Skip to main content
sharethis

24 ธันวาคม 2548 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)ได้เสนอบทวิเคราะห์การเมืองประจำปี 2548 โดยชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ตลอดปีนี้และชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเมืองไทยในอนาคตว่าผลประโยชน์และความร่ำรวยยังคงตกอยู่กับคนในรัฐบาลเพียงไม่กี่คนเช่นเดิม แต่จะเป็นปีที่ประชาชนจะลุกฮือขึ้นทวงสิทธิ์ปฏิรูปการเมือง ส่วนประชาชนทั่วไปจะยิ่งจนหนักกว่าเดิม ขณะเดียวกันยังตั้งฉายารัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอย่างเจ็บแสบ


       


ครป.ระบุว่าสถานการณ์การเมืองปี 2548 อำนาจทางการเมืองยังรวมศูนย์กลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดยังสามารถจัดสรรผลประโยชน์ภายใต้ร่มเงารัฐบาลทักษิณได้อย่างลงตัว เกาะกลุ่มและก่อรูปเป็นธนกิจการเมือง และเดินหน้าแผ่ขยายอิทธิพลควบคุมภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลทักษิณสมัยแรก กลุ่มทุนธุรกิจขาประจำยังมีอิทธิพลบงการกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของชาติทั้งเมกะโปรเจก หรือการแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศแยกไม่ออกระหว่างอุดมการณ์ชินนิยมกับชาตินิยม อำนาจทางการเมืองยังคงเดินหน้าเพิ่มมูลค่าหุ้นให้คนในรัฐบาลแข่งกันรวยหุ้น แต่คนยากคนจนยังแข่งกันเสี่ยงโชคซื้อหวย


      


พลังถ่วงดุลตรวจสอบเริ่มได้รับการฟื้นฟูมีพื้นที่ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมากขึ้น เช่น บทบาทของฝ่ายตุลาการทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรมเปิดทางให้ระบบถ่วงดุลเริ่มกลับเข้ามามีพื้นที่ เช่น กรณีศาลปกครองการสั่งระงับการกระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ. หรือกระบวนการสรรหา กสช. และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีอาญาหลายๆ กรณี ส่งสัญญาณกระตุกอำนาจที่ล้นระบบของฝ่ายบริหาร กระนั้นก็ตามอำนาจรัฐภายใต้รูปโฉมธนกิจการเมืองก็ยังเดินหน้าตามอัตลักษณ์เดิมก้าวร้าวและท้าทายพลังต่างๆ ต่อไป


       


ในขณะเดียวกันพลังนอกสภาเริ่มก่อตัวทวงถามและเรียกหาระบบถ่วงดุลตรวจสอบทางการเมืองมากขึ้นด้วยการส่งสัญญาณผ่านการเลือกตั้งซ่อม 4 เขต และปรากฏการณ์สนธิ "กลัวจนกล้า" ถือเป็นปัจจัยเร่งเร้าอันสำคัญทำให้ระบบเปิดโปงความฉ้อฉลของรัฐบาลทำงานอย่างมีพลังและตกผลึกในระดับที่พร้อมพัฒนาเป็นขบวนการเปิดโปงระดับชาติได้ต่อไปในปีหน้า


      


กล่าวโดยสรุปแม้เป็นขาลงของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแต่ก็ยังไม่ใช่ขาขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคการเมืองฝ่ายค้านในแบบฉบับการเมืองเก่า ด้วยเหตุที่การเมืองได้ขยายพื้นที่รองรับการเมืองนอกสภาและการเมืองภาคประชาชนหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก่อตัวจากปัญหาปากท้องและฐานของการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มากขึ้น พรรคการเมืองในความหมายเก่าจึงเริ่มเสื่อมอย่างพร้อมเพียง


      


โฉมหน้าการเมืองไทยปี 2549


      


อำนาจของธนกิจการเมืองเริ่มขาดความชอบธรรม นโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้นำจะถูกสังคมหารด้วยสอง เพื่อกลั่นกรองและจับแยกผลประโยชน์ครอบครัวของผู้นำออกจากผลประโยชน์ส่วนรวม ฐานการเมืองของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย 19 ล้านเสียง จะเริ่มเปลี่ยนใจหนุนรัฐบาล เพราะความลวงของนโยบายประชานิยมปรากฏชัดขึ้น


      


กลุ่มคนยากนจนคนระดับล่างจะก่อตัวทวงถามรูปธรรมการแก้ปัญหาความยากจนที่ยังไม่ปรากฏทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติการ ในขณะเดียวกันกระแสการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 จะได้รับการขานรับจากสังคมทั่วไปมากขึ้น หลักประกันการมีส่วนร่วมและสิทธิทางการเมืองของภาคประชาชนจะเป็นโจทย์ใหญ่เพื่อทลายการเมืองแบบผูกขาด


      


ด้วยเหตุดังนั้นปีหน้าจะเป็นปีแห่งการลุกฮือขึ้นและประกาศเจตจำนงทางการเมืองในหลายระดับและหลายๆ มิติบ้างทวงถามสัญญาประชาคม บ้างตรวจสอบ บ้างต่อต้าน กระทั่งส่งสัญญาณไม่เอารัฐบาลจะก่อตัวมีการจัดตั้งมีแกนนำมีขบวนการชัดเจนขึ้น ซึ่งมีโอกาสหลอมหลวมเป็นพลังทางการเมืองที่พร้อมขับไล่รัฐบาลได้เช่นกัน


      


"ม็อบจัดตั้ง" อาจเป็นไม้ตายที่รัฐบาลเลือกเพื่อรับมือหรือจัดการกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนด้วยกันเองมีโอกาสเกิดขึ้นสูง 19 ล้านเสียงจะเป็นวาทกรรมการเมืองที่คนในรัฐบาลแย่งกันพูดเพื่ออ้างความชอบธรรมลวงของรัฐบาล


      


จุดผันแปรที่สำคัญทางการเมือง


ต้องจับตาอย่ากระพริบการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาลมีลักษณะกล้าได้กล้าเสียเดิมพันกับอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลมากขึ้น ผลประโยชน์ของพรรคและพวกจะถูกนำมาบวกลบคูณหารกับระยะเวลาความชอบธรรมที่เหลืออยู่ ดังนั้นเมกะโปรเจก หรือโครงการต่างๆ อาจผุดขึ้นพร้อมกันทั้งระบบในลักษณะทิ้งทวนเพื่อแลกกับความเสื่อมหรือขาลงของรัฐบาลที่กู่ไม่กลับ


      


โอกาสฮั้วสัมปทานรถไฟฟ้า 10 สาย ด้วยการแบ่งงานตระกูลละสายให้ครบ 10 ตระกูลในรัฐบาลเป็นไปได้เช่นกัน ปีหน้าถ้าอยากอยู่ต่อหรือจะกอบกู้ขาลงจริง คงต้องเร่งปลดภาพอัปลักษณ์ดังนี้


      


- ผลประโยชน์ทับซ้อน


- การคุกคามควบคุมสื่อ


- ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน


- ขายรัฐวิสาหกิจ


- ปัญหาความยากจน


ฯลฯ


 


แต่ด้วยโครงสร้างอำนาจและความคิดของรัฐบาลธนกิจการเมือง โอกาสและความเป็นไปได้ยังอยู่ในระดับยากเย็นแสนเข็ญผลประโยชน์ทับซ้อนจะยิ่งเพิ่มทวีคูณคู่ขนานกับการกำเนิดเมกะโปรเจก หากสถานการณ์ดำรงอยู่เช่นนี้สังคมจะพัฒนาข้อเรียกร้องจากการปลดภาพลักษณ์เป็นปลดหรือเปลี่ยนตัวรัฐบาลแทน


      


นอกจากนี้ยังได้ตั้งฉายาการเมืองประจำปี 2548 ดังนี้


 


1.รัฐบาลงาบ


"งาบ" หมายถึงอาการอ้าปากกว้างกินเหยื่อคำโต สะท้อนการคอรัปชั่นที่แปรจากโคตรโกงเป็นโกงทั้งโคตร แปรจากโครงการรัฐธรรมดาเป็นเมกะโปรเจ็กต์หรือโครงการระดับแสนล้านบาท อาการโกงกินแบบมูมมามจึงมักไม่เห็นเท่ากับอาการกินแบบงาบ


 


2.นายกรัฐมนตรีเหลี่ยมหด


"เหลี่ยมหด" หมายถึงเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งเหลี่ยมทางการเมืองของท่านผู้นำยังแพรวพราวและซ่อนเงื่อนปมมากขึ้น วิสัยทัศน์หรือนโยบายแฝงฝังไปด้วยวาระซ่อนเร้นทั้งผลประโยชน์คนใกล้ชิดและคะแนนนิยมทางการเมือง ในระยะหลังสังคมเริ่มจับได้ทำให้ท่านผู้นำต้องยอมมุ้งวังต่างในพรรคและกลุ่มการเมืองอำนาจเก่ามากขึ้น


      


3.สภาผู้แทนราษฎร สภานายจ้าง


"สภานายจ้าง" หมายถึงทำงานโดยเอาความพึงพอใจของนายจ้างหรือเจ้าของโรงงานเป็นที่ตั้ง ขาดความเป็นอิสระและยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชนหรือส่วนรวมน้อยเกินไป


      


4.วุฒิสภา สภาชินชา


"สภาชินชา" หมายถึงแม้เป็นวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งไม่สังกัดพรรค แต่ยังไม่มีหลักเชื่อถือ ทำให้ประชาชนชินชาซ้ำซากกับความผิดหวัง ประกอบกับบทบาทของประธานวุฒิสภาถูกสังคมเรียกว่าสุชิน ด้วยเหตุที่มีความโยงใยใกล้ชิดกับคนในตระกูลชิน


      


วาทะเด็ดแห่งปี


"จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อย ต้องเอาไว้ทีหลัง"


(วันที่ 31 ต.ค.2548 เวลา 13.00 น.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบหนังสือแสดงสิทธิสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับประชาชนตามโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ ที่หอประชุมโรงเรียนบรรพตพิทยาคม อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์)


 


……………………………


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net