25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี 2547-2548

           

 

จากโครงการ Project Censored 2006

มหาวิทยาลัย Sonoma State สหรัฐอเมริกา

 

แปลและเรียบเรียงโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

0 0 0

Project Censored เป็นโครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม รายงานเพียงผิวเผิน หรือไม่ยอมนำเสนอ

 

กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษาและสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ

 

คณะผู้ตัดสินล่าสุดมีนักคิด นักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมที่ได้รับการยกย่องหลายคน อาทิ โนอัม ชอมสกี, ซูซาน ฟาลูดี, นอร์แมน โซโลมอน, ไมเคิล พาเรนติ และโฮเวิร์ด ซินน์ เป็นต้น ข่าวที่ไม่เป็นข่าวทั้ง 25 ข่าวจะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Censored : The News That Didn"t Make the News ที่ออกเป็นประจำทุกปี และกลายเป็นประเด็นใหญ่ประจำปีในวงการสื่อมวลชนอิสระของสหรัฐอเมริกา

 

0 0 0

 

อันดับ 1

รัฐบาลบุชทำลายความโปร่งใสของธรรมาภิบาล

 

ในช่วงทศวรรษ 1980 โครงการ Project Censored เคยติดตามแนวโน้มอันไม่พึงปรารถนาที่รัฐบาลอเมริกันพยายามปิดกั้นช่องทางไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาล แต่หากเปรียบกับรัฐบาลบุชในปัจจุบัน ความพยายามของรัฐบาลในอดีตคงเป็นได้แค่การโหมโรงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

 

"รัฐบาลบุชหมกมุ่นอยู่กับความลับ" คือคำพูดของเฮนรี แวกซ์แมน สส. พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดทำรายงานของสภาคองเกรสเกี่ยวกับความลับในการบริหารงานของรัฐบาลบุชเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 "รัฐบาลบุชแก้ไขกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกและเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติหลายอย่างเพื่อกีดกันไม่ให้สาธารณชนและสภาคองเกรสตรวจสอบการทำงาน ผลลัพธ์ที่สั่งสมก็คือ การบ่อนทำลายกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลของเรามีธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างไม่เคยมีมาก่อน"

 

การกีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชน

รัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act—FOIA) เปิดโอกาสให้พลเมืองสหรัฐฯ สามารถยื่นคำร้องขอดูข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลได้ และร้องเรียนต่อศาลสหรัฐฯ ได้ในกรณีที่หน่วยงานนั้นไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบัญญัติฉบับนี้ แต่ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ทุกชุดตั้งแต่รัฐบาลเรแกนเป็นต้นมา ต่างหาหนทางทำให้กฎหมายฉบับนี้คลายความเข้มข้นลงเรื่อย ๆ

 

ในสมัยรัฐบาลบุชปัจจุบัน หน่วยงานรัฐบาลใช้สิทธิ์ยกเว้นจาก FOIA กันเป็นว่าเล่นตามอำเภอใจ เช่น อ้างว่าเป็นเอกสารลับ เป็นเอกสารที่เป็นเอกสิทธิ์ระหว่างทนายความกับลูกความ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งโดยมากเป็นข้ออ้างข้าง ๆ คู ๆ ไปจนถึงการจงใจหน่วงเหนี่ยวล่าช้า หรือผู้มายื่นคำร้องขอดูข้อมูลไม่ได้รับคำตอบขั้นสุดท้ายเสียทีว่าดูเอกสารนั้นได้หรือไม่ ซักถามผู้มายื่นคำร้องขอดูเอกสารอย่างก้าวร้าว จำกัดคำนิยามของ "ตัวแทนจากสื่อมวลชน" ให้แคบลง อ้างว่าข้อมูลนั้นไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณชน รวมทั้งกลยุทธ์อื่น ๆ อีกสารพัด ซึ่งทั้งหมดนี้ให้ผลลัพธ์เดียวกันก็คือ สาธารณชนถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

 

สิบปีก่อน หน่วยงานรัฐบาลกลางมีพันธะต้องเปิดเผยเอกสารตามกฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่ามีเหตุผลทางเทคนิคที่จะปกปิดได้ก็ตาม นอกเสียจากว่าการเปิดเผยนั้นอาจนำมาซึ่ง "อันตรายที่มองเห็นแล้วล่วงหน้า" แต่ตามรายงานของแวกซ์แมน ในเดือนตุลาคม 2001 นายจอห์น แอชครอฟท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ มีบันทึกคำสั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ระงับการเปิดเผยข้อมูลในทุกกรณีที่มีเหตุผลทางเทคนิคให้ทำได้

 

รัฐบาลบุชยังเพิ่มอำนาจตนเองให้สามารถดำเนินปฏิบัติการลับมากกว่ารัฐบาลใด ๆ ในอดีต โดยไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของฝ่ายอื่น ๆ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายในรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติ (Patriot Act) กระทรวงยุติธรรมสามารถใช้คำสั่งลับเพื่อได้มาซึ่งข้อมูลส่วนตัวของพลเมือง ดักฟังโทรศัพท์ สะกดรอยดูพฤติกรรม ฯลฯ ไปจนถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยว สอบปากคำและโยกย้ายสถานที่กักขังปัจเจกบุคคลคนใดก็ได้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ก่อการฝ่ายศัตรู" ทั้งบุคคลที่เป็นพลเมืองอเมริกันและชาวต่างด้าวที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา

 

การกีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสภาคองเกรส

เมื่อเปรียบกับรัฐบาลชุดก่อน ๆ รัฐบาลบุชบริหารประเทศโดยถูกตรวจสอบจากสภาคองเกรสน้อยมากจนน่าสังเกต ทั้งนี้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทั้งในรัฐสภาและวุฒิสภา ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งเกิดมาจากการที่ฝ่ายบริหารเองไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบ รัฐบาลบุชมักไม่ยอมให้สมาชิกของสภาคองเกรสเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

 

ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายบริหารคัดค้านอำนาจของสำนักงานตรวจสอบความโปร่งใสของการปกครอง ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ และไม่ยอมปฏิบัติตามกฎที่อนุญาตให้สมาชิกของคณะกรรมการรัฐสภาเข้าถึงข้อมูลจากฝ่ายบริหาร ทำให้สมาชิกรัฐสภาต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอบังคับใช้สิทธิ์นี้ภายใต้กฎหมาย อีกทั้งรัฐบาลยังเพิกเฉยหรือปฏิเสธคำร้องขอข้อมูลของสมาชิกสภาคองเกรสที่จะนำมาใช้ตรวจสอบ รวมทั้งมีหลายครั้งที่ไม่ยอมให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการตรวจสอบเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน เป็นต้น

 

0 0 0

 

อันดับ 2

สื่อมวลชนกระแสหลักไม่นำเสนอข่าวสงครามอิรักอย่างรอบด้าน กรณีฟัลลูจาห์และจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต

 

ภาค 1 ฟัลลูจาห์—อาชญากรรมสงครามที่ไม่เป็นข่าว

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาโอบล้อมโจมตีเมืองฟัลลูจาห์ครั้งใหญ่ ๆ ถึง 2 ครั้งด้วยกัน การโจมตีครั้งแรกจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองกำลังผสมฝ่ายสหรัฐฯ ก่อนการโจมตีครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯ จึงให้ทางเลือกแก่ประชากรราว 300,000 คนในเมืองฟัลลูจาห์เพียง 2 ทางเท่านั้น นั่นคือ อพยพออกจากเมือง หรืออยู่ในเมืองต่อไปและตกเป็นเป้าการโจมตี สหรัฐฯ จะถือว่าทุกคนที่อยู่ในเมืองเป็นผู้ก่อการร้ายฝ่ายศัตรู ด้วยเหตุนี้ ประชากรราว 250,000 คน หรือ 83% ของทั้งเมืองจึงอพยพหนีตาย ประชาชนเหล่านี้ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีอาหาร น้ำหรือยารักษาโรค กองทัพสหรัฐฯ อ้างว่า มีกองกำลังฝ่ายศัตรูสองสามพันคนปะปนอยู่ในหมู่ประชากรที่เหลืออีก 50,000 คนในเมือง และปฏิบัติการโจมตีกวาดล้างอย่างไม่เลือกหน้า

 

บูร์ฮัน ฟาซา นักข่าวชาวอิรักกล่าวว่า "ทหารอเมริกันไม่มีล่ามไปด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงบุกเข้าไปตามบ้านและฆ่าประชาชนเพียงเพราะคนเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ทหารอเมริกันบุกเข้ามาในบ้านที่ผมหลบอยู่กับประชาชน 26 คน และกราดยิงประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของทหาร ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้นฟังภาษาอังกฤษไม่ออก" อาบู ฮัมมัด ชาวเมืองฟัลลูจาห์ บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า เขาเห็นประชาชนพยายามว่ายข้ามแม่น้ำยูเฟรติสเพื่อหนีการโอบล้อมโจมตี "ทหารอเมริกันบนฝั่งแม่น้ำยิงพวกเขาทิ้งด้วยปืนไรเฟิล ทั้ง ๆ ที่บางคนชูธงขาวหรือเสื้อขาวไว้เหนือหัวเพื่อแสดงตัวว่าไม่ใช่นักรบ แต่พวกเขาก็ถูกยิงทิ้งหมด" แย่ยิ่งกว่านั้น "แม้แต่คนบาดเจ็บก็ถูกฆ่าทิ้ง" ชาวเมืองฟัลลูจาห์อีกคนเล่าว่า "ผมเห็นกองกำลังของสหรัฐฯ ขับรถถังทับคนที่บาดเจ็บ....มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง"

 

มีการประเมินตัวเลขขั้นต้นในเดือนธันวาคม 2004 ว่า ชาวอิรักอย่างน้อย 6,000 คน ถูกฆ่าตายในเมืองฟัลลูจาห์ อาคารบ้านเรือนในเมืองนี้ถูกทำลายไปถึง 1 ใน 3 การสังหารหมู่ในเมืองฟัลลูจาห์ยังกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในเมืองอื่น ๆ เช่น โมซุล, บาคูบา, ฮิลลาและแบกแดด ทำให้เกิดการลอบสังหารชาวอิรักที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดใหม่ไปอย่างน้อย 338 คน

 

คณะกรรมการสากลของสภากาชาดรายงานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2004 ว่า นอกจากชาวเมืองฟัลลูจาห์จะขาดแคลนปัจจัยในการยังชีพแล้ว องค์กรทางด้านมนุษยธรรมยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปในเมือง ในโรงพยาบาลหรือในค่ายผู้ลี้ภัย อับเดล ฮามิด ซาลิม โฆษกขององค์กรกาชาดในแบกแดดบอกผู้สื่อข่าวว่า แม้การโจมตีจะผ่านไปถึงสามสัปดาห์แล้ว กองกำลังผสมของสหรัฐฯ ก็ยังไม่อนุญาตให้หน่วยบรรเทาทุกข์เข้าไปในเมือง

 

Louise Arbour ผู้ตรวจการใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับพลเรือนชาวอิรักที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบ และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง "การจงใจให้พลเรือนเป็นเป้าการโจมตี, การโจมตีอย่างไม่แยกแยะและเกินกว่าเหตุ, การสังหารผู้บาดเจ็บและการใช้โล่มนุษย์เป็นเป้ากำบัง"

 

แม้ว่าผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปทำข่าว แต่สื่อมวลชนกระแสหลักแทบไม่เอ่ยถึงประเด็นนี้เลย รวมทั้งมีรายงานข่าวน้อยมากที่ระบุถึงการโจมตีอย่างผิดศีลธรรมและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของกองกำลังสหรัฐฯ

 

ภาค 2 สื่อกระแสหลักเพิกเฉยต่อจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต

ในปลายเดือนตุลาคม 2004 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารด้านการแพทย์ของอังกฤษ ระบุผลสำรวจว่า มีพลเรือนอย่างน้อย 100,000 คน ถูกสังหารนับตั้งแต่กองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ บุกอิรักในเดือนมีนาคม 2003 งานวิจัยนี้นำทีมโดย ดร. เลส โรเบิร์ตส์ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์

 

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังมีการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดี แต่หนังสือพิมพ์และรายการข่าวโทรทัศน์ในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดพร้อมใจกันเพิกเฉยไม่รายงานข่าวนี้ ในขณะที่ผลการวิจัยเป็นข่าวใหญ่พาดหัวในสื่อมวลชนนอกสหรัฐฯ เกือบทั่วโลก หนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ อย่างลอสแองเจลิสไทมส์, ชิคาโกทรีบูน, นิวยอร์กไทมส์, วอชิงตันโพสต์ ฯลฯ ลงข่าวนี้ไว้ในหน้าในเพียงสั้น ๆ ส่วนโฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเพียงว่า "เรานับแต่ตัวเลขบาดเจ็บล้มตายของทหารและพลเรือนสหรัฐฯ เท่านั้น"

 

0 0 0

 

อันดับ 3

อีกครั้งที่ผลการเลือกตั้ง "ที่น่าสงสัย" ไม่เป็นข่าว

 

นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อมานานแล้วว่า เอ็กซิทโพลล์ หรือการสำรวจผลหลังจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงออกมาจากคูหาเลือกตั้ง เป็นการพยากรณ์ถึงผลการเลือกตั้งจริง ๆ ที่เชื่อถือได้ แต่ความแตกต่างอย่างผิดปรกติระหว่างผลเอ็กซิทโพลล์และคะแนนเสียงเลือกตั้งจริง ๆ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 ทำให้ความน่าเชื่อถือนั้นเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม แม้ว่าจะมีหลักฐานจำนวนมากบ่งถึงความผิดพลาดทางด้านเทคโนโลยีและความผิดปรกติของการนับคะแนนในรัฐที่เป็น swing state (รัฐที่ไม่ได้เป็นฐานคะแนนของพรรคใดพรรคหนึ่ง และผลการเลือกตั้งอาจเปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง) แต่ความคลาดเคลื่อนทั้งหมดนี้ไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ในสื่อมวลชนกระแสหลักเลย

 

การนับคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งปี 2004 ระบุว่า จอร์จ ดับเบิลยู บุช ชนะด้วยคะแนนมากกว่า 3 ล้านเสียง แต่เอ็กซิทโพลล์คาดว่าจอห์น แคร์รีจะชนะด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 5 ล้าน ความคลาดเคลื่อนถึง 8 ล้านคะแนนนี้ สูงเกินกว่าจะเป็นความคลาดเคลื่อนตามปรกติ ตามสถิติแล้ว ความคลาดเคลื่อนควรมีไม่เกิน 1% แต่ผลคะแนนอย่างเป็นทางการคลาดเคลื่อนจากโพลล์มากกว่า 5% ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้

 

ในหลาย ๆ เขตการเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงต้องเข้าแถวรอลงคะแนนถึง 3 ชั่วโมง ในบางรัฐมีเครื่องลงคะแนนถึง 77 เครื่องใช้การไม่ได้ มีเครื่องหนึ่งที่ลงผลคะแนนให้บุช 4,258 คะแนน ทั้ง ๆ ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 638 คน มีเขตการเลือกตั้งถึง 29% ที่มีเครื่องลงคะแนนน้อยกว่าในการเลือกตั้งปี 2000 ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงเพิ่มขึ้นถึง 25%

 

ในการเลือกตั้งปี 2000 คะแนนเสียงของชาวอเมริกันผิวดำถึง 1 ล้านคะแนนเสียงไม่ถูกเครื่องบันทึกไว้ ในปี 2004 เหตุการณ์นี้ก็เกิดซ้ำอีก จนอาจกล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกามีระบบเหยียดสีผิวในการลงคะแนน

 

0 0 0

 

อันดับ 4

สังคมสอดแนมกำลังคืบคลานเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

 

วันที่ 13 ธันวาคม 2003 ประธานาธิบดีบุชลงนามในกฎหมายรัฐบัญญัติอนุมัติการสืบราชการลับ (Intelligence Authorization Act) เพิ่มงบประมาณแก่หน่วยงานข่าวกรอง ขยายขอบเขตในการตรวจสอบสถาบันการเงิน และให้อำนาจเอฟบีไอในการสืบประวัติส่วนตัวของบุคคลที่ต้องสงสัยโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาล

 

นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นต้นมา "บรรยากาศของความหวาดกลัว" ที่แผ่ปกคลุมสังคมอเมริกัน ทำให้รัฐบาลบุชได้โอกาสออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงขึ้นมาจำนวนมาก ในประเด็นนี้ แม้แต่สมาชิกสภาคองเกรสบางส่วนก็ยังไม่สบายใจ เบตตี แมคคอลลัม ผู้แทนรัฐมินเนโซตา เคยแสดงความกังวลไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2003 เธอกล่าวว่า กฎหมายเหล่านี้เป็นการคุกคามเสรีภาพของประชาสังคม "...ให้อำนาจเอฟบีไอในการขอดูข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ โดยไม่ต้องขออำนาจศาล รวมทั้งข้อมูลจากที่ทำการไปรษณีย์ ตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนขายรถยนต์ บริษัทเดินทางท่องเที่ยว โรงรับจำนำ และธุรกิจอื่น ๆ อีกมาก" นอกจากนี้ยังรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลทางด้านการแพทย์ ศาล ทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ประวัติการเดินทาง การเป็นสมาชิกกลุ่มศาสนา ชื่อและที่อยู่ของสมาชิกในครอบครัว แม้กระทั่งการจับจ่ายซื้อของและประเภทหนังสือที่อ่าน

 

0 0 0

 

อันดับ 5

สหรัฐฯ ใช้สึนามิเพื่อขยายอิทธิพลทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ในขณะที่ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่ให้ต่อประเทศประสบภัยสึนามิค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ร่ำรวยน้อยกว่า แต่การฉวยใช้ภัยพิบัติครั้งนี้เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลทางการทหารกลับล้ำหน้าประเทศไหน ๆ

 

สหรัฐฯ มีความต้องการมานานแล้วที่จะสกัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารของประเทศจีนในภูมิภาคเอเชีย หลังจากเหตุการณ์สึนามิ กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาฟื้นฟูฐานทัพอู่ตะเภาในประเทศไทย กองกำลังเฉพาะกิจ 536 จะย้ายเข้ามาเพื่อตั้งฐานปฏิบัติการสำหรับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ต่อไป

 

ระหว่างการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ สหรัฐฯ เข้ามารื้อฟื้นข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทยและข้อตกลงการตั้งฐานทัพชั่วคราวในฟิลิปปินส์ กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังมีข้อตกลงกับประเทศสิงคโปร์ และนำกองเรือกับนาวิกโยธินเข้าไปในศรีลังกาด้วยข้ออ้างการบรรเทาทุกข์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ศรีลังกาไม่เต็มใจอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ล่วงล้ำเข้าไปในประเทศของตน

 

สหรัฐฯ ยังเพิ่มการสังเกตการณ์ในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของประเทศจีนและเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันถึง 90% ของประเทศญี่ปุ่น ตลอดเวลาที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่สามารถขยายอิทธิพลทางการทหารในบริเวณนี้ได้มากนัก สาเหตุเพราะความระแวงที่อินโดนีเซียและมาเลเซียมีต่อสหรัฐอเมริกา คอลิน พาวเวลล์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศประกาศว่า การเข้ามาช่วยบรรเทาภัยพิบัติสึนามิเป็นการสนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและนำเสนอ "คุณค่าแบบอเมริกันต่อภูมิภาคนี้" รัฐบาลบุชหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการทหารกับอินโดนีเซียขึ้นมาใหม่ เพราะนอกจากอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ยังมีที่ตั้งที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ และความระแวงต่อชาวจีนที่ฝังลึกในประวัติศาสตร์ของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ ยิ่งทำให้อินโดนีเซียน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหรัฐฯ ในการปิดล้อมประเทศจีน

 

วอชิงตันมีความต้องการมานานแล้วที่จะตั้งฐานทัพเรือในแถบตะวันออกหรือตอนใต้ของประเทศศรีลังกา เพื่อย่นระยะฐานเติมน้ำมันจากฐานทัพใหญ่ในดีเอโก การ์เซีย ซึ่งเช่ามาจากอังกฤษและกำลังจะหมดสัญญาเช่าในปี ค.ศ. 2016 ความห่างไกลของฐานทัพแห่งนี้และการหมดสัญญาเช่าในอนาคต ทำให้สหรัฐฯ มองหาฐานที่ตั้งใหม่ โดยเล็งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ประเทศอินเดีย

 

0 0 0

 

อันดับ 6

ผู้ร้ายตัวจริงเบื้องหลังกลโกงในโครงการ "น้ำมันแลกอาหาร"

 

สหรัฐฯ กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติว่ามีการคอร์รัปชั่นในโครงการอาหารแลกน้ำมันของอิรัก แต่ในบทความเรื่อง "The UN is Us: Exposing Saddam Hussein"s silent partner" ของจอย กอร์ดอน ที่ลงใน Harper"s Magazine เมื่อเดือนธันวาคม 2004 กับ "The oil for Food "Scandal" is a Cynical Smokescreen" ของสกอต ริตเตอร์ จากสำนักข่าวอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2004 กลับตีแผ่ให้เห็นว่า การกล่าวหานั้นเป็นแค่ความพยายามที่จะกลบเกลื่อนการมีส่วนร่วมคอร์รัปชั่นของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง กอร์ดอนกล่าวว่า "ทุกวันนี้คงไม่น่าประหลาดใจนักว่า บทบาทเดียวที่สหรัฐฯ หวังให้สหประชาชาติเล่นในละครอิรักเรื่องยาวนี้ก็คือ การเป็นแพะรับบาป"

 

จากการสืบค้นดูข้อมูลของสองนักข่าว ข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจอมปลอม การคอร์รัปชั่นในโครงการน้ำมันแลกอาหารนั้นมีอยู่อย่างมโหฬารจริง แต่หลักฐานไม่ได้ชี้นำไปหาสหประชาชาติ แต่ชี้ไปที่สหรัฐฯ เองต่างหาก เพราะในบรรดาสมาชิกสมัชชาความมั่นคงของสหประชาชาตินั้น สหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุด เป็นผู้กำหนดว่าจะจัดการกับรายได้จากน้ำมันอย่างไร นำเงินกองทุนไปใช้อะไรบ้าง ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของสาธารณชน สมัชชาความมั่นคงไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับสหประชาชาติ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มีการดำเนินงานที่เป็นอิสระจากองค์กรใหญ่ เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติเพียงแต่ปฏิบัติงานตามที่สมาชิกสมัชชากำหนดลงมาเท่านั้น

 

สื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐฯ อ้างว่า สหประชาชาติปล่อยให้ซัดดัม ฮุสเซนโกงเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมัน แต่ถ้าเราดูว่าใครที่เป็นคนควบคุมน้ำมันและจัดการเงินจริง ๆ ภาพที่ได้กลับแตกต่างออกไป การทำธุรกรรมทุกครั้งได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ อาทิเช่น กรณีที่บริษัทน้ำมันรัสเซียซื้อน้ำมันจากอิรักภายใต้โครงการนี้ในราคาถูกมาก แล้วขายในราคาตลาดให้บริษัทของสหรัฐฯ เป็นต้น มีการประเมินว่า 80% ของน้ำมันที่ลักลอบส่งออกจากอิรักอย่างผิดกฎหมายภายใต้โครงการนี้ ล้วนแล้วแต่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ทั้งสิ้น

 

การคอร์รัปชั่นยังทำลายความตั้งใจดีของโครงการนี้อย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ และอังกฤษใช้กลยุทธ์กดราคาให้ต่ำอย่างน่าเกลียด แทนที่จะกำหนดราคาก่อนการซื้อขายแต่ละครั้ง สองมหาอำนาจกลับไม่ยอมกำหนดราคาจนกว่าน้ำมันจะขายออกไปแล้ว มีผลให้ราคาน้ำมันในโครงการนี้ถูกไปถึง 40% เท่ากับฉ้อฉลเงินทุนที่จะนำไปใช้ในโครงการด้านมนุษยธรรมในอิรัก

