Skip to main content
sharethis

ประชาไท - คนไทยไร้สัญชาตินับพัน เตรียมพบ "รองอธิบดีกรมการปกครอง" ยันต้องคืนสัญชาติไทย ให้คนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ "นักวิชาการ" แนะรัฐควรแก้กฎหมายรองรับคนไทยกลุ่มนี้ อ้างได้สัญชาติด้วยการแปลงสัญชาติ เป็นคนไทยไม่สมบูรณ์ ไร้สิทธิเสียงทางการเมือง หวั่นเจอปัญหาถอนสัญชาติภายหลัง


           


ตลอดวันที่ 7 มกราคม 2549 ที่ศูนย์ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่จังหวัดระนอง ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง เครือข่ายฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติให้คนไทย ได้ประชุมเตรียมการและประสานงานคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ให้มาร่วมประชุมกับตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติกระทรวงมหาดไทย นำโดยนายพลวัต ชยานุวัตร รองอธิบดีกรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการให้สัญชาติกับคนไทยไร้สัญชาติในจังหวัดระนอง ในวันที่ 8 มกราคม 2548 ที่วัดอุปนันทาราม ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง


 


นายสุทิน กิ่งแก้ว คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีคนไทยไร้สัญชาติ จากจังหวัดระนองเดินทางมาร่วมประชุม 12 ชุมชน ประกอบด้วย บ้านท่ากลาง บ้านท่าคึกฤทธ์ บ้านท่าเรือบางกล้วยนอก บ้านท่าเรือบางกล้วยใน ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ, บ้านไร่ใต้ ตำบลนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ, บ้านบางลำภู ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์, บ้านบางเบน ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์, บ้านห้วยปริง บ้านช้างแหก ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง, ชุมชนสำนักสงฆ์, ชุมชนซอย 10 ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง, บ้านในตะ ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี


 


นายสุทิน เปิดเผยต่อไปนี้ นอกจากนี้ ยังมีคนไทยไร้สัญชาติจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดินทางมาร่วมประชุมอีก 6 ชุมชน จาก 3 อำเภอ คือ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอบางสะพานใหญ่  ประกอบด้วย บ้านไกรทอง, บ้านหนองกลาง, บ้านด่านสิงขร, บ้านในล็อค, บ้านมรสวบ, และบ้านทุ่งพุด คาดว่าจะมีคนไทยไร้สัญชาติเข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า 1,000 คน


 


"คนไทยไร้สัญชาติจังหวัดระนอง จะยืนยันให้รัฐบาลคืนสัญชาติไทยให้เท่านั้น ถ้าหากรัฐจะแปลงสัญชาติให้ เราจะไม่ยอม เพราะเท่ากับว่าคนไทยไร้สัญชาติจังหวัดระนอง ยอมรับว่าเป็นพม่า" นายสุทิน กล่าว


 


ต่อมา เวลา 20.00 น. วันเดียวกัน ทางเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ได้จัดประชุมคนไทยไร้สัญชาติในจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมประเด็นพูดคุยกับตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมกับกรมการปกครองซึ่งเป็นตัวแทน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ


 


นายฐิรวุฒิ เสนาคำ อาจารย์ประจำสาขาวัฒนธรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลันลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สาเหตุที่คนไทยพลัดถิ่นไม่ยอมแปลงสัญชาติ เพราะกลัวว่า จะไม่ได้เลข 3 ซึ่งหมายถึงเป็นคนไทยแท้ นำหน้าในบัตรประชาชน เลขตัวนี้จะทำให้คนที่ได้รับมีสิทธิทางการเมือง เช่น สมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นอกจากนี้ ยังเกรงว่าคนที่แปลงสัญชาติจะถูกเพิกถอนสัญชาติได้ ในกรณีที่ทำผิดกฏหมาย คนไทยไร้สัญชาติจึงยืนยันที่จะให้รัฐบาลคืนสัญชาติไทยให้ โดยพรุ่งนี้จะต่อรองกับกรมการปกครอง ให้มีการแก้กฏหมายขึ้นมารองรับคนกลุ่มนี้


 


นายฐิรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ต้องแก้กฏหมาย ไม่มีอะไรมาก แก้เฉพาะเรื่องการให้สัญชาติกับคนไทยที่ไม่มีสัญชาติเท่านั้น ตนคิดว่ากรณีนี้รัฐควรเสนอเป็นยุทธศาสตร์พิเศษ ในการแก้ปัญหาให้กับคนไทยที่บังเอิญไร้สัญชาติเนื่องจากอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากคนไร้สัญชาติกลุ่มอื่น หรือแตกต่างจากผู้หลบหนีเข้าเมือง เพราะคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ เป็นคนไทยอยู่แล้ว จึงควรคืนสัญชาติไทยให้เลย


 


"รัฐบาลไทยไม่ควรใช้เขตแดนประเทศ มาชี้วัดการให้สัญชาติไทยกับคนไทย แต่ควรจะมองว่าคนไทยไร้สัญชาติที่พลลัดถิ่นอยู่ในพม่า ได้สร้างความเป็นไทยให้ปรากฏอยู่ในพม่า และรักษาความเป็นไทยไว้ได้ โดยดูได้จากการเรียนหนังสือ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ทั้งที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลย" นายฐิรวุฒิ กล่าว


 


นายฐิรวุฒิ กล่าวอีกว่า การพิสูจน์ความเป็นไทย ด้วยการหาหลักฐานและประจักษ์พยานต่างๆ มายืนยันตามกฎหมายนั้น ยากที่จะพิสูจน์ได้ เพราะหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์คนไร้สัญชาติว่าเป็นคนไทย ส่วนใหญ่เป็นพยานบุคคล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนของรัฐ ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากที่คนเหล่านี้จะออกมายืนยันให้กับไทยไร้สัญชาติ เท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน ไม่เคยช่วยคนไทยกลุ่มนี้ให้ได้รับสัญชาติไทยเลย ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ความเป็นคนไทยไม่ได้อยู่ที่เขตแดนกำหนด


 


รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การแปลงสัญชาติ เป็นเรื่องที่คนไร้สัญชาติจะตัดสินใจเองว่า จะแปลงหรือไม่แปลง ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติคงไม่ไปบังคับ ที่ผ่านมามีบางส่วนแปลงสัญชาติด้วยความสมัครใจไปแล้ว สำหรับคนไร้สัญชาติที่ไม่ยอมรับการแปลงสัญชาติ เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนไทย เนื่องจากมีบรรพบุรุษเป็นคนไทยนั้น จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า บรรพบุรุษของคนกลุ่มนี้ได้เสียสัญชาติไทยไปตั้งแต่แบ่งเขตประเทศแล้ว ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลไร้สัญชาติอยู่ในปัจจุบัน


 


รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เปิดเผยว่า ไม่ว่าจะใช้คำว่าแปลงสัญชาติหรือคืนสัญชาติ ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ทำเพื่อให้ได้สัญชาติ ซึ่งการแปลงสัญชาติเป็นวิธีการที่ทำให้คนไม่มีสัญชาติได้มีสัญชาติ แต่การคืนสัญชาติเป็นกระบวนการให้คืนสัญชาติสำหรับคนที่เคยมีสัญชาติแล้วโดนรัฐบาลยึดไป กรณีนี้ใช้วิธีการคืนได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยมีสัญชาติ ไม่อยู่ในเงื่อนไขกฎหมายปัจจุบัน ที่จะคืนสัญชาติให้ได้ ถ้าชาวบ้านยืนยันที่จะได้สัญชาติ ด้วยวิธีการคืนสัญชาติ ก็ต้องให้รัฐสภาออกกฎหมายฉบับใหม่ หรือออกกฎหมายฉบับพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของชาวบ้าน แต่เป็นวิธีการที่ยุ่งยาก ไม่แน่ใจว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะการออกกฎหมายต้องผ่านกระบวนการต่างๆ หลายขั้นตอน ใช้เวลานานมาก


 


ทั้งนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ มีกำหนดการลงพื้นที่ในวันที่ 8 - 9 มกราคม 2549 นี้ 2 ชุด แยกเป็น ชุดแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ นำโดยรองอธิบดีรกรมการปกครอง ชุดที่ 2 แก้ปัญหากรณีพิพาทที่ดินบ้านแหลมป้อม, บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และบ้านในไร่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา


 


โดยวันที่ 8 มกราคม 2549 เวลา 10.00 น. ชุดแก้ปัญหาสัญชาติของกรมการปกครอง จะลงพื้นที่ประชุมคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ ที่วัดอุปนันทาราม จากนั้น ลงสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สัญชาติหลังจากนั้นกรมการปกครองก็จะลงสำรวจพื้นที่ชุมชนบางลำพู ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง กลุ่มคนไทยไร้สัญชาติ ออกเป็น 3 กลุ่ม 1. คนไทยไร้สัญชาติที่เกิดในไทย 2. คนไทยไร้สัญชาติที่กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี 3. คนที่ข้ามมาจากฝั่งพม่ามาตั้งแต่ตอนแบ่งเขตแดน โดยจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ เช่น  บ้านเลขที่ พยานบุคคล ฯลฯ ถ้าใครมีหลักฐานชัดเจน จะให้สัญชาติไทยทันที


 


จากนั้น กรมการปกครองจะเดินทางไปยังจังหวัดพังงา เพื่อพบและสำรวจข้อมูลชาวมอแกนตกสำรวจ ยังไม่ได้สัญชาติไทยจนถึงปัจจุบันประมาณ 180 คน ในเวลา 10.00 น. วันที่ 9 มกราคม 2549 ที่ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า


 


ส่วนคณะแก้ปัญหากรณีพิพาทที่ดิน 3 ชุมชน ที่จังหวัดพังงา จะมีนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน และนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เดินทางมาร่วมประชุมกับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทที่ดินกับนายทุน โดยมีกำหนดการ ดังนี้


 


เวลา 10.00 น. วันที่ 8 มกราคม 2549 ลงพื้นที่พบชาวบ้านและสำรวจที่ดินพิพาท ที่ชุมชนบ้านแหลมป้อม อำเภอตะกั่วป่า เวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ลงพื้นที่พบชาวบ้านและสำรวจที่ดินพิพาท ที่ชุมชนบ้านในไร่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ต่อมา เวลา 10.00 น. วันที่ 9 มกราคม 2549 ลงพื้นที่พบชาวบ้านและสำรวจที่ดินพิพาท ที่ชุมชนบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า


 


สำหรับที่ดินพิพาทชุมชนบ้านแหลมป้อม คู่กรณีพิพาทกับชาวบ้าน คือ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคไทยรักไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net