Skip to main content
sharethis


 



 


ประชาไท—10 ม.ค. 2549 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีบุกยื่นหนังสือนายก ค้านโครงการเหมืองโปแตช ยุทธ ตู้เย็นออกรับแทนรับปกาชาวบ้านจะหาทางประสานยกเลิกสัญญากับบริษัทพร้อมรับข้อเสนอพัฒนาจังหวัดไปสู่เกษตรอินทรีย์


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันที่ 9 มกราคม 2548 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 100 คนพยายามบุกเข้าประชิดตัวนายก  เพื่อยื่นหนังสือค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช  ในการประชุม ครม.สัญจร


  วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย  อ.ด่านซ้าย จ.เลย และเกิดเหตุชุลมุนเมื่อกลุ่มชาวบ้านต้องการจะบุกเข้ายื่นหนังสือตามที่ได้มีการเจรจากันไว้  แต่ฝ่ายตำรวจออกมาปิดประตูขวาง  ก่อนที่ นายยงยุทธ  ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะออกมารับหนังสือแทน


 


โดยเนื้อหาในหนังสือที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียื่นถึงนายกรัฐมนตรีมีเนื้อความระบุว่าบริษัทบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอพีพีซี (Asia Pacific Potash Corporation Limited : APPC) ได้รับอภิสิทธิมากเกินไปในขณะที่ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน  และละเมิดข้อตกลงต่าง ๆ  ในระดับจังหวัดอยู่เสมอ กระทั่งบริษัมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และโครงการเหมืองโปแตชไม่สอดคล้องกับวิถีชิวิตของประชาชน  ขัดกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างพอเพียงและยั่งยืน โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯได้เสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ดังนี้


1. ขอให้ยกเลิกสัญญาสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชอุดรธานี เพราะเป็นสัญญาที่กดขี่คนไทยอย่างที่สุด เป็นสัญญาที่ต่างชาติจะแย่งชิงแร่โปแตชค้ากำไร แย่งอำนาจการจัดการทรัพยากรไปจากชุมชน ให้ยกเลิกสัญญาเพื่อที่คนไทยจะได้มาพูดคุยกันใหม่ว่าจะสงวนรักษาหรือใช้สอยแร่โปแตชกันอย่างไร


2. ขอให้การประชุม หรือตัดสินใจเรื่องเหมืองแร่โปแตช ต้องให้มีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีมีส่วนร่วมในการประชุมหารือ ให้ความคิดเห็น ตัดสินใจด้วยทุกครั้งไป


3. ขอให้ยึดมั่นแนวทางการพัฒนาชุมชนตามแนว "เศรษฐกิจพอเพียง" พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตาม"ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์"   ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ  และยุทธศาตร์พัฒนาจังหวัดอุดรธานี  โดยราษฎรในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชขอเสนอให้มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ 4 ตำบลที่กำลังมีความพยายามพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตชอยู่ขณะนี้  


 


ด้านนายยงยุทธ  ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรี  ออกมารับหนังสือกับตัวแทนชาวบ้าน  และกล่าวว่า  ต่อข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อตนจะรับไปดำเนินการต่อไปคือ โดยจะประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรงว่าจะสามารถมีช่องทางใดที่จะสามารถยกเลิกสัญญากับบริษัทดังกล่าวได้บ้าง   และเรื่องข้อเสนอของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีให้ใช้พื้นที่ 4 ตำบลในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเป็นพื้นที่นำร่องเกษตรอินทรีย์  โดยจะให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประสานงานกับราษฎรกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีโดยตรงทั้งด้านแผนงาน  และด้านงบประมาณ  เพื่อพัฒนางานด้านเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ให้เป็นจริงขึ้นมาโดยยึดมั่นแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ก็เป็นยุทธศาสตร์ชาติ  และยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดอุดรธานีอยู่แล้ว


 


ส่วนการตัดสินใจใดเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชจะคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุดและยังต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบต้องใช้เวลาอีกนานจะไม่มีการตัดสินใจใด ๆ  บนความขัดแย้งไม่โปร่งใสเด็ดขาด  และในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ก็จะไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ นายยงยุทธ  กล่าว


 


 


นางมณี  บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  ได้ตกลงกับเจ้าหน้าว่าจะให้เข้าพบนายกเพื่อยื่นหนังสือเวลา  14.00 น.  แต่ชาวบ้านก็รอจนเวลา 15.00 น.ก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาปิดประตูพร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ  100 นายมาปิดทางเข้า  กลุ่มชาวบ้านจึงตัดสินใจบุกเพื่อที่จะเข้าไปยื่นหนังสือให้ได้จนเกิดการชุลมุนกันขึ้นเป็นเหตุให้กลุ่มชาวบ้านได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการปะทะกัน


 


นางมณี  กล่าวว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอพีพีซี (Asia Pacific Potash Corporation Limited : APPC)  ได้รับสิทธิผูกขาดทำเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นขอประทานบัตร กับกระทรวงอุตสาหกรรม ไปแล้ว 2 แหล่ง    คือแหล่งอุดรใต้ พื้นที่ 22,437 ไร่ ครอบคลุม ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม กับแหล่งอุดรเหนือ พื้นที่ 52,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ของ ต.หนองขอนกว้าง  ต.หนองนาคำ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.โพนงาม อ.หนองหาน และ ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม  มีเนื้อที่ประมาณ 75,000 ไร่   ซึ่งจะมีอายุของประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชในอุดรธานีไม่ต่ำกว่า 50 - 100 ปีทีเดียว   โดยในปี 2548 ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการ โฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่ารัฐบาลไทยจะออกประทานบัตรให้  และในปี 2549 นี้  บริษัทได้ว่าจ้างบริษัทล๊อบบี้จากต่างประเทศมาวิ่งเต้นขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเร่งรัดให้รัฐบาลไทยออกประทานบัตร  ด้วยวิธีการทั้งใต้โต๊ะและบนโต๊ะโดยไม่สนใจขั้นตอนกฎหมายไทย หรือกลไกลการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระดับจังหวัดที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหาข้อมูลอันจะนำไปสู่ข้อยุติเรื่องโครงการนี้ 


นางมณีกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าในการประชุมครม.สัญจร ที่ จ.เลย ในวันที่ 9 - 10 มกราคม 2549 นี้ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ครม.  กลุ่มจึงมายื่นหนังสือคัดค้าน เพราะโครงการนี้มีปัญหามาตลอด อาทิ ประเด็นรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการเหมืองแร่โปแตช แหล่งอุดรใต้  ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เมื่อ 26 ธ.ค. 2543  ตามกฎหมายแร่ปี 2510 ซึ่งไม่มีสาระควบคุมเรื่องการทำเหมืองใต้ดิน ขณะที่กฎหมายแร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีสาระเรื่องการทำเหมืองแร่ใต้ดินบังคับใช้ เมื่อ 1 ม.ค. 2546  กรณีที่บริษัทเอพีพีซีได้ยื่นขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2546 ตามเงื่อนไข พรบ.แร่ใหม่  และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นขึ้นรูปแผนที่ยังไม่แล้วเสร็จ   แต่อีไอเอได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้วและบริษัทก็ยืนยันจะใช้รายงานอีไอเอฉบับเดิมนั้นและทำเพิ่มเติมบางส่วน  ซึ่งชาวบ้านยอมรับไม่ได้เพราะมีข้อบกพร่องมาก  และทำภายใต้เงื่อนไขเก่า


 


นางมณีกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสัญญาในข้อที่ระบุไว้ว่าคนไทยและ/หรือรัฐบาลไทยจะต้องมีหุ้นอยู่อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ 15 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลไทย 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นของต่างชาติเกินกว่าครึ่ง   ถือได้ว่าบริษัทได้กระทำละเมิดสัญญา นอกจากนี้อำนาจการตัดสินใจหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกไปเป็นของต่างชาติ หากยังใช้สัญญานี้ เช่น เมื่อมีปัญหาข้อพิพาทกัน ให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาตัดสิน โดยให้แต่ละฝ่ายแต่งตั้งตัวแทนของตนขึ้นมาฝ่ายละคน แล้วให้มีคนกลางซึ่งไม่ใช่คนไทย หรือคนสหรัฐอเมริกา แต่จะต้องพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาท้องถิ่น ให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทนั้น     เนื้อความสัญญาที่ระบุเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังเอาสมบัติของแผ่นดินไปให้คนอื่นมามีอำนาจตัดสินใจแทน อีกทั้ง เมื่อเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเค็มไหลลงไปสู่พื้นที่การเกษตรของราษฎร บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะสัญญาได้เขียนไว้อย่างนั้น คือได้ให้อำนาจแก่อนุญาโตตุลาการในการชี้ขาด ตลอดจนเมื่อบริษัทต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ จากหน่วยงานของทางราชการ ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หากไม่ทำตามบริษัทก็สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีมติออกมาบังคับ       นางมณีกล่าว


 


สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ไม่ได้มาพบชาวบ้านแต่ได้ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวเพียงสั้น ๆว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  ยังต้องมีการศึกษากันอีกยาวนาน  ยังต้องคุยกันอีกมากในเรื่องผลทางเศรษฐกิจ  ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ผลกระทบต่อชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งความขัดแย้งต่าง ๆ ต้องศึกษาอีกมากจะยังไม่มีการจัดสินใจใด ๆ  ในเวลาอันใกล้นี้


 


      กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net