Skip to main content
sharethis


เปิดตัว'เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง' หนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนยืนยันแนวทางสันติ ด้านอาจารย์นิติ ธรรมศาสตร์ หนุนแก้ รธน.ม.313 เปิดทางประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ

 


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง ได้จัดงานราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 35 ในหัวข้อ "กู้วิกฤตประเทศไทย ร่วมใจปฏิรูปการเมือง"


 


โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มสธ. นายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ นิติศาสตร์ มสธ. นายดนัย อนันตโย อุปนายกสภาทนายความ และ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ.


 


โดยงานในวันนี้เป็นการเปิดตัวเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยกลุ่มนักวิชาการดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ มีความว่า นับแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่ามีความทันสมัย แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหานักการเมืองขาดจริยธรรม แสวงหาอำนาจทางการเมืองและบิดเบือนการใช้อำนาจ ก่อเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงธุรกิจ


 


ในแถลงการณ์ระบุว่า มีรูปแบบการแทรกแซงการตรวจสอบอำนาจรัฐ และการบิดเบือนการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐดังนี้


 


1.โครงสร้างทางการเมือง มีข้อบกพร่องในกระบวนการตัดสินใจและการได้มาซึ่งองค์กรทางการเมือง ไม่มีการกำหนดความสัมพันธ์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความขัดแย้งในหน้าที่ บางคนสามีเป็นรัฐมนตรี ภรรยาเป็น ส.ว. ทำให้การตัดสินใจการบริหารจัดการทางการเมืองที่ต้องตอบสนองประโยชน์สาธารณะถูกทำให้อ่อนแอลงจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้


 


 


 2.มีการแทรกแซงการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ ทำให้กรรมการองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จนผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองต้องหลุดออกจากการตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมานก็ถูกทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้


 


 3.สื่อมวลชนถูกแทรกแซงอิสระในการนำเสนอข่าว ก่อให้เกิดการสับสนในข้อมูลข่าวสารและจะพัฒนาไปสู่การใช่ความรุนแรงในอนาคต


 


 


 4.มีการแปลงทรัพย์สินของชาติเป็นประโยชน์ของกลุ่มบุคคลเช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำสมบัติของชาติไปขาย การแก้กฎหมายเพื่อให้การขายทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาลเอื้อต่อทุนต่างชาติที่เข้าครอบงำกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ


 


 5.กระบวนการทำ FTA ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปราศจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งไม่ผ่านพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และรัฐสภา


 


 6.มีการทำลายหลักนิติรัฐโดยตราพระราชกำหนดที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข มีการให้อำนาจบุคคลเพียงคนเดียว การยกกเลิกกฎหมายระดังพระราชบัญญัติโดยใช้มติของฝ่ายบริหารเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างสิ้นเชิง


 


ผลที่ตามมาจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองข้างต้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากความบกพร่องของระบบการตัดสินใจและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน สะสมและสร้างปมปัญหาการใช้อำนาจรัฐในทางการเมืองไว้มากมายหลายด้าน


 


ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลสะท้อนพัฒนาไปสู่ปัญหาคอรัปชั่นในลักษณะที่ฝังลึกเข้าไปสู่ "ระบบ" การเลือกใช้ยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศอย่างแยบยล ยากที่ประชาชนจะเข้าใจได้โดยง่าย ในประการสำคัญที่ระบบการใช้อำนาจรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้


 


ซึ่งมักจะถูกปิดเบือนและขัดต่อหลักนิติรัฐ ทำให้เกิดการกระจุกตัวและการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรภายในของชาติผ่านโครงสร้างการพัฒนาแก้ปัญหาของประเทศเป็นไปโดย อำเภอใจ และ ขาดความเป็นธรรม


 


 "เราในฐานะของนักวิชาการและประชาชนผู้ติดตามและห่วงใยในผลประโยชน์ของชาติ เห็นปัญหาต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงเห็นว่า มีการบิดเบือนการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองและการไร้ประสิทธิภาพขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ควรที่จะมีการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหม่โดยปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจและการตรวจสอบต่าง ๆ ที่จำเป็น"นายปริญญากล่าวและว่า


 


แต่การที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในเชิงโครงสร้างและระบบ สมควรที่มีกระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และขอเรียกร้องรัฐสภาได้มีการริเริ่มให้มีกระบวนการการปรับปรุงแก้ไขโดยผ่านกระบวนการการจัดโครงสร้างทางเมืองและกฎหมายที่มีความรู้และมีคุณธรรม


 


 และนำเสนอขอรับความเห็นชอบด้วยการออกเสียงประชามติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง และเพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญนี้บรรลุผลเป็นจริง บนฐานความรู้ ศานติ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกฝ่ายอย่างมีนัยสำคัญ


 


จึงสมควรจัดตั้งเครือข่ายสมานฉันท์ปฏิรูปการเมือง หรือ CPRA (Conciliation for Political Reform Allies) ขึ้นเพื่อทำการผลักดันให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว"


 


ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ นายบรรเจิดกล่าวว่า ทางเครือข่ายมีคำขวัญประจำองค์กร (Motto) ว่า "หยุดโกง หยุดขายชาติ หยุดผูกขาดประเทศไทย" และเรามีเป้าหมาย อยู่ 3 ประการ


 


คือ 1.ในการปฏิรูปการเมือง 2.ยืนยันแนวทางสันติ และ 3.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน หากองค์กรใด อยู่ในหลักการดังกล่าวเราก็พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรด้วย หรืออย่างกรณีของสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ทราบว่าสุดท้าย เป็นการถวายข้อร้องทุกข์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เป้าหมายไม่มีอะไรขัดแย้งกัน แต่แนวทางอาจจะต่างกัน


 


นายปริญญากล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองนั้นต้องให้เข้าใจได้โดยง่าย ด้วยปัญหาการตรวจสอบของรัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ ที่ไม่สามารถทำงานได้ หากเป็นอย่างนี้สู้มีฝ่ายค้านอย่างเดียวเหมือนเดิมจะดีกว่า และการแก้ปัญหาจะแก้เป็นจุด ๆ ไม่ได้เราต้องปฏิรูปทั้งระบบ รัฐธรรมนูญบับนี้ บอกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่กลับปิดช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การแก้ไขเป็นสิทธิของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น


 


 ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 313 จึงเป็นบันไดสู่การปฏิรูปการเมือง โดยจะขอแก้ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะในประเทศทั่วไปที่สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นเขาเปิดโอกาสให้เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แม้จะใช้เสียงมากกว่า


 


ซึ่งโดยทั่วไปก็อาจเป็น 1 เท่า และการแก้ไขนี้ประชาชนต้องเป็นเจ้าภาพ โดยจะเชิญนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมาร่วม ส่วนที่กังวลว่าหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลังแล้วจะถูกรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ให้ระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าหาก มีการเปลี่ยนแปลงร่างก็ให้มีการทำประชามติว่าประชาชนจะเลือกร่างไหน


 


...................................................................................


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 29 มกราคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net