Skip to main content
sharethis

ประชาไท—6 ม.ค. 2549 ที่สมาคมนักข่าว เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนได้จัดแถลงข่าวต่อต้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ในวันที่ 9-13 ม.ค.นี้


แม้เป็นการแถลงข่าวความเคลื่อนไหวตามปกติของภาคประชาสังคม หากแต่ครั้งนี้มีการผนึกกำลังกันถึง 11 เครือข่าย ด้วยท่าที "แข็งกร้าว" โดยระบุว่าจะมีการระดมพลไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ซึ่งนับเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อไปชุมนุมหน้าโรงแรมที่จัดการเจรจา


กระทั่งมีการยื่นคำขาดว่าจะล้มการเจรจาครั้งนี้ให้ได้ หากรัฐบาลไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน ขณะที่เหลือบมองฉากหลังห้องก็มีป้ายผ้าสีเหลืองผืนใหญ่ ข้อความว่า "เซ็นเอฟทีเอ ฉิบหายทั้งชาติ"


ทำไมท่าทีภาคประชาชนจึงดุดันกว่าที่ผ่านมา


อาจเพราะภาคประชาชนไทยมีประสบการณ์การชุมนุมต่อต้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ มาครั้งหนึ่งแล้วที่พัทยาเมื่อเดือนเม.ย.48  ซึ่งครั้งนั้นเป็นการเจรจารอบที่ 3 จนกระทั่งครั้งนี้วนกลับมาจัดการเจรจาในประเทศไทยอีกครั้งในรอบที่ 6 


นอกจากนี้ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนไทยจำนวนหนึ่ง ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์การชุมนุมประท้วงเวทีระดับโลกอย่างการประชุมองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ฮ่องกงมาหมาดๆ (13-18 ธ.ค.48) ครั้งนั้นมีการใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม และทำให้คนไทยกว่าครึ่งร้อยได้รับประสบการณ์ตรงจาก "ห้องกรง" อันหนาวเย็นของ "ฮ่องกง"


ถึงขั้นมีการระบุชัดเจนว่า การชุมนุมที่เชียงใหม่ก็จะใช้ประสบการณ์จากการชุมนุมประท้วงดับบลิวทีโอนั้นเอง


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์การความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของการชุมนุมครั้งนี้ว่า ภายใต้การเร่งเจรจาที่รัฐบาลไทยและสหรัฐต่างเห็นพ้องจะให้เสร็จสิ้นภายในกลางปีนี้ การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะแสดงถึงความไม่พอใจของภาคประชาชนได้อย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาการแสดงความเห็นค้านจากหลายหน่วยงานก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใดจากรัฐบาล


ผอ.ไบโอไทยระบุด้วยว่า ขณะนี้ส.ว.จำนวนหนึ่งกำลังดำเนินการเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเอฟทีเอที่รัฐบาลไทยทำโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภานั้น ขัดต่อมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้พรรคฝ่ายค้านเคยเสนอร่างพ.ร.บ.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นกรอบการดำเนินการเหมือนกับที่ใช้ในประเทศลาว หรือแม้สหรัฐเองก็มี Bipartisan Trade Promotion Authority Act 2002 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ระบุให้ฝ่ายบริหารต้องขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาและผลการเจรจากับสภาคองเกรส  แต่ข้อเสนอทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลไทย                                                                                                                                         


 "ผลกระทบจากเอฟทีเอประเทศอื่นๆ ก็เกิดขึ้นแล้วกับเกษตรกร ชาวบ้านในภาคเหนือต้องเลิกปลูกหอมกระเทียมไปแล้วกว่า 40% เพราะสู้กระเทียมจีนไม่ไหว แต่รัฐบาลก็ยังไม่สนใจ ไม่มีการชดเชยจริงจัง นี่คือเหตุผลที่ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว" วิฑูรย์กล่าว


เขาระบุถึงตัวเลขประมาณการของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ อาจต้องสูญเสียอาชีพจากการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 6-7 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมราว 100,000 คน เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อราว 5 ล้านคน เกษตรกรผู้ปลูกหอม กระเทียม เฉพาะในเขตภาคเหนือมีราว 300,000 คน ยังไม่นับรวมเกษตรกรที่ปลูกพืชผักเมืองหนาวอีกจำนวนมาก


ประเด็นที่ต้องจับตามีอะไรบ้าง


ส่วนประเด็นเจรจาสำคัญๆ ที่จะถูกนำมาวางบนโต๊ะเจรจาในรอบที่ 6 นี้ วิฑูรย์ระบุว่ามี 3 ประเด็น คือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จะมีการเจรจากันอย่างจริงจังในรอบนี้แน่นอน และอาจมีการกดดันให้นำไปสู่การขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา การผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปิดเสรีบริการและการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจพื้นฐานต่างๆ ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นได้ สุดท้ายคือ การเปิดเสรีการค้าเกษตรของสหรัฐ ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ ผลไม้เมืองหนาว  


อุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จุลินทรีย์ เป็นผลประโยชน์สำคัญของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันนี้มีมูลค่าแซงหน้าอาวุธสงครามไปแล้ว โดยสหรัฐต้องการใช้ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่กฎหมายมีเสถียรภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ให้เป็นฐานการบุกเบิกตลาดเมล็ดพันธุ์ ทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยให้ลาว พม่า เขมร เป็นพื้นที่ผลิตวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการยากที่เกษตรกรรายย่อยจะตอบสนองต่อระบบการค้าแบบนี้


"การทำเอฟทีเอ จึงเป็นการเอาชีวิตเกษตรกรไปแลกกับการค้าของบริษัทใหญ่ และเราชาวนารายย่อยรับไม่ได้ ที่จะบอกว่าผลประโยชน์ของบริษัทไม่กี่นามสกุลจะเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ" อุบลกล่าว


กมล อุปแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์  กล่าวว่า ขณะนี้ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ก็มีราคาแพงมากอยู่แล้ว โดยผู้ติดเชื้อแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายด้านยาเดือนละนับหมื่นบาท การทำเอฟทีเอจะทำให้ยาที่เรากินมีราคาแพงขึ้นไปอีก เพราะผลจากการขยายอายุสิทธิบัตรออกไปทำให้มีการผูกขาดยามากขึ้น 


เขาระบุด้วยว่า จากการศึกษาของนักวิชาการทั้งในออสเตรเลียและในประเทศไทยพบว่าราคายาจะแพงขึ้นมากตั้งแต่ 30% จนถึง 500% จะมีการซื้อยาในราคาแพงเพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าถ้ามีการลงนามเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา


ศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับสหรัฐนั้นเกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย เนื่องจากมีประเด็นการลงทุน ซึ่งมีการให้สิทธิเยี่ยงคนชาติ ดังนั้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยการกำหนดเพดานนักลงทุนต่างประเทศให้ต่ำกว่านักลงทุนไทยนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะผิดกติกาข้อนี้ชัดเจน


โดยสหรัฐเรียกร้องให้ฝ่ายไทยเปิดการลงทุนทุกเรื่องรวมทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า และรัฐวิสาหกิจทุกอย่าง ความต้องการของต่างชาติจึงตรงกับความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถไว้วางใจได้อีกต่อไป ประชาชนไทยต้องเรียนรู้ประสบการณ์ของประชาชนในลาตินอเมริกา ที่พบว่าหลังการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟแพง จนต้องออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อล้มล้างการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกา หรือ FTAAs ( Free Trade Ares of the Americs) ซึ่งมีการชุมนุมนับแสนคนๆเมื่อปลายปีที่แล้ว จนขณะนี้แผนการทำข้อตกลง FTAAs ได้หยุดชะงักลง


บุญยืน ศิริธรรม จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค อยากจะบอกว่าประโยชน์ของผู้บริโภคคือ คนไทยต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่พวกหนึ่งจะตายก็ช่างมัน ส่วนการรวมตัวกันครั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เจ้าของประเทศ


"ขอเตือนให้รัฐบาลหยุดการเจรจาเรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต การแปรรูปรัฐวิสาหกิจพื้นฐาน และการเปิดเสรีสินค้าเกษตรของสหรัฐ ไม่เช่นนั้นพวกเราอย่างน้อย 10,000 คนจะไปหยุดการเจรจาที่เชียงใหม่ด้วยตัวเองแน่นอน" สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 11 เครือข่าย ประกอบไปด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน 4 ภาคสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สมัชชาคนจน และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) และสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งจะมีการถ่ายทอดสดการชุมนุมที่เชียงใหม่ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่ www.peoplechannel.org และ www.ftawatch.org


 


 กลับหน้าแรกประชาไท 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net