เครือข่ายต้านท่อก๊าซประกาศค้านท่าเรือน้ำลึกจะนะ

ประชาไท -2 ก.พ. 2549 กลุ่มค้านท่อก๊าซไทย - มาเลย์ ประกาศค้านท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โผล่จะนะ ประมงพื้นบ้านสงขลายันท่าเรือน้ำลึก - เขื่อนกันคลื่นทำทะเลสาบหายนะ แนะย้ายท่าเรือไปที่ใหม่ ถ้าย้ายไม่ได้ต้องเจาะท่อให้น้ำลอด กรมขนส่งทางน้ำฯ เสียงแข็งไม่ย้าย - ไม่รื้อ


 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ที่โรงแรม บี.พี.สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและท่าเรือน้ำลึกสงขลา" มีนักวิชาการ และภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เข้าร่วมประมาณ 200 คน

 

นายพงษ์วรรณ จารุเดชา ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและวิศวกรรม กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี อภิปรายเรื่อง "การสร้างเขื่อนกันคลื่นในทะเลสาบสงขลา : ประสบการณ์ บทเรียน และผลกระทบที่เกิดขึ้น" ว่า การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นโดยการนำหินถมทะเลเป็นความยาว 450 เมตร ด้านทิศเหนือของท่าเรือน้ำลึกสงขลา เมื่อปี 2546 ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา บริเวณปากทะเลสาบสงขลา ที่ก่อสร้างเมื่อปี 2528 ซึ่งยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

นางจันทิมา ชัยบุตรดี จากเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ถามนายพงษ์วรรณว่า กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาจริงหรือไม่ ถ้าจะก่อสร้างจริง ตนขอให้ยุติโครงการ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาวบ้าน

 

นายพงษ์วรรณ ไม่ตอบคำถาม นายกิติ ตันหัน ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงตอบนางจันทิมาว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกสถานที่ตั้งโครงการ ส่วนจะเป็นตำบลสะกอมหรือไม่ ยังไม่ทราบ การก่อสร้างโครงการนี้ จะให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเองก็จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ

 

นายสักกริยา หมะหวังเอียด เครือข่ายคัดค้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวต่อที่ประชุมว่า โครงการก่อสร้างต่างๆ ล้วนถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ไม่สนใจว่าชาวบ้านในพื้นที่จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ คือพยายามปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น เพราะนี่คือหม้อข้าวของชาวบ้าน ตนขอคัดค้านการสร้างท่าเรือน้ำลึกสขลาแห่งที่ 2 ที่อำเภอจะนะ เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน

 

นางคณิตา ศรีประสม ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตั้งแต่มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาเป็นต้นมา ชาวบ้านเริ่มเห็นหายนะแล้ว เนื่องจากขวางปากทะเลสาบสงขลา ถึง 1 ใน 3 รวมทั้งมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นด้วย ตนเข้าใจว่าเป็นการลักไก่ของกรมเจ้าท่าเดิม ทั้งที่ชาวบ้านส่งหนังสือคัดค้านหลายครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีผลกระทบทุกครั้ง การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขื่อนกันคลื่น ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาชัดเจน ชุมชนชาวประมงบริเวณปากทะเลสาบสงขลา เดิมมีเรือประมงอยู่เกือบ 200 ลำ ต่อมาปี 2546 ลดเหลือ 20 ลำ ปัจจุบันเหลือ 10 ลำ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพรับจ้าง เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบลดลง

 

โดยนางคณิตาได้แจกแถลงการณ์สมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาเรียกร้องให้ย้ายท่าเรือน้ำลึกสงขลาไปตั้งในบริเวณที่เหมาะสม หากย้ายไม่ได้ให้เจาะช่องทางเข้าท่าเรือเป็นสะพานโปร่งให้น้ำไหลผ่านได้ พร้อมกับให้รื้อเขื่อนกันคลื่นออกให้หมด เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลเข้า - ออกสะดวก และให้ศึกษาผลกระทบของท่าเรือน้ำลึกร่วมกับภาคประชาชนนำออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อให้เป็นบทเรียนสำหรับชุมชนอื่นๆ ที่จะมีโครงการพัฒนาชายฝั่ง และโครงการท่าเรือต่อไป

           

นายพงษ์วรรณ ชี้แจงว่า มีข้อมูลและพูดถึงกันมากว่า ท่าเรือน้ำลึกสงขลามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตนยืนยันว่าทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จะไม่ขยายเพิ่ม แต่จะคงสภาพเป็นท่าเรือชายฝั่ง เช่นเดียวกับเขื่อนกันคลื่นจะให้คงอยู่อย่างเดิมด้วย

           

"ผมคิดว่าจำเป็นต้องคงไว้ โดยเฉพาะในยุคน้ำมันแพงอย่างปัจจุบัน เพราะต้นทุนการขนส่งทางบกจะอยู่ที่ประมาณ 1.70 บาทต่อตันต่อกิโลเมตร ขณะที่การขนส่งทางน้ำมีต้นทุนต่ำกว่าทางบกถึง 1 ใน 3 ท่าเรือน้ำลึกอาจเป็นสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด ในทางวิชาการสามารถศึกษากันได้" นายพงษ์วรรณ กล่าว

           

นายสุพจน์ จันทราภรณศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภาคใต้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อภิปรายเรื่อง "การก่อสร้างบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์จากทะเลสาบสงขลา" ว่า การพัฒนาที่ขาดข้อมูล ทำให้ต้องมาฟื้นฟูธรรมชาติที่ได้สูญเสียในภายหลัง โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรง เนื่องจากภาวะโลกร้อน การสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาที่ปิดทางน้ำส่วนหนึ่ง ได้กั้นความแรงของคลื่นด้วย โดยในอ่าวไทยจะมีน้ำขึ้น 6 ชั่วโมง น้ำลง 6 ชั่วโมง ขณะที่ทะเลอ่าวไทยน้ำลง ในทะเลสาบสงขลาน้ำยังไม่ลด ขณะที่น้ำในทะเลสาบสงขลาเริ่มลดลง ก็ถึงเวลาน้ำในอ่าวไทยขึ้น ส่งผลให้น้ำในทะเลสาบสงขลานิ่ง เกิดปัญหาตื้นเขิน การไหลเวียนไม่ดี ความอุดมสมบูรณ์ลดลง การสร้างเขื่อนกันคลื่นก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงบริเวณหาดทรายแก้ว ทางตอนเหนือของอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

           

นายสุพจน์ เปิดเผยด้วยว่า เกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีโครงการศึกษาแนวทางการแก้ไขผลกระทบ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงจังหวัดนราธิวาส ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เหตุที่ศึกษาตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมาเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

           

นายกิติ กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า ตนเพิ่งทราบเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่อำเภอจะนะ ส่วนตัวแล้วคิดว่าชายหาดสะกอม มีความสวยงามพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ บริเวณดังกล่าวมีเกาะขามช่วยกำบังคลื่นลม จึงเหมาะกับการสร้างท่าเรือ ถ้าท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 สามารถขยายตัวจนทดแทนท่าเรือเก่าได้ ก็อาจจะส่งผลให้มีการปรับยรื้อท่าเรือน้ำลึกสงขลาปัจจุบัน การมีท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ จะทำให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีมีทางเลือกในการแก้ปัญหามากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท