ชีวิตอเมริกันชน ใต้อุ้งเท้าอุตสาหกรรมยา (1)


ในวาระที่เรื่อง "สิทธิบัตรยา" กำลังเป็นประเด็นทั้งในเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ซึ่งเพิ่งจบรอบที่เชียงใหม่โดยมีการประท้วงควบคู่การประชุมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากราคายาที่จะแพงขึ้น และโอกาสในการพัฒนายาตัวใหม่ๆ ที่น้อยลง

 

รวมถึงการประชุม "เอฟต้า" (EFTA: European Free Trade Association) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง
ไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เชียงใหม่  ในวันที่
16-20  ม.ค.นี้ เรื่องยาก็กลายเป็นประเด็นร้อน โดยมีข้อเรียกร้องคล้ายๆ
ในเอฟทีเอสหรัฐ คือ ขอผูกขาดข้อมูล
5 ปี (Data Exclusivity) และการขยายอายุสิทธิบัตรออกไป

 

การเข้าถึงยา จึงกลายเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจเบื้องหลังการผลักดันการผูกขาดผ่านการค้าเสรีทั้งหลาย ประไทขอนำเสนอบทเรียนพื้นฐาน คือ บทความเรื่อง ชีวิตอเมริกันชน ใต้อุ้งเท้าอุตสาหกรรมยา จากหนังสือ "สิทธิบัตรยา : ยาใจคนรวย"  โดยกรรณิการ์ กิจติเวชกุล แห่งเอฟทีเอวอทช์ที่จะทำให้ท่าน "อ่านสนุก" และ  "ทุกข์ถนัด"


 


 


ชีวิตอเมริกันชน…ตัวเป็นๆ


หนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่อาจไม่ได้สะท้อนสังคม แต่ก็ยังพอมีบางเรื่องบางแง่มุมที่ทำให้เราเห็นภาพสังคมอเมริกันด้านจริงอยู่บ้าง


 


John Q. ชายผิวดำชนชั้นแรงงาน ที่บุกยึดโรงพยาบาลเพื่อบังคับให้หมอผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจให้กับลูกชายของเขา เนื่องจากประกันชีวิตที่บริษัททำให้เขาไม่ครอบคลุม เขาก็ไม่มีเงินมากพอที่จะช่วยลูกชาย แล้วโรงพยาบาลยังทำท่ารังเกียจที่จะรักษาคนจน


 


The Terminal ฉากสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง ชายชาวรัสเซียที่เดินทางไปซื้อยารักษาพ่อจากแคนาดา แต่เครื่องบินที่เขาโดยสารมา ต้องพักเครื่องที่สนามบินเจเอฟเคในนิวยอร์ค เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐไม่ยินยอมให้เขานำยาออกไป ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ซื้อยาในสหรัฐ พระเอกของเรื่องต้องรับหน้าที่ล่ามจำเป็นช่วยเหลือชายชาวรัสเซีย ให้นำยาออกจากสหรัฐได้ ในที่สุด ด้วยการโกหกว่า มันเป็นยารักษาแพะ ไม่ใช่ยารักษาชีวิตคน


 


แง่มุมที่ได้จากหนังฮอลลีวู้ดทั้งสองเรื่องนี้ คือ ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของคนอเมริกันที่ต้องซื้อยาแพงกว่าคนทั้งโลกหลายเท่าตัว หลักประกันสุขภาพของรัฐถูกตัดจนเหี้ยน คนอเมริกันทุกคนต้องซื้อประกันชีวิตเอง นายจ้างอาจทำประกันให้แต่ก็ครอบคลุมเพียงเล็กน้อย และกำลังลดวงเงินประกันลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นในอัตราก้าวกระโดด


 


เอาเป็นว่า ชีวิตแบบ "อเมริกัน ดรีม" ที่หนังฮอลลีวู้ดทั่วๆ ไป และซีรี่ส์ยอดฮิตพยายามล้างสมองคุณอยู่นั้น เป็นชีวิตของคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น แต่ไม่ใช่ความจริงที่คนอเมริกันจริงๆ เผชิญอยู่


 


หากคุณพยายามมองข้ามเรื่องความรวย-ความจนไป แล้วขอไปชื่นชมกับคุณภาพชีวิตของอเมริกันชนที่มีรัฐคอยดูแลอย่างดี ดูแลไปจนยามเฒ่าชแรแก่ชรา บอกกันตรงๆ เลยว่า คิดผิด!!!


 


ข่าวใหญ่ที่ไม่ค่อยเป็นข่าวในบ้านเราเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2547 สยองคนอเมริกัน (ที่พอมีความเท่าทันอยู่บ้าง)ไปทั่ว เมื่อ เดวิด เกรแฮม รองผู้อำนวยการหน่วยงานด้านความปลอดภัยของยา ในสำนักงานอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐ ได้ให้การต่อคณะกรรมาธิการการเงิน ของวุฒิสภา


 


โดยได้พูดถึงกรณีที่บริษัท Merck ถอนยา Vioxx ด้วยความเต็มใจของผู้ผลิตเองว่า อันที่จริงแล้ว ยาดังกล่าวควรถูกสั่งเก็บออกจากตลาดหลายปีก่อนหน้านี้ เพราะจากข้อมูลการวิจัยของ Merck เองชี้ชัดว่า มีคนอเมริกัน 88,000-139,000 คนเกิดอาการหัวใจล้มเหลว


หรืออัมพฤกษ์จากการใช้ยา Vioxx และยังมีผู้ป่วยอีกมากถึง 40 % หรือประมาณ 55,000 คนเสียชีวิตเพราะการใช้ยาชนิดนี้


 


เกรแฮม กล่าวว่า เมื่อใดที่เขายกประเด็นความเสี่ยงของ Vioxx ขึ้นหารือใน FDA ก็จะถูกขอให้เงียบซะ หรือถึงขั้นแก้ผลการสรุปของเขา


 


เกรแฮม เน้นย้ำอย่างชัดเจนต่อหน้าคณะกรรมาธิการว่า "FDA ไร้ความสามารถในการปกป้องคนอเมริกัน เพราะว่าหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยด้านอาหารและยาแห่งนี้ มีสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอุตสาหกรรมยาเกินไป"


 


(ในที่สุดศาลสหรัฐมีคำพิพากษาให้ Merck จ่ายค่าชดเชยหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการใช้ยา Vioxx)


 


ในการให้การครั้งนั้น เดวิด เกรแฮม ยังได้ระบุ ยาอีก 5 ชนิดที่เข้าข่ายสร้างความเสี่ยงอย่างมากแก่คนไข้ แต่ยังได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายอยู่ นั่นคือ Bextra ของบริษท Pfizer ซึ่งมีความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจ เช่นเดียวกับ Vioxx, Crestor ยาต้านคลอเลสเตอรอล ของบริษัท AstraZeneca ซึ่งอาจมีผลทำให้ไตวาย, Meridia ยาลดความอ้วน ของ Abbott Laboratories ซึ่งสามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, Accutane ยารักษาสิวของบริษัท Roche ซึ่งจากข้อมูลของ FDA เองระบุว่า อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ, Serevent ยารักษาโรคหืด ของบริษัท GlaxoSmithKline ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงของอาการจนถึงแก่ชีวิต


 


หลังจากการให้การครั้งนั้น บรรดาผู้บริหารระดับสูงของ FDA พากันดาหน้าออกมาประนาม เดวิด เกรแฮม ว่า สร้างความหวาดวิตกแก่สาธารณะโดยที่ไม่มีมูล พร้อมยืนยันว่า ระบบตรวจสอบยาและอาหารของ FDA ยังมีประสิทธิภาพสูง และจะไม่มีการทบทวนใบรับรองยาทั้ง 5 ตัวที่ถูกกล่าวอ้าง เช่นเดียวกับบริษัทห้างร้านก็ออกมาสอดรับว่า สินค้าของตัวเองมีคุณภาพดีเยี่ยม


 


อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในมหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชนที่วิจัยด้านสุขภาพและนโยบายสาธารณะ ต่างให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า เป็นความจริงที่ยาเกือบทั้งหมดที่เกรแฮมระบุนั้น ถูกตรวจสอบและติดตามจากผู้เชี่ยวชาญถึงความเสี่ยงต่างๆ มานานแล้ว


 


ซิดนีย์ วูลฟ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านสุขภาพของ Public Citizen ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามนโยบายสาธารณะระบุว่า ปัญหาที่ เดวิด เกรแฮม ระบุเป็นที่รู้กันดีภายใน FDA แต่หน่วยงานนี้พยายามปิดปากเจ้าหน้าที่ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ยาหรือนโยบายขององค์กร ทุกวันนี้ สำหรับเขาแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับกลางของ FDA เชื่อถือได้มากกว่า ผู้บริหารระดับสูง


 


ความจริงที่ชวนสยอง


ทุกวันนี้คนอเมริกันถูกโถมทับด้วยโฆษณาชวนเชื่อและการตลาดนานัปการ แต่ที่อันตรายและใกล้ตัวมากที่สุด คือ การโฆษณาและการทำตลาดยา โฆษณาส่วนใหญ่จะถูกถ่ายทอดโดยนายแบบนางแบบรูปร่างหน้าตาดีกำลังทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างมีความสุข ซึ่งโฆษณาเหล่านี้พยายามส่งผ่านข้อความให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า


 


"แม้ยาตามใบสั่งแพทย์พวกนี้จะมีราคาแพง แต่มันก็มีคุณค่ามากพอ พวกเรา (บริษัทผู้ผลิตยา) ทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น ราคายาที่สูงก็เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำให้เราสามารถคิดค้นยาตัวใหม่ๆ เพื่อยืดอายุมนุษย์ เพิ่มคุณภาพของยา ฉะนั้น คุณ (ผู้บริโภค) ก็คือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากระบบเสรีของอเมริกัน พวกคุณควรสำนึก เลิกบ่นซะที แล้วก้มหน้าก้มตาจ่ายค่ายาไป"


 


มาร์เซีย แอนเจลล์ อดีตบรรณาธิการวารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ชื่อ New England Journal of Medicine ได้เขียนหนังสือปอกเปลือกอุตสาหกรรมยา "ความจริงเกี่ยวกับบริษัทยา: พวกเขาหลอกลวงเราอย่างไร และเราจะทำอย่างไรกันดี" ระบุว่า สิ่งที่อุตสาหกรรมยา พยายามบอกแก่ผู้บริโภคข้างต้นนั้น เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น


 


ความจริงประการเดียวในความลวงทั้งหมด คือ ยาที่ต้องจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์นั้น "แพงจริงๆ" และ "ขึ้นราคาเร็วมากๆ"


 


คนอเมริกันต้องใช้จ่ายค่ายาปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขการซื้อยาโดยตรงแต่ไม่ได้รวมตัวเลขของยาที่ใช้ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานรับเลี้ยงคนชราซึ่งก็ถือเป็นผู้ใช้ยารายใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง โดยมากเป็นยาที่ใช้กับโรคมะเร็ง) และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 12 %


 


จากตัวเลขในปี 2545 ประมาณการว่า ราคายาที่คนชราใช้แต่ละตัวต้องจ่ายมากถึง 1,500 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 60,000 บาท) ขณะที่ยาราคาแพงมากขึ้น คนก็ใช้ยามากขึ้นกว่าที่เคย และต้องใช้ยาใหม่ที่แพงกว่ายาตัวเก่าที่ราคาเริ่มถูกลง


 


ราคายาเพิ่มขึ้นปีละหลายๆ ครั้ง ในกรณีของยา Claritin ยาแก้แพ้ขายดีของบริษัท Schering-Plough ก่อนที่จะหมดอายุสิทธิบัตร ยาตัวนี้ขึ้นราคาถึง 13 ครั้งภายในเวลาเพียง 5 ปี รวมแล้วขึ้นราคากว่า 50 % มากกว่า 4 เท่าของการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องขึ้นราคาเพื่อไปลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา


 


เมื่อถูกถามถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการนำยาใหม่เข้าสู่ตลาด อุตสาหกรรมยาพยายามบ่ายเบี่ยงการตรวจสอบมาโดยตลอด ยอมปล่อยข้อมูลออกมาเฉพาะที่เขาคิดว่าไม่กระทบกระเทือนกับผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น


 


ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และต้นทศวรรษที่ 1980 โดยสำนักงานบัญชีกลาง (General Accounting Office : GAO) ซึ่งเป็นหน่วยสืบสวนของรัฐสภาสหรัฐ ทำการค้นหาข้อมูลด้านการเงิน ที่จะเอื้อให้สามารถประมาณการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย, การพัฒนา, การตลาด, การส่งเสริมการขาย, และการกระจายแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ แต่ถูกอุตสาหกรรมยาคัดค้านอย่างหนักด้วยเหตุผลว่า ความลับในด้านค่าใช้จ่ายของตน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ในที่สุดข้อพิพาทนี้ก็ถูกนำขึ้นสู่ศาลสูงแห่งสหรัฐ และชี้ขาดว่า สำนักงานบัญชีกลางสหรัฐไม่มีอำนาจที่จะรวบรวมข้อมูลประเภทนี้


 


ความพยายามที่จะเปิดเผยค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการนำยาใหม่เข้าสู่ตลาด ว่าที่จริงแล้วข้ออ้างว่าค่าใช้จ่ายที่สูงนั้นเกิดจากการวิจัยหรือการทำการตลาดกันแน่ จึงยังคงเป็นความลับดำมืด หรือจะได้เฉพาะตัวเลขเท่าที่อุตสาหกรรมเต็มใจเปิดเผยเท่านั้น


 


The American Dream = Nightmare


ารซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ติดสิทธิบัตร) ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนจนเท่านั้น จากปัญหาเศรษฐกิจ นายจ้างจะผลักภาระการประกันออกไปโดยให้ลูกจ้างต้องจ่ายเพิ่มด้วยตัวเองมากขึ้น บางส่วนก็ยกเลิกเงินช่วยพิเศษด้านสุขภาพต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ทำให้คนจำนวนมากอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกระหว่างเอาเงินไปซื้อยา หรือจะเก็บไว้จ่ายค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนลูก ฯลฯ


 


บางคนใช้วิธีกินน้อยกว่าที่แพทย์สั่ง หรือ สองคนสามีภรรยาแบ่งกันกินยาแค่ชุดเดียว บางคนก็อายเกินกว่าจะเอาใบสั่งยาไปซื้อยากับเภสัชกรเพราะไม่มีเงิน ทำให้บางครั้ง แพทย์จึงวินิจฉัยโรคผิด คิดว่ายาตัวที่สั่งไปไม่ได้ผลดีพอ สั่งเพิ่มหรือเปลี่ยนตัวยาที่แรงกว่าเดิม ยิ่งก่อปัญหาให้รุนแรงมากขึ้น


 


คนที่ตกหนักที่สุดเห็นจะเป็นคนแก่ เมื่อเริ่มมีโครงการดูแลรักษาพยาบาลคนชรา ในปี 2508 คนชราไม่ต้องรับภาระค่ายามากมาย และราคายาก็มีราคาถูก ซึ่งประกันสุขภาพของรัฐจะครอบคลุมค่ายาให้ถึง 2 ใน 3 แต่เมื่อปลายปี 2546 มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ความสุขยามชราก็จบลง


 


ช่วงที่เริ่มมีการแก้กฎหมาย ข้ออ้างสำคัญคือ เพื่อช่วยเหลือคนแก่ด้านการรักษาพยาบาล แต่ผลที่สุดเมื่อกฎหมายผ่านรัฐสภาและจะมีผลบังคับใช้ในปี 2549 เนื้อหาของกฎหมายทำให้คนแก่ลำบากมากขึ้น


 


มีการประเมินว่า หากโดยเฉลี่ยใบเสร็จค่ายาของบรรดาผู้สูงวัยจะอยู่ที่ประมาณ 3,160 ดอลลาร์ หรือประมาณ 126,400 บาท ผู้สูงวัยเหล่านั้นต้องจ่ายด้วยเงินตัวเองมากถึง 66 % หรือประมาณ 2,080 ดอลลาร์ หรือประมาณ 83,200 บาท เพราะต้องจ่ายค่าประกัน ต่อปี 420 ดอลลาร์ และจ่ายค่ายาร่วม (co-payment) อีก 25 % ใน 2,250 ดอลลาร์แรก แต่หากเกินจากนี้ต้องจ่ายเองทั้งหมด 100%


 


420 ดอลลาร์ และจ่ายค่ายาร่วม (co-payment) อีก 25 % ใน 2,250 ดอลลาร์แรก แต่หากเกินจากนี้ต้องจ่ายเองทั้งหมด 100%


 


แล้วใครล่ะ คือคนที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ คนที่ได้กำไรเต็มๆ จากกฎหมายนี้คือ บริษัทยา เพราะขายยาได้แน่ๆ เพราะรัฐบาลประกันกำไรเป็นพันล้าน บริษัทประกันจะใช้ยาใหม่ที่พวกเขาอ้าง มีข้อกำหนดห้ามรัฐบาลต่อรองราคาเพื่อซื้อยาที่ราคาต่ำกว่า และยังห้ามใช้ยานำเข้าจากประเทศอื่นที่ถูกกว่าในโครงการนี้ด้วย


 


อีกพวกที่เอี่ยวผลประโยชน์ด้วย คือ บริษัทประกัน เพราะกฎหมายสนับสนุนให้คนชราไปใช้ประกันของเอกชน เพราะบริษัทเหล่านี้จะจ่ายครอบคลุมค่ายา (บางส่วน) ซึ่งประกันแบบของรัฐไม่จ่ายเลย  และยังแปรรูป หน่วยงานประกันของรัฐให้เป็นเอกชนในเวลาเดียวกัน


 


 


ปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เป็นช่วงที่คนยุคเบบี้บูมเข้าวัยชรา และต้องได้รับสวัสดิการด้านนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ออกมาพูดย้ำหลายครั้งว่า คนชรารุ่นเบบี้บูม (ซึ่งมีเป็นจำนวนมากเกิน) จะเป็นภาระต่อการคลังของประเทศ รัฐบาลจะต้องหานโยบายหรือมาตรการเพื่อลดภาระนี้ นี่อาจเป็นหนึ่งในมาตรการที่ว่า


 


จากตัวเลขเมื่อปี 2544 คนชรา 1 ใน 4 ยอมรับว่า พวกเขากินยาไม่ครบตามใบสั่งแพทย์ หรือไม่ไปซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ เพราะราคายาที่สูงเกินที่พวกเขาจะมีปัญญาจ่าย เชื่อว่าตัวเลขปัจจุบันจะสูงขึ้นกว่านี้มาก คนชรา 1 คน เฉลี่ยต้องใช้ยาประมาณ 6 ตัว นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องจ่ายค่ายามากถึงปีละ 90,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,600,000 บาท ...คงไม่ใช่คนชราทุกคนที่มีปัญญาจ่าย


 


หลังจากกฎหมายใบสั่งยาในโครงการประกันสุขภาพสำหรับคนชรา (Medicare Prescription Drug Bill) มีผลบังคับใช้ในปี 2549 เชื่อว่า คุณตาคุณยายอเมริกันคงถึงคราวกระอักเลือด


 


ทำไมพวกเรา (อุตสาหกรรมยา) ต้องเสียเวลาไปวิจัยและพัฒนา


จากหนังสือ "ความจริงเกี่ยวกับบริษัทยา" มาร์เซีย แอนเจลล์ อดีตบรรณาธิการวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ระบุว่า ข้ออ้างเรื่องราคายาแพง เพราะต้องวิจัยและพัฒนานั้น ไม่เป็นความจริง อุตสาหกรรมยาใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก อันที่จริงแล้วพวกเขาแทบไม่ได้วิจัยหรือพัฒนาเลย


                                


งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการจัดการและการตลาด และยิ่งน้อยกว่ามากๆ เมื่อเทียบกับผลกำไร


 


จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า บริษัทยาเกือบทั้งหมดใช้จ่ายเงินไปกับการตลาด การโฆษณา และ การบริหารจัดการ มากกว่า 2 เท่าของเงินที่พวกเขาลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนา


                                


นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาไม่ได้คิดค้นอะไรใหม่ๆ มากนัก แต่ละปีมียาใหม่เข้าสู่ตลาดเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจากภาษีของประชาชนหรือเป็นงานวิจัยของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเล็กๆ หรือของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ


 


แต่ยาใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก จริงๆ แล้วไม่ได้ใหม่ ยาเหล่านี้เรียกว่า "me-too" แปลเป็นไทยน่าจะประมาณ "ขอเอี่ยว (ทำกำไร) ด้วยอีกคน" คือเป็นยาที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับยายี่ห้อขายดีที่กำลังครองตลาดอยู่ และหากจะพอมีการวิจัยและพัฒนาอยู่บ้าง การวิจัยเกือบทั้งหมดก็จะทุ่มไปที่ยาที่ทำกำไรไม่ใช่ยาช่วยชีวิตหรือยาจำเป็นต่อสาธารณชน


 


ดร.ชารอน ลีวาย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Kaiser Permanente Medical Group อธิบายให้เห็นภาพว่า "ถ้าฉันเป็นผู้ผลิตยา แล้วสิทธิบัตรตัวยาเดิมใกล้จะหมดอายุ แค่เปลี่ยนโมเลกุลตัวเดียว แล้วได้สิทธิบัตรเพิ่มอีก 20 ปี ทำไมฉันจะต้องเสียเงินและลงแรงในการไปคิดค้นยาใหม่ สู้ใช้เวลาไปเกลี้ยกล่อมหมอให้ออกใบสั่งยาเปลี่ยนจากยา Prozac ที่ต้องกินทุกวัน มาเป็นยา Prozac แบบใหม่ที่กินอาทิตย์ละครั้งดีกว่า"


 


จากตัวเลขของปี 2545 พบว่า FDA ให้ทะเบียนตำรับยาทั้งสิ้น 78 ตัว มีเพียง 17 ตัวเท่านั้นที่เป็นยาที่มีส่วนผสมใหม่จริงๆ และมีแค่ 7 ใน 17 ตัวที่ FDA รับรองว่าพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่ายาตัวเก่า และยา 7 ตัวที่ว่า ไม่ใช่ยาของบริษัทใหญ่ๆ เลย แม้แต่บริษัทเดียว ส่วนที่เหลืออีก 71 ตัวไม่มีอะไรชี้ว่าดีกว่าเดิม กลุ่มนี้แหล่ะที่เรียกว่า ยาประเภท me-too นั่นเอง


 


มาร์เซีย แอนเจลล์ อดีตบรรณาธิการ New England Journal of Medicine ยังเห็นว่า อุตสาหกรรมยา ไม่ควรถูกเรียกว่า "การค้าเสรี" เพราะ "เสรี" ที่อ้างก็มีแค่การที่พวกเขาสามารถผลิตยาอะไรก็ได้ (เช่นยาประเภท me-too ) และตั้งราคาเท่าไรก็ได้ แต่เป็นการค้าผูกขาดที่ได้รับสิทธิจาก FDA ทั้งที่ไม่ได้มีความใหม่ของตัวยา อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะบริษัทยาในสหรัฐ แต่เป็นพฤติกรรมของบริษัทยาทั่วโลก เพียงแต่ว่าที่สหรัฐเป็นที่ทำกำไรสูงสุด เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุมราคายาเช่นในประเทศอื่นๆ แม้แต่บริษัทยาในยุโรปยังเอ่ยปากชมว่า สหรัฐอเมริกาเป็นเสมือนเหมืองทองชั้นดีที่เปิดโอกาสให้พวกเขากอบโกยกำไรอย่างเต็มที่


 


เช่นในกรณีของยา Taxol ยารักษาโรคมะเร็งซึ่งคิดค้นโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ที่ขายให้กับ Bristol-Myer Squibb ยาตัวนี้ตกราคา 20,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาผลิตถึง 20 เท่า บริษัทจ่ายค่ารอยัลตี้ให้สถาบันสุขภาพฯ แค่ 0.5 % เท่านั้น


 


จากตัวเลขของปี 2544 บริษัทยา 10 อันดับแรกจากการจัดอันดับบริษัทที่ทำกำไรสูงสุด 500 อันดับของนิตยสารฟอร์จูน โดยเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลตอบแทนสูงสุดนำหน้าอุตสาหกรรมทุกประเภท มากถึง 18.5 % ขณะที่อันดับสอง คือ ธนาคารพาณิชย์ มีผลตอบแทน 13.5 % และค่าเฉลี่ยของ 500 บริษัทอยู่ที่ 3.3 % เท่านั้น แม้แต่ช่วงเศรษฐกิจขาลงในปี 2545 อุตสาหกรรมยาก็ยังมีผลกำไรสูงถึง 17 %


 


และจากข้อมูลของ Families USA ในปี 2544 ซีอีโอของ Bristol-Myer Squibb ได้เงินมากถึง 74,890,918 ดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมหุ้นมูลค่าอีกกว่า 76 ล้านกว่าๆของเขา


 


อืม…กำไรดีจริงๆ


 


 


*งานชิ้นนี้ปรับปรุงขึ้นจาก "To Cure or To Kill? หวานเป็นลม ขมเป็นลวง" ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 30, 10-16 ธันวาคม 2547


 


อ้างอิงจาก


-          การศึกษาผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างออสเตรเลีย-อเมริกาต่อระบบยาในออสเตรเลีย แปลและเรียบเรียง โดย ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ  และ ดร.ภญ.อุไรวรรณ พรทวีวุฒิ, ข้อตกลงเขตการค้าเสรี: ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย, พฤศจิกายน 2547


-           A Bitter Pill, หนังสือพิมพ์ St. Louis Post-Dispatch, 26 พฤศจิกายน 2546


-           Health Care Advocates, Providers and FDA Debate FDA Safety Issues after Senate Hearing, หนังสือพิมพ์ Kaiser Daily Health Policy Report, 22 พฤศจิกายน 2547


-           Intellectual Property Rights and the Canadian Pharmaceutical Marketplace: Where do we go from here? โดย  Joel Lexchin จาก International Journal of Health Services Volume 35, Number 2 / 2005


-           The Medical Drug War: An Army of Nearly 1,000 lobbyists Pushes a Medical Law that Puts Drug Company and HMO Profit Ahead of Patients and Taxpayers โดย Public Citizen, มิถุนายน 2547


-           The $200Billion Colossus โดย Marcia Angell, 13 สิงหาคม 2547 http://www.alternet.org/story/19540


-----------------------------------------------------------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง


 


ชีวิตอเมริกันชน ใต้อุ้งเท้าอุตสาหกรรมยา (2)



 






 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท