Skip to main content
sharethis


วันพุธที่ 25 มกราคม 2006 18:48น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แล้ว การที่มีผู้อ้างตัวเป็นหัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี หรือพูโลพร้อมยุติข้อเรียกร้องเอกราชปัตตานี และยินยอมเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อหาทางยุติเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่ง


 


เป็นเรื่องตลกเพราะทุกฝ่ายตระหนักดีว่า พูโลไม่มีบทบาทในการนำ สั่งการ บังคับบัญชา ขบวนการก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้


 


แล้วอะไรคือสาเหตุที่พูโลต้องออกมาแสดงท่าที จุดยืนเช่นนี้ !


 


ข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ ที่กระจายกำลังกันลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นอีกครั้งนับแต่การบุกปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ทุกหน่วยยืนยันตรงกันว่า จากการสืบสวนหาข่าว รวมทั้งคำให้การของผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุม หรือเข้ามอบตัวกับทางราชการระบุว่า องค์กรที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นคือขบวนการ BRN Co-Ordinate ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มครูสอนศาสนาทั้งโต๊ะครู อุซตาซ ปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมมลายูปัตตานีให้แก่เยาวชนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กในโรงเรียนตาดีกา จนถึงกลุ่มวัยรุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อสถาปนารัฐอิสลามปัตตานี


 


แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า BRN Co-Ordinate ไม่เคยออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่รัฐไทยกล่าวหา จะมีเพียงแต่ขบวนการพูโลเท่านั้น ที่ออกมาแสดงบทบาทปลุกระดม ชาวไทยมลายูมุสลิมให้ลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราช ประณามนโยบายการแก้ปัญหาที่ผิดพลาดและรุนแรงของรัฐบาลไทยผ่านเว็บไซต์ www.pulo.org ซึ่งปัจจุบันถูกปิดไปแล้ว


 


ความเคลื่อนไหวของพูโลมีการจัดองค์กรที่เป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับอย่างมากจากกลุ่มประเทศในโลกอาหรับ ในช่วงปี 2519-2525 กล่าวได้ว่าปฏิบัติการทางด้านการเมืองและการทหารของพูโลมีความเข้มแข็งมาก ทั้งในด้านการก่อวินาศกรรม จับตัวประกัน ลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน โจมตีสถานีตำรวจ ลอบวางระเบิด จึงถูกรัฐบาลไทยปราบปรามอย่างหนัก สมาชิกจำนวนมากหลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศมาเลเซีย ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มแกนนำ เนื่องจากบางรายหาผลประโยชน์จากการเรียกค่าคุ้มครอง


 


บทบาทความเคลื่อนไหวในอดีตของพูโลเน้นแนวทางปลุกระดมทางการเมืองด้วยแนวคิดชาตินิยมและปฏิบัติการทางทหาร โดยไม่อิงกับศาสนา ต่างกับ BRN ที่ใช้แนวทางศาสนามายืนยันความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานี ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ จึงเชื่อมั่นยิ่งว่า พูโลไม่ใช่องค์กรที่มีบทบาทอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใหม่ระลอกนี้


 


ช่วงปี 2532 ก็เกิดความแตกแยกแกนนำหลายรายต่างแยกตัวออกจากขบวนการและตั้งองค์กรใหม่ อาทิ พูโล 88 พูโลใหม่ และพูโลเก่า และนับแต่นั้นเป็นต้นมาขบวนการพูโลก็เริ่มอ่อนกำลังลง สมาชิกระดับแกนนำของแต่ละองค์กรบ้างเสียชีวิตในการปะทะ ถูกลอบสังหาร บ้างเข้ามอบตัวกับทางราชการ บ้างถูกจับกุม สำหรับที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ก็ล้วนแต่ชราภาพ และใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ โดยหันมาใช้ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมลายูปัตตานี โจมตีรัฐบาลไทยต่อสังคมโลก


 


