Skip to main content
sharethis

เรื่องราวของ "อโนชา ปันจ้อย" หญิงเชียงใหม่ที่ถูกลักพาตัวไปอยู่เกาหลีเหนือนานถึง 27 ปี ก็มีความคืบหน้าน่าสนใจ และเธออาจไม่ใช่คนไทยเพียงคนเดียว ที่ถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือ

เรื่องราวของ "อโนชา ปันจ้อย" หญิงเชียงใหม่ที่ถูกลักพาตัวไปอยู่เกาหลีเหนือนานถึง 27 ปี  ก็มีความคืบหน้าน่าสนใจ

 

มีนาคมที่จะถึงนี้ นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย จะเดินทางไปญี่ปุ่น ติดตามคดีนี้

 

และการเดินทางล่าสุดจากเชียงใหม่ไปญี่ปุ่น ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ที่เชื่อว่า นอกจาก อโนชา ยังไม่ตายแล้ว  เธออาจไม่ใช่คนไทยเพียงคนเดียว ที่ถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือ

 

0 0 0

 

การติดตามหา "อโนชา ปันจ้อย" หญิงไทยจากบ้านหนองแสะ ต.ห้วยทราย อำเภอสันกำแพง  จังหวัด เชียงใหม่ ที่ถูกระบุโดยอดีตทหารอเมริกัน ว่าได้พบและมีข้อมูลว่าถูกลักพาตัวไปอยู่ในเกาหลีเหนือนั้น เริ่มมีความคืบหน้าเป็นลำดับ เมื่อระดับรัฐบาลที่เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญต่อการติดตามได้เตรียมจะประสาน ข้อมูลกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการนำผู้ถูกลักพาตัวกลับประเทศ 

 

นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 7 มีนาคม 2549 จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โอกาสนี้จะนัดพบ ชาร์ลส์ โรเบิรต์ เจนกินส์  อดีตทหารอเมริกันซึ่งหนีทัพอเมริกาไปอยู่เกาหลีเหนือ ผู้เขียนหนังสือ TO TELL THE TRUTH ตีแผ่เรื่องราวพร้อมภาพของอโนชา  เพื่อสอบถามรายละเอียดด้วยตนเอง 

 

"ก่อน หน้านี้รัฐบาลไทยได้ติดต่อกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ โดยการส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการพรรค แรงงานของเกาหลีเหนือ แต่ได้รับการตอบมาเบื้องต้นว่า ไม่มีบุคคลที่เชื่อว่าเป็นอโนชาอยู่ที่เกาหลีเหนือ แต่ผมก็ได้ยืนยันไปแล้วว่ามีตัวตนจริงขอให้ตรวจสอบต่อไป และเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีของไทยและเกาหลีเหนือจะอำนวยต่อการประสานความ ร่วมมือครั้งนี้"

 

อโนชา เกิดเมื่อ 12 กรกฎาคม 2497 เป็นชาวอำเภอสันกำแพง เมื่อจบ ป.4 ออกบ้านไปทำงานกรุงเทพ  และมาเก๊า ก่อนจะหายตัวไปเมื่อปี 2521  ข้อมูล จากเมืองไทย และจากหนังสือของเจนกินส์ ตรงกันว่า เธอหายตัวไปพร้อมกับชาวฮ่องกง 2 คน และเจนกินส์ ซึ่งมีภรรยาคือ โซกะ หญิงญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวไปเช่นกัน ได้พบเธอ  เป็นเพื่อนบ้าน และบันทึกเรื่องราวทั้งหมดกลับมาตีพิมพ์ที่ญี่ปุ่น พร้อมปรากฏเป็นข่าวดังระดับโลกเมื่อพฤศจิกายน 2548

 

อโนชา คือคดีแรกของการลักพาตัวคนไทยโดยเกาหลีเหนือ  แต่สำหรับญี่ปุ่นข้อมูลยืนยันจากระดับรัฐบาลว่ามีทั้งสิ้น 17 คน (ภาคเอกชนระบุมีมากกว่า 100 ราย) มีการก่อตั้งเป็นสมาคมฯ อย่างชัดเจน  และ รัฐบาลญี่ปุ่นก็เอาจริงเอาจังในการติดตามคนของเขาจนสำเร็จเมื่อปี 2545 นายกรัฐมนตรี โกอิซูมิ ของญี่ปุ่นไปเกาหลีเหนือและนำพาคนของเขา 5 คนกลับสู่ประเทศสำเร็จ และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับว่ามีการลักพาตัวจริง

 

ญี่ปุ่นจึงให้ความสนใจเรื่องของอโนชา และระบุด้วยว่ามีถึง 12 ประเทศที่เกิดปัญหาถูกลักพาตัวญาติพี่น้องไปเช่นเดียวกัน

 

สมาคมช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นผู้ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ เชิญครอบครัวปันจ้อย อันประกอบด้วย สุคำ, บรรจง ปันจ้อย  พี่ชายและหลายชายของอโนชา  นายสุรชัย จงรักษ์ นายอำเภอสันกำแพง และ อ.โทโมฮารุ  เอบีฮาระ  อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยพายัพ และประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) ไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่กรุงโตเกียวเมื่อ 20-24 ธันวาคม 2548  ซึ่งได้รับข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ 3 ประเด็น

 

อ. เอบีฮาระ  ให้สัมภาษณ์พลเมืองเหนือว่า ข้อมูลแรกคือ อโนชายังมีชีวิตอยู่

 

"เจนกินส์ยืนยันว่า  ปี 2546 ก่อนที่เจนกินส์จะย้ายมาอยู่กับภรรยาที่ญี่ปุ่น  รัฐบาลเกาหลีเหนือหลอกเขาว่าถ้ากลับญี่ปุ่นจะโดนจับตัว แต่หากอยู่ต่อจะให้อยู่กับอโนชา"

 

ข้อมูลต่อมาคือ สามีคนที่ 2 ของ อโนชา  เพราะ อับชา ซึ่งเป็นสามีคนแรกของอโนชา เสียชีวิตไปเมื่อปี 2526 อีก 2 ปีถัดมา ผู้ควบคุมของรัฐบาลเกาหลีเหนือหาสามีคนใหม่ให้เธอเป็นชาวเยอรมัน  เจน กินส์บอกว่า ปี 2522 เขาพบอโนชาที่ร้านตัดผม เธอบอกว่าจะแต่งงานกับชาวเยอรมันที่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศเกาหลีเหนือ เพื่อไปประเทศแถบยุโรปได้ตามสะดวก เจนกินส์คาดว่า สามีใหม่ของอโนชาคนนี้ ไม่น่าจะเป็นผู้ถูกลักพาตัวมา แต่น่าจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ที่อาศัยในเยอรมันตะวันตก และเป็นสมาชิกของกลุ่มศึกษา "ชุเชะอิเดีย" ซึ่งคือทฤษฎีการปกครองของประเทศเกาหลีเหนือ โดยชายคนนี้อาจย้ายมาเอง และทำหน้าที่เป็นสปายให้เกาหลีเหนือ

 

แต่ประเด็นนี้ "พลเมืองเหนือ" ตรวจสอบจากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่ายังคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง โดยจากเอกสารแปลความบางตอนของหนังสือ TO TELL THE TRUTH ของเจนกินส์ ระบุว่า อับชาสามีคนแรกของเธอเสียชีวิตปี 2526  และอโนชาแต่งงานใหม่กับชาวเยอรมันซึ่งเป็นนักธุรกิจในปี 2528  แต่ข้อมูลใหม่ที่เจนกินส์บอกว่าพบอโนชาครั้งสุดท้ายกลับเป็นพฤษภาคม 2522  ซึ่งจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาและตรวจสอบให้ชัดอีกครั้ง

 

สำหรับข้อมูลสุดท้าย  อ.เอบีฮาระ บอกว่า เจนกินส์อธิบายถึงขั้นตอนการลักพาตัว โดยระบุว่าอโนชาเป็นผู้เล่าว่า เมื่อเธอทำงานที่โรงนวดมาเก๊า เจ้า นายชาวโปรตุเกสบอกว่าออกไปถ่ายรูปกับลูกค้าชาย 2 คน ที่ชายทะเล เมื่อไปถึงเธอถูกมัด ฉีดยา และพาตัวขึ้นรถข้ามเขาไปท่าเรือ ถูกนำลงเรือเล็กลงไปใต้ท้องเรือลำใหญ่ พบหญิงชาวมาเก๊าอีก 2 คน  เมื่อถึงเกาหลีเหนือก็ถูกนำไปยังเกสท์เฮ้าส์ที่เปียงยาง ก่อนมาพบและพักอยู่ในอพาร์ทเมนท์เดียวกันกับเจนกินส์และโซกะ  ซึ่งโซกะ สามารถชี้รูปของอโนชาที่ครอบครัวนำไปจากสันกำแพงได้ถูกต้องทุกรูป

 

นายสุรชัย จงรักษ์ นายอำเภอสันกำแพงยังบอกด้วยว่า การไปครั้งนี้ยังได้พบกับครอบครัวชาวเลบานอนที่ญาติลักพาตัวไปโดยเกาหลี เหนือเช่นกัน และยังมีรายงานว่ามีถึง 12 ประเทศที่มีปัญหาเดียวกัน ในปลายปีนี้ญี่ปุ่นจึงเตรียมจะจัดประชุมใหญ่ร่วมกันที่สหรัฐอเมริกาด้วย

 

ไม่น่าจะมีแค่ อโนชา

ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) สันนิษฐานว่า  คนไทยที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ ไม่น่าจะมีเพียงอโนชาเพียงคนเดียว  อย่างน้อยด้วย 4 เหตุผล

 

1.ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน (คิม จอง อิล) เมื่อสมัยเป็นผู้นำหมายเลข 2 ของประเทศ

ได้ ออกคำสั่งในปี 2514 ว่า ให้มีการสร้างสปายให้มีความเหมือนกับคนของประเทศที่ต้องการส่งไปให้มากที่ สุด โดยลักพาตัวคนของประเทศนั้นๆ ให้มาเป็นครูเพื่อสอนการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ ภาษา เป็นต้น หลังจากนั้นเกิดการลักพาตัวชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถูกลักพาตัวไปมากที่สุด รวมทั้งอโนชาด้วย

 

2.ตามคำอธิบายของสมาคมช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นผู้ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ ระบุว่า

การลักพาตัวของเกาหลีเหนือ น่าจะเป็นการลักพาตัวไปก่อน  แล้วจึงคัดเลือกเพื่อการใช้งาน เช่นหากมีความสามารถด้านภาษา ก็จะถูกใช้ให้แปลเอกสาร สำหรับอโนชาถูกนำไปเป็นภรรยาของสปาย

 

3.การลักพาตัวชาวต่างชาติ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการทำงานให้กับเกาหลีเหนือ แต่การลักพา ตัวอโนชา กลับไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ไปเป็นเพียงภรรยาของสปายเท่านั้น และเมื่อเกาหลีเหนือลักพาตัวคนไทยเพื่อประโยชน์ในการผลิตสปาย จึงคาดว่าอาจมีคนไทยอื่นที่ถูกลักพาตัวไปอีก

 

4.จากการสังเกต ผู้นำเกาหลีเหนือยากที่จะยอมรับว่า อโนชาถูกลักพาตัวและอยู่ที่เกาหลีเหนือ เพราะจากข้อมูลที่ทราบจากเจนกินส์ว่า สามีคนที่ 2 ของอโนชาน่าจะเป็นสปาย ดังนั้นหากเกาหลีเหนือรับว่าอโนชาถูกลักพาตัวจริงก็จะต้องปล่อยกลับประเทศ นั่นหมายถึงข้อมูลที่เป็นความลับของเกาหลีเหนือจะถูกเปิดเผยด้วย

 

อ.เอบีฮาระ บอกด้วยว่ากำลังอยู่ระหว่างเจรจาลิขสิทธิ์เพื่อแปลหนังสือ TO TELL THE TRUTH  ของ เจนกินส์ และสืบค้นข้อมูลต่อ โดยอีกข้อสันนิษฐานว่าไม่ใช่เพียงอโนชาคนเดียวที่เป็นคนไทยซึ่งถูกลักพาตัว เพราะเขาได้พบกับชาวญี่ปุ่นซึ่งไปทำงานเป็นพ่อครัวของผู้นำประเทศเกาหลี เหนือ และกลับมายังญี่ปุ่นพร้อมเขียนหนังสือ "กุ๊กของ คิม จอง อิล" ระบุว่าพบคนไทยหลายคนอยู่ที่นั่น ซึ่งเขาก็เตรียมแปลหนังสือเล่มนั้นเช่นกัน

 

"ตอนแรกๆ เกาหลีเหนือก็ปฏิเสธการลักพาตัวชาวญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่ข้อมูลหลักฐานและความ พยายามร่วมมือกัน ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้ความใส่ใจช่วยเหลือจริงจัง เจรจากับผู้นำเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ จนนำมาซึ่งการยอมรับผิดของเกาหลีเหนือส่งตัวชาวญี่ปุ่น 5 คนกลับประเทศ  เรา จึงต้องเชื่อมั่นข้อมูลที่มี สร้างความเข้าใจต่อการลักพาตัวของเกาหลีเหนือให้เกิดแก่สังคมไทยและพยายาม ร่วมกันหลายหน่วยงาน หาข้อมูลเพิ่มเติมที่จะทำให้เกาหลีเหนือยอมรับว่า ได้ลักพาตัวคุณอโนชาไป"

 

หากย้อนถึงประสบการณ์การติดตามผู้ถูกลักพาตัวของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่ารัฐบาลญี่ปุ่น ใส่ใจ และจริงจังต่อกรณีนี้ นายกรัฐมนตรี โคอิซิมิ ถือข้อมูลประชาชนของเขาถูกลักพาตัว ไปยื่นต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือด้วยตนเองและสำเร็จ แต่นั่นอาจเป็นเพราะ ญี่ปุ่นไม่มีสัมพันธทางการทูตกับเกาหลีเหนือ จนถึงปัจจุบันท่าทีของ ส.ส.ญี่ปุ่นต่อการเรียกร้องส่งคืนผู้ถูกลักพาตัวก็แสดงชัดเจนและรุนแรง  เช่นการเรียกร้องต่อรัฐบาลของตน ห้ามให้เรือเกาหลีเหนือเข้าญี่ปุ่น ห้ามค้าขายกับญี่ปุ่น ห้ามส่งเงินไปช่วยเป็นต้น แต่สำหรับไทย  เราได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 2518  และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

 

มองในมุมดีอาจทำให้ง่ายเข้าต่อการติดตามตัวอโนชา!

 

อย่างไรก็ตาม  ล่า สุดเมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม 2548 สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้ลงมติเพื่อตำหนิเกาหลีเหนือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการลักพาตัวของชาว ต่างชาติ

 

มี 88 ประเทศแสดงความเห็นชอบ  21 ประเทศไม่เห็นชอบ และสละสิทธิ 60 ประเทศ

 

หนึ่งในประเทศที่สละสิทธินั้นคือ ประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net