เลือก3ลุ่มน้ำประเมินโครงการพัฒนาทะเลสาบสงขลา

ประชาไท—2 ก.พ. 2549 เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ที่โรงแรมโนโวเทล เซ็นทรัล สุคนธา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานงบประมาณในเชิงบูรณาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 1 ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน มีหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 100 คน


 

นายถาวร บุญราศรี ผู้จัดการโครงการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานงบประมาณในเชิงบูรณาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า สำหรับปีงบประมาณ 2549 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำย่อยฝั่งตะวันออก, ลุ่มน้ำย่อยคลองอู่ตะเภา และลุ่มน้ำย่อยคลองท่าเชียด เป็นพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการ

"หลังจากเลือกลุ่มน้ำย่อยได้แล้ว ก็จะมีการเลือกคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการในลุ่มน้ำย่อยเหล่านั้น ตามด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อค้นหาตัวชี้วัดในการติดตามประเมินผล และจัดทำแผนการดำเนินงานของคณะทำงาน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อสรุปปัญหาและอุปสรรคหารือแนวทางแก้ไข" นายถาวร กล่าว

 

นายถาวร กล่าวต่อไปว่า ส่วนผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงบประมาณในเชิงบูรณาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในปีงบประมาณ 2547 - 2548 สามารถติดตามประเมินผลดัชนีและตัวชี้วัดทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา โดยมีโครงการที่มีแนวโน้มที่สามารถติดตามผลได้อีก 1 โครงการ คือ โครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนและองค์ประกอบส่วนท้องถิ่นในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 16

 

สำหรับผลการติดตามประเมินผลทั้ง 6 โครงการ แยกเป็น โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา โดยกรมประมง มีกิจกรรมการพัฒนาฟาร์มทะเลโดยชุมชน มีการปล่อยสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำจากทะเลฝั่งอันดามัน ในปี 2548 ปล่อยกุ้งกุลาดำ 129.5 ล้านตัว ให้ผลผลิต 264.4 ตัน ส่วนสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการบริหารจัดการและควบคุมพื้นที่ทำการประมง การฟื้นฟูเขตอนุรักษ์พืชพันธุ์สัตว์น้ำ 25 เขต สามารถตรวจยึดเรือประมงผิดกฎหมายได้ 9 ลำ รวม 8 คดี ผู้ต้องหา 5 คน โครงการนี้จึงเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้ประมงพื้นบ้านมีวิถีชีวิตที่กลับมาเหมือนเดิม

โครงการส่งเสริมการผลิตแบบผสมผสานเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนนาร้างให้ใช้ประโยชน์ได้ถึง 1,350 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกที่จะประกอบอาชีพที่มั่นคง นอกจากนี้ เกษตรกรยังลดการใช้สารเคมีและช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

โครงการอนุรักษ์ดินและน้ำบนที่ดอนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการไปแล้ว 2,500 ไร่ โดยมีการสร้างทางลำเลียงในไร่นา การสร้างท่อระบายน้ำ การทำบ่อดักดิน ซึ่งในปี 2548 ใช้งบประมาณ 3.7 ล้านบาท

 

โครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีกิจกรรมฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ 13 ลุ่มน้ำ โดยเฝ้าระวังทำแนวกันไฟ ฝายต้นน้ำ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก ฟื้นฟูป่าพรุ มีการดำเนินการระบบนิเวศน์ต้นน้ำ 300 ไร่ และระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ 1,800 ไร่

โครงการหมู่บ้านรักษ์ป่า หรือหมู่บ้านสีเขียว โดยกรมป่าไม้ ดำเนินการไปแล้ว 59 หมู่บ้าน ในปี 2548 มีกิจกรรมปลูกป่า สร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้าน เพาะชำกล้าไม้มีค่า 90,000 ต้น และเพาะชำกล้าไม้ทั่วไป 90,000 ต้น ใช้งบประมาณ 1.4 ล้านบาท

 

และโครงการปลูกป่าชายเลนและป่าพรุเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทะเลสาบสงขลา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2548 มีการปลูกป่าไปแล้ว 2,000 ไร่ และบำรุงป่าอีก 2,000 ไร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท