Skip to main content
sharethis

ประชาไท -10 ม.ค. 2549 คนไทยไร้สัญชาติเศร้า ส่อเค้าหมดโอกาสได้สัญชาติไทยหลังกระบวนการแก้ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติพลิก 8 ตลบ "รองอธิบดีกรมการปกครอง" ยัน มติกรรมการฯ แก้ปัญหาสึนามิ แค่มอบหมายให้กรมการปกครองดำเนินการให้สัญชาติชาวมอแกน 3 ชุมชน "แหลมป้อม - ทับตะวัน - ในไร่"


 


เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 9 มกราคม 2549 ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นายพลวัต ชยานุวัชร รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมคณะ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาประชุมแก้ไขปัญหาชาวมอแกนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ตามที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ


 


ในการนี้ มีชาวมอแกนจากบ้านน้ำเค็ม บ้านทับตะวัน ตำบลบางม่วง บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า, บ้านในตะ ตำบลปากจั่น อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และตัวแทนคนไทยไร้สัญชาติจากบ้านห้วยปริง บ้านช้างแหก ตำบลราชกรูด บ้านสำนักสงฆ์ ชุมชนซอย 10 ตำบลบางริ้น บ้านเกาะสินไห ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง และบ้านทุ่งพุฒิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน


 


ทั้งนี้ นายชลอศักดิ์ วาณิชย์เจริญ นายอำเภอตะกั่วป่า อนุญาตเฉพาะชาวมอแกนที่มาจากบ้านน้ำเค็มและบ้านทับตะวันเข้าร่วมประชุม ส่วนชาวมอแกนที่มาจากอำเภอคุระบุรี และคนไทยไร้สัญชาติที่มาจากจังหวัดระนอง และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายชลอศักดิ์ไม่อนุญาตให้เข้าประชุมด้วย โดยจัดให้นั่งรออยู่อีกที่


นายชลอศักดิ์ รายงานผลการสำรวจชาวมอแกน ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยในจังหวัดพังงาต่อนายพลวัตว่า มีอยู่ 39 คน เป็นชาวมอแกนจากบ้านน้ำเค็ม 22 คน ชาวมอแกนจากบ้านทับตะวัน 7 คน จากอำเภอท้ายเหมือง 2 คน จากหมู่เกาะสุรินทร์ 3 คน จากเกาะพระทอง 4 คน และชาวไทยใหม่จากตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า 1 คน


นายพลวัต ชี้แจงว่า คนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ไม่ได้เกิดในประเทศไทย 2. เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย 3. เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่เกิดในประเทศไทย ในการสำรวจมีคนที่สามารถให้สัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติได้ภายใน 1 เดือน โดยเฉพาะคนที่พ่อแม่เกิดในประเทศไทย ส่วนคนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทยกับคนที่เกิดในประเทศไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย สามารถให้สัญชาติไทยได้เช่นกัน แต่อาจจะใช้เวลานาน สำหรับเด็กกำพร้าซึ่งพิสูจน์ได้ยาก ให้นายอำเภอตะกั่วป่าตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม


 


นายพลวัต ชี้แจงต่อไปว่า สำหรับคนไร้สัญชาตินอกพื้นที่บ้านทับตะวัน บ้านน้ำเค็ม กรมการปกครองกำลังเก็บข้อมูล โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อร่วมแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติส่วนนี้ แต่ขณะนี้จะดำเนินการเฉพาะ 3 หมู่บ้านที่ตนได้รับมอบหมายมาเท่านั้น เพราะถ้าหากทำที่อื่นด้วย จะทำให้การแก้ปัญหาของทั้ง 3 หมู่บ้านล่าช้าเกิน 1 เดือน


 


นายสุทิน กิ่งแก้ว ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ จังหวัดระนอง ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ ที่มี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ถามนายพลวัตว่า ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ มีมติในการประชุมที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 ให้ดำเนินการให้สัญชาติไทยกับคนไทยไร้สัญชาติจังหวัดระนอง 1,909 คน โดยพล.อ.อ.คงศักดิ์ มอบหมายให้กรมการปกครองรับผิดชอบ จะดำเนินการอย่างไร ต่อไป นายพลวัต ชี้แจงว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะได้รับคำสั่งให้ลงมาดำเนินการให้สัญชาติไทย กับชาวมอแกนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย เฉพาะที่บ้านน้ำเค็ม บ้านทับตะวัน และบ้านในไร่ ส่วนที่อื่นตนไม่ได้รับคำสั่ง


 


นายสุทิน เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการให้สัญชาติไทยกับคนไทยไร้สัญชาติ โดยเน้นพื้นที่จังหวัดระนอง โดยตนเป็นผู้นำรายชื่อคนไทยไร้สัญชาติเสนอต่อพล.อ.อ.คงศักดิ์ไปทั้งหมด 2,870 คน ในจำนวนนี้รวมคนไทยไร้สัญชาติจากจังหวัดชุมพรและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย


 


"พล.อ.อ.คงศักดิ์เห็นว่า ถ้ารวมทั้ง 2 จังหวัดเข้าไปด้วยจะทำให้การดำเนินการล่าช้าไม่แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จึงมีคำสั่งให้ดำเนินการเฉพาะคนไทยไร้สัญชาติจังหวัดระนอง 1,909 คนก่อน ส่วนที่เหลือก็จะดำเนินการภายหลัง และการดำเนินการให้สัญชาติไทยให้รวมถึงชาวมอแกน ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยด้วย แต่นายพลวัตกลับบอกว่า ได้รับคำสั่งให้มาดำเนินการเฉพาะที่บ้านน้ำเค็ม บ้านทับตะวัน และบ้านในไร่" นายสุทิน กล่าว


 


ด้านนายพลวัต กล่าวกับ "ประชาไท" ถึงกรณีรองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง แสดงความไม่พอใจที่กรมการปกครองลงไปพบชาวไทยไร้สัญชาติที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ว่า กรมการปกครองดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 ที่มอบหมายให้กรมการปกครองลงมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนกลุ่มดังกล่าว ที่จังหวัดระนอง ในวันที่ 8 มกราคม 2549 โดยมีนายชัยพร เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองอยู่ในที่ประชุมตลอด ประกอบกับกรมการปกครองไม่ถือว่าการนัดหมายเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งนี้เป็นการประชุม จึงไม่ได้ทำหนังสือแจ้งมายังจังหวัดระนอง


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ความไม่พอใจของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดระนอง จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติหรือไม่ นายพลวัตตอบว่า จะมีปัญหาได้อย่างไร เพราะหน่วยงานที่จะดำเนินการแก้ไขเรื่องสัญชาติ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอ


 


ส่วนที่นายพรชัยบอกกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า จังหวัดระนองไม่มีคนไร้สัญชาติแล้วนั้น นายพลวัต กล่าวว่า อาจจะเป็นการเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง ซึ่งตนไม่ทราบ


 


ทางด้านนายพรชัย เปิดเผยว่า ตนยังไม่ได้รายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมการปกครองลงมาประชุมคนไร้สัญชาติที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ไปยังกระทรวงมหาดไทย เพราะยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมกรมการปกครองถึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาที่จังหวัดระนอง เพราะในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 มอบหมายให้กรมการปกครองลงมาดำเนินการเฉพาะที่บ้านน้ำเค็ม บ้านทับตะวัน และบ้านในไร่ จังหวัดพังงาเท่านั้น


เมื่อผู้สื่อข่าวแจ้งว่า ทางรองอธิบดีกรมการปกครองยืนยันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง อยู่ในที่ประชุมรับทราบมติและการนัดหมายตลอด นายพรชัยไม่ตอบคำถามนี้ และยุติไม่ให้สัมภาษณ์ต่อ


 


  กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net