บทบาทการเคลื่อนไหวล่าสุดของขบวนการพูโลก็คือในช่วงเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา แกนนำของกลุ่มต่างๆ ได้ประชุมหารือกันในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ผลการหารือได้ข้อยุติว่าทุกกลุ่มจะกลับมารวมกันภายใต้ชื่อองค์กรกู้เอกราชสหปาตานี(พูโล) หรือ Pertubuhan Pembebasan Patani , Pulo


 


ขณะเดียวกันแกนนำที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียกลุ่มหนึ่งก็ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี หรือ Patani Malayu Humanright Organization เพื่อใช้ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมลายูปัตตานีของรัฐบาลไทยฟ้องต่อสังคมโลกผ่านองค์การสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การที่ประชุมมุสลิมโลก (OIC) โดยใช้เว็บไซต์ www.pmhro.org เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารที่รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมลายูปัตตานี อาทิ เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหน้าสภ.อ.ตากใบ เหตุการณ์คนไทยมลายูมุสลิม 131 ลี้ภัยเข้าไปยังประเทศมาเลเซีย และล่าสุดเหตุการณ์ฆ่ายกครัว 9 ศพที่บ้านกะทอง ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่กล่าวว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ของรัฐ


 


ดังนั้นบทบาทในระยะหลังของพูโลจึงเป็นการเคลื่อนไหวในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อดึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย โดยมีความหวังว่า อาจนำไปสู่การแยกตัวเป็นรัฐอิสระได้ โดยที่พูโลไม่เคยมีบทบาทใดต่อปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดขึ้นเลย


 


หน่วยงานด้านความมั่นคงเชื่อว่า หากการเจรจาจะเกิดขึ้นจริงคงต้องประสานผ่านทางดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานขบวนการเบอซาตู ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2532 เพื่อรวบรวมขบวนการต่างๆ ที่แตกสลายจากการปราบปรามของรัฐบาลไทยให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน


 


ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยในประเทศบรูไนและมาเลเซีย เชื้อสายมลายูปัตตานี อันที่จริงดร.วันการ์เดเองไม่มีบทบาทด้านการควบคุมบังคับบัญชาในองค์กรใดๆ มาก่อน แต่ด้วยความเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่วิพากษ์ เรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก้ชาวมลายูปัตตานีมาโดยตลอด ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นประธานเบอซาตู ซึ่งแม้จะมีตำแหน่งแต่ก็ไร้อำนาจสั่งการควบคุมต่อกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ได้


 


จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมากว่าสองปี ดร.วันกาเดร์ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าเบอซาตูมิใช่ผู้อยู่เบื้องหลัง และเขาพร้อมที่จะประสานเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อหาทางยุติปัญหา


 


ช่วงเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเบอซาตูด้วยเหตุผลว่า ชราภาพและไม่อาจบริหารงานได้อีกต่อไป


 


หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยเชื่อว่า ดร.ฟาเดร์เองก็ไม่อาจทำให้กลุ่มที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ยุติปฏิบัติการลงได้ เขาทำได้ดีที่สุดก็แค่เป็นผู้ประสานให้มีการหารือร่วมกันเท่านั้น


 


แต่สำหรับพูโลซึ่งไม่มีบทบาท อิทธิพลใดๆ เหลืออยู่ในพื้นที่เลย ไม่มีประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะต้องจับเข่าเจรจาด้วย


 


ท่าทีการยื่นข้อเสนอให้มีการเจรจาของพูโล จึงเป็นเรื่องชวนขำ ที่หน่วยงานรัฐไทยเชื่อว่า เป็นความพยายามแสดงบทบาทเพื่อให้องค์กรระหว่างประเทศยอมรับต่อองค์กรที่แทบจะไร้บทบาทอย่างพูโล อย่างน้อยที่สุดก็หวังการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อธำรงองค์กรเอาไว้


 


เป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยปฏิเสธปิดประตูหนทางการเจรจากับขบวนการนี้โดยสิ้นเชิง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net