 

การกล่าวหาสหประชาชาติเป็นแพะรับบาปเท่ากับยิงนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากกลบเกลื่อนความคดโกงของตัวเองแล้ว ยังใช้เป็นการโจมตีความน่าเชื่อถือของสหประชาชาติพร้อมกันไปด้วย รวมทั้งโจมตีนายโคฟี อันนันเป็นการส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่เลขาธิการสหประชาชาติไม่มีอำนาจที่จะสั่งห้ามหรือแก้ไขอะไรในโครงการนี้ได้เลย

 

0 0 0

 

อันดับ 7

นักข่าวต้องเผชิญอันตรายถึงชีวิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

ตามข้อมูลของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists—IFJ) นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1980 เป็นต้นมา 2004 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับนักข่าว ในช่วง 12 เดือน มีคนทำงานด้านสื่อถึง 129 คน ถูกฆ่าตาย และในจำนวนนี้มี 49 คน ที่ต้องเสียชีวิตในสงครามอิรัก นักข่าวจำนวนมากขึ้นถูกกักขังและข่มขู่โดยรัฐบาลชั่วคราวของสหรัฐฯ ในอิรัก ความปลอดภัยของนักข่าวจะมีเฉพาะกับคนที่ฝังตัวไปกับกองทัพสหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนนักข่าวที่ไม่ยอมฝังตัวไปกับกองทัพต้องเผชิญความเสี่ยงกับการตกเป็นเป้าโจมตี

 

การโจมตีครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 8 เมษายน 2004 เมื่อกองพันทหารราบที่สามยิงถล่มเข้าใส่โรงแรมปาเลสไตน์ในกรุงแบกแดด ยังผลให้ช่างภาพสองคนเสียชีวิตและมีนักข่าวบาดเจ็บอีก 3 คน โรงแรมนี้เป็นศูนย์ข่าวที่มีนักข่าวและคนทำงานสื่อรวมกันประมาณ 100 คน เจ้าหน้าที่ของเพนตากอนรู้เรื่องนี้ดีและเคยรับรองก่อนหน้านี้ว่าจะไม่โจมตีอาคารหลังนี้ นักข่าวบางคนยืนยันว่า พวกเขามีการติดต่อกับทหารของกองทัพสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ด้วย

 

นอกจากนั้นยังมีการโจมตีนักข่าวอีกหลายครั้งในอิรัก อาทิเช่น

 

22 มีนาคม 2003 นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ITN ของอังกฤษถูกสังหารระหว่างข้ามจากคูเวตเข้ามาในอิรัก ช่างภาพชาวฝรั่งเศสและล่ามชาวเลบานอนหายสาบสูญไป

 

มิถุนายน 2003 หลังจากสหรัฐฯ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวในอิรักได้ไม่กี่วัน สำนักข่าวอัล-จาซีราก็ถูกกล่าวหาว่ารายงานข่าวบิดเบือนและถูกสั่งห้ามทำข่าวในอิรัก นักข่าวอัล-จาซีราคนใดที่ถูกพบว่าทำข่าวในอิรักจะถูกนำตัวไปกักขัง ช่างภาพชาวฝรั่งเศสและล่ามถูกกองทัพสหรัฐฯ คุมขังไว้ในระหว่างการโอบล้อมโจมตีเมืองฟัลลูจาห์ ต่อมาช่างภาพคนนี้ได้รับการปล่อยตัว ส่วนล่ามยังถูกกักขังต่อไป

 

8 เมษายน 2004 วันเดียวกับการโจมตีโรงแรมปาเลสไตน์ สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดใส่สำนักข่าวโทรทัศน์อาบูดาบีและอัล-จาซีรา ทำให้ผู้สื่อข่าวของอัล-จาซีราเสียชีวิต

 

17 สิงหาคม 2004 ช่างภาพคนหนึ่งถูกทหารสหรัฐฯ ยิงเสียชีวิตขณะกำลังถ่ายภาพคุกแห่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เขาได้รับอนุญาตแล้ว

 

4 มีนาคม 2005 นิโคลา คาลิปารี เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงชาวอิตาลีถูกกองทหารสหรัฐฯ ยิงเสียชีวิต ขณะขับรถพานักข่าวหญิงชาวอิตาเลียน จูลีอานา สเกรนา ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากการถูกลักพาตัว ระหว่างทางไปสนามบินแบกแดด

 

ในทุกกรณีที่เกิดขึ้น กองทัพสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนน้อยมากและทหารที่เกี่ยวข้องทุกคนไม่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิด

 

ในการอภิปรายครั้งหนึ่งระหว่างการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวของซีเอ็นเอ็น นายอีสัน จอร์แดน กล่าววิจารณ์ว่า ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ สร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อสื่อมวลชน และจงใจไม่ให้ความคุ้มครองต่อสื่อมวลชนที่ไม่ฝังตัวไปกับกองทัพ จอร์แดนกล่าวว่า เขารู้จักนักข่าว 12 คนที่ถูกกองทัพสหรัฐฯ สังหาร และถึงกับยืนยันว่า นักข่าวเหล่านี้ตกเป็นเป้าโจมตีอย่างจงใจ หลังจากการอภิปรายครั้งนั้น จอร์แดนขอถอนคำพูดและถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งในซีเอ็นเอ็นที่ดำรงมาถึง 23 ปี

 

เพนตากอนต้องการให้นักข่าวยอมฝังตัวไปกับกองทัพ และแลกกับความปลอดภัยของตัวเองด้วยการรายงานข่าวและถ่ายภาพจากมุมมองที่เข้าข้างฝ่ายอเมริกันเท่านั้น ส่วนนักข่าวที่ไม่ยอมฝังตัวไปกับกองทัพและมองโลกด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ต้องแลกความเป็นอิสระในวิชาชีพด้วยอันตรายที่อาจถึงชีวิต

 

0 0 0

 

อันดับ 8

คำสั่งของเบรเมอร์ทำลายเกษตรกรชาวอิรัก

 

เกรก พาลาสต์เคยเขียนไว้ว่า รัฐบาลชั่วคราวที่สหรัฐฯ ตั้งขึ้นในอิรักมีหน้าที่ "สร้างระบอบการปกครองใหม่เพื่อเก็บภาษีต่ำ ๆ ต่อธุรกิจใหญ่ ๆ และเทขาย..."กิจการของรัฐทั้งหมด" ให้ผู้ประกอบการต่างชาติ"

 

ก่อนลาจากตำแหน่ง พอล เบรเมอร์ ผู้บริหารการปกครองชั่วคราวในอิรัก ลงคำสั่งทิ้งทวนไว้ถึง 100 รายการ ในจำนวนนั้นมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมอยู่ด้วย โดยเฉพาะใน "คำสั่งที่ 81" ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรชาวอิรักไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวจากสายพันธุ์ใหม่ที่จดสิทธิบัตรไว้ตามกฎหมายมาปลูกซ้ำได้อีก

 

พร้อมกับคำสั่งนี้ มีการดำเนินโครงการ "อบรมเกษตรกร" เพื่อเพิ่มผลผลิต ภายใต้โครงการราคา 107 ล้านดอลลาร์ เกษตรกรจะได้รับเครื่องมือและเมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตรที่ให้ผลผลิตสูง แน่นอน วิธีนี้ย่อมทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ วิธีเพาะปลูกแบบเก่าย่อมสาบสูญไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา

 

ภายใต้หน้ากากของการช่วยเหลืออิรักให้พึ่งตัวเอง แท้ที่จริง สหรัฐฯ กำลังผ่าตัดระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านของอิรักทั้งหมด เพื่อแปลงให้กลายเป็นธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ตามแบบสหรัฐอเมริกา ในระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมนั้น เกษตรกรชาวอิรัก 97% ใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้จากปีก่อนมาเพาะปลูก หรือไม่ก็ซื้อเมล็ดพันธุ์จากท้องถิ่น แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเกษตรทั้งหมดกำลังจะสูญหายไป และพร้อมกับเมล็ดพันธุ์จดสิทธิบัตร ย่อมตามมาด้วยการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา แน่นอน ทั้งหมดนี้ย่อมนำเข้าจากบรรษัทข้ามชาติอย่าง มอนซานโต, คาร์กิล และดาว เคมิคัล

 

0 0 0

 

อันดับ 9

ระบบขายน้ำมันแบบใหม่ของอิหร่านสะเทือนการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์

 

ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักประโคมข่าวว่า อิหร่านอาจเป็นเป้าการรุกรานครั้งต่อไปของสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลถึงโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่วิลเลียม คลาร์ก ในบทความชื่อ "Iran Next U.S. Target" ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมใน GlobalResearch.ca บอกว่า เหตุผลที่สหรัฐฯ ต้องการบุกอิหร่าน อาจเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอาวุธทำลายล้าง

 

ในช่วงกลางปี 2003 อิหร่านเริ่มขายน้ำมันเป็นเงินยูโรให้แก่สหภาพยุโรปและเอเชีย ซัดดัม ฮุสเซน ก็เคยพยายามทำแบบเดียวกันนี้ในปี 2000 และต้องเจอการลงโทษอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ เดี๋ยวนี้อิรักไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องขายน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์เพียงอย่างเดียว (ดูข่าวอันดับที่ 19 ในข่าวที่ไม่เป็นข่าวประจำปี พ.ศ. 2545) อย่างไรก็ตาม แผนการของอิหร่านที่จะเปิดตลาดซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศเป็นเงินยูโร เป็นการคุกคามต่อการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งกว่าที่อิรักเคยทำมาก่อนมากมายนัก

 

ในขณะที่เงินดอลลาร์ยังเป็นเงินตรามาตรฐานในการซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศ ในปี 2006 อิหร่านตั้งใจที่จะก่อตั้งตลาดค้าน้ำมันที่อำนวยการซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศกำลังพัฒนา โดยกำหนดราคาเป็นเงินยูโร หรือที่เรียกว่า "ปิโตรยูโร" นี่เท่ากับเป็นการท้าทายโดยตรงต่อการครองความเป็นใหญ่ของเงินดอลลาร์ในตลาดน้ำมันโลก ดังที่มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เงินดอลลาร์นั้นมีค่าสูงกว่าความเป็นจริงมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะการผูกขาดความเป็น "ปิโตรดอลลาร์" ในการซื้อขายน้ำมัน ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นหนี้และขาดดุลการค้าอย่างมโหฬาร ค่าของเงินดอลลาร์จึงแข็งในลักษณะลวงตามากเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น

 

น้ำมันส่วนใหญ่ในโลกซื้อขายกันที่ตลาดไนเม็กซ์ที่เมืองนิวยอร์ก และที่ตลาด IPE ในกรุงลอนดอน ซึ่งตลาดทั้งสองแห่งนี้เป็นของบรรษัทสัญชาติอเมริกัน การซื้อขายจึงกระทำกันเป็นเงินดอลลาร์ แผนการของอิหร่านจะเปิดทางให้มีการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกเป็นเงินยูโร ในระยะหลัง ๆ เงินยูโรค่อนข้างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพกว่าเงินดอลลาร์ นี่อาจเป็นเหตุผลที่รัสเซีย, เวเนซุเอลา และบางประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปค แสดงความสนใจที่จะหันมาใช้ระบบปิโตรยูโรแทน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากตลาดค้าน้ำมันของอิหร่านประสบความสำเร็จ มันจะสร้างแรงขับเคลื่อนให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ เลิกซื้อเงินดอลลาร์มากักตุนเพื่อใช้ซื้อน้ำมัน การย้ายจากเงินดอลลาร์ไปหาเงินยูโรในตลาดน้ำมันโลกอาจทำให้ความต้องการปิโตรดอลลาร์ลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งเหวทันที และสั่นคลอนสถานภาพของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก

 

จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าสู่สหรัฐฯ รายใหญ่ และการได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ หมายความว่า จีนกลายเป็นผู้ถือสำรองเงินตราสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (ญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งคือ 800 พันล้านดอลลาร์ ส่วนจีนถือครองอยู่ 600 พันล้านดอลลาร์ ในรูปของตั๋วเงินคลัง) จีนย่อมขาดทุนมหาศาลหากยังครอบครองเงินตราของสหรัฐฯ ไว้จำนวนมาก ในกรณีที่ค่าเงินดอลลาร์ลดลงสู่ค่าเงินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่านี้ การรักษาตลาดอเมริกันเอาไว้เพื่อการส่งออกจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในนโยบายทางการเงินของจีน แต่ในขณะเดียวกัน จีนกำลังพึ่งพิงอิหร่านมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ รัฐบาลจีนระแวดระวังรักษาค่าเงินหยวนที่ผูกอยู่กับค่าเงินดอลลาร์ (8.28 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์) การกำหนดค่าเงินตายตัวเช่นนี้ โดยนัยยะแล้ว เท่ากับเงินตราของทั้งสองชาติเป็นเงินสกุลเดียวกัน แต่รัฐบาลจีนก็แสดงความสนใจที่จะแยกค่าเงินหยวนออกจากเงินดอลลาร์ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำลงทันที มีความเป็นไปได้ที่จีนอาจชะลอการซื้อพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ หากจีนไม่พอใจนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่ออิหร่าน

 

เราไม่อาจคาดหวังว่า สถานการณ์ที่คลอนแคลนแบบนี้จะทรงตัวอยู่ได้ตลอดไป จีนย่อมต้องหาวิธีประคองตัวไว้ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำถลำไปทางใดทางหนึ่ง หากเมื่อไรค่าเงินดอลลาร์เริ่มตกฮวบลง ปักกิ่งคงไม่ยอมถือดอลลาร์ไว้เฉย ๆ เป็นไปได้ที่จีนอาจพยายามรักษาสภาพลวงตาไว้ระยะหนึ่ง แต่นั่นขึ้นอยู่กับว่า จีนต้องการให้เป็นแบบนั้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตอนนี้จีนกำลังเริ่มหาทางระบายเงินทุนสำรองดอลลาร์ออกมาในตลาดโลกเพื่อซื้อน้ำมันสำรองเอาไว้ โดยเฉพาะความพยายามครั้งล่าสุดที่จะซื้อบริษัทยูโนแคลของสหรัฐฯ

 

สถานการณ์ที่ขัดแย้งในตัวเองตอนนี้ก็คือ ยิ่งสหรัฐฯ มีแผนการจะบุกอิหร่านมากเท่าไร ก็ยิ่งกดดันให้จีนทิ้งการสนับสนุนเงินดอลลาร์มากขึ้นเท่านั้น เพราะหากกองทัพสหรัฐฯ จู่โจมอิหร่าน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะยิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้นในประชาคมโลก และเป็นไปได้ที่อาจกระตุ้นให้ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ จับมือกันทิ้งเงินดอลลาร์ครั้งใหญ่ เพื่อยับยั้งการทำสงครามตามอำเภอใจของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เพราะสงครามส่งผลกระทบต่อการผลิตและขนส่งน้ำมันตามปรกติในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไปถึงเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมด้วย

 

ในทัศนะของวิลเลียม คลาร์ก หากสหรัฐฯ ตัดสินใจรุกรานอิหร่าน มันจะกลับกลายเป็นหายนะต่อเศรษฐกิจอเมริกัน เพราะในภาวะสงคราม มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่อิหร่านจะหยุดส่งออกน้ำมัน บีบให้จีนต้องทิ้งเงินดอลลาร์และหันไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียเป็นเงินยูโรแทน ยิ่งประกอบกับการผลิตน้ำมันในโลกผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว การก่อกวนใด ๆ ในระบบผลิตน้ำมันอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลก แต่ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯ จะไม่รู้เลยว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

 

ในเดือนตุลาคม 2004 อิหร่านและจีนลงนามในข้อตกลงซื้อขายน้ำมันและก๊าซมูลค่ามหาศาล (70-100 พันล้านดอลลาร์) ปัจจุบัน จีนนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านถึง 13% ดังนั้น หากสหรัฐฯ โจมตีอิหร่านจริง ๆ ย่อมก่อให้เกิดความตึงเครียดถึงขั้นวิกฤตการณ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งได้

 

0 0 0

 

อันดับ 10

การระเบิดยอดเขาเพื่อทำเหมืองถ่านหินคุกคามระบบนิเวศวิทยา

 

การใช้ระเบิดทำลายยอดเขาเป็นการทำเหมืองถ่านหินรูปแบบใหม่ บริษัทถ่านหินใช้ไดนาไมท์หลายล้านปอนด์ต่อวัน ระเบิดยอดเขาเพื่อขุดถ่านหินที่อยู่ข้างใต้ มียอดเขาหลายแห่งในรัฐเวอร์จิเนียตะวันตกและรัฐอื่น ๆ ที่ถูกระเบิดทำลายทิ้งแบบนี้ เศษหินจากการระเบิดยังถูกทิ้งให้เป็นอันตรายต่อชาวเมืองและทำลายแหล่งน้ำตามธรรมชาติ การที่อุตสาหกรรมถ่านหินหันมาใช้วิธีการนี้ ก็เพราะไดนาไมท์มีราคาถูกกว่าการจ้างคนงานเหมืองและไม่ต้องมีสหภาพแรงงานด้วย

 

0 0 0

 

อันดับ 11

โครงการตรวจสุขภาพจิตเด็กคือผลประโยชน์ของบริษัทยา

 

ในเดือนเมษายน 2002 ประธานาธิบดีบุชตั้งคณะกรรมการ "เสรีภาพใหม่เพื่อสุขภาพจิต" เพื่อหานโยบายรักษาดูแลผู้ป่วยทางจิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หนึ่งในคณะกรรมการนี้คือ นายแพทย์โรเบิร์ต เอ็น โพสต์เลธเวท ซึ่งเคยทำงานให้กับบริษัทอีไล ลิลลี แอนด์โก (Ely Lilly & Co.) บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านยา

 

ในเดือนกรกฎาคม 2003 คณะกรรมการได้ข้อสรุปว่า มีความผิดปรกติทางสุขภาพจิตจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจรักษา และแนะนำให้มีการตรวจสุขภาพจิตถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนขึ้นมา โดยคณะกรรมการเสนอให้โรงเรียนเป็นกุญแจสำคัญในการตรวจเด็กนักเรียน 52 ล้านคน กับครูและพนักงานอีก 6 ล้านคน ทั่วประเทศ

 

คณะกรรมการยังเสนอให้เชื่อมโยงการตรวจเข้ากับการรักษาด้วย โดยใช้โครงการขั้นตอนวิธีทางการแพทย์ของรัฐเท็กซัสเป็นต้นแบบ โครงการนี้ถูกนำมาใช้ในเท็กซัสในขณะที่จอร์จ ดับเบิลยู บุชเป็นผู้ว่าการรัฐ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 1995 และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยายักษ์ใหญ่หลายบริษัท

 

มีผู้วิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้ในเท็กซัสและที่กำลังนำมาใช้ในระดับประเทศ โดยอ้างกรณีที่นายอัลเลน โจนส์ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักผู้ตรวจการใหญ่ของรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งถูกไล่ออกหลังจากออกมาเปิดโปงว่า มีเจ้าพนักงานระดับสูงหลายคนที่มีบทบาทในโครงการนี้ในรัฐของเขาได้รับเงินสินบนและผลประโยชน์จากบริษัทยา โครงการนี้ยังมักนิยมใช้ยาตัวใหม่ ๆ ที่มีราคาแพงกว่า มากกว่าที่จะใช้ยาตัวเดิมที่มีความน่าเชื่อถือและราคาถูกกว่า โดยเฉพาะยาจากบริษัทอีไล ลิลลี ทั้งนี้เพราะบริษัทอีไล ลิลลีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัวบุช และจอร์จ บุชผู้พ่อเป็นหนึ่งในกรรมการบริหาร จอร์จ ดับเบิลยู บุช แต่งตั้งซีอีโอของบริษัทให้มีตำแหน่งในสภาเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เงินบริจาคด้านการเมืองของบริษัทนี้จำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์ในปี 2000 มีถึง 82% ที่บริจาคให้พรรครีพับลิกัน

 

ในเดือนพฤศจิกายน 2004 สภาคองเกรสอนุมัติเงิน 20 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้ตามโครงการเสรีภาพใหม่เพื่อสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงการตรวจสุขภาพจิตในโรงเรียน นายรอน พอล สมาชิกสภาคองเกรสจากรัฐเท็กซัส เสนอให้แก้ไขกฎหมายนี้ โดยที่การตรวจเด็กนักเรียนต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ข้อเสนอของเขาแพ้คะแนนเสียงในสภา พอลเป็นแพทย์และเป็นสมาชิกสมาคมแพทย์และศัลยแพทย์อเมริกันมานมนาน เขาวิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ปกครองในการตัดสินใจว่า การรักษาแบบไหนที่เหมาะต่อบุตรหลานของตน พอลยังกล่าวด้วยว่า ผลการวิจัยที่อ้างว่า เรามีเด็กจำนวนมากที่มีความผิดปรกติทางจิตและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยานั้น เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ อีกทั้งโครงการตรวจสุขภาพจิตแบบนี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อใส่ร้ายเด็กที่มีทัศนคติ ความเชื่อทางศาสนาและความคิดทางการเมืองแตกต่างจากกระแสหลัก พอลเตือนว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากกฎหมายฉบับนี้ก็คืออุตสาหกรรมยา สมาคมแพทย์และศัลยแพทย์อเมริกันก็ออกมาต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้เช่นกัน

 

0 0 0

 

อันดับ 12

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักเกี่ยวพันกับการว่าจ้างบริษัทเอกชนร่วมปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อจัดส่งบุคคลมาทำงาน ซึ่งแต่เดิมทีเป็นหน้าที่ของบุคลากรของกองทัพ ลูกจ้างของบริษัทเอกชนเหล่านี้ถูกส่งมาบรรจุในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พัศดี. ตำรวจกองทัพ ล่ามและนักสอบปากคำ เป็นต้น โดยเข้าทำงานตามฐานทัพสหรัฐฯ ทั่วโลก โดยเฉพาะในอิรัก เนื่องจากไม่ได้ขึ้นตรงต่อกองทัพ พนักงานเหล่านี้จึงไม่ขึ้นต่อกฎหมายของกองทัพด้วย คนเหล่านี้จำนวนมากมีประวัติโชกโชนในฐานะทหารรับจ้างและทหารที่เคยปฏิบัติการให้รัฐบาลเผด็จการในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ในแอฟริกาใต้ ชิลีและยูโกสลาเวีย ล่าสุดมีการระบุว่า พนักงานรับจ้างจากบริษัทเอกชนมีส่วนพัวพันอย่างสำคัญในการทรมานนักโทษที่คุกอาบูกราอิบในอิรัก

 

เพนตากอนอ้างว่า จำเป็นต้องจ้างพนักงานจากบริษัทเอกชน ทั้งนี้เพราะจำนวนทหารประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ลดลงจาก 2.1 ล้านคน เหลือเพียง 1.4 ล้านคน นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น แต่บริษัทเอกชนเหล่านี้มีความหละหลวมในการตรวจสอบประวัติของลูกจ้าง และส่งพนักงานจำนวนมากที่เคยมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทรมานและการลอบสังหาร มาทำงานให้กองทัพ ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในการยิงต่อสู้กับทหารอิรักในปี 2004 คือ แกรี แบรนฟิลด์ เขาเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติการลับที่ทำงานให้รัฐบาลแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ มีภารกิจลอบสังหารสมาชิกสภาคองเกรสแห่งชาติแอฟริกันที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ น่าแปลกที่ฮาร์ทกรุ๊ป บริษัทต้นสังกัดของเขาไม่รู้ประวัติเบื้องหลังของลูกจ้างคนนี้

 

บริษัทไททันมีสัญญาว่าจ้างจัดหาล่ามให้คุกอาบูกราอิบในอิรัก ผลการสอบสวนของกองทัพเกี่ยวกับการทรมานนักโทษได้ข้อสรุปว่า พนักงานของบริษัทไททันมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการทรมานผู้ถูกคุมขัง ซึ่งรวมถึงการทำร้ายร่างกายและอาจจะข่มขืนด้วย ในขณะที่ทหารอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายนักโทษถูกขึ้นศาลทหารและลงโทษกันไปเรียบร้อยแล้ว พนักงานจากบริษัทเอกชนเหล่านี้ยังไม่ต้องชดใช้ความผิดแต่ประการใด

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่องว่างทางกฎหมาย ทหารในกองทัพอยู่ภายใต้กฎของศาลทหาร แต่พนักงานที่เพนตากอนจ้างมาถือเป็นพลเรือน จึงไม่ขึ้นต่อศาลของกองทัพ สภาคองเกรสจึงต้องปฏิบัติการวัวหายล้อมคอกด้วยการออกกฎหมายเพื่อควบคุมพนักงานบริษัทเอกชนเหล่านี้ แต่กฎหมายที่ออกมาก็ยังมีช่องโหว่ เพราะมันบังคับใช้เฉพาะพนักงานที่รับจ้างงานจากกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ครอบคลุมถึงลูกจ้างของซีไอเอ อาจต้องเกิดกรณีแบบอาบูกราอิบอีกหลายครั้ง กว่าสภาคองเกรสจะล้อมคอกจนสำเร็จ

 

0 0 0

 

อันดับ 13

ประเทศร่ำรวยไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะช่วยประเทศยากจน

 

ตั้งแต่เวลานี้จนถึงปี 2015 จะมีเด็ก 45 ล้านคนต้องเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น Oxfam ระบุไว้ในรายงานชื่อ "Poor are Paying the Price of Rich Countries" Failure" จะมีเด็กอีก 97 ล้านคนไม่ได้รับการศึกษา และประชาชนอีก 53 ล้านคนไม่มีสาธารณูปโภคที่เหมาะสม การยุติความยากไร้จำต้องได้รับความช่วยเหลือในหลายระดับ สำหรับประเทศโลกที่สาม ความเติบโตทางเศรษฐกิจถูกทำลายจากกฎเกณฑ์การค้าที่ไม่เป็นธรรม หากปราศจากเงินและการสนับสนุน ประเทศยากจนเหล่านี้ไม่มีทางได้ประโยชน์จากการค้า การลงทุน หรือการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

 

ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร เคยสัญญาว่าจะจัดสรรเศษเสี้ยวน้อยนิดของความมั่งคั่งแบ่งปันให้ประเทศโลกที่สาม เพียงบริจาคแค่ 0.7% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ ก็จะสามารถลดความยากจนและยุติภาระหนี้สิน ซึ่งประเทศรายได้ต่ำต้องชำระหนี้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ต่อวันแก่เจ้าหนี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1960-65 ประเทศร่ำรวยเคยให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการเฉลี่ยประมาณ 0.48% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ แต่มาถึงปี 2003 สัดส่วนความช่วยเหลือกลับลดลงเหลือแค่ 0.24% โครงการสำคัญเพื่อบรรเทาความยากจนจึงต้องล้มเหลวเพราะขาดเงินทุน

 

โครงการนำร่องเพื่อช่วยให้ประเทศยากจนพัฒนาด้านการศึกษาและต่อสู้กับโรคเอชไอวี/เอดส์กำลังขาดแคลนเงินสนับสนุน ทั้ง ๆ ที่อัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแอฟริกาเขตซับ-ซาฮารา แต่เงินทุนที่จะใช้ต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย มีอยู่เพียงหนึ่งส่วนสี่ของเงินทุนที่จำเป็นต้องใช้ ประเทศยากจนต้องใช้เงินไปกับการชำระหนี้มากกว่าใช้ในสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อชีวิต ประเทศรายได้ต่ำต้องชำระหนี้และดอกเบี้ยถึง 39 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2003 ในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือแค่ 27 พันล้านดอลลาร์

 

ไม่ใช่เรื่องยากลำบากเลยที่ประเทศร่ำรวยจะให้ความช่วยเหลือและยกเลิกหนี้ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพียง 0.7% ของรายได้ประชาชาติเทียบเท่ากับแค่หนึ่งส่วนห้าของเงินที่สหรัฐอเมริกาใช้ไปกับการป้องกันประเทศ และเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินที่ใช้อุดหนุนการเกษตรในประเทศ สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนกับรายได้ของชาติ กล่าวคือ แค่ 0.14% เมื่อเปรียบเทียบแล้ว นอร์เวเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุดถึง 0.92% เงินที่สหรัฐฯ จะเพิ่มความช่วยเหลือให้ถึง 0.7% นั้น สหรัฐฯ ใช้ไปในสงครามอิรักมากกว่าถึงสองเท่า และใช้ในโครงการทางทหารมากกว่าถึง 6 เท่า การยกเลิกหนี้ให้ประเทศยากจนที่สุด 32 ประเทศ เป็นแค่เศษเงินสำหรับประเทศมั่งคั่ง

 

ด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศและการยกเลิกหนี้ ตอนนี้เด็กหลายล้านคนได้เรียนหนังสือในแทนซาเนีย, อูกานดา, เคนยา, มาลาวีและแซมเบีย ชาวอูกานดาไม่ต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐานอีก นโยบายนี้ช่วยให้ชาวอูกานดาเข้ารักษาตัวในคลินิกการแพทย์มากขึ้นถึง 50-100% ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนมาก่อนแล้วว่า ความช่วยเหลือเป็นสิ่งจำเป็นในการกำจัดโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างเท่า ๆ กับช่วยฟื้นฟูประเทศที่ถูกทำลายจากสงคราม

 

กลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกลงนามในปฏิญาณสากลที่จะเพิ่มความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศให้ได้ 0.7% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ แต่ประเทศมั่งคั่งเหล่านี้ก็ผิดสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า

 

0 0 0

 

อันดับ 14

บรรษัทธุรกิจได้ชัยชนะครั้งใหญ่ในการปฏิรูปกฎหมาย

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 ประธานาธิบดีบุชลงนามรับรองกฎหมายที่ถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายฐานละเมิดครั้งใหญ่ รัฐบัญญัติความเป็นธรรมในการฟ้องร้องในนามกลุ่มบุคคล (Class Action Fairness Act) เป็นการปิดกั้นหนทางไม่ให้ประชาชนเข้าถึงศาล บ่อนทำลายสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทำลายความเข้มแข็งของกลุ่มผู้บริโภคและการคุ้มครองแรงงาน รัฐบัญญัติฉบับนี้ย้ายการฟ้องร้องทางคดีแพ่งจำนวนมากจากศาลประจำมลรัฐไปไว้ที่ศาลกลางของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ทนายเลือกดำเนินคดีฟ้องร้องในรัฐที่ศาลโอนเอียงเข้าข้างการฟ้องร้องของประชาชนต่อบริษัทธุรกิจ

 

การฟ้องร้องในนามกลุ่มบุคคล ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันฟ้องร้องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถาบันด้านสุขภาพ การละเมิดสิทธิของบริษัทธุรกิจ การบาดเจ็บในสถานประกอบการ ฯลฯ โดยเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่กลุ่มบุคคลจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการแสวงหากำไรของบริษัทธุรกิจ การฟ้องร้องนี้บางครั้งฝ่ายโจทก์อาจไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่เป็นไปเพื่อเปิดโปงพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย และหลายครั้งที่สามารถส่งผลกระทบให้บริษัทธุรกิจเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินงานได้ ศาลกลางของสหรัฐฯ นั้นไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญในคดีแบบนี้ มิหนำซ้ำยังมีคดีความล้นศาลอยู่แล้ว หากย้ายคดีเหล่านี้มาไว้ที่ศาลกลาง เท่ากับเป็นการขุดหลุมฝังคดีทีเดียว

 

รัฐบัญญัติฉบับนี้ยังมีมาตราที่จำกัดการฟ้องร้องในนามกลุ่มบุคคลต่อบริษัทยาและการปฏิบัติมิชอบทางการแพทย์ มีการตั้งเพดานการชดเชยความเสียหายไว้ที่ 250,000 ดอลลาร์ ในกรณีที่ยาตัวนั้นผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ มาแล้ว ศาลไม่สามารถลงโทษบริษัทยาด้วยการสั่งให้จ่ายค่าชดเชยสูงกว่าความจริง ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งกินยา Vioxx ซึ่งได้รับการรับรองจาก อย. โดยไม่ได้รับคำเตือนว่ามันมีผลข้างเคียงอย่างรุนแรง กล่าวคืออาการลมชัก ตามกฎหมายที่ปฏิรูปใหม่นี้ เธอจะได้รับค่าชดเชยเพียง 250,000 ดอลลาร์ สำหรับความพิการตลอดชีวิต กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการรับประกันต่อธนาคาร บริษัทประกัน บริษัทยาและอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ว่า ไม่ว่าจะมีพฤติกรรมทางธุรกิจเลวร้ายแค่ไหน บทลงโทษตามกฎหมายก็จะจำกัดอยู่แค่ค่าชดเชยที่บริษัทสามารถรับมือได้อย่างสบาย

 

0 0 0

 

อันดับ 15

แผนการของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะทำลายเสรีภาพทางการศึกษาในมหาวิทยาลัย

 

ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งชุมนุมการวิวาทะและปกป้องเสรีภาพทางความรู้ อาจารย์มหาวิทยาลัยมีเสรีภาพในการสอนวิชาต่าง ๆ ตามบุคลิกเฉพาะตัว มีการตีความตามความคิดของตัวเอง โดยไม่ต้องยึดติดกับคัมภีร์ไม่ว่าของฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา มหาวิทยาลัยผลิตบุคคลออกมาได้หลากหลาย ตั้งแต่คนอย่าง นิวท์ กิงริช ไปจนถึงคนอย่างนอม ชอมสกีและอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

 

แต่ในสหรัฐอเมริกากำลังมีขบวนการอนุรักษ์นิยมตกขอบที่พยายามนำสิ่งที่เรียกว่า "ความสมดุลทางการเมือง" มายัดเยียดให้มหาวิทยาลัย ขบวนการนี้เห็นว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเพาะแนวคิดอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่ปลูกฝังความเชื่อผิด ๆ ให้เยาวชนชาวอเมริกัน ดังนั้น จึงต้องหาหนทางแก้ไขด้วยการตรวจสอบแนวคิดทางทฤษฎีและการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์

 

แนวหน้าของขบวนการนี้คือ เดวิด โฮโรวิทซ์ กับองค์กรที่ตั้งชื่อว่า ขบวนการนักศึกษาเพื่อเสรีภาพในมหาวิทยาลัย (Students for Academic Freedom—SAF) องค์กร SAF แนะนำนักศึกษาที่เป็นสมาชิกว่า หากเมื่อไรพวกเขาพบ "ความคิดมิชอบ" ในชั้นเรียนไหนก็ตาม ให้พวกเขาจดวันที่ วิชาและชื่ออาจารย์ไว้ รวบรวมรายการอ้างอิง พยานที่รู้เห็น และเขียนร้องเรียนเข้ามา บุคลากรส่วนใหญ่ในโลกวิชาการมองว่า ขบวนการนี้เป็นเหมือนลัทธิแมคคาร์ธียุคใหม่

 

ขบวนการนี้แสดงถึงแนวโน้มที่กำลังคุกคามเสรีภาพทางความคิดในสถาบันการศึกษาขั้นสูง ในระยะหลังมีการโจมตีและไล่ออกอาจารย์หลายคน สืบเนื่องจากการมีจุดยืนโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้าย กรณีที่โด่งดังก็มีอาทิเช่น การไล่เดวิด เกรเบอร์ อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา ออกจากมหาวิทยาลัยเยล เกรเบอร์เชื่อว่าการไล่ออกสืบเนื่องจากการที่เขาประกาศตัวชัดเจนเป็นนักอนาธิปไตยและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งการที่เขาพยายามปกป้องนักศึกษาคนหนึ่งที่ทำงานกิจกรรม ซึ่งเขารู้สึกว่าถูกมหาวิทยาลัยปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ข้ออ้างของมหาวิทยาลัยเยลในการไล่เขาออกนั้นไม่สมเหตุผล เพราะวิชาของเขาเป็นที่นิยมของนักศึกษาและมีการลงทะเบียนเรียนเต็มแน่นจนล้นเสมอ อีกทั้งเขายังมีงานวิจัยและงานเขียนทางวิชาการเป็นที่ยอมรับด้วย การไล่เกรเบอร์ออกทำให้เกิดการลงชื่อคัดค้านจากนักวิชาการและบุคคลต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิเช่น นอม ชอมสกี เป็นต้น

 

0 0 0

 

อันดับ 16

แผนการของสหรัฐฯ กับแคนาดาในการผนวกรวมเขตอำนาจทางทหาร

 

นับตั้งแต่ก่อตั้ง NORAD (North American Aerospace Defense Command) ในปี ค.ศ. 1958 สหรัฐฯ กับแคนาดามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับชาติกันมาตลอด ข้อตกลงนี้จะหมดอายุลงในเดือนพฤษภาคม 2006 เพื่อเตรียมต่อสัญญาใหม่ ผู้บัญชาการกองทัพของสหรัฐฯ กับแคนาดาเสนอที่จะขยายความร่วมมือของสองประเทศให้ครอบคลุมถึงโครงการ "สตาร์วอร์ส" การรวมโครงสร้างบังคับบัญชาทางทหารข้ามประเทศ การอพยพเข้าประเทศ การบังคับใช้กฎหมายและงานข่าวกรอง โดยใช้ชื่อข้อตกลงว่า NORTHCOM แม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนของแคนาดา Jean Chretien ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการนี้ แต่สหรัฐฯ กำลังหาทางตะล่อมให้แคนาดาโอนอ่อนตาม

 

โดนัลด์ รัมสเฟลด์ กล่าวว่า NORTHCOM จะมีเขตอำนาจทางทหารครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมไปถึงแคนาดาและเม็กซิโก บางส่วนของหมู่เกาะแคริบเบียน น่านน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกตลอดชายฝั่งของเม็กซิโก สหรัฐอเมริกาและแคนาดา รวมทั้งทวีปอาร์คติกที่เป็นดินแดนของแคนาดาด้วย

 

ภายใต้ NORTHCOM โครงสร้างบังคับบัญชาทางทหารของแคนาดาจะอยู่ภายใต้เพนตากอนและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2001 แคนาดามีข้อตกลงกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและมีการส่งมอบข้อมูลลับของพลเมืองแคนาดาให้สหรัฐฯ ความร่วมมือทางทหารจะทำให้กองทัพสหรัฐฯ มีอำนาจเหนือดินแดนของแคนาดาด้วย

 

ในฝ่ายผู้นำของแคนาดาก็ยังแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ระหว่างการประชุมสุดยอดนาโตในกรุงบรัสเซลส์ปีนี้ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของแคนาดา นายพอล มาร์ติน ประกาศว่า ประชาชนแคนาดาไม่ต้องการเข้าร่วมในโครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธ ในขณะที่เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำสหรัฐฯ กลับกล่าวว่า "เราเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแล้ว"

 

ภายใต้ข้อตกลง NORTHCOM แคนาดาจะต้องยอมรับวิธีการชิงโจมตีล่วงหน้าของวอชิงตัน ซึ่งรวมถึงการใช้หัวรบนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตัว

 

ข้อตกลงในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้มีระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกด้วย สหรัฐฯ พยายามแผ่อิทธิพลทางทหารเข้าไปในทวีปอเมริกาใต้ (ดูเรื่องที่ 17 ประกอบ)

 

0 0 0

 

อันดับ 17

สหรัฐฯใช้ฐานทัพอเมริกันในอเมริกาใต้เพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้

 

สหรัฐอเมริกามีฐานทัพอยู่ในเมืองมันตา ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานทัพอเมริกันสามแห่งในละตินอเมริกา

 

มิกูเอล โมรัน ประธานกลุ่ม Movimiento Tohalli ซึ่งต่อต้านฐานทัพอเมริกันในมันตากล่าวว่า "มันตาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติในทวีปนี้ ปราบปรามขบวนการประชาชน รวมทั้งหาทางรุกรานโคลอมเบีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา" ฐานทัพในเอกวาดอร์เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อปราบจลาจลในโคลอมเบีย สหรัฐฯ ต้องการหาทางเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในโคลอมเบียโดยตรง ทำให้ชาวเอกวาดอร์วิตกว่า สหรัฐฯ จะดึงประเทศของเขาเข้าไปพัวพันด้วย นอกจากนั้น ฐานทัพยังเป็นศูนย์กลางในการสกัดไม่ให้ชาวเอกวาดอร์อพยพเข้าสู่สหรัฐฯ

 

ฐานทัพนี้มีสัญญาเช่าสิบปี องค์กรทางสังคมและแรงงานของชาวเอกวาดอร์จึงรวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญาเช่า

 

กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงในโคลอมเบีย โดยอาศัยบรรษัทเอกชนและองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปฉีดพ่นสารเคมีเพื่อทำลายไร่โคคา แต่สารเคมีนี้ยังทำลายข้าวโพด พืชไร่และธัญญาหารอื่น ๆ ที่เป็นอาหารของชาวโคลอมเบียด้วย อีกทั้งยังทำให้เด็กและผู้ใหญ่เกิดอาการภูมิแพ้ สารเคมีดังกล่าวนี้เป็นสารประกอบพื้นฐานในยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และใช้วิธีการฉีดพ่นที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหากเป็นในสหรัฐอเมริกาเองแล้ว ย่อมเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย

 

ในปี 2004 เพนตากอนเริ่มก่อสร้างศูนย์ส่งกำลังบำรุงอีก 3 แห่ง ในเอกวาดอร์ และให้เอฟบีไอฝึกอบรมทางทหารแก่ตำรวจเอกวาดอร์เพื่อ "ต่อต้านการก่อการร้าย" รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่โคลอมเบียเพื่อทำ "สงครามต่อต้านยาเสพย์ติด" แต่ปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้สามารถใช้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่นำไปสู่การปราบปรามขบวนการประชาชนได้ ทั้ง ๆ ที่ชาวอเมริกาใต้ต่อสู้อย่างหนักมายาวนานเพื่อไม่ให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในกิจการพลเรือนเหมือนในอดีต ซึ่งก่อให้เกิดภัยสยองและการกดขี่มากมายจนกลายเป็นรอยแผลในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้

 

กระนั้นก็ตาม การพยายามขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ หลายครั้งก็ให้ผลในทางตรงข้าม ผู้นำประเทศและประชาชนในอเมริกาใต้เริ่มแสดงเจตนารมณ์ที่จะมีอิสระในการดำเนินกิจการภายในประเทศของตนเอง และปฏิเสธการนำของสหรัฐอเมริกา แนวโน้มนี้ยิ่งเห็นชัดขึ้นเมื่อองค์การความร่วมมือของประเทศในทวีปอเมริกา (Organization of American States—OAS) ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้จัดตั้งกลไกตรวจสอบความเป็นประชาธิปไตยในทวีปอเมริกา

 

0 0 0

 

อันดับ 18

พฤติกรรมปั่นหุ้นด้วยการ "ชอร์ตเซล" อาจบ่อนทำลายความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

การเพิกเฉยของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้นของรัฐบาลและสื่อมวลชนต่อพฤติกรรมปั่นหุ้นขนานใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนนอกวงการตลาดหุ้น กำลังเป็นตัวการทำลายธุรกิจและนักลงทุนรายย่อย และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

 

การลงทุนในตลาดหุ้นตามปรกตินั้น หมายถึงการลงทุนในหุ้นตัวที่มีการศึกษามาอย่างดีและลงทุนซื้อด้วยความหวังว่า ราคาหุ้นตัวนั้นจะสูงขึ้นในระยะยาว ส่วนการปั่นหุ้นด้วยวิธีการที่เรียกว่า "ชอร์ตเซล" (short sale) เป็นเสมือนการพนันว่า หุ้นตัวนั้นกำลังจะราคาตก ในการซื้อขายแบบชอร์ตเซล นักลงทุนจะขายหุ้นที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของหรือถืออยู่ในมือ แต่ยืมหุ้นนี้มาจากโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกเกอร์ก็อาจยืมมาจากบริษัทโบรกเกอร์หรือกองทุนเฮดจ์ฟันด์อีกทีหนึ่ง เมื่อขายหุ้นที่ยืมมานี้ออกไปแล้ว นักลงทุนจะต้อง "ปิด" การทำชอร์ตเซลนี้ โดยซื้อหุ้นที่ขายไปกลับคืนมา หากราคาหุ้นตัวนั้นตกลงอย่างที่คาดหวังไว้ นักลงทุนก็จะได้กำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น แต่ถ้าราคาหุ้นไม่ตกลง นักลงทุนก็จำต้องซื้อหุ้นนั้นกลับมาในราคาที่ขาดทุน การขายหุ้นแบบชอร์ตเซลนี้เป็นการพนันแบบสุ่มเสี่ยง เนื่องจากการชอร์ตเซลเป็นการขายหุ้นที่ยืมมา มันจึงจัดอยู่ในประเภทของการเก็งกำไรหุ้นด้วยส่วนต่างของราคาขายกับเงินที่กู้ยืม (margin) ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การพังทลายของตลาดหุ้นในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งส่งผลให้เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

 

"naked short sale" (การชอร์ตเซลแบบไม่ปิดการซื้อขาย) เป็นการปั่นหุ้นแบบชอร์ตเซลที่ผิดกฎระเบียบของตลาดหุ้น กล่าวคือ นักลงทุนชอร์ตเซลหุ้นแล้วไม่ยอมซื้อกลับมา การชอร์ตเซลแบบไม่ปิดการซื้อขายนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทหนึ่งตกลงอย่างรุนแรง เพราะทำให้มีหุ้นของบริษัทนั้นไหลเวียนอยู่ในตลาดมากเกินกว่าที่บริษัทจะรองรับได้ด้วยรายได้ของบริษัทในขณะนั้น ทั้งบริษัท ผู้ถือหุ้นและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ต่างก็ต้องเจ็บตัวทางการเงินจากการชอร์ตเซลแบบไม่ปิดการซื้อขาย นอกจากนี้ มันยังทำให้บริษัทที่มีทุนน้อยต้องล้มตายไปจากธุรกิจก่อนเวลาอันสมควร สร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ แต่ไม่มีทุนพอที่จะอยู่รอด

 

เรื่องที่น่าแปลกก็คือ หน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้นดูเหมือนไม่ใส่ใจจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังดูเหมือนจงใจปล่อยให้การชอร์ตเซลแบบผิดกฎระเบียบนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่มีการตรวจสอบหรือยับยั้ง และไม่ใส่ใจที่จะให้ความรู้หรือเตือนนักลงทุนรายย่อยถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีเคยทำสารคดีเรื่องการปั่นหุ้นแบบชอร์ตเซลนี้ตั้งแต่ปีก่อน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ออกอากาศ สถานีอ้างว่า สาเหตุของการเลื่อนออกอากาศก็เพราะมีสารคดีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่ามาคั่น สารคดีที่สำคัญกว่านี้มีอาทิเช่น การสัมภาษณ์ผู้เข้ารอบประกวดขวัญใจวัยรุ่นอเมริกัน เป็นต้น

 

0 0 0

 

อันดับ 19

การทดลองยารักษาโรคเอดส์ในโรงพยาบาลเด็กกำพร้า

 

เด็กกำพร้าอายุแค่ 3 เดือน ถูกใช้เป็นหนูทดลองยารักษาโรคเอดส์ในโรงพยาบาล Incarnation Children"s Center ในเมืองนิวยอร์ก โรงพยาบาลนี้ดำเนินงานโดยมูลนิธิการกุศลของคาทอลิก ซึ่งเชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ การทดลองนี้ทำในเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีหรือเกิดจากมารดาที่มีเชื้อเอชไอวีโพสิทิฟ แผนกสาธารณสุขของเมืองนิวยอร์กซิตีกำลังพิจารณาการร้องเรียนว่า มีเด็กกว่า 100 คนที่โรงพยาบาลนี้ ถูกใช้ทำการทดลอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง เช่น สถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ เป็นต้น

 

บริษัทยายักษ์ใหญ่ของอังกฤษคือ แกลกโซสมิธไคลน์ มีส่วนพัวพันในการทดลองที่โรงพยาบาลแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1995 โดยทำการทดลองกับเด็กผิวดำและเชื้อสายฮิสปานิค (เชื้อสายสเปนในอเมริกาใต้) มีการทดลองหลายอย่างเพื่อทดสอบความเป็นพิษของยารักษาโรคเอดส์ ในการทดลองครั้งหนึ่ง เด็กอายุแค่ 4 ขวบ ได้รับยาค็อกเทล 7 ชนิดในปริมาณสูง มีการทดลองเพื่อดูปฏิกิริยาของทารกอายุ 6 เดือนที่ได้รับวัคซีนโรคหัดในปริมาณมากกว่าปรกติสองเท่า ทดสอบยา AZT กับเด็ก ทั้ง ๆ ที่มีผลข้างเคียงร้ายแรง รวมทั้งทดลองดูความปลอดภัยระยะยาวของยาต่อต้านแบคทีเรียในทารกอายุ 6 เดือน เป็นต้น

 

การทดลองนี้ทำโดยแพทย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งอ้างว่าได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานราชการ บางส่วนของวงการการแพทย์ออกมาปกป้องว่า การทดลองนี้ช่วยให้เด็กด้อยโอกาสได้รับการรักษา แต่ก็มีบางส่วนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยแย้งว่าการรักษาเด็กที่เป็นโรคเอดส์ด้วยยาที่ทันสมัยที่สุดกับการทดลองนั้นเป็นคนละเรื่องกัน อีกทั้งการทดสอบเชื้อเอชไอวีในทารกนั้นกระทำได้ยาก และผลลัพธ์มักออกมาไม่แน่นอน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่การทดลองเหล่านี้อาจกระทำในเด็กหรือทารกที่จริง ๆ แล้วไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีเลย

 

การทดลองยารักษาโรคเอดส์ที่โรงพยาบาลเด็กกำพร้าแห่งนี้ไม่ใช่แห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีการทดลองแบบนี้กับเด็กกำพร้าอีกอย่างน้อยใน 7 มลรัฐ มีเด็กบางคนที่เสียชีวิตระหว่างการทดลอง แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอ้างว่า ยังไม่พบหลักฐานว่าความตายของเด็ก ๆ เกี่ยวพันโดยตรงกับการทดลอง

 

0 0 0

 

อันดับ 20

รัฐบาลสหรัฐฯ โกงเงินค่าชดเชยของชาวอินเดียนแดง

 

เป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ที่ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองถูกรัฐบาลและบริษัทธุรกิจอเมริกันฉ้อโกง บริษัทน้ำมันหลายแห่งดำเนินกิจการที่มอนเตซูมาครีกในรัฐยูทาห์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสงวนของชนเผ่านาวาโฮ บริษัทน้ำมันเหล่านี้ชดเชยค่าสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติให้ชาวอินเดียนแดงน้อยกว่าความเป็นจริงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 อลัน บาลารัน อัยการสอบสวนที่ศาลเขตแต่งตั้งให้ทำคดีนี้พบว่า ชาวอเมริกันที่ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองในพื้นที่เดียวกันกลับได้รับค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพยากรสูงกว่าที่ชาวอินเดียนแดงได้รับถึง 20 เท่า

 

เขตสงวนของชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองนั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่รัฐบาลอเมริกันปล่อยให้บริษัทพลังงานโกงค่าชดเชยต่อชาวเผ่าต่าง ๆ เป็นประจำ บาลารันพบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหนี้ค่าธรรมเนียมชาวพื้นเมืองอยู่ถึง 137.5 พันล้านดอลลาร์

 

เอลูอีส โคเบลล์ สมาชิกของเผ่าแบล็คฟีต เป็นหนึ่งในชาวพื้นเมืองจำนวนมากที่ต้องพึ่งพิงเงินจากเช็คค่าธรรมเนียม ชนชาตินาวาโฮนั้นมีสมาชิกกว่า 140,000 คน เป็นเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและยากจนที่สุดด้วย กว่า 40% ของประชากรเผ่านี้มีรายได้ต่ำกว่าขีดความยากจน แมรี จอห์นสัน สมาชิกเผ่านาวาโฮ อาศัยอยู่ในบ้านก่อด้วยหินห้องนอนเดียว มีครั้งหนึ่งเธอได้รับเช็คค่าธรรมเนียมเป็นเงินแค่ 5.30 ดอลลาร์ และเช็คแบบนี้ยังส่งมาให้เธอนาน ๆ ครั้งเท่านั้น

 

จอห์นสัน มาร์ติเนซ ชนเผ่านาวาโฮวัย 68 ปี อาศัยในรถเทรลเลอร์ "บ้าน" ของเขาอยู่ห่างจากท่อแก๊สเพียงแค่ไม่กี่หลา เขาไม่มีน้ำใช้และบางครั้งก็ไม่มีไฟฟ้า บางครั้งไม่มีแม้แต่อาหารกินด้วยซ้ำ ตกกลางคืนต้องก่อไฟผิงให้ตนเองกับสุนัข บางครั้งเขาได้รับเช็คค่าธรรมเนียมเป็นเงินแค่ไม่กี่เซ็นต์

 

ในปี 1994 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่ทำให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบเงินทั้งหมดในกองทุนของชาวพื้นเมือง คดีฟ้องร้องที่เรียกกันว่า คดี Cobell V. Norton เป็นการฟ้องร้องในนามกลุ่มบุคคลที่ใหญ่ที่สุดที่มีการฟ้องร้องรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ คดีนี้เริ่มขึ้นในปี 1996 โดยมีเอลูอีส โคเบลล์ เป็นศูนย์กลางของฝ่ายโจทก์ การฟ้องร้องเกี่ยวข้องกับรายได้ตลอด 100 ปีที่รัฐบาลขอเช่าที่ดินของชาวพื้นเมืองเพื่อทำเหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ เป็นเวลาหลายปีที่เอลูอีสพยายามขอดูบัญชีกองทุนของชาวพื้นเมืองที่รัฐบาลสหรัฐฯ เก็บไว้ในรูปของทรัสต์ จำเลยในคดีนี้คือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เกล นอร์ตัน นอร์ตันถูกผู้พิพาษา รอยซ์ ซี แลมเบิร์ธ ตำหนิอย่างรุนแรงที่เพิกเฉยต่อคำสั่งศาลที่ให้ชี้แจงบัญชีกองทุน

 

ต้นปี 2001 อลัน บาลารัน อัยการสอบสวนในคดีนี้ เข้าไปค้นโกดังของรัฐบาล เขาพบเอกสารจำนวนหนึ่งจากเครื่องทำลายเอกสาร ซึ่งมีบันทึกเกี่ยวกับเงินที่จ่ายออกไปจากกองทุน สำนักกิจการชาวอินเดียนแดงยืนยันว่า มีการทำลายเอกสารแบบนี้ทุกวัน

 

ในเดือนเมษายน 2004 อลัน บาลารันถูกกดดันจนต้องลาออกจากการเป็นอัยการสอบสวนในคดีนี้ เขากล่าวว่า รัฐบาลบุชไม่พอใจที่เขาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการบัญชีกองทุนชาวพื้นเมืองของกระทรวงมหาดไทย ผู้พิพากษาแลมเบิร์ธมีคำสั่งให้รัฐบาลชี้แจงบัญชีกองทุนทั้งหมดให้ได้ภายในวันที่ 6 มกราคม 2008

 

0 0 0

 

อันดับ 21

ร่างกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจมากกว่าเพื่อนมนุษย์

 

มีองค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกาที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว อาทิเช่น วอลมาร์ท ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ค้าปลีก ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้ต้องการจ้างแรงงานด้วยค่าจ้างต่ำและไม่มีสวัสดิการ สมาคมธุรกิจเหล่านี้กำลังช่วยกันผลักดันให้สภาคองเกรสออกร่างกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตน

 

เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี จากพรรคเดโมแครต และจอห์น แมคเคน จากพรรครีพับลิกัน กำลังรณรงค์ให้สนับสนุนร่างกฎหมายที่เป็นความร่วมมือของสองพรรค โดยในร่างกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่นี้จะเปิดทางให้แรงงานต่างด้าวเป็น "guest worker" เป็นเวลาสามปี คนงานราวครึ่งล้านคนสามารถยื่นขอสถานะนี้ได้ หากได้รับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจอเมริกันและจ่ายค่าธรรมเนียม 500 ดอลลาร์ ส่วนแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่า 10 ล้านคน ที่หลบซ่อนอยู่ในสหรัฐอเมริกาและไม่มีบริษัทสนับสนุน สามารถขอสถานะนี้ได้ด้วยการจ่ายค่าปรับ 2,000 ดอลลาร์ คนงานประเภท "guest worker" นี้สามารถต่ออายุได้หลังจากครบสามปี หรือบริษัทอาจช่วยเหลือให้คนงานได้กรีนการ์ด

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้สนใจปัญหาเบื้องลึกของแรงงานต่างด้าว หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาออกมา หมายความว่า คนงาน "guest worker" ส่วนใหญ่จะได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำสุดหรือต่ำกว่านั้น ไม่มีสวัสดิการหรือการดูแลสุขภาพอย่างใดทั้งสิ้น ค่าปรับถึง 2,000 ดอลลาร์ หมายถึงจะมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากหลบซ่อนต่อไป ผลกระทบของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการแย่งงานจากคนงานชาวอเมริกัน หรือทำให้ค่าแรงของคนงานชาวอเมริกันดีขึ้น

 

ในขณะเดียวกัน ชีลา แจ็คสัน ลี สมาชิกสภาคองเกรสหญิงและกลุ่มสมาชิกที่เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน พยายามเสนอร่างกฎหมายอีกฉบับที่จะให้ความยุติธรรมแก่แรงงานทั้งชาวอเมริกันและต่างด้าวมากกว่า แทนที่จะส่งเสริมการแย่งงานกันและทำให้คนงานต้องกดค่าแรงของตัวเอง ร่างกฎหมายของเธอพยายามเกลี่ยผลประโยชน์ให้แรงงานค่าแรงต่ำทั้งหมด โดยที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันและชุมชนคนกลุ่มน้อยที่ประสบปัญหาว่างงานจะได้รับการฝึกอบรม ให้โอกาสแรงงานต่างด้าวได้สถานะที่ถูกกฎหมาย โดยพิจารณาจากระยะเวลาของการอยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกามากกว่าสถานะการจ้างงาน มีการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว แต่ร่างกฎหมายของเธอกลับไม่ได้รับการยอมรับในสภา มิหนำซ้ำยังถูกเย้ยหยันด้วย

 

0 0 0

 

อันดับ 22

นาโนเทคโนโลยีอาจมีศักยภาพน่าตื่นเต้น แต่ก็ควรตรวจสอบผลกระทบต่อสุขภาพ

 

วิทยาศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่มีการศึกษาวิจัยน้อยมากว่า โมเลกุลขนาดนาโนปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมหรือไม่

 

นาโนเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ของการใช้โมเลกุลขนาดเล็กมาก เลือดเซลล์หนึ่งมีขนาดความกว้างถึง 7,000 นาโนเมตร นาโนเทคโนโลยีมีศักยภาพในการใช้งานอย่างไม่มีขีดจำกัด มันถูกนำไปใช้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์อย่างเช่น กางเกงที่ไม่ยับ ยากันแดด ลูกเทนนิส ฯลฯ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2004 เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้

 

แต่รัฐบาลใช้งบประมาณเพียง 1% เท่านั้นแก่การวิจัยเพื่อประเมินความปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่นาโนเทคโนโลยีอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีการประเมินกันว่า ตลาดของนาโนเทคโนโลยีอาจพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า

 

มีงานวิจัยเป็นพัน ๆ ชิ้นเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านนาโนศาสตร์ แต่มีน้อยกว่า 50 ชิ้นที่ตรวจสอบว่า อนุภาคนาโนที่ผ่านการวิศวกรรมมีผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ในปี 2004 เอวา โอเบอร์ดอร์สเตอร์ ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยดยุค ทำการวิจัยที่ก่อให้เกิดข่าวไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับอนุภาคนาโนที่เรียกกันว่า "ฟุลเลอร์เนส" ซึ่งตั้งชื่อตามผู้คิดค้นคือ อาร์ บัคมินิสเตอร์ ฟุลเลอร์

 

"ฟุลเลอร์เนส" สร้างขึ้นมาจากอะตอมคาร์บอน 60 อะตอม โอเบอร์ดอร์สเตอร์ใส่สารละลาย "ฟุลเลอร์เนส" ลงไปในถังที่มีปลาแบสปากกว้าง แล้วหลังจากนั้นก็ตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของปลา เธอพบว่ามีร่องรอยที่สมองถูกทำลาย และสันนิษฐานว่า อนุภาคนาโนกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของอนุมูลอิสระ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเซลล์ได้ ปรกติแล้ว อนุภาคไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปในสมองปลาหรือคน เพราะมีโครงสร้างห่อหุ้มที่คอยป้องกันสารอันตราย แต่การทดลองของโอเบอร์ดอร์สเตอร์และการทดลองอื่น ๆ ชี้ว่า อนุภาคขนาดนาโนสามารถเล็ดลอดผ่านด่านป้องกัน ผ่านเซลล์ประสาทเข้าไปในสมอง

 

บิดาของโอเบอร์ดอร์สเตอร์ทำการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของอนุภาคนาโนเช่นกัน ดร.กุนเทอร์ โอเบอร์ดอร์สเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านพิษวิทยาในการแพทย์สิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ได้รับงบประมาณ 5.5 ล้านดอลลาร์ จากกระทรวงกลาโหม เพื่อทำการวิจัยเป็นเวลา 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของอนุภาคนาโน ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ศึกษาอนุภาคนาโนของไททาเนียมไดออกไซด์ที่ใช้ในสีขาว หนูทดลองสูดอนุภาคชนิดนี้ที่มีขนาดตั้งแต่ 12 นาโนเมตร ไปจนถึง 250 นาโนเมตร อนุภาคยิ่งเล็กก็ยิ่งอันตราย เพราะมันสามารถเล็ดลอดระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปในปอด ผ่านเข้าไปในกระแสเลือดและเข้าสู่อวัยวะใดของร่างกายก็ได้ จริงอยู่ การสูดอนุภาคนาโนของไททาเนียมไดออกไซด์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะมันถูกจับอยู่ในรูปของเหลว แต่ ดร.โอเบอร์ดอร์สเตอร์เตือนว่า เป็นไปได้ที่อนุภาคนาโนจะผ่านเข้าไปทางผิวหนัง

 

เกือบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า เทคโนโลยีนี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่การวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่ควรค้นคว้าศึกษาต่อไปให้จริงจังกว่าเดิม จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาสเตท สาธารณชนมีความคิดเห็นที่ดีต่อนาโนเทคโนโลยี แต่การมองในแง่ดีอาจเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม เช่นเดียวกับที่เคยเกิดแก่เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างในอดีต

 

0 0 0

 

อันดับ 23

ชะตากรรมอันเลวร้ายของเด็กชาวปาเลสไตน์ในคุกอิสราเอล

 

เด็กชาวปาเลสไตน์ราว 350 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี ถูกขังอยู่ในคุกอิสราเอลขณะนี้ นับตั้งแต่มีการลุกฮือเพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลเป็นครั้งที่สอง มีเด็กกว่า 2,000 คน ถูกจับ และตามรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ยังมีเด็กอีก 170 คน ถูกขังอยู่ในค่ายทหาร

 

จากการสัมภาษณ์เด็กที่เคยถูกกักขังหลายร้อยคน พบว่าเด็ก ๆ มีประสบการณ์การถูกจับในแบบเดียวกัน ทั้งการสอบปากคำ การตัดสินลงโทษและสภาพในคุก เด็กรายงานถึงการถูกทำร้ายและล่วงละเมิดระหว่างอยู่ในคุกหรือค่ายกักกัน ความสอดคล้องของข้อมูลชี้ให้เห็นว่า การทำร้ายเด็กไม่ใช่แค่การกระทำของทหารชั่ว ๆ บางคน แต่น่าจะเกิดจากนโยบายที่วางไว้อย่างเป็นระบบ เด็กทุกคนบรรยายถึงพฤติกรรมของทหารหรือตำรวจอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรง การข่มขู่ทางกายและทางจิตวิทยา โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ทั้งนี้ดูเหมือนมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้สึกหวาดกลัวและช่วยตัวเองไม่ได้ให้ฝังอยู่ในใจเด็ก

 

ถึงไม่มีการทำร้ายร่างกาย สภาพของที่คุมขังก็เลวร้ายพออยู่แล้ว เด็กถูกขังอยู่ในห้องขังทั้งวันทั้งคืน ในบางกรณีมีการอนุญาตให้ออกมาข้างนอกได้เพียง 45 นาทีทุกสองวัน เด็กจำนวนมากต้องนอนบนพื้นเพราะห้องขังเต็มแน่น หน้าต่างห้องขังถูกปิดไม่ให้มีแสงเข้าและไม่ให้มีอากาศถ่ายเท ยาและการรักษาพยาบาลกลายเป็นเงื่อนไขไว้ข่มขู่ให้เด็กร่วมมือในการสอบปากคำ และอาหารมีไม่พอกิน

 

ในเดือนสิงหาคม 2004 นักโทษชาวปาเลสไตน์รวมตัวกันประท้วงครั้งใหญ่ต่อสภาพเลวร้ายในคุกด้วยการอดอาหาร กระนั้นก็ตาม นักโทษเหล่านี้กลับถูกพัศดีชาวอิสราเอลกลั่นแกล้งและทุบตี ชะตากรรมของเด็กและนักโทษชาวปาเลสไตน์เป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทั่วโลก

 

0 0 0

 

อันดับ 24

ชาวพื้นเมืองเอธิโอเปียตกเป็นเหยื่อความโลภในทรัพยากรของบรรษัทธุรกิจและรัฐบาล

 

ตามรายงานของคีธ ฮาร์มอน สโนว์ หลังจากเข้าไปสังเกตการณ์ภาคสนามในเดือนมกราคม มีหลักฐานว่า ทหารของกองกำลังเพื่อปกป้องการปฏิวัติของประชาชนเอธิโอเปีย (EPRDF) และทหารบ้าน "ชาวที่ราบสูง" ในดินแดนของชาวอานูอัค (Anuak) ของเอธิโอเปีย ลงมือสังหารหมู่พลเรือนชาวพื้นเมืองหลายพันคน ทหารเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้ขับไล่ชาวอานูอัคออกจากพื้นที่ เพราะพื้นที่เขตนี้มีน้ำมันและทองคำ การขับไล่เป็นไปอย่างโหดร้าย มีทั้งการสังหารหมู่ การกดขี่และการข่มขืนหมู่

 

เอธิโอเปียเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ใน "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" รัฐบาลสหรัฐฯ รับรู้เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตกัมเบลลามาตั้งแต่สองปีก่อน แผนการขับไล่ชาวอานูอัคได้รับอนุมัติโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี เมเลส เซนาวี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2003 ถึงขนาดมีการพูดกันอย่างเปิดเผยถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอานูอัค

 

ความรุนแรงในดินแดนของชาวอานูอัคถูกบดบังด้วยการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักที่อ้างว่า มีความขัดแย้งมานานระหว่างชนเผ่าสองกลุ่ม แต่ไม่เคยมีหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ ที่มีหลักฐานแน่ ๆ คือ ทหาร EPRDF ใช้ปืนกลและระเบิดมือ บุกเข้าไปตามหมู่บ้าน ฆ่าผู้ชายทั้งหมด ปล้นทรัพย์สิน เผาบ้าน และจับผู้หญิงไปข่มขืน ในช่วงปลายปี 2004 มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 1,500 คน หรืออาจสูงถึง 2,500 คน พลเรือนที่เป็นปัญญาชน ผู้นำ นักศึกษา และคนที่มีการศึกษาจะตกเป็นเป้าการสังหารเป็นพิเศษ ชาวอานูอัคอีกหลายร้อยคนยังหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ในเขตกัมเบลลา มีรายงานการข่มขืนไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งต่อวัน และที่ไม่มีรายงานอีกนับไม่ถ้วน ชาวอานูอัคราว 6,000-8,000 คน ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ซูดาน และอีกราว 1,000 คนอยู่ในเคนยา ประชากรของเขตกัมเบลลาราว 25% ต้องพลัดถิ่นฐาน

 

สำหรับชาวอานูอัคและชาวพื้นเมืองอื่น ๆ ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย รัฐบาลของเซเลส เมนาวี เป็นเผด็จการทหารที่โหดร้าย เกือบทุกคนเชื่อมโยง "ปัญหา" กับแหล่งน้ำมันในเขตกัมเบลลา ความรุนแรงยังทำให้การเพาะปลูกต้องหยุดชะงักไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งการทำลายโรงสีและยุ้งฉาง ซึ่งหมายความว่า ความอดอยากกำลังจะตามมาในช่วงปลายปี 2005

 

0 0 0

 

อันดับ 25

ความปลอดภัยของมาตุภูมิที่ไม่ปลอดภัยจริง

 

ในสหรัฐอเมริกา มีโรงงานอุตสาหกรรมถึง 15,000 แห่ง ที่ผลิตสารเคมีเป็นพิษออกมา ตามข้อมูลของ

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม มีโรงงานประมาณ 100 แห่ง ที่หากถูกผู้ก่อการร้ายโจมตี มันจะทำให้เกิดก๊าซพิษออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อย่านชุมนุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้อย่างร้ายแรง แต่โรงงานเคมีเหล่านี้กลับไม่มีการคุ้มกันที่แน่นหนาพอ

 

หลังจากเหตุวินาศกรรม 9/11 มีความพยายามผลักดันให้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยแก่โรงงานเคมีทุกแห่งในสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันร่างรัฐบัญญัติความปลอดภัยของสารเคมี เพื่อวางมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงาน การขนส่งวัตถุอันตรายและป้องกันอุบัติเหตุ แต่ฝ่ายพรรครีพับลิกันกลับล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ หลังจากบริษัทน้ำมันใช้เงินหลายล้านดอลลาร์วิ่งเต้นไม่ให้กฎหมายผ่านสภาคองเกรส

 

ประธานาธิบดีบุชไม่ได้ให้ความใส่ใจมากนักต่อรายงานของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ งบประมาณด้านการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 4% นับแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 และส่วนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่หมดไปกับโครงการประกันวินาศภัย มีโรงงานเคมีจำนวนมากที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีแม้กระทั่งยาม งบประมาณเพื่อความมั่นคงในประเทศนั้นมีจำนวนเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ผลาญไปในสงครามอิรัก กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเป็นหน่วยงานที่ขาดแคลนเงินงบประมาณ จนแม้แต่ผู้แทนพรรคเดโมแครตก็ต้องพยายามหาทางเสนอให้อัดฉีดงบประมาณแก่กระทรวงนี้มากขึ้น

 

เหตุวินาศกรรม 9/11 ผ่านมาสามปีแล้ว แต่จนบัดนี้ ใคร ๆ ก็ยังสามารถเข้าออกโรงงานเคมีหลายพันแห่งทั่วประเทศ การจะแนะนำให้โรงงานใช้เงินจำนวนมากเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยโดยสมัครใจ เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้น มีเพียงการออกกฎหมายควบคุมทั่วประเทศเท่านั้นจึงจะทำให้มาตุภูมิปลอดภัยจริง ๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท