชัดเจน พร้อมกับสัญญาว่าจะลาออก แต่สุดท้ายพลิ้วมายุบสภาหน้าตาเฉย วิธีนี้ ถ้านายกทักษิณจะเลือก ก็ต้องลองไปถามพี่บรรหารผู้ชูสโลแกนสัจนิยมกันเอาเอง


 


ทางเลือกที่ 3 รัฐประหารตัวเอง : ทางเลือกนี้เป็นวีธีที่ผู้นำเผด็จการอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้ เพื่อจัดสรรอำนาจต่อรองทางการเมืองใหม่ในยามขั้วอำนาจต่างๆ เริ่มควบคุมยาก เป็นวิธีที่โบราณไปหน่อยสำหรับนายกฯ ยุค 3G และสังคมไทยดูจะพ้นวัยที่จะรับการกระทำเยี่ยงนี้ได้ (ก็ขนาดนายกฯขายหุ้นให้เทมาเสกด้วยวิธีการสมสมัยออกอย่างนั้น ยังรับไม่ได้กันเลย)


 


คนอื่นเลือกให้


ทางที่ 1 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่ารายชื่อ 50000 รายชื่อยื่นต่อ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303-307 ด้วยวิธีการอันแสนสลับซับซ้อนคือ ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาโดยคำร้องที่ยื่นต่อประธานวุฒิสภาต้องระบุความผิดเป็นข้อๆ ชัดเจน จากนั้นให้ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา แล้วจึงให้วุฒิสภาลงมติไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เป็นอันจบกระบวนการถอดถอน


 


 ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุลบอกว่า ใช้ก็ได้ แต่ไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากสถิติที่อาจารย์ผู้นี้มีอยู่ในมือระบุว่า กรณีล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองนั้น มีหลายกรณีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักกรณีเดียว ป.ป.ช. มักจะวินิจฉัยว่าไม่มีมูล ส่วนถ้าไปถึงวุฒิสภาก็ประสบปัญหาว่า คะแนนเสียงไม่เคยถึงพอที่จะเอาใครออกจากตำแหน่ง


 


ทางที่ 2 สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการเหมือนข้อ 1 คือยื่นคำร้องต่อประธานสภา ประธานสภาส่งต่อให้ ป.ป.ช. จากนั้น ป.ป.ช.ก็ทำรายงานมาถึงวุฒิสภาให้วุฒิสภาลงชื่อ 3 ใน 5 ด้วยวิธีการแบบเดียวกับวิธีการก่อนหน้านี้ ความเสี่ยงจึงไม่ต่างกัน


 


ทางที่ 3 ปฏิวัติรัฐประหาร เรื่องนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญท่านใดกล้ายืนยันว่าจะไม่มี แม้นายทหารใหญ่หลายคนจะออกมาพูดให้สบายใจ และที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า สงบราบคาบคามือท่านผู้นำไปแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การปฏิวัติรัฐประหารนั้นก็เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีไทยระเห็จออกจากตำแหน่งไปไม่น้อยทีเดียว คนล่าสุดที่ยังตราตรึงอยู่ในห้วงความทรงจำอันสั้นก็คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ นั่นเอง โอมเพี้ยง อย่าให้เกิดอีกเลย อายเขา


 


อันที่จริงแล้ว หลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายสาเหตุ เพียงแต่อาจจะไม่สอดรับกับสถานการณ์ขณะนี้เสียทีเดียว และบางเหตุก็เป็นข้อยกเว้นจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ซึ่งเหตุที่นายกรัฐมนตรีจะพ้นจำตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนั้นไปดูตามมาตรา 216 ระบุไว้ดังนี้


 


(1) ตาย


 (2) ลาออก


 (3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 206


 (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก


 (5) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจตาม มาตรา 185 หรือ 186


 (6) กระทำการอันต้องห้ามตาม มาตรา 208 หรือ มาตรา 209


 (7) มีพระบรมราชโองการตาม มาตรา 217


 (8) วุฒิสภามีมติตามมาตรา 307 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง


 http://www.kodmhai.com/m1/m1-201-232.html


 


ทั้งหมดคือทางออก ที่แปลว่า "ออกจากตำแหน่ง" ไปเลยจริงๆ ซึ่งดูท่าว่าท่านนายกฯจะไม่เต็มใจเลือก ในขณะที่สถานการณ์ขณะนี้ก็ประเมินไม่ถูกว่าถ้านายกฯไม่ยอมเลือกเองจะยืดเยื้อไปสู่สภาวะคนอื่นเลือกให้หรือไม่


