บทความพิเศษ : อัลตระ รอแยลลิสต์ (Ultra Royalist)

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง

 

กระแสการถวายคืนพระราชอำนาจถูกปลุกเร้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ.2500 ภายใต้การยึดครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมักใช้กันประจำในหมู่ผู้ที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือมาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นวิธีป้องกันตนเองจากภัยของอำนาจรัฐได้ดีที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเราที่เรียกว่า " พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" ซึ่งเป็นรัฐรรมนูญที่เปรียบเสมือนพินัยกรรมที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ทรงมอบอำนาจที่พระองค์ทรงอยู่ ให้แก่ปวงชนชาวสยามดังปรากฏอยู่ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของไทยที่ไม่ต้องมีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะในขณะที่พระองค์ทรงลงพระนามมอบอำนาจสูงสุดของประเทศให้เป็นของราษฎรนั้น พระองค์ยังทรงพระราชอำนาจสมบูรณ์ โดยพระองค์ยังทรงรับผิดชอบการกระทำทั้งหลายด้วยพระองค์เอง

 

แต่หลังจากที่ทรงลงพระนามในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว การใช้อำนาจอธิปไตยก็เป็นไปตามครรลองของระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือรับผิดชอบแทนพระองค์ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 3 ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ "และมาตรา 7 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

 

เป็นที่ตระหนักแก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าว่า พระราชอำนาจในความเป็นจริงที่เป็นพระราชอำนาจทางประเพณี ทางวัฒนธรรม ทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ นั้น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากมาย แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น และกฎหมายที่ว่านี้ก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั่นเอง

 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ มีผู้คนพยายามนำพระราชอำนาจตามกฎหมาย พระราชอำนาจทางประเพณี ทางวัฒนธรรม ทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ และพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันและในฐานะส่วนบุคคลมาปะปนกัน

 

ความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีอยู่ในสายเลือดของชาวไทยทุกผู้ทุกคน แต่การแสดงความจงรักภักดีอย่างที่ได้ชื่อว่า Ultra Royalist ที่แปลว่า ผู้ที่เกินกว่าพระราชาหรือโดยนัยก็คือพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น แทนที่จะเป็นผลดีต่อพระมหากษัตริย์ กลับจะเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ

 

การที่เราเชิดชูหรือยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือการเมืองนั้น คือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา เพราะการเมืองมีทั้งพระเดชและพระคุณ การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้งจึงมีทั้งคนรักและคนเกลียด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง จึงมีแต่พระคุณ มีแต่คนรักคนบูชาดังที่พระองค์ทรงได้รับอยู่ในขณะนี้

 

ฉะนั้น ความพยายามที่จะดำเนินการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" นั้น อาจจะต้องตอบคำถามที่ว่า เราต้องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองกระนั้นหรือ ถ้าเราจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จริง ก็ให้พระองค์ท่านทรงปกเกล้าแต่อย่างเดียวอย่าให้พระองค์ท่านทรงปกครองเลย กษัตริย์ที่ "ปกครอง" แต่มิได้ "ปกเกล้า" ไม่ช้าก็ล่วงลับดังเช่นกรณีชาห์ เรซา ปาเลวี ของอิหร่าน ถ้าพระเจ้าชาห์ไม่ปกครองเสียเอง อยาโตลาห์ โคไมนี ก็ล้มท่านไม่ได้ เพราะจุดอ่อนของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั้นไม่มีหลักประกันอันใดว่า ผู้ที่จะครองตำแหน่งกษัตริย์จะเป็นคนดีหรือเหมาะสมทุกพระองค์ ตัวอย่างของเหตุการณ์ร่วมสมัยก็คือ การจับกุมและทรมานผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของกษัตริย์จียาเนนทราแห่งเนปาล นั่นเอง

 

ในหนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล (2548) ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนตำหนิพวกที่ทำตัวเป็น Ultra Royalist ไว้พอที่จะสรุปได้ว่า นับแต่นโปเลียนที่ 3 ได้สละราชสมบัติแล้ว รัฐสภาก็ได้จัดให้มีการลงมติว่า ฝรั่งเศสจะปกครองโดยระบบสาธารณรัฐหรือระบบราชาธิปไตยต่อไป โดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์

 

เสียงราษฎรส่วนมากขณะนั้นปรารถนาตามวิธีหลังนี้ แต่พวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น ได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์และเรียกร้องเกินเลยไป แม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงสีขาว ประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Fleurs De Lis" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะราชวงศ์บูร์บอง

ก่อนที่รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติดังกล่าว สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (Due De Magenta) ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี และอ้างว่ารู้พระราชหฤทัย แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้าฯ จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมมีส่วนมาก ปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป เมื่อถึงเวลาลงมติ ฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐจึงกลับมาชนะเพียง 1 เสียงเท่านั้น

ถ้าหากผู้ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาดีเอาเด่นใส่ตนแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้น พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี จึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทำให้ราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงบัดนี้

 

ใครชอบใครเชียร์ใครก็เชียร์ไป ใครจะคัดค้านต่อต้านใครก็ต่อต้านไป เพราะการชุมนุมโดยสงบและสันติเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอยู่แล้ว แต่จงใคร่ครวญกันให้ถ้วนถี่ว่า การพยายาม "ถวายคืนพระราชอำนาจ"ของคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองบางคน นักวิชาการบางกลุ่ม หรือสื่อมวลชนบางส่วนนั้น จะเป็นการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์กันแน่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท