Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช้างไทย
ช้างไทย



สถานการณ์ช้างเลี้ยงในประเทศไทยปัจจุบันกำลังลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจนล้มตายในที่สุด หรือการเจ็บป่วยจากโรคภัย ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์และกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาช้างเลี้ยงในประเทศไทยลดจำนวนลงจากที่เคยมีอยู่หนึ่งหมื่นกว่าเชือก เหลือเพียงประมาณสองพันกว่าเชือก รวมทั้งมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดของช้างเลี้ยงน้อยกว่าอัตราการตาย หากเป็นเช่นนี้ต่อไปมีโอกาสที่ช้างจะสูญพันธุ์ได้

 


คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสาขาวิชาคลินิกช้างและสัตว์ป่า มีการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆเรื่อยมาในการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ช้างในประเทศไทย ทั้งการดูแลรักษา อบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้เลี้ยง รวมทั้งงานวิจัยต่างๆ การผ่าตัดช้างพลายโมตาลาเมื่อหลายปีก่อนก็เป็นงานหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์


 


..สพ.ตุลยวรรธ สุทธิแพทย์ สาขาวิชาคลินิกช้างและสัตว์ป่า เปิดเผยว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มีหลักสูตรที่เกี่ยวกับช้างโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับแรกๆในประเทศที่เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับช้างโดยตรง โดยมุ่งเน้นการออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่มากกว่าการสอนในห้องเรียน มีการฝึกงานนอกสถานที่ มีการฝึกปฏิบัติงานสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 5 และ 6


 


เขากล่าวว่าในส่วนของงานวิจัยนอกจากที่เกี่ยวกับช้างแล้วยังมีสัตว์ป่าชนิดอื่น เช่น งู ลิง เป็นต้น โดยร่วมมือกับสวนสัตว์เชียงใหม่และสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับช้างที่ดำเนินการมายกตัวอย่างเช่นเกี่ยวกับ ความชุกของเชื้อวัณโรคในช้าง การทดลองสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังช้าง และการวางแผนพัฒนาการผสมพันธุ์ช้างภาคเหนือเพื่อการอนุรักษ์


 


.สพ..พรสวรรค์ พงษ์โสภาวิจิตร สาขาวิชาคลินิกช้างและสัตว์ป่า กล่าวว่าการผสมพันธุ์ช้างในปัจจุบันใช้วิธีการผสมตามธรรมชาติ ซึ่งช้างเพศผู้ที่มีความสามารถในการขึ้นผสมนั้นมีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่จะถูกใช้งานตลอดปี ไม่มีโอกาสผสมพันธุ์บ่อยครั้งเท่าที่ควร ทำให้ความสมบูรณ์พันธุ์ลดน้อยลง การเคลื่อนย้ายช้างไปผสมพันธุ์กันเป็นเรื่องยากและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการนำน้ำเชื้อไปผสมกับช้างเพศเมียที่เป็นสัด โดยการรีดเก็บน้ำเชื้อยังสามารถคัดเลือกช้างเพศผู้ที่มีลักษณะดี แล้วนำลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีนั้นมาปรับปรุงพันธุ์ช้างเลี้ยงให้ดียิ่งขึ้น และเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ในการเพิ่มปริมาณช้างเลี้ยง ช่วยลดปัญหาการลักลอบจับช้างป่ามาใช้งาน


 


เธอยังกล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมามีรายงานในต่างประเทศถึงการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสด ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในช้างแอฟริกาและช้างเอเชีย อย่างไรก็ตามการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อสดในช้างมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อให้มีคุณภาพดีพอต่อการผสมเทียมได้นาน ทำให้ในบางครั้งไม่สามารถขนส่งน้ำเชื้อไปผสมช้างเพศเมียที่อยู่พื้นที่ห่างไกลได้ จึงมีความต้องการใช้น้ำเชื้อช้างที่แช่แข็งในไนโตรเจนเหลวเพราะสามารถนำมาอุ่นละลายเพื่อใช้งานได้ทันทีที่แม่ช้างพร้อม


 


นอกจากนั้นการตรวจการตั้งท้องในช้างเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่ตั้งท้องค่อนข้างนาน คือประมาณ 2 ปี และปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจการตั้งท้องด้วยการสังเกตจากภายนอก ทำให้เกิดการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่นการแท้งและการคลอดยาก


 


งานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้คือการพัฒนาเทคนิคการผสมเทียมมาใช้ในช้างเลี้ยงในประเทศ และพัฒนาเทคนิคการตรวจการตั้งท้องในช้าง ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะทำให้ได้แนวทางเพิ่มจำนวนช้างที่มีพันธุกรรมดีและสามารถจัดการผสมพันธุ์และการจัดการที่เหมาะสมระหว่างการตั้งท้อง เพื่อลดการสูญเสียลูกช้าง


 


ทั้งนี้ปัญหาโดยทั่วไปประการหนึ่งของการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มักจะสะดุดลงเพราะงบประมาณไม่เพียงพอหากงานวิจัยดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจในวงกว้าง


 


.นสพ.ดร.อนุชา ศิริมาลัยสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่าที่ผ่านมางบประมาณสำหรับงานวิจัยของคณะจะได้รับมาจาก 3 ทางด้วยกัน คือ จากงบประมาณประจำปีของคณะซึ่งไม่มากนักเนื่องจากเป็นคณะค่อนข้างเล็ก จากงบประมาณสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกจำนวนหนึ่ง และจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ(สกว.)ซึ่งจะให้การสนับสนุนเป็นรายโครงการวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง งบประมาณส่วนร่วมมีความจำเป็นต้องกระจายให้ทั่วถึงสำหรับทุกโครงการวิจัยภายในคณะ ส่วนทุนวิจัยรายโครงการนั้นส่วนใหญ่มักเป็นงานด้านที่กำลังเป็นที่สนใจในวงกว้างที่จะได้รับ ยกตัวอย่างช่วงที่ผ่านมาเช่นเกี่ยวกับไข้หวัดนก เป็นต้น ความพยายามหนึ่งที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยให้ดำเนินต่อไปได้อาจเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เล็งเห็นคุณค่าของงานด้านนั้นๆ ซึ่งล่าสุดทางปางช้างแม่สาได้ประสานงานในการอนุเคราะห์ด้านอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการวิจัยโครงการผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็งด้วย


 


คุณอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ปางช้างแม่สาได้ลูกช้างเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ทั้งหมด 13 เชือก ทั้งหมดมาจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ และอีกราว 2-3 เดือนข้างหน้าก็กำลังจะได้สมาชิกเชือกที่ 14 จากแม่ช้างของปางที่กำลังตั้งอยู่


 


เธอกล่าวต่อไปว่าสำหรับการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นการเปิดประเด็นครั้งแรกในการสนับสนุนงานวิจัยโดยภาคเอกชน ซึ่งอาจช่วยเหลือในส่วนของการอนุเคราะห์ให้ใช้ช้างในการทำวิจัย และการบริจาคทุนหรือเครื่องมือในการทำวิจัย ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยในเวลานี้ก็มีอยู่หลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับช้างในมิติที่แตกต่างกันออกไป อยากให้คนไทยหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับช้างและการอนุรักษ์มากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนควรช่วยเหลือกัน


 


ทั้งนี้ในปัจจุบันปางช้างแม่สามีช้างอยู่ในความดูแลทั้งหมดประมาณ 77 เชือก เป็นช้างที่เกิดในปาง 13 เชือก หากมองจากภายนอกอาจดูเหมือนปางช้างแม่สาประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์พันธุ์ช้าง แต่หากมองในเรื่องของความยั่งยืนต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์พันธุ์ด้วย การผสมพันธุ์ภายในเครือญาติใกล้ชิดของช้างจะทำให้สายพันธุ์อ่อนแอลงเรื่อยๆ ขณะที่การผสมเทียมจะสามารถช่วยได้ในแง่ของความหลากหลายทางสายเลือด


 


สถานการณ์แท้จริงที่น่าเป็นห่วงของช้างในประเทศไทย คือแม้จะมีอยู่จำนวนหลายพันเชือกก็จริง แต่ช้างกลุ่มนี้อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน นั่นคือมีช่องว่างที่ค่อนข้างห่างกันในช่วงอายุของประชากรช้าง ดังนั้นเมื่อถึงเวลาสิ้นอายุขัยของประชากรช้างกลุ่มอายุที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของช้างในประเทศไทยปัจจุบัน คืออีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า จำนวนช้างจะหายไปเยอะมากเนื่องจากช่องว่างที่มีอยู่ดังกล่าว.          


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net