Skip to main content
sharethis


ปรากฏการณ์การรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนค้าปลีกข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ได้กลายเป็นความคุ้นชินของกลุ่มผู้บริโภคในท้องถิ่นมากว่าทศวรรษแล้ว รูปแบบการนำเสนอขายสินค้าที่แปลกใหม่ ราคาถูก และสายป่านที่ยาวและแข็งแกร่ง ส่งผลกระเทือนต่อกลุ่มทุนค้าปลีกท้องถิ่นและโชห่วยอย่างมิอาจเลี่ยงได้ ในข้อเท็จจริงสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีก - ค้าส่งในเชียงใหม่มีที่มาและที่ไปค่อนข้างชัดเจน พัฒนาการของธุรกิจค้าปลีกเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 3 ช่วงที่ชัดเจนคือ


 


ช่วงที่ 1 (ระหว่าง ก่อน พ.. 2532 - 2535) ยุคทุนท้องถิ่นค้าปลีกกุมตลาดเบ็ดเสร็จ ช่วงนั้นถือได้ว่า ห้างตันตราภัณฑ์เชียงใหม่ นับเป็นเครือข่ายค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือและอาจจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นช่วงที่กลุ่มตันตราภัณฑ์เจริญเติบโตถึงขีดสุด   สามารถครอบครองเครือ ข่ายค้าปลีก ในเมืองเชียงใหม่ได้ทุกระดับเลยทีเดียว


 


ช่วงที่ 2 (ประมาณ พ..2535 - 2540) ยุคทุนค้าปลีกส่วนกลาง รุกขยายการลงทุนสู่ภูมิภาค  ที่เห็นชัดคือ การเปิดตัว เซ็นทรัล-กาดสวนแก้ว เมื่อปี 2535 หลังจากนั้นห้างแม็คโคร รุกเปิดตัวที่เชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ประมาณปี 2538 และ ถือว่าทุนค้าปลีกที่เป็นตัวแทนอันดับหนึ่งของท้องถิ่นต้องเปิดตำราถอยทุนระดับชาติ แม้ว่าจะเปิดห้างแอร์พอร์ทพลาซ่าแข่งก็ตาม ต่อมาก็ต้องขายหุ้นต่อให้กับบริษัท ซีอาร์เชียงใหม่ (เซ็นทรัล-โรบินสัน) ปัจจุบันคือ ห้างเซ็นทรัลสาขาแอร์ พอร์ตพลาซ่า


 


ช่วงที่ 3 (ประมาณ พ..2541 -  ปัจจุบัน) ยุคการทยอยรุกมาของห้าง Modern Trade ข้ามชาติ คือโลตัส โอชอง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบิ๊กซี) คาร์ฟูร์ เข้ามาสมทบกับแม็คโคร จนกระทั่งปัจจุบันมีห้างโลตัส 2 สาขาที่หางดง และคำเที่ยง ห้างคาร์ฟูร์ 1 สาขา และมีแผนที่จะขยายอีกสาขาบริเวณย่านอำเภอสารภี - หางดง  ห้างบิ๊กซี  1 สาขา และแม็คโคร 1 สาขา มีทำเลที่ดักตามย่านชานเมืองที่เชื่อมไปกับอำเภอข้างเคียง 


 


พัฒนาการทั้ง 3 ช่วง สามารถหยิบยกเป็นกรอบกรณีศึกษาในธุรกิจค้าปลีกของจังหวัดภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงที่กรุงเทพฯ ได้ เพียงแต่ห้วงเวลาเกิดก่อนเกิดหลังเท่านั้นเอง และเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้กรอบ "ทุนเสรี" ในระบบโลกที่กระทบเป็นลูกโซ่ และเกิดขึ้นในหลายประเทศมาก่อน ที่มีบทสรุปไม่ต่างกันคือทุนข้ามชาติไปครอบงำและล้มทุนชาติ และทุนท้องถิ่นอย่างเบ็ดเสร็จ


 


ผลกระทบของทุนข้ามชาติ ในรอยต่อช่วงที่ 2 - 3 ที่มีจุดแข็งมหาศาล โดยเฉพาะทุนสูง - มีอำนาจการต่อรองซัพพลายเออร์ -  มีความสามารถในการพัฒนาความรู้เรื่องความต้องการของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค นำไปวิเคราะห์กลับมาสร้างกลยุทธ์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้สามารถนำตลาดได้ ผลกระทบที่ยิงตรงสู่ท้องถิ่นคือ "ยี่ปั๊ว"  ส่วนที่ยิงอ้อมคือ "ร้านค้ารายย่อย - โชห่วย" ที่ต้องกระทบยอดขายค่อย ๆ ตก มาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยไม่รู้ตัว เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนท้องถิ่นค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วยแรงจูงใจของห้างยักษ์ที่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลาให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น ไม่รวมถึงพัฒนาการตลาดอื่น ๆ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อโชห่วยท้องถิ่นโดยตรงอยู่แล้ว เช่น การขยายสาขาของ เซเว่น - อีเลฟเว่น, มินิมาร์ท ตามปั๊มน้ำมัน ไม่รวมถึงร้านค้าโชว์ห่วยที่พัฒนาตนเองและปรับตัวหาทางอยู่รอด เป็นต้น


 


สถานการณ์ปัจจุบันคือจุดวิกฤติที่ "แสดงอาการ" ออกมามากที่สุด และจะเป็นวิกฤติระดับประเทศ ยอดขายของร้านค้าขนาดย่อย - กลาง ถูกฉุดลงอย่างรุนแรง ปัญหากระทบเป็นวงจร และลุกลามครบวงจร เหมือน "ระบบนิเวศน์ทางการค้า"  กล่าวคือ วงจรการค้าอันประกอบด้วย ต้นทางผู้ผลิต (หมายรวมถึงเกษตรกร)  ซัพพลายเออร์ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ถึงผู้บริโภค ไม่มีการอุปถัมภ์เกื้อกูลซึ่งกันและกันเหมือนเดิม ที่สอดคล้องกับลักษณะสังคมไทย เพราะถูกทำลายด้วยกลยุทธ์ค้าปลีกข้ามชาติที่มีความเหนือกว่าทุกด้านในเรื่องเทคนิค การเล่นแร่แปรธาตุ Demand - Supply ในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าการขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน การหมุนเงินโดยใช้เครดิตยาวนาน (ขายสินค้าเป็นเงินสด ต่อรองจ่ายเงินซัพพลายเออร์หรือผู้ส่งสินค้าเวลานานหลายเดือน) ไม่รวมถึงวิธีการสารพัดที่ถูกเปิดเผยออกมาภายหลัง ซึ่งเป็นความเหนือชั้นกว่าอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับผู้ค้าท้องถิ่นรายย่อย ถึงรายกลาง


           


ขณะเดียวกันห้าง Modern Trade ยังได้ลุยทำธุรกิจในลักษณะ House Brand  หรือ ไพรเวท เลเบล (Private Label) ในไลน์สินค้าต่าง ๆ ออกมาแล้ว ยิ่งเพิ่มดีกรีการแข่งขันให้ร้อนแรงขึ้น


 


การปรับตัวลดขนาดห้างลงเป็น ร้านขนาดกลาง - เล็ก ดังที่มีโครงการตั้งร้านลีดเดอร์ไพรซ์ ของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ - โลตัส เอ็กซ์เพรส คอนวีเนียนสโตร์ ของเทสโก้ โลตัส ที่มีแผนการขยายร้านโลตัส เอ็กซ์เพรส ทั้งในรูปแบบร้านในปั๊มเอสโซ่ และร้านค้า Stand Alone ร่วม 10 สาขาภายในไม่กี่ปีนี้และหากสำเร็จก็จะขยายเป็น 70 สาขาต่อไป เป็นต้น พร้อมทั้งการจับขั้วพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ค้าปลีกกับสถานีบริการน้ำมันอย่างเด่นชัด อาทิ เจ็ท กับท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เอสโซ่ กับเทสโก้ โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น กับ ปตท. จะเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างการแข่งขันเพิ่มขึ้นอีก


 


ปรากฏการณ์ในปัจจุบันยิ่งเห็นชัดขึ้นมาก เมื่อกลุ่ม Modern Trade ลดขนาด (Down Size) พื้นที่ของห้างให้เล็กลงเพื่อรุกเข้าสู่ชุมชนได้สะดวกและใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ที่ขยับเป็นรายแรกก็เหาจะเป็นเทสโก้ โลตัส เริ่มกระจายสาขาห้างแบบ Down Size ที่ชื่อ "โลตัสเอ็กซ์เพรส" ในชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาตลาดต้นพยอม บนถนนสุเทพ ซึ่งเป็นสาขาที่ตั้งแบบ Stand Alone ขณะเดียวกันก็รุกเปิดสาขาในปั๊มน้ำมันเอสโซ่ไม่ต่ำกว่า 3 - 4 สาขาในเชียงใหม่ รวมทั้งกำลังบุกในถนนเส้นรอบนอกเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นสายเชียงใหม่-แม่โจ้ สันกำแพง ตลาดธานินทร์


 


อย่างไรก็ตาม ทุนค้าปลีกท้องถิ่นมีการปรับตัวรับมือกลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ และถือเป็นห้างค้าปลีกท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในเชิงของการสร้างจุดแตกต่างที่เด่นชัดคือ ริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 3 สาขา ซึ่งสาขาที่สามที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้ อยู่ภายในโครงการมีโชคพลาซ่า บนถนนวงแหวนรอบ 2 สายเชียงใหม่ - แม่โจ้ ถือเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของกลุ่มริมปิง กล่าวคือมีพื้นที่ตัวอาคารขนาด 1,600 ตารางเมตร มีการจัดหมวดหมู่ประเภทสินค้าที่ชัดเจน มีสินค้าที่หลากหลายและครบวงจร นอกจากนี้สินค้าหลายประเภทค่อนข้างมีความแตกต่างจากห้างค้าปลีกทั่วไป


 


ที่สำคัญการขยับตัวของกลุ่มริมปิงครั้งนี้ เป็นการปรับตัวที่เห็นชัดว่ากลุ่มทุนท้องถิ่นสามารถต่อกรยักษ์ข้ามชาติได้อย่างแน่นอน เมื่อดูจากทำเลที่ตั้งของโครงการ ถือเป็นทำเลทองแห่งใหม่และมีชุมชน โครงการบ้านจัดสรร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถดักกลุ่มผู้บริโภคในย่านนั้นอย่างไม่ยากเย็นนัก


 


นายเฉลิมชาติ นครังกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มผู้ค้าปลีก รายย่อยหรือโชห่วย ต่างได้รับผลกระทบจากการเปิดสาขาของห้างโมเดิร์นเทรดมาโดยตลอด ซึ่งถึงวันนี้คงไม่มีมาตรการอะไรที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขร่างประกาศหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินเกี่ยวกับอาคารค้าปลีก-ค้าส่งจังหวัดเชียงใหม่ที่ออกมา เพื่อป้องกันการลงทุนห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ และต้องการให้ภาครัฐทบทวนแก้ไข พ...ผังเมือง อย่างน้อยก็จะช่วยเอื้อให้ธุรกิจในท้องถิ่นขยายขนาดการลงทุนได้ในขนาดที่ใหญ่ขึ้น


 


ทั้งนี้ เชื่อว่าอนาคตธุรกิจค้าปลีกจะตกอยู่ในกำมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นไปได้มากกว่านอกเหนือจากการใช้แผนการตลาดแบบ Down Size ของโลตัส เอ็กซ์เพรส แล้ว กลุ่มโมเดิร์นเทรดรายอื่น ๆ ก็เตรียมปรับแผนทำสาขา Down Size มากขึ้นในอนาคต ซึ่งเท่ากับว่าในอนาคตอันใกล้จะมีห้างในลักษณะคอนวีเนี่ยนสโตร์เหมือนโลตัส เอ็กซ์เพรส หรือเซเว่น - อีเลฟเว่นเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก การแข่งขันก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การบริโภคสินค้าจากร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วย หรือการเดินตลาดสดก็อาจลดจำนวนลงเรื่อย ๆ สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยต้องทำคือการปรับตัว เน้นเรื่องการบริหารจัดการร้านให้น่าเข้า การบริหารสต๊อกสินค้า เน้นขายสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน


 


หากวิเคราะห์กันแล้ว สามารถสรุปได้ว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องระดับนโยบายระดับประเทศ มีกรอบการค้าเสรีเป็นปัจจัยหลัก และมีพฤติกรรมการบริโภค - การปรับตัวของทุนท้องถิ่นและระดับชาติ  และการตัดสินใจของภาคการเมือง หรือรัฐบาล เป็นปัจจัยที่ต้องแปรผันตาม


 


ปัญหายักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ (Modern Trade) มีพัฒนาการ - ความเป็นมา ในช่วงกว่าทศวรรษ แต่มีความละเอียดอ่อน - ซับซ้อนของปัญหาค่อนข้างสูงโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคนิคทางการค้า และมีปลายทางที่สร้างปัญหาที่กระทบต่อระบบการค้าของท้องถิ่น (Traditional Trade) และของประเทศโดยรวมอย่างชัดเจน แม้ว่าลักษณะปัญหาแต่ละจังหวัดจะมีระดับความรุนแรงต่างกัน ทว่า ภายใต้วิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น  ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันมีความตื่นตัว และการปรับตัวที่รวดเร็ว ในการแก้ปัญหา เพื่อการรักษาฐานเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันกับระบบการค้าเสรีได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป


***************************


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net