เมื่อหนุ่มโสดตามหาความงดงามของ "สิทธิบัตรยา"

1

ผมเป็นคนโสด แข็งแรง นานทีปีหนถึงจะได้เจอหมอ หรือกินยาสักครั้ง ผมเลยไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรกับขบวนประท้วงใหญ่โตเรื่อง "สิทธิบัตรยา" ที่กลายข่าวครึกโครมในการเจรจาเอฟทีเอ ไทยกับสหรัฐ เมื่ออาทิตย์ก่อน 

 

ยาจะแพง จะพัฒนายาตัวใหม่ได้ยาก มันก็ดูเป็นเรื่องใหญ่อยู่หรอก แต่ "ใหญ่" ในความรู้สึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เก็บรับมา และตำแหน่งแห่งที่ที่เรายืนอยู่

 

บางทีผมเลยอดนึกไม่ได้ว่า พวกเขาอาจกังวลกันมากเกินไป สำหรับโลกการค้า "คนคิดค้น" ก็เหมือนพระเจ้าองค์น้อยๆ คนคิดไม่ได้ก็ต้องจ่ายค่าความฉลาด ความพยายาม ให้กับคนที่คิดออกก่อนตามสมควร เราจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวได้ยังไง

 

ยังไงก็ตาม ชีวิตผมดำเนินมาเรื่อยๆ อย่างสบายอกสบายใจ ไม่เกี่ยวว่านายกฯ จะไปขึ้นช้างลงม้าที่ไหน หรือประเทศไทยจะไปเซ็นสัญญาอะไรกับใคร (อย่างน้อยก็ในวันนี้) เช้าไปทำงาน ตกเย็นกินเหล้ากับเพื่อน กลับบ้านนอน วนเวียนอย่างนี้ จนเจอไอ้(เวร)จ๋อย

 

ไอ้จ๋อยเป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมด้วยกัน กินเหล้าวงเดียวกัน เถียงกัน ด่ากัน และเคยต่อยกันครั้งหนึ่ง  ตอนนี้มันไปทำงานอะไรสักอย่างแถวภาคเหนือ นานๆ ชีวิตเราจะวนมาเจอกันสักทีในวงเหล้า คุยกัน...และเถียงกันตามเคย

 

วันนั้นก่อนกลับ มันเหวี่ยงหนังสือเล่มหนึ่งลงบนโต๊ะ  โครม ! จะอะไรล่ะครับ ดันดัดจริตไปคุยกันเรื่องเหตุบ้านการเมือง ที่ตลกคือวนไปจุดไต้ตำตอคุยประเด็นสิทธิบัตรยาที่มันทำงานอยู่กับชาวบ้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนเหล่านี้ต้องกินยาทุกวันเพื่อต่อลมหายใจ และต้องเปลี่ยนตัวยาที่สูงขึ้นๆ ไปจนกว่าจะไม่มีให้เปลี่ยน หรือจบชีวิต

 

ข้อนั้นผมก็พอรู้ และจริงๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเถียงอะไรกับมันนัก แต่ฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้อารมณ์หมันไส้ อยากเอาชนะพุ่งปรี๊ดขึ้นสมอง ก็มันเล่นด่ารัฐบาลที่รักของผมไม่เหลือชิ้นดี

 

"วิตกจริต คิดได้ไงวะแม่ง มึงไม่รู้หรอกว่ามันกระทบชีวิตคนเท่าไหร่ คนจนแม่งลำบากอยู่แล้ว จะไม่มีที่ยืนอยู่แล้ว ไม่มีตังค์ซื้อยาก็ตายเอง ชีวิตนะโว้ย กูไม่ได้พูดเอาหรู มันคือชีวิต…." กระดกเหล้าหมดแก้วแล้วมันก็ไป.... ผมได้แต่มองมันตาละห้อย....ตังค์ก็ไม่จ่ายกู.....

 

"สิทธิบัตรยา : ยาใจคนรวย"  เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผมนึกไม่ออกว่าถ้าไม่เพราะเถียงกับไอ้จ๋อยแล้วมันขว้างหนังสือใส่หน้าผม ผมจะหยิบหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวที่สลับซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกอย่างเรื่องยามาอ่านหรือเปล่า

 

เห็นว่ามันเล่มเล็กนิดเดียว ก็เลยลองอ่านดู ไม่น่าเชื่อว่าจะบรรจุข้อมูลได้ทั่วโลก อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เม็กซิโก ละตินอเมริกา แอฟริกาใต้ ไล่มาจนอินเดีย อินโดฯ มาเลย์ ผมอ่านรวดเดียวจบ โดยไม่รู้ว่าคนเขียนเขียนเก่ง หรือเป็นแรงมุส่วนตัว

 

 

 

2

 

 "ยา" เป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิต เมื่อโลกเดินทางมาจนถึงขั้นที่ทุกอย่างล้วนกลายสินค้า ยาจึงเป็นสินค้าเอก ที่สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับบริษัทผู้ผลิต

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตยาเป็นของไม่กี่ประเทศ แต่ประเทศที่มีบทบาทสูงสุด และโดนด่ามากที่สุด คือ อเมริกา

 

บริษัทยาที่นั่นมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภาครัฐจนสามารถ "ช่วย" รัฐกำหนดนโยบายต่างๆ ได้ ซึ่งล้วนนำมาแต่ความชอกช้ำซ้ำเติมผู้ป่วยไข้ "ทั่วโลก"  ไม่เว้นแม้แต่ในอเมริกาเอง

 

ในอเมริกา ประชากรจำนวนมากต้องบริโภคยาจำนวนมหาศาล เฉลี่ยแล้วคนอเมริกันใช้จ่ายค่ายาปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ (เป็นตัวเลขการซื้อยาโดยตรง ไม่รวมยาที่ใช้ในโรงพยาบาล หรือบ้านพักคนชรา)

 

และราคายาก็แพงหูฉี่ ยาตัวเดียวกัน ในอเมริกาแพงกว่าในออสเตรเลียราว 160-250 เปอร์เซ็นต์ แพงซะจนคน 1-2  ล้านคนต้องแอบสั่งซื้อยาจากประเทศอื่นทางอินเตอร์เน็ต และทางอื่นๆ

 

"ทุกๆ วัน ยังมีประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนแก่เดินทางข้ามชายแดนไปซื้อยาในแคนาดาและเม็กซิโก แล้วซุกซ่อนเข้ามาในสหรัฐราวกับขนยาเสพติดเข้าประเทศ" (หน้า36)

 

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ยามีราคาแพงนั้น เรามักยอมจำนนให้กับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการค้นคว้าทดลอง  เราสยบยอมให้กับบริษัทยาที่ต้องลงทุนมหาศาลในการนั้น ซึ่งท้ายที่สุดกลับพบว่าบริษัทยาทุ่มเทไปกับการตลาด การโฆษณา และการบริหารจัดการ มากเป็น 2 เท่าของการวิจัย และส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสูตรยานิดหน่อย เพื่อต่อสิทธิบัตรการผูกขาดให้นานและนาน โดยไม่ได้ผลิตยาตัวใหม่ออกมามากมายอย่างที่อ้าง

 

เรายอมกันมานานมาก จนทำให้อุตสาหกรรมยาติดอันดับธุรกิจทำเงินอันดับ 1 ของโลกมาหลายปีดีดักตราบจนปัจจุบัน  

 

อย่างไรก็ตาม แม้คนอเมริกันไม่สนใจเรื่องราวของคนอื่นๆ ในโลกมากนัก แต่ก็ตระหนักได้ชัดเจนว่ายาในบ้านตัวเองแพงกว่าที่อื่น บริษัทยาจึงมีทางทางเลือก 2 ทาง ลดราคายาในอเมริกาลง หรือเพิ่มราคายาที่อื่นๆ ให้สูงขึ้น 

 

รัฐบาลสหรัฐภายใต้การผลักดันของกลุ่มทุนยา จึงได้ใช้ "เอฟทีเอ" หรือข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี  เข้าไปบ่อนทำลายอุปสรรคขัดขวางการกำหนดราคายาอย่างเสรีในประเทศต่างๆ ทีละประเทศ ทีละกลุ่ม

 

กรณีของออสเตรเลีย แม้เป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ยังเพลี่ยงพล้ำ เซ็นเอฟทีเอกับสหรัฐจนมีผลทำให้ระบบโครงการสิทธิประโยชน์ด้านยา หรือ PBS อายุอานาม 50 ปี และถือเป็นกลไกควบคุมราคายาที่ดีที่สุดกลไกหนึ่งของโลกถูกสั่นคลอนอย่างสำคัญ

 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนา DR-CAFTA ( ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกากลางและโดมินิกัน รีพับลิก ประกอบด้วย อเมริกา นิคารากัว เอลซาวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส คอสตาริกา และโดมินิกัน รีพับลิก) ซึ่งถอดและขยายแบบมาจาก NAFTA (ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ประกอบด้วย สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก) ที่หายนะไปนานพอควรแล้ว

 

ประเทศเหล่านี้ยากจน และมีผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงยาต้านไวรัส การทำเอฟทีเอซึ่งมีพิมพ์เขียวการขายยาของบรรษัทเป็นแบบเดียวกันทั่วโลก จะยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของผู้คน  เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็เศร้า ทำให้ข้อตกลงฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแบบเฉียดฉิว 217: 215  หวาดเสียวที่สุดในประวัติศาสตร์จนเป็นที่โจษขานกันทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม เราพบตัวอย่างของการพยายามต่อสู้กับสหรัฐ และดิ้นรนเอาตัวรอดอยู่พอให้ใจชื้น ในแอฟริกาใต้ รัฐบาลใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ จัดหายาต้านไวรัสราคาถูกมาให้ประชาชน ตามที่องค์การการค้าโลกเปิดช่องไว้ จนโดนบริษัทยาฟ้องร้อง ต่อสู้กันมาหลายปี ด้วยแรงหนุนของประชาชน เอ็นจี

โอ นักวิชาการจากนานาประเทศ ทำให้บริษัทยอมถอนฟ้องในที่สุด

 

ขณะที่บราซิลนั้นถือเป็นที่หมายปองของบริษัทยา แต่ก็เป็นตัวแสบที่ดื้อรั้นเหลือทน บราซิลบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร จนพัฒนายาภายในประเทศไปได้ไกล ไม่สนใจสหรัฐว่าจะควันออกหูแค่ไหน เป็นความหวังของยาราคาถูกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ด้อยพัฒนาอื่นๆ

 

จนในที่สุดถูกสหรัฐฟ้องร้องในดับบลิวทีโอ บราซิลก็เลยไปฟ้องคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติบ้าง จนได้รับชัยชนะ เอากะเขาสิ !

 

ถึงกระนั้นก็ยังมีการเอาล่อเอาเถิด ต่อรองแข็งข้อกับสหรัฐอยู่ตลอดเวลา

 

"มาถึงขั้นนี้แล้ว แม้ว่าสหรัฐเอามีดมาจ่ออยู่ที่คอหอยบราซิลอยู่ เราจะยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลของเราละเมิดสิทธิบัตรยาให้ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อบราซิลประเทศเดียว แต่ประเทศอื่นก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย" โฮเซ่ อาเราโฮ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอฟ เอ็กซ์ บี ประจำบราซิลกล่าวคำที่ใครหลายคนอยากได้ยิน แต่ไม่เคยได้ยินในประเทศของตัวเอง

 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเด็กดื้อที่ควรเอาอย่างอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น  อินเดีย อีกหนึ่งหนามยอกอกอันเบ้อเริ่มของสหรัฐ รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย

 

 

3

 

อีกสองอาทิตย์ ไอ้ก้องจะแต่งงาน ผมอาจได้เจอกับไอ้จ๋อยอีกครั้ง และไม่อยากยอมแพ้มันง่ายๆ ยังอยากเถียงกับมันอยู่ ผมไม่อยากอยู่ในภาวะหดหู่กับโลกเสรีนิยมใหม่ สิ้นหวังกับประเทศชาติ จงเกลียดจงชังอเมริกาเหมือนกับมัน

 

ใครก็ได้ช่วยเอาหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน แล้วหาข้อมูลอีกด้าน ด้านงดงามของบริษัทยา ตัวอย่าง "ชีวิตที่ดี"ของประชาชนถ้วนหน้าที่ประเทศอื่นๆ ได้จากการทำเอฟทีเอกับสหรัฐ มาบอกกันทีเถอะครับ แต่ขอร้องว่า...ไม่ต้องเอาหนังสือเล่มใหม่มาเขวี้ยงใส่หน้าผมก็ได้...

 

 

 

0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0

 

 

ข้อมูลหนังสือ

ชื่อ               สิทธิบัตรยา : ยาใจคนรวย (159หน้า)

เขียน            กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

สนับสนุน       กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)  มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา องค์การหมอไร้พรมแดน-

                   เบลเยี่ยม(ประเทศไทย)

บรรณาธิการ   อธิคม คุณาวุฒิ

พิมพ์             พฤศจิกายน 2548

ราคา              150 บาท

 

ติดต่อ            www.ftawatch.org / e-mail : info@ftawatch.org

 

 

 

 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท