Skip to main content
sharethis

สิทธิพลเมือง สัญชาติไทยใครกำหนด


คดีแม่อายเป็นคดีที่อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 40 เนื่องจากอยู่ๆ นายอำเภอก็ไปถอนสัญชาติคนพันกว่าคน คดีคนไทยพลัดถิ่นที่ระนอง ก็คือคนไทยจำนวนหนึ่งถูกแบ่งแยกไปอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษและพม่า  แถบเทือกเขาตะนาวศรี แล้วมีความยากลำบากก็หนีมาอยู่แถวจังหวัดระนองจำนวนนับหมื่นคน หัวหน้าของคนกลุ่มนี้ก็ยังพูดภาษาไทยภาคใต้นะครับแต่อาจจะเป็นแบบโบราณนิดหนึ่ง ก็พยายามที่เคลื่อนไหวเพื่อจะให้ได้สัญชาติ ตำรวจหมั่นไส้ก็เลยจับใส่กุญแจข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเราก็หยิบยกประเด็นเรื่องความเป็นคนไทย เนื่องจากว่าในระเบียบราชการก็ดีหรือในสาระบบทางกฎหมายของเราก็ดี มันมีคำว่าสัญชาติ-เชื้อชาติ ก็เอาเรื่องเชื้อชาติมาสู้ว่าไม่ได้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะว่าเขามีเชื้อชาติไทย มีประวัติศาสตร์มีความเป็นมา ต้องสืบพยานสิ่งเหล่านี้มาก ซึ่งในที่สุดศาลจังหวัดระนองก็พิพากษายกฟ้องว่าคนๆ นี้ไม่ถือว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพราะว่าเป็นคนที่มีเชื้อชาติไทยและสามารถพิสูจน์ได้ในทางประวัติศาสตร์ในทางสังคมวิทยา


 


สิทธิชุมชน เรื่องยาก ๆ ที่รัฐไม่อยากคิด


คดีกระเหรี่ยงที่คลิตี้เป็นปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งมีผลกระทบจากเหมืองแร่ตะกั่ว ซึ่งรัฐบาลบอกง่ายนิดเดียวครับการแก้ปัญหาชาวกระเหรี่ยงที่คลิตี้จะง่ายนิดเดียว มีคนอยู่ประมาณ 30-40 ครอบครัวเท่านั้น ก็ย้ายออกจากห้วยคลิตี้ซะ ให้พ้นห้วยจากห้วยที่มีมลภาวะเสีย ก็แก้ได้ก็ง่ายมาก ลงทุนอย่างมากก็ 5 ล้านบาท แต่ปัญหาก็คือว่า คนเหล่านี้ควรจะถูกย้ายหรือเหมืองควรจะรับผิดชอบ สิทธิของชาวบ้านที่อยู่ที่นี่มา 100 กว่าปีอยู่ตรงไหน


 


คดีกระเหรี่ยงป่าผาก คือชุมชนกระเหรี่ยงเขาจะทำไร่ ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยนะแต่เป็นไร่หมุนเวียน ผมว่าบางทีคนกระเหรี่ยงอาจจะอยู่ก่อนคนไทยด้วยซ้ำนะในดินแดนไทย กรมป่าไม้บอกว่าหยุดอยู่ไว้แค่นี้นะ 5 ไร่แค่นี้แหละ อีก 5-6 ไร่ที่เคยหมุนเวียนไปถูกตัดสิทธิ์ จากนั้นก็จับ ที่เลวร้ายมากมีคนหนึ่งเขาก็ป่วย ให้รัฐส่งฟ้องไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเลย บอกให้ตำรวจไปเอาตัวมาวันนี้ เงินประกันตัวแทบไม่มีเลย คัดค้านการประกันด้วย ดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดต่อ หามกันมาศาลนะครับ เจ็บจะตายคนกระเหรี่ยง นี่ก็เป็นปัญหามาก


 


คดีชาวบ้านปากน้ำปราณ(บุรี) อีกคดีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสิทธิชุมชนเหมือนกันซึ่งเป็นประเด็นในวันนี้ ผมคิดว่าเราต้องสู้ก็คือ คดีปากน้ำปราณ ถ้าเราไปเที่ยวชุมชนปากน้ำที่เป็นแม่น้ำหรือคลองแล้วติดต่อกับทะเล มันจะเป็นเขตน้ำขึ้นน้ำลง แถวนั้นมันเป็นโคลน แล้วบ้านชาวบ้านมักจะอยู่เหนือขึ้นไปประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร แล้วก็มีสวนผลไม้บ้าง มีอะไรบ้าง เพราะว่าชาวบ้านทำประมงขนาดเล็กไม่สามารถทำได้ทั้งปี และชีวิตของเขาจะอยู่ได้ต้องมีทั้งพืชไร่พืชสวน อาจจะมีนาผืนเล็กๆ และก็อาชีพประมงขนาดเล็ก ซึ่งแน่นอนว่าการทำอาชีพประมงขนาดเล็กของเขา เขาจะต้องใช้พื้นที่บริเวณปากน้ำเป็นที่ตากแหตากอวน หรือเก็บเรือบ้าง และเพื่อป้องกันขโมยก็ต้องสร้างกระต๊อบเล็กๆ ชั่วคราวเฉพาะใช้บางช่วง อาจจะผลัดกันมาเฝ้า


 


ปรากฏว่าวันดีคืนดี อบต.บอกว่ามันเป็นอุจาดทัศน์ ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว บอกให้ชาวบ้านออกไป และระบุว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ เมื่อชาวบ้านไม่ยอมออกจากที่ดินนั้นก็ถูกจับส่งขึ้นศาล ตอนนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาล ที่เราจะสู้คือว่าถ้าคุณไม่ให้เขาใช้ที่ตรงนั้น ก็คือเขาก็ต้องเลิกอาชีพประมงขนาดเล็ก เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะแบกเรือของคุณไปอีกกิโลครึ่งไปเก็บ มันเป็นวิถีชีวิตของเขาที่มีมาเป็นมาร้อยๆ พันๆ ปีแล้ว แล้วคุณก็บอกว่านี่เป็นที่สาธารณะ คุณต้องออกไป ไม่ออกมีความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ผมก็ไม่ทราบว่าอัยการฟ้องไปได้ยังไง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net