Skip to main content
sharethis


 


ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งยืนเคียงข้างปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ทำไมเขายังมองว่า การเจรจาเอฟทีเอของไทยที่ผ่านมามีปัญหา ท่ามกลางการเรียกร้องให้เอาข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เข้าสภา เขายืนกรานว่า แค่นั้นไม่พอ....เพราะอะไร เขาเคยบอกให้ไทยเว้นวรรคการเปิดเสรีแบบเต็มสูบโดยให้เหตุผลว่า เราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ...เอฟทีเอทำให้เราป่วยหนักขึ้นหรือไม่ ทำไมคนไทยชอบสงสัยไว้ก่อนว่า นายกฯคนเก่งทำเอฟทีเอเพื่อประโยชน์ของวงศ์วานว่านเครือ โปรดติดตามหาคำตอบ ซึ่งเขาเปิดโอกาสให้ "ประชาไท" ได้ถาม


 


ท่ามกลางบรรยากาศคัดค้านเอฟทีเอ ขบวนการภาคประชาชนวิพากษ์เชิงท้าทายกับลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เช่น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เมื่อใดที่มีการเปิดตลาดเสรี หายนะจะตามมาเสมอ จริงไหม


(หัวเราะ) เปิดเสรี...กิจกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องหายนะ กิจกรรมที่แข่งขันได้ก็ได้ประโยชน์ เปิดเสรีมีประโยชน์อยู่ 1 อย่างคือ กระตุ้นให้ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต แต่ก่อนนี้เมื่อไม่มีการเปิดเสรี ก็ไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือแรงจูงใจในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เปิดเสรีไม่มีประโยชน์สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีประโยชน์สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ


                                                          


การเปิดเสรีต้องใช้รัฐเป็นเส้นทางผ่าน แต่ถ้ากระบวนการผ่านของรัฐมีปัญหาล่ะ เช่น รัฐไทยไม่ยอมเปิดเสรีโทรคมนาคม


ทำไมรัฐไทยไม่เปิดโทรคมนาคม (หัวเราะ) ถามคุณทักษิณสิว่า ทำไมไม่เปิดโทรคมนาคม ทำไมโทรคมนาคมไม่เป็นประเด็นในการเจรจา ทำไมไปเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร


 


ถ้าอย่างนั้นการเปิดเสรีก็ไม่การันตีว่าประชาชนในรัฐจะได้ประโยชน์


ดังนั้น ประเด็นต้องกลับไปที่ธรรมภิบาลของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศใช่ไหมครับ คือการตัดสินใจว่าจะเอา sector อะไรไปแลก sector อะไร มันควรจะเป็นการตัดสินใจที่อยู่ภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ เอาภาคปศุสัตว์ไปแลกกับออสเตรเลีย ภาคปศุสัตว์ก็ต้องแย่แน่ๆ เพราะว่าโคเนื้อโคนมไทยสู้ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ไม่ได้แน่ๆ แต่คุณก็แลก แล้วใครได้ ภาคยานยนต์ ทำไมคุณตัดสินใจแลกอย่างนี้ กระบวนการแลกอันนี้มันควรจะเป็นประชาธิปไตย แต่ขณะนี้มันไม่เป็น


 


แล้วคุณดูสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ คุณก็รู้ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ภาคปศุสัตว์ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่ว่ารัฐบาลทักษิณยังดำเนินการแจกโค ยังคงดำเนินการให้เกษตรกรยังคงเลี้ยงโคต่อ ทำไมไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างเสีย แต่เดี๋ยวนี้ในเมื่อรู้ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าการเลี้ยงโคนมโคเนื้อมีปัญหา ทำไมไม่ดำเนินการให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคค่อยๆ เปลี่ยนอาชีพ แต่นี่ยังคงให้เกษตรกรต้องจมปลักไปกับกิจกรรมนี้ซึ่งรู้อยู่แล้วว่า จะได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์


 


แต่เรื่องนี้เกษตรกรเขาก็ยืนยันว่านี่คือวิถีชีวิตของเขาที่เขาจะต้องเลี้ยงโคต่อไป เพราะเลี้ยงกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุนแม่แล้ว


เขาก็เลี้ยงได้ แต่เขาไม่สามารถแข่งได้ในการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาก็เลี้ยงเพื่อกินเพื่อใช้ ไม่สามารถเลี้ยงเพื่อกินเพื่อขาย


 


แต่สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการตบหลังด้วยการทำข้อตกลงการค้าเสรี แล้วก็ปลอบโยนด้วยการมีนโยบายการแจกโค แต่ว่าในระยะยาวมันยิ่งสร้างปัญหาใหญ่


 


ดูเหมือนว่าสำหรับอาจารย์แล้วแก่นของปัญหาในการทำข้อตกลงการค้าเสรีก็คือ ธรรมาภิบาล ของการเจรจา


ใช่ ในความเห็นผมมันอยู่ที่เรื่องธรรมาภิบาล จะทำอย่างไร แล้วที่คุณทักษิณสามารถละเลยเรื่อง Good Governance ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างระเบียบเรื่องนี้ขึ้นมา


 


ถึงแม้ว่าจะมีกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มีหลักประกันใช่ไหมว่า รัฐบาลนี้จะไม่ละเลย


รัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างเงื่อนไข เรื่องที่รัฐบาลละเลยเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างเงื่อนไข


 


ในตอนต้น อาจารย์พูดถึงการแผนการที่จะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมที่จะต้องร่วงโรยไปจากการเจรจาเอฟทีเอ เช่น ช่วยเหลือให้เปลี่ยนอาชีพ มีปัญหาว่า วิธีการเช่นนี้จะไปขัดกับสิ่งที่สังคมไทยระดับชุมชนซึ่งกำลังพัฒนาปรัชญา "ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา" หรือ เรื่อง "สิทธิชุมชน" หรือไม่


โอเค ก็ต้องกลับมาถามเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาว่า คุณจะเดินบนเส้นทางของชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือคุณจะเดินบนเส้นทางของโลกานุวัตรพัฒนา ชนชั้นปกครองไทยก็นำสังคมเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางโลกานุวัตรพัฒนา ประชาชนในชนบทในหลายภูมิภาคจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินแนวทางพึ่งตนเอง อยู่พอดี กินพอดี ไม่ได้ต้องการที่จะผลิตเพื่อขาย ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ แต่แนวทางโลกานุวัตรพัฒนาเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนต้องใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิต ผลิตเพื่อขาย แล้วก็ต้องเผชิญกับสภาวะความไม่แน่นอนของตลาดโลก


 


แปลว่าเราต้องยอมรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางโลกานุวัตรพัฒนาเป็นแนวทางหลัก


ในเมื่อประชาชนเลือกรัฐบาลที่มีจุดยืนที่จะนำสังคมเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางโลกานุวัตรพัฒนา …ในขณะนี้เป็นเรื่องยากมากนะครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเขียนบทความชื่อ Bangkok Consensus บอกว่านี่คือฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่โลกานุวัตรพัฒนานั้นเดินอยู่บนเส้นทางของฉันทามติวอชิงตัน แต่ว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีทางเอาชนะฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตันได้ คือถ้าประชาชนยังไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้


 


ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลทักษิณที่ลากเราไปหาวอชิงตัน กระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ลากเราไปหาวชิงตันเพียงแต่ว่า ดีกรีมันต่างกันเท่านั้นเอง


 


กลุ่มทุนไทยเป็นกลุ่มซึ่งกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนไทยทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับกลุ่มทุนสากล และในขณะเดียวกัน คุณก็เห็นขบวนการประชาชนในประเทศไทยก็เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับขบวนการประชาชนในต่างประเทศอย่างที่เห็นที่เชียงใหม่


 


ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะไปเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักของประเทศจากเส้นทางของการเปิดประเทศมาเป็นเส้นทางที่ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นเรื่องที่ถ้าประชาชนเห็นว่า เส้นทางการเปิดประเทศนั้นไปไม่ได้ และดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นเรื่องที่อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดว่า "ทางใคร ใครเลือก" ผมเห็นว่าเป็นแค่นั้น เป็นมากไปกว่านั้นก็คงจะลำบาก


 


อาจารย์เคยเสนอในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2543 ให้เว้นวรรคดับเบิลยูทีโอ (องค์การการค้าโลก) 10 ปี เพราะว่าเราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงเอฟทีเอ ไม่ใช่เชื้อโรคในกลุ่มเดียวกันหรือ


อยู่ในสำนักความคิดนั้น ก็คือขนาดของการเปิดประเทศของเรามากเกินไป แล้วเราจัดการกับมันไม่ได้ ตัวอย่างของการจัดการไม่ได้ก็มีให้เห็นแล้วเมื่อวิกฤติการณ์ 2540


 


ผมเขียนว่า ให้เว้นวรรคดับเบิลยูทีโอ ไม่ได้บอกให้ปิดประเทศ ผมบอกว่า ให้เปิดประเทศเท่าที่เคยเปิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อเราแพ้สงครามการเงิน ผมไม่ได้บอกว่า ให้ลาออกจากดับเบิลยูทีโอ แต่บอกว่าให้เปิดเสรีเท่าที่เคยเปิด แต่อย่าเปิดต่อ ถ้าจะเปิดต้องมั่นใจว่า เรามีความสามารถในการจัดการกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มันมีสาเหตุมาจากนอกประเทศ


 


อาจารย์เขียนไว้ด้วยว่า ผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมต้องยอมรับว่า สังคมเศรษฐกิจไทยไม่สามารถฝืนมรสุมทางเศรษฐกิจได้ เพราะระบบเศรษฐกิจไทยมิได้มีพื้นฐานอันแข็งแกร่ง ถ้ายอมรับข้อความนี้ การทำเอฟทีเอหรือสนธิสัญญาการค้าอื่นๆ ก็เป็นข้อที่ต้องพึงระวังเอามากๆ


ใช่ ๆ คุณกำลังเอาความรุ่งเรืองให้กับบางอุตสาหกรรม และคุณกำลังสร้างความฉิบหายให้กับบางอุตสาหกรรม คุณต้องเปิดโอกาสให้เขาส่งเสียงได้ หรือคุณต้องเตรียมการช่วย แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลแย่มากๆ รัฐบาลไม่ได้เตรียมการช่วยเลย นอกจากนี้เราก็ไม่รู้ชัดเจนด้วยว่า เขาเอาอุตสาหกรรมอะไรไปแลก


 


เมื่อเราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเพราะการเปิดเสรี การทำเอฟทีเอก็ทำให้เราป่วยซ้ำ อาจารย์มองว่าเราจะป่วยหนักขึ้นไหม


ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราพัฒนาความสามารถของเราในการจัดการระบบเศรษฐกิจ มากไปกว่าเมื่อปี 2540 หรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก มันมีการเปลี่ยนแปลงกับหน่วยงานซึ่งได้รับผลกระเทือนโดยตรงก็คือแบงก์ชาติ อย่างน้อยแบงก์ชาติตอนนี้มีความโปร่งใสมากกว่าก่อนปี 2540 แต่คนที่ทำให้แบงก์ชาติโปร่งใสไม่ใช่คนภายในแบงก์ชาติ เป็นคนนอกแบงก์ชาติ เรื่องนี้ต้องชมคุณชายจัตุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นคนจัดการให้ระบบข้อมูลของแบงก์ชาติมีความโปร่งใส


 


แต่ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการระบบเศรษฐกิจ มันมีความเปลี่ยนแปลงไม่มาก และรัฐบาลทักษิณไม่ได้สนใจ รัฐบาลทักษิณเมื่อเข้ามาปี 2544 เคยคิดแก้กฎหมายวิธีการงบประมาณและผมไปเป็นกรรมการด้วย จนเดี๋ยวนี้กฎหมายนี้ไม่ออก จะแก้ระบบการงบประมาณ ซึ่งมีหลักการสำคัญอันหนึ่งที่ผมพูดในที่ประชุมว่า รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล ควรจะให้เอกชนได้


 


หมายความว่าอย่างไร


ที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินมีแต่ให้กับหน่วยราชการ แต่ไม่เคยให้กับเอ็นจีโอ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เอ็นจีโอได้รับงบประมาณจากรัฐบาล คือถ้าเราคิดว่า องค์กรเอกชนมาช่วยรัฐบาลในการพัฒนา รัฐบาลควรจะจัดสรรงบประมาณให้องค์กรเอกชนได้


 


คือแทนที่จะคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องเปลี่ยนความคิด รัฐทำเองไม่ไหวแล้ว ระบบเศรษฐกิจมันใหญ่ไปแล้ว และมันซับซ้อนมากไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเพราะเอ็นจีโอออกมาเย้วๆ มากไปหรือเปล่า (หัวเราะ)


 


แนวโน้มที่ดีจากปี 2540 นอกจากแบงก์ชาติแล้ว มีอะไรอีกบ้าง


ที่มันแย่ลงก็คือเทคโนแครต จิตวิญญาณเทคโนแครตมันเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนนี้ยังมีเทคโนแครตที่เมื่อเห็นว่านโยบายรัฐบาลทำไม่ดีก็ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน อย่างน้อยคัดค้านเป็นการภายใน ซึ่งเป็นวิธีที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำมาโดยตลอด ในยุคหลังอาจารย์ป๋วยก็ยังมีคนทำแบบนี้อยู่ แต่ขณะนี้ไม่มีเลย


 


ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่รัฐบาลจะมีนโยบายขายรัฐวิสาหกิจ ไม่มีเทคโนแครตออกมาทักท้วง ไม่ทักท้วงเพราะอะไร เพราะได้แบ่งหุ้น เทคโนแครตในกระทรวงการคลังตั้งแท่นให้คุณทักษิณล้วงเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งไปใช้ รายได้ไม่ส่งรัฐ แล้วเอาส่วนนี้ไปใช้จ่าย มันทำให้ระบบการงบประมาณไม่มีเช็คแอนด์บาลานซ์ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนแครต เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เลว


 


แต่ก่อนเทคโนแครตแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วยการคัดค้าน หรือการลาออก เช่นในแบงค์ชาติซึ่งเป็นจารีต แต่เวลานี้ไม่มี...สิ่งที่คุณทักษิณทำสำเร็จก็คือ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด เทคโนแครตเป็นคนเอานโยบายไปทำ


 


ประเทศไทยก็ไม่ต้องติดอยู่กับระบบราชการ ไม่ดีหรือ


แต่เทคโนแครตควรจะเป็นด่านแรกในการตรวจสอบถ่วงดุลนโยบายของรัฐ ถ้าจะพูดให้สวยก็คือ เป็นด่านแรกในการกลั่นกรองนโยบายของรัฐ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว มันมีแต่ Yes Man เต็มไปหมด แล้วคุณดูสิเวลาถ่ายทอดการประชุม ครม. ก็พูดอยู่คนเดียว ไม่มีใครแสดงความเห็น พอแสดงความเห็นอีก็ปรับครม. (หัวเราะ)


 


มีคำกล่าวหาว่า ปลายทางของเสรีนิยมคือการผูกขาด อาจารย์เห็นด้วยไหม


อย่างนั้นมันไม่ใช่เสรีนิยมที่แท้น่ะสิ


 


เสรีนิยมที่แท้เป็นอย่างไร


เสรีนิยมที่แท้ต้องมีการแข่งขัน เสรีนิยมจอมปลอมก็อย่างเช่น นโยบายการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของรัฐบาล รัฐบาลเพียงแต่เปลี่ยนความเป็นเจ้าของจากรัฐไปเป็นเอกชน แต่รัฐไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ยกตัวอย่าง คุณแปรรูปการปิโตรเลียม คุณเอาการปิโตรเลียมเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) แล้วก็เอาหุ้นไปขาย แต่คุณไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน อย่างนี้จะเรียกว่าเสรีนิยมไม่ได้ คุณเปลี่ยนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แล้วเอาหุ้นออกขาย แต่ว่าคุณไม่ได้สร้างกติกาให้มีการแข่งขันกันในการผลิตไฟฟ้า ถ้าคุณสร้างกติกาให้มีการแข่งขันกันในการผลิตไฟฟ้า ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์


 


แต่สภาวะเสรีนิยมจอมปลอมก็ไม่ได้มีเฉพาะของไทย แต่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศที่เปิดเสรีให้กับประเทศใหญ่ๆ เช่นอเมริกา


ปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมภายใต้ระเบียบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มันไม่สามารถที่จะเดินไปสู่ปลายทางของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมได้


 


เราเป็นประชาธิปไตยทำไมการเมืองของเราถึงปกป้องประชาชนไม่ได้ เช่น การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่กำลังดำเนินอยู่ก็มีข้อวิตกกังวลกันว่า จะกระทบกับการเข้าถึงยาของประชาชนไทย


เรื่องยาเราต้องเสียเปรียบแน่นอน


 


ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าเศรษฐกิจเสรีนิยมและประชาธิปไตยอย่างที่ไทยเป็นนั้นปกป้องประชาชนของเราไม่ได้


มันคนละเรื่องกันนะ เรื่องการเจรจาการค้าเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องอำนาจต่อรองการค้าระหว่างประเทศประเด็นเรื่องยา แม้กระทั่งออสเตรเลียซึ่งมีปัญญา มีสมองในการเตรียมการเจรจา ก็ยังเพลี่ยงพล้ำ


 


อย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เราจะต้านได้ไหม


โอ๊ย ก็คุณทักษิณเขาจะให้อยู่แล้วน่ะ แล้วถ้าคุณทักษิณเขาจะให้ภายใต้กระบวนการเจรจาที่เป็นอยู่ มันก็ลำบาก เพราะไม่มีใครไปคานเขาในสภา และที่สำคัญเรื่องมันไม่เข้าสภาด้วย


 


ท่านทูตนิตย์เข้าใจมาตลอดว่า ต้องเข้าสภา ล่าสุดก็ยังยืนยันว่าต้องเข้าสภา


แกพูดเมื่อไหร่


 


เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา


ผมจัดเวทีมาเกือบ 2 ปีแล้ว แกก็พูดแบบนี้ แต่คุณทักษิณเป็นคนพูดเอง ว่าไม่จำเป็นต้องเอาเข้าสภา แกเพิ่งพูดเมื่อวันสองวันนี้ไม่ใช่เหรอ


 


ผมคิดว่าการบริหารการเจรจาของไทยมีปัญหา คือหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้วคือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แต่ว่าคุณทักษิณกลับไปเลือกกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจากับประเทศที่สำคัญ คือญี่ปุ่นกับอเมริกา นี่คือการตบหน้ากระทรวงพาณิชย์ และล่าสุดมีการส่งคุณอุตตมะ สาวนายน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าไปช่วยดูแลการเจรจาด้วย กระทั่งไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบการเจรจากันแน่


 


คุณทักษิณทำข้อตกลงการค้าเสรีมากเกินไป และนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศของเรานั้นมีจำนวนจำกัด นี่เป็นความผิดของราชการไทย เมื่อเราเป็นสมาชิกของ GATTs ในปี 2525 ราชการไทยไม่เคยคิดสร้างนักเจรจาการค้า นักเจรจาการค้า 1.ต้องมีความรู้เศรษฐศาสตร์ เพราะมันข้องเกี่ยวกับเป็นประเด็นเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์เยอะมาก 2.ต้องมีความรู้กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คนที่รู้และชำนาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผมคิดว่าในเมืองไทยมีไม่ถึง 5 คน และ 3.คุณต้องเคยมีประสบการณ์ในการเจรรจา


 


นักเจรจาการค้าในเมืองไทยมีน้อยมาก เมื่อมีน้อยก็ควรจำกัดการเจรจา แต่ว่าไทยจัดการทีเดียวมีข้อตกลงนับสิบข้อตกลง นักเจรจา 1 คน อาจจะต้องเจรจากับต่างประเทศมากกว่า 1 ประเทศ 


 


และในคราวนี้ ผมเข้าใจว่าคุณทักษิณบอกว่าจะต้องพยายามสรุปข้อตกลงกับสหรัฐให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งการเร่งเจรจาให้จบเร็วๆ มันเป็นการทำลายอำนาจต่อรองของผู้แทนการเจรจา เพราะว่าคู่เจรจารู้อยู่แล้วว่าคุณอยากจะลงนาม


 


การเร่งการเจรจาก็แสดงว่ารัฐบาลมีสินค้าที่เป็นเป้าหมายอยู่ในใจแล้ว


ปัญหาคือ เราไม่มี Hard Fact ว่ารัฐบาลจะเอาอะไร ทำไมนายกทักษิณจึงเลือกเปรู ความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่มีเลย ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไม่มีเลย แต่ก็เลือกทำเอฟทีเอกับเปรู เนื่องจากประชาสังคมไทยมีความไม่ไว้วางใจคุณทักษิณสูงมาก คนก็เดาว่า คุณทักษิณต้องไปหาประโยชน์จากเรื่องดาวเทียม คนตั้งข้อสงสัย เพราะว่าคุณทักษิณปล่อยให้บริวาร ปล่อยให้ญาติมิตรมาหาประโยชน์ทับซ้อนอย่างน่าเกลียดมาก คือไม่มีตระกูลนายกรัฐมนตรีคนไหนในประวัติศาสตร์ไทยที่ปล่อยให้เครือญาติมาหาประโยชน์แบบนี้


 


ยังมีประเทศบาร์เรนที่ไปทำเอฟทีเอไว้แล้ว โดยที่เราเองก็ไม่มีอะไรจะแลกกับเขา เขาก็ไม่มีสินค้าจะแลกกับเรา


ทั้งหมดนี้ก็กลับมาที่ปัญหาธรรมาภิบาลในการเจรจา อย่างเวลาที่ USTR หรือผู้แทนสหรัฐจะไปเจรจากับต่างประเทศต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบ รัฐสภาอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเลือกประเทศ A มันสำคัญอย่างไร ต้องอธิบายกับรัฐสภา แต่ว่าการเลือกประเทศในการทำข้อตกลงของไทย คุณทักษิณเป็นคนชี้ คือมันเป็นกระบวนการตัดสินใจภายใต้ระบบเหมาเจ๋อตง คือเป็นระบบวีรชนเอกชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net