Skip to main content
sharethis


 


โดย บัณรส บัวคลี่


 


การทำสวนสัตว์ หัวใจของมันอยู่ที่ "สัตว์" ไม่ใช่ สิ่งปลูกสร้าง หรืออาคารสถานที่ การเริ่มต้นโครงการไนท์ซาฟารี จำแนกอย่างกว้างที่สุด ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วนหลัก หนึ่ง - งานก่อสร้างอาคารสถานที่ สอง - งานจัดหาสัตว์


 


เวลาผ่านไป 4 ปีเต็มนับจากวันเริ่มคิดทำไนท์ซาฟารีขึ้นมา - ปรากฏว่า จนถึงวันนี้ (ธ.ค.48) อาคารสถานที่แล้วเสร็จไปตั้งแต่กลางปี 2548 มีการรับและฝึกฝนบุคลากรเกี่ยวข้องไปล่วงหน้า แต่ทว่างานจัดหาสัตว์ กลับยังไม่เป็นไปตามเป้า !!


 


จะเถียง หรือแก้ตัวอย่างไรก็เชิญเถิด ...จะบอกว่าไม่สนเคนย่า ไม่แยแสออสเตรเลีย หรือไม่สนใครทั้งโลกก็เชิญว่าไปตามสะดวก... แต่ข้อเท็จจริงก็คือ บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ไนท์ซาฟารี ยังไม่ครบจำนวนเป้าหมาย นั่นคือมีแค่ประมาณ 800 ตัว จากเป้าไม่น้อยกว่า 1,500 ตัว


 


ปริมาณ 800 ตัว มากเหมือนกัน เพราะไนท์ซาฟารีของสิงคโปร์ก็มีประมาณแค่พันตัว แต่เมื่อมาดูชนิด-สายพันธุ์ แล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ที่มีเป็นเพียงสัตว์พื้นๆ พบเห็นตามสวนสัตว์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากกรมอุทยานและจากองค์การสวนสัตว์ มีเอกชนให้มาบ้างเล็กน้อย .. ต่างประเทศยิ่งน้อยลงไปใหญ่


 


คำว่า ซาฟารี ที่คนทั่วโลกเข้าใจกันนั้นอย่างน้อยที่สุดต้องมี บิ๊ก 5 แห่งป่าอาฟริกามาจัดแสดง


ตอบได้เต็มปากไหมว่า บิ๊ก 5 แห่งป่าอาฟริกา ที่เคยลั่นปากแถลงกับนักข่าวอย่างภาคภูมิใจอยู่ตรงส่วนไหนของไนท์ซาฟารี


            .............................


คืนวันที่ 22 ธันวาคม ในรายการถึงลูกถึงคน ทางช่อง 9 อสมท. มีการถกเถียงกันในประเด็นเรื่อง สัตว์จากเคนย่าที่จะเอามาไม่มีอยู่ในรายการ บัญชีแนบท้ายที่ 1 (Appendix1) ของอนุสัญญาไซเตส โดยคุณปลอดประสพ เริ่มเปิดประเด็นว่า การที่คุณ นิคม พุทธา ให้ข่าวในหนังสือพิมพ์ข่าวสดว่า สัตว์ที่จะเอามาจากเคนย่ามีอยู่ในบัญชีนี้นั้นไม่ถูก โดยหยิบเอาสำเนา MOU มาแสดง ยืนยันว่า 175 ตัวที่ทำกันไว้ ..ไม่มี Appendix1!


 


เรื่องเงิน 1 ล้านเหรียญมีการถามด้วย..ยอมแพ้หรือยัง ? อย่างนี้ก็มีด้วยก็ในเมื่อรัฐมนตรีของเคนย่าเขาก็ตอบคำถามนักข่าวของเขาชัดเจนอยู่แล้วว่างานนี้มีเงินบริจาค (Donate) เป็นข้อแลกเปลี่ยน ...


 


โห! พวกท่านบินไปเคนย่าปุ๊บเขาจะประเคนสัตว์ให้เป็นลำเรือโดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยนเลยเหรอ


ดูที.วี.ไปส่ายหัวไป ตูล่ะหน่ายจริง ๆ ..มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้(วะ) !


ขอเรียนตรง ๆ ไปยังผู้เกี่ยวข้องกับโครงการไนท์ซาฟารีทุกท่าน รวมถึงคุณปลอดประสพ สุรัสวดี ด้วยความเคารพ ว่า ... ไนท์ซาฟารีเป็นโครงการใหญ่ ใช้ที่ป่าของประเทศมากกว่า 800 ไร่ ใช้เงินภาษีราษฎรไปแล้ว(และกำลังจะใช้) ร่วม 2 พันล้านบาท เป็นโครงการใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน


 


สมควรอย่างยิ่งที่ผู้รับผิดชอบจะต้อง แถลงถึงปัญหาข้อขัดข้องและความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา


อย่าเล่นลิ้น หรือใช้วิธีการเปิดแบบครึ่งๆ กลางๆ


 


และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงวิธีการโต้วาทีเพื่อเอาผลแพ้ชนะโดยน้ำลายเท่านั้น !!


ผู้เกี่ยวข้องน่าจะแถลงข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาให้ชัด เช่น.....ควรใช้โอกาสนี้อธิบายว่า :-


 


บันทึกความเข้าใจ/ข้อตกลงร่วมมือเรื่องสัตว์ป่า ระหว่างไทยกับเคนย่า นั้นมี 2 ฉบับ


ฉบับแรก- ลงนามวันที่ 2 ธันวาคม 2547 โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ (รวมทั้งคุณปลอดประสพ) เดินทางไปเคนย่า ลงนาม ในบันทึก ความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและสัตว์ป่าของสาธารณรัฐเคนยา


 


เนื้อหาหลัก ไทยจะช่วยเคนย่าในเรื่องช้างและการวิจัย ส่วนเคนย่าจะส่งสัตว์มาไทย 339 ตัว !!


เรื่องนี้เป็นข่าวตามสื่อมวลชนอยู่แล้ว .. เพียงแต่หลายคนอาจจำไม่ได้


ต่อจากนั้น ต้นปี 2548 จึงเป็นที่มาของการทำหนังสือถึง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้เตรียมมาตรการรับสัตว์จากเคนย่าล็อตดังกล่าวนั่นยังไง !!!


           


และต่อจากนั้นอีกในกลางปี 2548 มีการประท้วงและคัดค้านโดยองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรรวมทั้งในเคนย่า ขอให้ระงับการส่งสัตว์กว่า 300 ตัวมาไทย นี่ก็เป็นข่าวไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวต่างประเทศสำคัญๆ ทั้งหมด รวมถึงซินหัวของจีนเองก็หยิบมาเล่น


           


จำได้ไหมครับ ตอนแรก ท่านกำหนดจะเปิดดำเนินการสงกรานต์ 13 เมษายน 2548 แล้วก็เลื่อนออกไป หะแรกพยายามจะให้ทันสิงหาคม และ สุดท้าย 1 มกราคม 2549 (ซึ่งก็ต้องเลื่อนไปอีกอยู่ดี)


           


ทำไมไม่อธิบายประชาชนอย่างตรงไปตรงมาล่ะครับว่า MOU ฉบับแรกนี้นี้มีสัตว์ในบัญชีต้องห้าม เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ในบัญชี Appendix1 ตามอนุสัญญาไซเตส (ยกตัวอย่างแบบสมมติว่าแรดขาวก็แล้วกัน) แต่มีปัญหาถูกคัดค้าน


 


เราจึงต้องไปทำสัญญาฉบับใหม่และลดจำนวนสัตว์ลงมาเกือบครึ่ง จาก 339 เหลือ 175 และตัดบัญชีสัตว์ที่ต้องห้าม-ละเอียดอ่อนออกไป


 


ฉบับที่2- การเดินทางไปเคนย่า เพื่อลงนามข้อตกลงร่วมเรื่องสัตว์ป่า ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 โดยฝ่ายไทยนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนลงนามคือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ


 


ประเด็นหลักคือ เคนย่าจะส่งสัตว์ 175 ตัว 25 สปีชีส์ มาให้ไทย รายละเอียดอย่านึกว่า รัฐถือไว้ฝ่ายเดียวนะครับ โลกทุกวันนี้แคบลง อย่างรายชื่อสัตว์นั้น คณะของนายกฯ ยังไม่เดินทางกลับเลย ผู้สื่อข่าวในไทยก็รู้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แถมรายละเอียดด้วยว่าแต่ละชนิดอยู่ในสถานะไหน เช่น เหลือประชากรสัตว์ชนิดนั้นในเคนย่ากี่ตัว


 


รอบนี้ไม่มีสัตว์ใน บัญชีแนบท้ายที่ 1...จริง !!


 


แต่ถึงกระนั้น ก็ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง ภาพข่าวและรายละเอียดที่ผู้คัดค้านยกขบวนไปดักรอคณะนายกฯ ทักษิณ โห่ฮาอย่างไร อย่านึกว่าไม่มีใครรู้..บอกแล้วไงว่าโลกมันแคบ แค่คลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งก็รู้แล้ว !!


 


เรื่องราวเหล่านี้แหละครับ ที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะอธิบายความเป็นมา ว่าทำไมเราเจอปัญหาเรื่องการจัดหาสัตว์ ทำไมมีการต่อต้าน รอบแรกเป็นเพราะอะไร และรอบสองเป็นเพราะอะไร


 


แต่นี่เล่นมายกประเด็นเถียงว่าคนในภาพเป็นชาวมาไซจริงหรือเปล่า มาไซแท้ต้องแบบนี้ .....มันไม่ใช่สาระเลยครับท่าน !โครงการสองพันล้านในที่ป่าอุทยาน800กว่าไร่ ไม่ใช่รายการตลกเชิญยิ้มอย่างแน่นอน ..นี่คือเงินภาษีและทรัพยากรของส่วนรวม ขอเถอะครับ-ทำให้ชัด-ตรงไปตรงมา-อย่าเปิดครึ่งปิดครึ่ง !


 


ย้อนดูขบวนการจัดหาสัตว์-คำถามล้มเหลวจากอะไร ?


ขอตั้งประเด็นจุดขึ้นมาก่อนว่า กระบวนการจัดหาสัตว์ของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นกระบวนการที่ล้มเหลวมากที่สุด เมื่อเทียบกับกระบวนการอื่นๆ


 


ถ้าตรวจข้อสอบนักเรียน .. ก็กำลังจรดปากกาลังเลว่าจะให้มันสอบตกดีมั้ย !!


ขอย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 เมื่อบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำแผนแม่บท และกำหนดกรอบว่า จะแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 4 ส่วนคือ พื้นที่แสดงสัตว์ล่าเหยื่อ/ พื้นที่แสดงสัตว์ใหญ่ในทุ่งซาวันน่า/ จาร์กัวเทรล/ สวอนเลค รวมสัตว์ 1,311 ตัว


 


ในเอกสารของบริษัทที่ปรึกษาตอนแรกสุดเสนอจะให้ใช้วิธีการเช่าสัตว์มาก่อนในช่วงแรก


แต่ข้อเสนอนี้ถูกเบรคไป ..เพราะผู้มีอำนาจไม่อยากเช่า - อยากซื้อมากกว่า


 


10 กรกฎาคม 2546 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสัตว์ป่า มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายจากทั้งองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ


 


บทสรุปของคณะทำงานชุดนี้เมื่อ 6 มกราคม 2547 คือ ต้องใช้เงินหาสัตว์เพิ่ม 163,074,930 บาท แบ่งเป็นสัตว์จัดซื้อ สัตว์ที่ขอจากกรมอุทยานฯ สัตว์ที่แลกมาจากออสเตรเลีย ปรากฏว่าตอนนั้น โครงการไนท์ซาฟารีเตรียมงบเพื่อหาสัตว์แค่ 35 ล้านบาทเท่านั้น เงินยอดดังกล่าวปรากฏอยู่ในแผนลงทุนที่เสนอเข้าครม. ยอดรวม 1,155,900,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าก่อสร้าง เหลือค่าจัดหาสัตว์แค่ 35 ล้านบาท


 


อธิบายแบบภาษาชาวบ้านก็คือ ตอนแรกคิดแต่จะเอาเงินมาก่อสร้าง ไม่ได้คิดเรื่องสัตว์ให้มากเพียงพอ หรืออย่างน้อยก็ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้น้อยไปหน่อย


 


2547- การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ แต่เรื่องสัตว์ยังวุ่น หาทางลงไปเจอ


28 สิงหาคม 2547 นายปลอดประสพ ขอมติที่ประชุม สสค. เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดหาสัตว์ จากเดิมต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ มาเป็นการเช่าสัตว์จากเอกชนเพื่อที่จะให้เอกชนมาบริหารดูแลสัตว์ดังกล่าวด้วย


 


อาการกลับลำจากเดิมเช่าไม่เอา เอาจัดซื้อ ...กลายมาเป็นซื้อไม่เอา เช่าดีกว่า แสดงให้เห็นถึงข้อปัญหาที่ไนท์ซาฟารีกำลังประสบอยู่ เพราะในเวลานั้นได้มีความพยายามกำหนดวันเปิดไนท์ซาฟารี 13 เมษายน 2548 กันแล้ว


ก็คือเหลือเวลาอีก 6-7เดือนจะเปิด ..ยังไม่รู้เลยว่าจะใช้วิธีใดหาสัตว์


 


ในที่สุด ก็มีการเดินทางไปเคนย่า ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ดังที่ได้ทราบมา แต่ที่สุดแล้ว 1 ปีให้หลัง จนถึงบัดนี้สัตว์จากเคนย่า ก็ยังไม่รู้แน่ว่าจะมาได้จริงหรือไม่ !!


 


เปิดข้อมูลสัตว์ได้หรือไม่ ?


สัตว์ในโครงการไนท์ซาฟารี เป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนพอสมควร เพราะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงการจัดซื้อ-จัดหา และยังเกี่ยวกับ อนุสัญญาไซเตส มีเงื่อนไขที่ทั่วโลกยอมรับกำหนดให้ปฏิบัติตาม


 


ถ้าจะให้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ของสาธารณะ สมควรอย่างยิ่งที่โครงการไนท์ซาฟารีควรจะเปิดเผยรายละเอียดว่า ในบรรดาสัตว์ที่มาจัดแสดงทั้งหมดร่วม 800 ตัวในปัจจุบัน จำแนกเป็นสัตว์จากแหล่งใดบ้าง


 


-ชนิดใด/จำนวนเท่าใด ซื้อขาดมาจากองค์การสวนสัตว์


-ชนิดใด/จำนวนเท่าใด มาจากกรมอุทยาน ฯ และสิทธิในการครอบครองเป็นของหน่วยงานใด


-ชนิดใด/จำนวนเท่าใด เช่ามาจากเอกชน ด้วยเงื่อนไขเช่นไร


-ชนิดใด/จำนวนเท่าใด มาจากการบริจาค


-และชนิดใด มาจากโครงการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ เราเอาอะไรไปแลก !!!


           


คำถาม ?


- ตัวอะไรต่อมิอะไรที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงพอแล้วหรือยังกับเป้าหมายการจัดหาสัตว์ที่ตั้งเอาไว้ เพราะหากต้องการชนิดแปลกประหลาดพิสดาร หายากใกล้สูญพันธุ์ก็ต้องยุ่งกับเงื่อนไขในอนุสัญญาไซเตส และที่สำคัญต้องใช้เงิน (ในทางหนึ่งทางใด) เพิ่มขึ้น


 


-ยังต้องการตัวอะไรอีกบ้าง และ ยังต้องใช้เงินลงทุน(หรือเงินอะไรก็ตามที่ต้องเสียไปเพราะการนี้) อีกจำนวนเท่าไหร่ อย่าลืมว่า นี่เป็นเงินภาษี ประชาชนมีสิทธิ์รู้ เป็นสิทธิ์ชอบธรรม 100% เต็ม


 


-งบประมาณบานปลายจากงบลงทุนเดิม 1,155,900,000 บาท ไปเท่าไหร่แล้ว ... สัตว์คือทรัพย์สินชนิดหนึ่งในทางบัญชี ถ้าต้องหาเพิ่ม ก็คือ การลงทุนเพิ่ม ..ถามว่า โครงการไนท์ซาฟารีแห่งนี้ เมื่อไหร่จะถมเต็ม ..หรือว่า ยังถมไม่เต็ม !!


 


- ถ้าเคนย่า ไม่ได้ หรือ ออสเตรเลีย มีปัญหา ..มีแผนจะทำอย่างไรต่อไป ?


 


คำถามเหล่านี้ถ้าตั้งใจตอบก็ตอบได้ครับ... ไม่ยากหรอก-ขึ้นกับว่าอยากจะตอบหรือเปล่า..แค่นั้นเอง !!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net