นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย (2) : เจริญ วัดอักษร

เจริญ วัดอักษร

นักต่อสู้แห่งบ้านบ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์

"เมื่อความล่าช้าของยุติธรรม ก็คือความอยุติธรรม"

 

เจริญ วัดอักษร ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนรัฐบาลต้องระงับโครงการดังกล่าว หลังจากนั้นเขาได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านกลุ่มนายทุนที่ได้เข้ามาบุกรุกพื้นที่สาธารณะและการทำนากุ้ง

 

ในที่สุด เจริญ วัดอักษร ถูกมือปืนเดินปรี่เข้าไปยิงอย่างโหดเหี้ยม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ตรงบริเวณทางแยกบ้านบ่อนอก ขณะลงจากรถบัสก่อนจะเดินไปในหมู่บ้าน

 

หลังจากนั้น กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาเจริญ จำต้องสืบสานภารกิจต่อ ด้วยการเป็นแกนนำพาชาวบ้านแห่ศพสามีไปหน้ากระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

 

ถึงแม้ว่าคดีดังกล่าว จะมีความคืบหน้า นั่นคือสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ถึง 5 คน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า คือ 2 คนแรกเป็นเพียงแค่มือปืนเท่านั้น และมากลับคำให้การสารภาพในภายหลังว่า ที่มายิงเจริญเป็นเพราะความแค้นส่วนตัว เพราะเจริญเคยไปด่าแม่เขา ไม่ได้ตั้งใจมายิง มานั่งกินเหล้าที่ศาลาที่รอรถเมล์ เห็นเจริญลงรถทัวร์มาเป็นความบังเอิญ บันดาลโทสะแล้วก็ยิงเจริญเสียชีวิต

 

อีกสามคนที่จับกุมทีหลัง ก็ยังไม่ใช่ผู้บงการที่แท้จริง แต่ตัวบงการก็ยังคงลอยนวลอยู่ในพื้นที่ดังเดิม เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น!

 

"ทุกฝ่ายพยายามจะโยงคดีนี้ว่าเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาท เรื่องชู้สาว และมีความพยายามสรุปว่าเป็นประเด็นความแค้นส่วนตัว ผลคือ จับมือปืนได้ 2 คน คนจ้างวาน 2 คน แต่ไม่มีการขยายผลคดีหาตัวผู้บงการเบื้องหลัง จน ดีเอสไอ เข้ามารับคดี เจริญ ไม่ใช่คนที่จะไปขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับใคร ไม่เคยมีปัญหากับชาวบ้าน"

 

30 กรกฏาคม 2547 ดีเอสไอรับโอนคดีไปรับผิดชอบ ได้เพิ่มสำนวนจากข้อมูลพื้นที่ และความคิดเห็นถึงประเด็นข้อขัดแย้งคัดค้านการถือครองที่ดินสาธารณะ คลองชายธง การรุกเข้าทำนากุ้งโดยกลุ่มอิทธิพลและโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก และการออกโฉนดบนพื้นที่สาธารณะอีกหลายแปลง และจับคนร้ายเพิ่มเป็น 5 คน คือนายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว นายธนู หินแก้ว สจ.มาโนช หินแก้ว และอดีตกำนันเจือ หินแก้ว

 

กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาเจริญ บอกว่า ถึงแม้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ามารับทำคดี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อดีเอสไอเข้ามาดูแล ตอนแรกดูเหมือนการทำงานกันอย่างจริงจัง แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็ไม่มีอะไรคืบหน้า คนผิดก็ยังอยู่ในพื้นที่โดยไม่มีการจับกุมใดๆ เลย

 

"อีกทั้งยังมีข่าวบอกว่า มีความพยายามปิดคดีโดยมีการจับกุมเพียงแค่มือปืนเท่านั้น และมีการออกมาพูดว่าทำเท่านี้ก็ดีแล้ว พอเท่านี้แหละ ในส่วนของคดีตอนนี้ มีเพียงแค่นัดไต่สวน อีกทั้งทางศาลได้แจ้งว่า ไม่มีวาระให้ ทำให้คดีนี้จะต้องนำไปพิจารณคดีในปี 2549 ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าในข้อเท็จจริงมันคืออะไร แต่ทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก"

 

กรณ์อุมา บอกอีกว่า จวบจนบัดนี้ ผ่านไป 1 ปี 7 เดือน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย อีกทั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาล เราได้พยายามติดตาม ก็ปรากฏว่า กลุ่มผู้ต้องหาชุดแรกเหมือนมีการออกแบบคดีเสร็จแล้ว นั่นคือ มีการพยายามตัดผู้เกี่ยวข้องที่เหลือทั้งหมดออกไป เพราะฉะนั้น คดีเจริญ ในขณะนี้ มองได้ 2 ส่วน คือ มีการตัดตอนผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างมือปืนกับลูกพี่ที่เป็นคนรับงานมา และกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาใช้จ้างวาน กับผู้บงการ

 

"เจริญได้ทำหน้าที่คัดค้านเรื่องโรงไฟฟ้าร่วมกับชาวบ้าน จนได้รับชัยชนะ ทำให้รัฐบาลต้องสั่งย้ายโครงการไปจากพื้นที่ประจวบฯ และการคัดค้านการออกโฉนดบนที่ดินสาธารณะคลองชายธงในเนื้อที่ทั้งหมด 53 ไร่ นอกจากนั้น เป็นเรื่องของเข้าไปตรวจสอบการบุกรุกการทำนากุ้งในที่ดินสาธารณะคลองชายธง ดังนั้น เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าเรื่องความเป็นนักเลง หรือความขัดแย้งส่วนตัว เรื่องชู้สาว การพนัน อบายมุขต่างๆ นั้นตัดไปได้เลย แต่ก็ยังมีการพยายามที่จะปิดคดีเพียงแค่คนกลุ่มเดียว ซึ่งชาวบ้านนั้นรู้ดีว่า กลายเป็นคนกลุ่มนี้เป็นเพียงคนรับงานมา และสั่งลูกน้องให้ทำงานเท่านั้น แต่ผู้บงการจริงๆ อยู่เบื้องหลัง ยังคงลอยนวล" กรณ์อุมา ย้ำและยืนยัน

 

ในขณะที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ กลับมีการโอนคดีเจริญ ไปที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามเดิม ท่ามกลางความคลางแคลงใจของชาวบ้านบ่อนอกกับระบบศาลยุติธรรมของไทย

 

"ที่ชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการย้ายโอนคดีจากศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาอยู่ที่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ก็เพราะชาวบ้านรู้ดีว่า หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นทนายความ และมีความสนิทสนม มีเครือข่ายอิทธิพล การปฏิสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีในวงการศาลที่ประจวบฯ แต่กลับกลายเป็นว่า ในขณะนี้ ได้มีคำสั่งจากศาลอาญา กรุงเทพฯ ส่งสำนวนคดีเจริญกลับไปที่ศาล จ.ประจวบฯ ตามเดิม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังอย่างมาก ชาวบ้านทุกคนมีความรู้สึกกันว่า ความล่าช้าของยุติธรรม ก็คือความอยุติธรรมนั่นเอง" กรณ์อุมา กล่าวทิ้งท้าย

 

นี่เป็นเพียงบางกรณีตัวอย่างที่ผู้นำชุมชนนักอนุรักษ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สละชีวิตเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่ตัวเองและลูกบ้านร่วมกันดูแลอยู่ ท่ามกลางกระแสของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่จับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใช้อำนาจอันป่าเถื่อนเข้าไปทำลายชีวิตของผู้คนและชาวบ้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อเข้ากอบโกยทรัพยากรในชุมชนและอยู่อย่างต่อเนื่อง ในท่ามกลางนโยบายของรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยที่อ่อนเปลี้ยเสียขาลงไปทุกชั่วขณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท