Skip to main content
sharethis







ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้


 


โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม


 


 



 


เมื่อพูดถึง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นักข่าวน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างก็พร้อมใจเรียกว่า "อาจารย์วิษณุ" ไม่ใช่เพียงเพราะก่อนก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองนั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งศาตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน แต่วิธีพูดวิธีอธิบายเรื่องราวต่างๆ ของเขานั้น นับเป็นคำอธิบายที่ง่ายต่อความเข้าใจเสียเหลือเกิน กระทั่งว่าหากฟังเพลินๆ แบบเอาสมองไว้คั่นหูก็จะเผลอคล้อยตามได้ไม่ยากเลย


 


ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้แต่นักข่าวชาวประชาไทเองก็เคยหลงใหลได้ปลื้มกับคำอธิบายเรื่อง "กฎหมายที่จะเอามาใช้แทนกฎอัยการศึก" ในกระแส "ไม่เอากฎอัยการศึก" เพราะอาจารย์วิษณุอธิบายเป็นหลักเป็นการและถูกจริตคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจทหารนำเดี่ยวอยู่ในพื้นที่เปราะบางอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งนัก ฟังเคลิ้มๆ ก็คือการดึงอำนาจกลับมาสู่รัฐบาลซึ่งเป็นพลเรือนซึ่งย่อมจะละมุนละม่อมกว่า


 


ที่ไหนได้ เมื่อ "กฎหมายที่จะเอามาใช้แทนกฎอัยการศึก" เผยร่างออกมาเป็น "พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" บรรดาผู้เคยเคลิบเคลิ้ม (เช่น นักข่าวหน้าซื่อแถวๆ ประชาไท) ก็แทบตกจากเก้าอี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักวิชาการ (เน้นที่นักกฎหมายแถวๆ ท่าพระจันทร์ ที่ถึงกับจัดสัมมนาวิพากษ์กฎอัยการศึกกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ) ถ้ากัดลิ้นตัวเองตายไปได้ก็คงทำไปแล้ว


 


0 0 0


 


อาจารย์วิษณุนั้นถือเป็น "ที่สุด" ในหลายๆ เรื่อง เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับบุรุษผู้นี้มีให้เล่าขานกันเป็นที่เพลิดเพลินและปฏิเสธไม่ได้ว่าใครได้ยินก็ต้องชื่นชม (อาจจะผสมหมั่นไส้เล็กน้อยก็แล้วแต่จริต)


 


เขาสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมดีมาก จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และเป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ตำแหน่งทางวิชาการก้าวสู่ขีดสูงสุดเมื่ออายุเพียง 35 ปี เท่านั้น จากนั้นเขาก็ก้าวเข้าสู่การเป็นข้าราชการประจำที่ใกล้ชิดกับการเมืองอย่างยิ่ง เริ่มต้นด้วยตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในช่วงก่อนรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญก่อนปฏิรูปการเมือง และครองตำแหน่ง "เลขาธิการคณะรัฐมนตรี" ตั้งแต่ พ.ศ. 2536-2545 ยาวนานถึง 9 ปี ระยะเวลา 9 ปีนั้น รัฐบาลเปลี่ยนผ่านหลายต่อหลายชุด ไม่ว่าหัวหน้ารัฐบาลจะเป็นใคร ไม่ว่าพรรคใดจะได้เสียงข้างมาก ไม่ว่านักการเมืองจะทะเลาะกันอย่างไร เขาก็คือเขา และยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่าง smooth as silk


 


เอาละ เรื่องข้างบนนั้นก็เป็นเรื่องเก่าๆ แต่เหตุที่ประชาไทต้องให้เกียรติอาจารย์วิษณุเป็นคล้ายๆ Man of the Year ก็เนื่องเพราะผลงานของท่านโดดเด้งเข้าตากรรมการเป็นยิ่งนัก


 


ร้อยวันพันปี...ว่ากันตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลยก็ยังได้ เมื่อพูดถึง "เทคโนแครต" วิชาการสายแรกที่คนนึกถึงก็คือเศรษฐศาสตร์ แต่ในรัฐบาลทักษิณ 2 นี้เอง ที่คนเริ่มตระหนักว่า ผู้มีบทบาทข้างกายผู้นำนั้นหาใช่ นักเศรษฐศาสตร์ อีกต่อไป แต่กลับเป็น "นักกฎหมาย" ใกล้ตัว


 


เขาละจากการเป็นข้าราชการประจำมาสู่การเป็นข้าราชการการเมืองเต็มตัวในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เมื่ออัจฉริยภาพของนักกฎหมายระดับปรมาจารย์ผนวกเข้ากับความเด็ดขาดพูดเร็วทำเร็ว การทำงานอย่างสอดคล้องต้องใจก็ดำเนินรุดหน้าออกมาเป็นกฎหมายหลายฉบับพร้อมด้วยการตีความกฎหมายที่มีอยู่เดิมอย่างสอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาลอย่างยิ่ง นักข่าวอาวุโสบางสำนักถึงกับเซวว่า หากนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้แต่งงานกับคุณหญิงพจมานเสียก่อนหน้านั้นแล้ว คนที่นายกฯรักที่สุดในประเทศนี้คงไม่พ้นนักกฎหมายรุ่นเดอะนามวิษณุ เครืองามเป็นแน่


 


ลองกวาดตาดูคร่าวๆ กฎหมายใหญ่ๆ ที่สั่นสะเทือนสังคมไทยอาทิ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พระราชกฤษฎีกาประชุมคณะรัฐมนตรี, ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลฝ่ายกฎหมาย บางเรื่องท่านก็มีเอี่ยวมาก บางเรื่องก็มีเอี่ยวน้อย


 


เรื่องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องสถานการณ์แบบฉับไวก็เป็นคุณสมบัติอันน่าทึ่ง เช่นกรณีการสรรหากรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง เมื่อศาลปกครองกลางมีคำตัดสินว่ากระบวนการสรรหา กสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน อาจารย์วิษณุออกมาแสดงท่าทีว่าจะไม่อุทธรณ์ พร้อมอธิบายว่าจะยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และยอมรับในคำตัดสินของศาลปกครอง ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีขององค์กรภาคประชาชนและสื่อมวลชนเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสรรหา กสช. ไม่โปร่งใสและควรเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนักที่อาจารย์วิษณุจะเห็นสอดคล้องกับ เอ็นจีโอและสื่อมวลชนได้


 


แต่แล้วเราก็ไม่ต้องอัศจรรย์ใจอยู่นานเกินไป เพราะในกระแสโกลาหลว่าเมืองไทยจะยังไม่มี กสช. นั้น อาจารย์วิษณุออกมาโยนหินถามทางว่า เพื่อแก้ปัญหาความวิตกกังวลใจของหลายฝ่าย ก็อาจจะแก้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่มาตรา 80 เพื่อให้ กทช. เข้ามาทำหน้าที่แทน  กสช. และแล้วเงาทะมึนเรื่องการให้สัมปทานมือถือระบบ 3G ก็แผ่เข้าปกคลุมบรรยากาศของการปฏิรูปสื่อทันที


 


เป็นเรื่องสิครับท่านผู้ชม ที่เคยเคลิ้มๆ กันอยู่ก็เป็นอันตกเก้าอี้กันอีกรอบ หลายคนเปรยๆ ว่า "เตะหมูเข้าปากหมา" ทุกฝ่ายออกมาส่งเสียงคัดค้านกันระงม ใครที่เคยทะเลาะเบาะแว้งก็หันมาจับมือประสานเสียงกันเป็นการชั่วคราว


 


