Skip to main content
sharethis


โสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ และกรรมการ กอส.
(ภาพจาก www.tjanews.org)


วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2005 14:17น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 "วิเคราะห์ไฟใต้ "49" วันนี้ เป็นมุมมองของ 2 กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นสายสันติวิธีอย่างแท้จริง แต่ทัศนะของทั้งสองค่อนข้างจะสวนทางกับบทความของ ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ กรรมการ กอส.อีกท่านหนึ่ง ซึ่งศูนย์ข่าวอิศรานำเสนอไปเมื่อวานนี้ โดยทั้งคู่เชื่อว่ามาตรการ "บังคับรายงานตัว" จะทำให้ไฟใต้ร้อนระอุยิ่งขึ้นในปีหน้า


 


โสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ และกรรมการ กอส. ประเมินว่า หากมองในแง่ความทุกข์ยากของชาวบ้าน ปีหน้าคงไม่ดีขึ้น แต่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยสำหรับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ก็คือรู้เรื่องมากขึ้น และเดินได้ถูกต้องขึ้น


 


"ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดจากการฆ่าตั้งแต่ปลายปี 2546 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2547 จนไปสร้างแนวร่วมให้กับโจร  โจรเหล่านี้ได้ใช้ความขมขื่นในอดีตในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนและเรื่องศาสนามาผสมในการเคลื่อนไหว"


 


"ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องปราบโจรผู้ร้ายด้วยการจับกุม พร้อมๆ กับปราบศาลเตี้ยที่อุ้มฆ่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้คนศรัทธาในความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ และขจัดความหวาดกลัวต่อโจรผู้ร้ายไปพร้อมกัน" ส.ว.กรุงเทพฯ ระบุ


 


โสภณ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้ต้องชื่นชมว่าทัศนคติของ พล.อ.สนธิ  บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นทิศทางที่เข้าใจว่ามากกว่า 99% ของคนภาคใต้นั้นเป็นคนดี ซึ่งจะต้องแยกและคุ้มครองพวกเขาออกจากโจรก่อน


 


ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สามารถสร้างความศรัทธาที่เลวร้ายกลับคืนมาจากชาวบ้านได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องทำอย่างน้อย  2  เรื่อง คือ


 


1.จะต้องสร้างความยุติธรรม ขจัดเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่ "อุ้มฆ่า" ในอดีต หรือ "ซุ่มฆ่า" ในปัจจุบันอย่างชัดเจน เมื่อทำได้อย่างชัดเจนแล้ว ชาวบ้านก็จะเริ่มมีความศรัทธาและกล้าให้ข่าว  ก็จะสามารถจับโจรได้มากขึ้น ชาวบ้านจะหลุดพ้นจากความกลัว มีศรัทธาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ


 


2.ต้องให้ภาคพลเรือนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่ขณะนี้โครงสร้างยังไม่อำนวย เมื่อก่อนมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีภาคพลเรือนเป็นผู้นำ  จะต้องอยู่ และเดินในพื้นที่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวัด  มัสยิด หรือหมู่บ้านทุกๆ วัน และต้องทำให้ชาวบ้านทุกคนเป็นเพื่อนที่รู้จักกัน


 


"คุณเจริญกิจ  ณ สงขลา ผอ.ศอ.บต. เมื่อ 25 ปีก่อน ได้ทำให้เหตุการณ์ร้ายแรงในภาคใต้ลดลงอย่างรวดเร็ว ท่านทำอยู่ 2 เรื่อง คือย้ายและลงโทษข้าราชการที่ไม่ดีกว่า 200 คน  กับขจัดศาลเตี้ย จนทำให้เกิดความร่วมมือ"


 


"ท่านเดินลงไปในหมู่บ้านทุกวัน คำหนึ่งที่ท่านเคยพูดคือ...ถ้าเราและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เดินลงไปในหมู่บ้านทุกวันและทุกคืน อีก10 ปีข้างหน้าเราจะไม่มีพื้นดินให้เดิน...นั่นหมายถึงว่าการสร้างองค์กรในพื้นที่ให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด" โสภณ กล่าว


 


เขายังกล่าวถึงนโยบายการขึ้นบัญชีรายชื่อชาวบ้าน แล้วเรียกให้ไปรายงานตัว ก่อนนำตัวไปเข้าอบรม ว่า ถ้านโยบายนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในภายภาคหน้า อาจจะเกิดการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เพราะนโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายช่วยเหลือประชาชน แต่เป็นการแยกประชาชนไปเป็นศัตรูจนหมด 


 


"อย่าลืมว่าจะต้องแยกน้ำและป้องกันน้ำก่อน ปลาถึงจะตาย เพราะถ้าไม่มีการแยกน้ำออกจากปลา แล้วฆ่าปลาโดยยังไม่แยกออกจากน้ำ จะก่อให้เกิดภาวะน้ำเสีย สกปรก  ประชาชนผู้บริสุทธิ์จะถูกทำร้ายมากขึ้น แนวร่วมก็มากขึ้น  ขณะนี้แม่ทัพกลัวน้ำเกินไป ความจริงแล้วต้องใช้พลเรือนนี่แหละในการแก้ปัญหา เพราะข้อมูลที่เป็นความจริงอยู่ที่ประชาชน" เขากล่าว


 


ด้าน นารี  เจริญผลพิริยะ หนึ่งในกรรมการ กอส. และประธานโครงการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเมินว่า หากพิจารณาในบริบทของภาคประชาชน เท่าที่สังเกตอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พบว่าไม่ดีขึ้นเลย


 


"ตอนนี้ชาวบ้านสุขภาพจิตแย่ลง ความเครียดมากขึ้น โดยเกิดจากการจับกุมและการบังคับรายงานตัว ถ้าสิ่งที่รัฐบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วเป็นความจริง ความรุนแรงน่าจะคลี่คลาย และความเครียดลดลงบ้าง"


 


เธอยกตัวอย่างว่า อย่างเหตุการณ์ที่ชาวบ้านจับครูที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อเร็วๆ นี้นั้น บางคนอธิบายง่ายๆ ว่า ชาวบ้านถูกหลอก แต่ถ้าดูให้ดีแล้ว ทุกครั้งที่เกิดอะไรขึ้น  รัฐจะสันนิษฐานว่าประชาชนเป็นผู้กระทำตลอด แล้วก็มีการจับชาวบ้าน  ในขณะที่ประชาชนเชื่อว่ารัฐเป็นคนกระทำ 


 


ดังนั้นในความรู้สึกของชาวบ้านจะเกิดความรู้สึกไม่ชอบธรรม ก็เลยมีการป้องกันตนเองด้วยการไปจับครู เพื่อให้ชาวบ้านที่ถูกจับได้รับการปล่อยตัว  เหตุการณ์ลักษณะนี้ถือว่า สถานการณ์ประชาชนนั้นแย่ลงมากๆ  เพราะการที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ก็เท่ากับว่าชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรง


 


สำหรับสถานการณ์ของฝ่ายรัฐนั้น นารี มองว่า เมื่อรัฐจับตัวผู้กระทำผิดได้มากขึ้น ก็มองว่าผลงานของตนเองดีขึ้น  ดังนั้นเมื่อประเมินทั้งสองทางระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว มันสวนทางกัน


 


"อยากให้รัฐบาลตระหนักเรื่องการจับกุมคนผิด อย่าจับก่อนแล้วมาหาหลักฐานทีหลัง เช่นกรณีตันหยงลิมอ ที่มีการฝากขังถึง 7 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน โดยอ้างว่าหลักฐานไม่พอ"


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net