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อนายกฯ อ้างอิง 19 ล้านเสียงอย่างหนักแน่น พร้อมกับการดิ้นหาทางออกโดยการเชิญนักวิชาการมา "คุยกัน" ในวันที่ 9 ก.พ. ก็เป็นสัญญาณหนึ่งในการพยายามแก้เกมอันเพลี่ยงพล้ำ แม้ว่านักวิชาการบางส่วนจะพูดออกมาชัดเจนว่า "สายไปเสียแล้ว" แต่ก็อย่าได้คิดประมาทการตลาดของนายกฯ ผู้นี้เป็นเด็ดขาด


 


ผศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ เจ้าสำนักสวนดุสิตโพลล์ออกมาอธิบายว่า แม้ผลจากการทำโพลล์จะระบุว่าคะแนนนิยมของนายกฯ ตกวูบที่สุดใน 5 ปีที่ดำรงตำหน่งมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่สิ้นเยื่อใยจากชายชื่อทักษิณจะสลัดเขาออกไปจากชีวิตได้โดยง่าย


 


แม้กระแสความนิยมในตัวนายกฯทักษิณตกลงอย่างวูบวาบหลังข่าวการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเสก และกระแสความไม่พอใจทักษิณในเมืองใหญ่ ๆ จะลุกลามอย่างรวดเร็ว แต่อย่าลืมว่าเมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ และอย่าลืมว่าสโลแกน "คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล" อาจจะยังไม่เชยเกินไปจะหยิบมาพูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะคนกรุงเทพฯ อยู่ใกล้ชิดข้อมูล แต่คนต่างจังหวัดใจดี ถ้าหากทักษิณกลับลำหรือแก้ทางทันในช่วงนี้ กระแสก็อาจจะกลับมา ผศ.สุขุมถึงกับชี้บ่งเลยว่า คนอีสานนั้นใจดีที่สุด และเป็นตัวแปรที่สำคัญสำหรับการเมืองไทยเสมอมา


 


นอกจากนี้ "ใจ" คนไทยนั้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากเหลือเกิน หากช่วงนี้นายกฯ ทักษิณแก้เกมออก หรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาขั้นจังหวะเสียหน่อย ภาวะอารมณ์คนไทยอาจจะเปลี่ยนได้ เหมือนกับที่ "ปีใหม่" เข้ามาช่วยเบรกความแรงของกระแสสนธิสำเร็จมาแล้ว


 


ฟังแล้วนึกถึงศิลปินเพื่อชีวิตที่ถูกหลอกให้แต่งเพลงประกอบโฆษณา "ไทยคม" พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นประชาชนไทยคนแรกที่ถูกหลอกให้เชื่อว่า ไทยคมจะเป็นดาวเทียมเพื่อคนไทย เขารำพึงในคอนเสิร์ตความใฝ่ฝันอันแสนงาม เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า เรากำลังอยู่ในประเทศที่มีคนๆ หนึ่งร่ำรวยเป็นหมื่นล้าน และดูถูกดูแคลนคนที่มีฐานะต่ำต้อยกว่าตนทุกวัน บอกว่าเป็นคนโง่บ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ใช้สมองได้ซีกเดียวบ้าง ในขณะที่คนจนต่ำต้อยกว่า จนกว่า และแม้จะถูกดูถูกก็ยังบอกว่า ดูเขาไปก่อน ให้โอกาสเขาไปก่อน


 


เป็นเสียงรำพึงที่สอดรับพอดีกับอดีตคนร่วมพรรคเดียวกับทักษิณ (สมัยพลังธรรม) นามว่า ไชยวัฒน์ สินธุ์สุวงศ์ ซึ่งยืนยันในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่นแชลแนล เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้คนไทยกำลังจะได้รู้จักนายกฯ ทักษิณ ในแง่มุมที่เขาเคยรู้จักมา


 


เขายืนยันว่าชายชื่อทักษิณผู้นี้เป็นคนฉลาดคิด แต่ขาดวุฒิภาวะอย่างรุนแรง เขากล่าวยิ้มๆ พร้อมกับตั้งคำถามว่า


 


"ท่านจะให้โอกาสคนๆ หนึ่ง ที่ไม่มีโอกาสจะพัฒนาแล้วหรือไม่"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net