Skip to main content
sharethis

รายงานเสี่ยงตาย : เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานชื่อว่า "ทุ่งร้าง" ออกมาจากองค์กรที่เข้าไปทำงานในดินแดนพม่า ข้อมูลทั้งหมดในรายงานฉบับนี้ทำให้เราตระหนักได้ทันทีว่า โครงการนี้จะไม่สร้างประโยชน์แบบ win-win อย่างที่นายกฯ ทักษิณ หรือรัฐมนตรีเกษตรหญิงของไทยโฆษณาไว้แน่นอน

ชีวิตของชาวนาเมืองนาย และอีกหลายเมืองในรัฐฉานเปลี่ยนไปแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเริ่มเข้ามาจัดการระบบการเกษตร มีการกำหนดโควตาข้าวที่ประชาชนต้องจ่ายให้รัฐอย่างหนักหนาสาหัส รวมทั้งขับไล่ผู้คนออกจาก "บ้าน" ของตัวเอง ลงมากระจุกอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลทหาร

 

หากมีเพียงเรื่องเลวร้ายที่กล่าวมา อาจไม่มี "ทุ่งร้าง" จำนวนมหาศาล และผู้คนก็อาจจะพอมีแรงดิ้นรนต่อสู้กับมรสุมเหล่านั้นได้

 

ในรายงานของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์รัฐฉาน (SRDC/ Shan Relief and Development Committee) ที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ระบุว่า เรื่องเลวร้ายใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการเกิด "รางรถไฟ" ระยะทางเกือบ 5 กม.จากบ้านนาลินไปยังบ้านนาขาน ตำบลไม้ไฮ อำเภอเมืองนายในช่วงปลายปี 2537 ทางรถไฟสายนี้ใช้แรงงานทาสจากชาวบ้าน และมีการทำลายทุ่งนาสองข้างของทางรถไฟจำนวนมาก

 

นอกจากนั้นกองพันทหารราบที่ 248 ยังเวนคืนนาข้าวถึง 100 ไร่ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายทหาร รวมทั้งบังคับให้ชาวบ้านขุดสระน้ำลึก 15 ฟุตและกว้าง 100 ฟุตจำนวน 7-8 แห่ง เพื่อเอาไว้เลี้ยงปลาสำหรับทหารกินเอง ไม่มีการชดเชยให้กับชาวนาผู้สูญเสียที่ดินแต่อย่างใด

 

ขูดเลือด ขูดเนื้อ และแทะกระดูก

แม้จะเคยมีชีวิตอยู่แบบพอกิน แต่ชาวบ้านที่นี่ก็จำต้องทำความรู้จักกับข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นมาตรการบังคับของกระทรวงเกษตรและชลประทานที่ต้องการผลผลิตข้าวเพิ่ม เนื่องจากมีการยกเลิกการจัดสรรข้าวเปลือกจากรัฐบาลกลาง

 

กองพันทหารราบที่ 518 และ 248 ที่อยู่ในพื้นที่เริ่มบังคับให้ชาวนา 7 หมู่บ้านในเขตเมืองนาย ต้องปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติม ทำให้เกิดปัญหาการผลิตข้าวทั้งระบบล้มเหลว เพราะมีช่วงเวลาที่ซ้อนทับกัน ส่งผลให้ข้าวนาปีมีผลผลิตตกต่ำ และเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำในชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพราะแต่เดิมชาวบ้านจะปลูกข้าวกันตามฤดูกาลเพียงปีละ 1 ครั้ง แน่นอน ผลผลิตทั้งหมดตกเป็นของรัฐบาลทหาร

 

สำหรับกระบวนการนั้น ทางการจะเวนคืนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์และใกล้แหล่งน้ำ รวมทั้งบังคับใช้แรงงงานชาวบ้านตลอดวงจรการผลิตข้าว โดยจะมีคำสั่งเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งเพื่อให้ดำเนินการจัดคิวให้สมาชิก 1 คนของแต่ละครอบครัวหมุนเวียนกันมาทำนา ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ยกเว้นขั้นตอนการเตรียมที่นาที่จะใช้แรงงานชาย หากครอบครัวไหนไม่สามารถส่งแรงงานมาได้ ก็ต้องจ่ายเงิน 700 จ๊าต หรือไม่ก็ต้องหาคนอื่นมาทำแทนให้ได้ ไม่มีข้อยกเว้น

 

ไม่ใช่เพียงที่ดินและแรงงานที่ถูกขูดรีดไปต่อหน้าต่อตาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ชาวบ้านยังต้องจัดหาเครื่องมือการเกษตร เชื้อเพลงในขั้นตอนการเตรียมที่ดิน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง รวมถึงต้องนำน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนมาใช้เองด้วย สิ่งเดียวที่รัฐบาลกลางจัดหาให้คือ เมล็ดพันธุ์ผสม

 

ปี 2541 เป็นปีที่กองทัพพม่าออกคำสั่งยกเลิกการจัดสรรอาหารให้กับทหารราบ และบีบให้พวกเขาต้องหาเลี้ยงตัวเอง คำสั่งสั้นๆ นี้ทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวง นอกเหนือจากบังคับให้ทำนาปรัง ยังทำให้เกิดการเวนคืนที่ดินมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากปี 2543 เป็นต้นมา

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ กองพันทหารราบที่ 518 ได้เวนคืนที่ดินมากกว่า

25,000 ไร่ ในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่รอบค่ายทหารและในเขตชุมชนของเมืองนาย โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด พื้นที่เหล่านี้มีทั้งที่สวนผลไม้ สวนผัก พื้นที่เพาะปลูกไม้เชื้อเพลิง และที่นาซึ่งไถคราดแต่ยังไม่ได้เพาะปลูก

 

การเวนคืนนี้เป็นไปเพื่อเปลี่ยนให้ "เจ้าของ" ที่ดินกลายเป็น "ผู้เช่า" ชาวนาสามารถจะเลือกปลูกอะไรก็ได้ในที่ดินที่ "เคย" เป็นของตน แต่ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก 3.5 ถังต่อปี นอกจากที่ดินแล้วทหารที่ลาดตระเวนผ่านมายังยึดเอาสัตว์เลี้ยงและพืชผลอื่น ๆ ไปโดยไม่มีการจ่ายเงินให้

 

สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบเลวร้ายยิ่งกว่าระบบการจัดซื้อข้าว เพราะนอกจากชาวนาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการขายข้าวแล้ว พวกเขายังต้องจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวอีกด้วย

 

นอกจากนี้ที่ดินอีก 5,000-7,500 ไร่ที่ปัจจุบันรกร้างนั้น มีสาเหตุเนื่องมาจากเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลทหารได้เวนคืนที่ดินเหล่านี้ทางตอนเหนือของเมืองเพื่อดำเนินนโยบายที่พวกเขาเรียกว่า "การปลูกป่า"

ชาวบ้านถูกบังคับให้ปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ต้นไม้แคระแกร็น

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการขายที่ดินซึ่งถูกเวนคืนอีก 2,500-3,800 ไร่ให้กับเจ้าของบริษัทผลิตสุราฉ่วยหลินหยง จากนั้นเจ้าของบริษัทได้ว่าจ้างชาวบ้านให้เป็นแรงงานทำงานให้ มีการเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วเพื่อส่งออกไปยังเมืองจีน และเพิ่งเลิกไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อตลาดไม่สดใสมากนัก ในปัจจุบันที่ดินเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งรกร้าง

 

"มันเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างมากกับตัวเลขจำนวนประชากร และหมู่บ้านที่ลดน้อยลง อีกทั้งมีไร่นาถูกละทิ้งนับหมื่นไร่เช่นนี้ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่เมืองนายเท่านั้น ในพื้นที่ใกล้เคียง และอีกหลายพื้นที่ ในรัฐฉานภาคใต้ก็ประสบเช่นเดียวกัน" นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจกล่าว

 

           

 

 

ใบอนุญาตเดินทางและมีชีวิต

สำหรับชาวนาที่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม และยังยืนหยัดในอาชีพทำนา หากพวกเขามีที่ดินอยู่ไกลจากตัวเมือง พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้พักค้างคืนในที่นาของตน ต้องเดินทางไปเช้าเย็นกลับ ไม่ว่าเส้นทางจะยาวไกลแค่ไหน

 

เส้นทางป่าเขาของพม่าบางทีอาจไม่ต่างจากถนนหลวงบ้านเรานักในบางแง่มุม เพราะชาวบ้านต้องจ่ายค่าสินบนเพื่อให้ได้รับอนุญาตเดินทางไปกลับได้ โดยจ่ายให้กับผู้ใหญ่บ้านบ้าง ตำรวจบ้าง กองพันทหารราบบ้าง หรือหากใครโชคดีก็อาจต้องจ่ายทั้งสามส่วน

 

น่าเศร้ากว่านั้น ค่าสินบนแค่ 100-200 จ๊าต ถือเป็นเงินน้อยเกินไป ชาวนาต้องให้พวกปลากระป๋อง เนื้อกระป๋องเพิ่มเติมแก่พวกเจ้าหน้าที่ด้วย นอกจากนี้ชาวนายังไม่ได้รับอนุญาตให้นำอาหารกลางวันติดตัวไปยังที่นาอีกต่างหาก ใครลักลอบและถูกจับได้ โทษจะมีตั้งแต่จ่ายค่าปรับ ถูกทุบตี หรืออาจเลวร้ายกว่านั้น

 

ไม่เพียงการเดินทางไปทำนาเท่านั้น แม้แต่การเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรอีกหมู่บ้านหนึ่งก็ต้องมีใบอนุญาตเช่นกัน เพราะหาไม่แล้วพวกเขาจะถูกจับกุมด้วยข้อสงสัยว่าเป็นขบถ ไม่ว่าบัตรประชาชนจะบ่งบอกชื่ออะไรก็ตาม

 

กระนั้นก็ดี มีใบอนุญาตก็ใช่ว่าจะได้ความปลอดภัยในชีวิต เพราะกองพันทหารราบและหน่วยลาดตระเวนนั้นมีการออกคำสั่งที่แตกต่างกัน หากเดินไปเจอหน่วยที่มีคำสั่งให้ยิงคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ทันที ชาวนาก็ยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตาย แม้ในมือจะกำใบอนุญาตที่ออกโดยกองพันฯ อีกแห่งหนึ่งไว้แน่นก็ตาม

 

เหตุผลเท่านี้ น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ตัดใจทิ้งที่ดินเดิมอันอุดมสมบูรณ์ตามภูเขานอกเมืองให้รกร้าง

 

นาร้าง ตลาดร้าง

นอกจากนี้มาตรการจำกัดและควบคุมการเดินทางของประชาชนยังส่งผลกระทบต่อการค้าและตลาดด้วย โดยปรกติพ่อค้าจากลางเคอ (ตัวจังหวัด)จะเดินทางมาซื้อข้าวคุณภาพดีจากเขตเมืองนาย ในตลาดเกษตรกรรมที่เปิดทุกอาทิตย์ แต่ในปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากเมืองนายพร้อมกับนำข้าวหรืออาหารติดตัวไปด้วย โดยจะมีด่านตรวจบนถนนด้านใต้ของเมือง เส้นทางค้าขายกับเมืองต่างที่ผ่านเขตป่า ก็มีสภาพที่อันตรายมากเกินไปในปัจจุบัน

 

ลางเคอเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในการเพาะปลูกยาสูบและอ้อย แต่ไม่ได้ปลูกข้าวหรืองามากนัก ดังนั้น การจำกัดการค้าขายจึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในเขตเมืองนี้และเมืองใกล้เคียง อีกทั้งตลาดในเมืองนายเองก็ไม่มีของขาย

 

นี่คือชะตากรรมบางส่วนของหลายชีวิตที่อยู่ห่างจากเราเพียงหนึ่งชั่วโมงบิน แต่ไม่เป็นที่รับรู้ หรือแม้แต่รู้แล้วก็อาจไม่ใส่ใจ เพราะมุ่งมองแต่ผลกำไรมหาศาลที่เต้นรำอย่างยั่วยวนอยู่บนซากกองกระดูกของคนเหล่านั้น

 

ปัจจุบันคนปลูกข้าวที่นั่นต้องหาซื้อข้าวและอาหารกิน ในขณะที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดมีข่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าออกคำสั่งบังคับให้ประชาชนทั่วประเทศปลูกต้น "สบู่ดำ" กว่า 5 แสนไร่ โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนและลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่พร้อมกันนั้นก็สอดรับกับการที่รัฐบาลไทยกำลังเพิ่มเติม "สบู่ดำ" ไปในโครงการทำคอนแทรค ฟาร์มิ่งกับเพื่อนบ้านทั้งหลาย

 

"เราต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ โดยมองว่าประเทศไทยทั้งประเทศเป็นโรงงาน ไม่ใช่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพราะแคบเกินไป หรือหากมองไกลกว่านั้น ก็ต้องมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นโรงงาน  หรือไกลไปอีกก็ต้องมองไปประเทศที่ไกลขึ้น"

 

ตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษของ "ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีไทยที่กล่าวเปิดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ (30 ต.ค.48)

 

......ตราบใดที่ไม่ได้ทำงานในโรงงาน ใครจะสนถ้าในนั้นเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม !

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net