เฉพาะตัวอาจารย์วิษณุเองนั้น นอกเหนือจากกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังเกี่ยวพันกับระเบียบกฎเกณฑ์อื่นๆ ด้วย เช่น กรณีการส่งแฟกซ์ขอพระบรมราชานุญาตจัดพิธีทำบุญประเทศในวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเรื่องเอิกเกริกไปเนื่องจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรออกมากล่าวหาว่าเป็นการไม่บังควร แม้อาจารย์วิษณุจะอธิบายว่าได้ส่งแฟกซ์ไปยังสำนักราชเลขาธิการแล้วพร้อมให้เหตุผลว่า บ้านเมืองเราเข้าสู่ยุคที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการประสานงานราชการแล้วและสำนักราชเลขาฯ ก็แฟกซ์อนุญาตแล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้แหล่งข่าวกล่าวว่าแฟกซ์จากสำนักราชเลขานั้นลงวันที่ 11 หลังจากพิธีกรรมทำบุญประเทศผ่านพ้นไปแล้ว 1 วันพอดี


 


0 0 0


 


ตามประสา "ประชาไท" สำนักข่าวที่มองโลกในแง่ดีคิดว่าจะวิพากษ์วิจารณ์อาจารย์วิษณุมากไปโดยไม่นึกถึง "บุญคุณ" กันเลยก็ใช่ที่


 


ด้วยความที่เป็นนักกฎหมายรุ่นใหญ่ จะทำอะไรทั้งทีมันต้องสมเหตุสมผล อธิบายได้เป็นหลักเป็นการ หลายๆ สิ่งที่อาจารย์วิษณุและนักกฎหมายในรัฐบาลนี้ทำจึงเป็นเรื่องยากและซับซ้อนต่อการทำความเข้าใจ เมื่อถูกโต้ตอบด้วยหลักวิชาการ เขาก็พร้อมจะโต้ตอบกลับด้วยหลักวิชาการเช่นกัน...เรื่องน่าเศร้าของนิติศาสตร์ก็คือว่า หลักการและตัวแบบของกฎหมายนั้นมีให้เลือก แล้วแต่ว่าคุณจะยืนอยู่ข้างไหน


 


ในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านักวิชาการกฎหมายมีความตื่นตัวสูงขึ้นมาก เปิดตำรากันมือหงิก จัดเวทีวิชาการพูดกันจนน้ำลายแห้ง ทำงานกันอย่างสาหัส บางคนต้องวิ่งรอกอรรถาธิบายพร้อมๆ กับช่วยทำงานให้กรรมาธิการวุฒิสภา (เสียงส่วนน้อย) บ้าง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบ้าง.....นั่นคือคุณูปการที่นักกฎหมายใกล้ตัวท่านผู้นำได้สร้างแก่วงการนิติศาสตร์ไทย


 


อันที่จริงก็น่าหนักใจแทนนักวิชาการกฎหมายขณะนี้เป็นอันมาก เพราะบรรดานักกฎหมายรุ่นใหญ่ๆ ที่อยู่ในรัฐบาลก็ล้วนแต่เป็น "อาจารย์" ของตัวทั้งนั้น อาจารย์วิษณุ อาจารย์บวรศักดิ์ อาจารย์โภคิน เหล่านี้ล้วนเคยเป็นขุนเขาในแวดวงกฎหมายมาก่อน ที่เคยเป็นป้อมปราการให้ได้อ้างอิงศึกษาหาความรู้ ถึงวันนี้บางที "อาจารย์" ทำอะไรแปลกๆ ไปบ้าง ความรู้สึกก็คงไม่ใช่แค่ความยากในการทำความเข้าใจหรือความกังวลใจแต่คงมีบ้างที่ เศร้าใจ อยู่ลึกๆ แต่อย่างว่าละนะ...ถ้าศิษย์ไม่คิดล้างครูแล้ววิชาความรู้จะงอกงามได้อย่างไร


 


0 0 0


 


จั่วหัว "นักกฎหมายให้เช่า" อย่าได้คิดว่าประชาไทผยองไปตั้งสมญานามนี้ให้อาจารย์วิษณุเป็นอันขาด อย่างที่บอกแต่ต้นว่าอาจารย์วิษณุเป็นคนมี "เกร็ด" ให้พูดถึงมากเหลือเกิน จะเล่าให้ฟังสักเรื่องสองเรื่องก็แล้วกัน


 


เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ใครๆ คุ้นกันดี และเป็นที่มาของจั่วหัวบทความนี้....อาจารย์วิษณุไปสอนวิชากฎหมายในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง นักศึกษาหนุ่มลองของถามอาจารย์ท้ายชั่วโมงว่า "อาจารย์คิดยังไงที่มีคนว่าอาจารย์เป็นนักกฎหมายขายตัว"


 


อาจารย์วิษณุอธิบายเป็นหลักการว่าตัวแกนั้น "ขาย" ไม่ได้ ที่ถูกต้องต้องบอกว่าเป็นการ "ให้เช่า" (ฮา)


 


เรื่องที่ 2 หลักสูตรของคณะนิติศาสตร์มีอยู่วิชาหนึ่งชื่อว่า "หลักวิชาชีพนักกฎหมาย" เป็นวิชาที่มีเนื้อหาว่าด้วยคุณธรรมจริยธรรมของนักกฎหมายซึ่งต้องใช้กำกับในการประกอบวิชาชีพ วิชานี้ไม่ค่อยมีใครตก แต่ก็ไม่ค่อยมีใครได้คะแนนสูงเด่นนัก ข้อสอบก็ใช้หลักเกณฑ์เหมือนวิชาอื่นๆ คือมี 5 ข้อ 100 คะแนนเต็ม แหล่งข่าวกล่าวว่า สมัยที่อาจารย์วิษณุสอบนั้น แกได้คะแนน 104 จาก 100 เพราะตอบดีเหลือเกิน มีแววว่าจะเป็นนักกฎหมายที่ดีในอนาคต แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ถึงวันนี้อาจารย์ผู้ให้คะแนนยังรู้สึกเสียใจไม่หาย (ฮา)


 


เล่าเรื่องอาจารย์วิษณุ มาก็มาก ดูจะไม่แฟร์ถ้าไม่มีเรื่องเล่าของชาวประชาไทบ้าง....ประชาไทนั้นถือเป็นกองบรรณาธิการเล็กๆ ที่มีความหลากหลายทางทัศนะสูง ยามที่ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นข่าวต่างๆ นักข่าวชาวประชาไทมักจะนั่งเอาหลังพิงสถาบันการศึกษาและคณะของตัวเองไว้เป็นแม่นมั่น  เราจึงมักเกิดถ้อยคำวิพากษ์กันเองประเภท "คิดแบบนี้เป็นรัฐศาสตร์เกินไป" "เขียนแบบนี้เป็นโบราณคดีเกินไป" รวมถึง "อธิบายแบบนี้เป็นนิติศาสตร์เกินไป"


 


แรกๆ วลีที่ว่า "เป็นนิติศาสตร์เกินไป" นั้นดูจะมีนัยยะว่า "เถรตรงเกินไป" หรือ "ยึดกับหลักการมากเกินไป" แต่ก็ไม่รู้ว่าชาวประชาไทได้เรียนรู้จากใครเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจึงเกิดถ้อยคำใหม่มาแทนที่ เช่น "ก็อย่างงี้แหละ "นักกฎหมาย"...หึหึ" ตีความได้ว่า หมายถึง "กะล่อน" "เจ้าสำบัดสำนวน" "จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน" มันบาดจิตบาดใจนักกฎหมายหัวเดียวกระเทียมลีบเอามากๆ แต่ที่บาดใจยิ่งกว่าก็คือ เมื่อสำรวจตรวจตราตัวเองให้ดีๆ พร้อมกวาดตาไปยัง "ไอดอล" นักกฎหมายรุ่นใหญ่ที่ได้ดิบได้ดีอยู่ในรัฐบาลขณะนี้ ก็ต้องทำคอตกเสียงอ่อยรับสภาพไปแต่โดยดีว่า "มันคือความจริง" (ฮา...)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net