Skip to main content
sharethis

tjaicon1.gif


        ในห้วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และใกล้จะครบ 2 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน อันเปรียบเสมือนปฐมบทแห่งความรุนแรงรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ขอนำเสนอมุมมองของฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ไฟใต้ในปี 2549 ซึ่งคนไทยทั้งประเทศกำลังลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้น ทรงตัว หรือเลวร้ายยิ่งกว่าเก่า...


thumb_ahmhud.jpg


         ทั้งนี้ รูปแบบการนำเสนอจะมีทั้งสัมภาษณ์พิเศษ สกู๊ป และบทความ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (21 ธันวาคม) เป็นต้นไป และผู้ทรงคุณวุฒิท่านแรกที่จะมาวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ไฟใต้ในปีหน้า ก็คือ อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)


         ประเมินสถานการณ์ไฟใต้ในปีหน้าอย่างไรบ้าง


        อัฮหมัด สมบูรณ์- เรื่องนี้ต้องมองเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมือง เพราะในช่วงต้นปีหน้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ 3 จังหวัดชายแดนก็จะเป็นสนามประลองของบรรดาช้างสารที่โดดเดี่ยวและเป็นโขลง แต่ทุกเชือกและทุกโขลงต่างมีสังกัด


        เมื่อบรรดาช้างใหญ่เหล่านี้ลงสนามรบ ทุกหย่อมหญ้าจะกลายเป็นเหยื่อที่จะต้องแหลกราญป่นปี้ ทุกคนทุกค่ายต่างจะต้องงัดกลยุทธ์สารพัดไม่แตกต่างกับการเลือกตั้งทั่วไป แต่การเลือก ส.ว.จะโฉงฉ่างจนน่าเกลียดไม่ได้ เพราะมีกฎหมายมาเป็นหมอนไม้มาขวางทาง


          สำหรับสังคมมุสลิม ถึงแม้จะมีผู้สมัครหลายคน แต่การขับเคลื่อนของพรรคการเมืองใหญ่ของประเทศอย่างน้อย 2 พรรค ได้ประลองฐานกันแล้วเป็นเบื้องต้นจากการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา


         ผลที่ออกมาก็คือ พรรคใหญ่ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลครองเสียงข้างมากในคณะกรรมการอิสลามประจำ 3 จังหวัด และคาดว่าจะเป็นผู้กุมกลไกคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ส.ว.ค่อนข้างมาก  แต่การเมืองในระดับชาวบ้านเขาเลิกยาก เลือกตั้งเสร็จแล้วความรู้สึกของผู้แพ้ผู้ชนะ ยังจะต้องเรียนรู้กันอีกมาก


         แนวโน้มของการเลือกตั้ง ส.ว. จะส่งผลต่อสถานการณ์ความรุนแรงอย่างไร


         อัฮหมัด สมบูรณ์ - ผมคิดว่าหากรัฐบาลนิ่งและเป็นกลาง ไม่ใช่ปากว่าตาขยิบ และปล่อยให้การขับเคลื่อนในการเลือกตั้ง ส.ว.เป็นไปตามธรรมชาติ ก็จะส่งผลแน่นอน


         เช่น เปิดให้มีเวทีปราศรัยหาเสียงอย่างเต็มที่ของผู้สมัคร ให้เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป โดย กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) อาจจะต้องแก้ไขระเบียบข้อกฎหมาย เพื่อให้นักการเมืองทั้งหลายได้แสดงความคิดเห็น พร้อมเสนอวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งถ้าเปิดเสรีได้อย่างนี้ ผมว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะทุกคนจะมีเวทีที่ได้พูด


thumb_fire2.jpg


         ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องหยุดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เป็นการชั่วคราวหรือถาวร เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยมันเดินหน้าได้โดยไม่สะดุด อันจะเป็นส่วนสำคัญให้คนท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่างๆ ได้มีพื้นที่และเวทีของตนเองบ้าง


           ผมคาดเอาไว้ว่าถ้ารัฐบาลยอมดำเนินการดังกล่าวนี้ คือเปิดเวทีให้ได้แสดงความคิดเห็นกันมากๆ ความรุนแรงจะเบาบางลงอย่างน่าใจหาย


          เหตุการณ์ความไม่สงบมีพัฒนาการของมันบ้างหรือไม่ และถ้ามี ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป


          อัฮหมัด สมบูรณ์ - ผมมองว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายรัฐยังติดตามการเคลื่อนไหวและการขับเคลื่อนของผู้ก่อความไม่สงบอย่างเชื่องช้า อืดอาด ยืดยาด ขาดเอกภาพอย่างหนัก ไม่สมดุลกับจำนวนกองกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องไม่เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด รวมทั้งงบประมาณจำนวนมหาศาล


         ทั้งหมดนี้เป็นจุดอ่อนของระบบราชการไทยในยุคที่มีผู้นำรับผิดชอบเพียงผู้เดียว ทำให้บรรดาลิ่วล้อและกลไกที่อยู่ระดับล่างต้องกระทำทุกอย่างเพื่อให้ถูกใจนาย และใกล้ชิดนาย มากกว่าจะคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง


thumb_fire1.jpg


         ข่าวคราวความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่าจะค่อยๆ เบาบางลงในพื้นที่ของสื่อส่วนใหญ่ แต่จะสวนทางกับความเป็นจริงในพื้นที่ กล่าวคือจะมีเหตุการณ์การกล่าวหา การจับกุม การอุ้ม ฆ่ามากขึ้น ทั้งที่เป็นผู้ต้องสงสัย ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนคนทั่วไป


         ขณะเดียวกันการโจมตี การลอบวางระเบิดเพื่อทำลายสถานที่ราชการและทรัพย์สินของพลเรือนจะไม่ลดลง ทั้งยังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นถี่และท้าทายมากขึ้นด้วย
 
          อะไรคือปัจจัยหรือเงื่อนไขที่ทำให้มองว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้น


          อัฮหมัด สมบูรณ์ - จริงๆ แล้วปัจจัยและเงื่อนไขสงครามที่ถูกสร้างขึ้นหรือเป็นไปอย่างอัตโนมัติโดยผู้ก่อความไม่สงบนั้น ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย คือปล่อยให้ความเละเทะของระบบราชการทำลายตัวเอง


        เช่น การแก้ไขปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ผักชีโรยหน้า เชลียร์อย่างออกหน้าออกตา ชอบใช้สื่อเป็นเครื่องมือ การเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก คอรัปชั่นกันอย่างมโหฬารในทุกระดับ ทุกประเภทและทุกโอกาส ขณะที่การแก้ปัญหาพื้นฐานอื่นๆ กลับละเลยและไม่ให้ความสำคัญ


          ปัญหาพื้นฐานที่ว่ารัฐบาลยังคงละเลย มีอะไรบ้าง


          อัฮหมัด สมบูรณ์ - ปัญหาพื้นฐานที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขก็คือ การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม  การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่ยังล้าหลัง และดูแลประชากรที่อาชีพของพวกเขายังต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ท้องทะเล หรือภูเขา ขณะที่การพัฒนากลับมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่มีคนกลุ่มน้อยได้ผลประโยชน์ แต่มองคนท้องถิ่นเป็นเพียงแรงงานไร้ฝีมือ


      ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย จะมีผลต่อสถานการณ์ไฟใต้ในปีหน้าด้วยหรือไม่


         อัฮหมัด สมบูรณ์ - ผมมองว่ากระบวนการทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย ยังอยู่ในภาวะคบหากันแบบไม่สนิทใจ ไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวง ที่สำคัญรัฐบาลไทยยังไม่ทำให้ "คนไทยมลายู" ที่ทำมาหากินในมาเลเซียไว้ใจ เชื่อใจ


         ถ้าภาวการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงเป็นไฟสุมขอนที่มีเชื้อไฟอันร้อนระอุอยู่เสมอ เมื่อผนวกเข้ากับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ก็จะเป็นหายนะอย่างใหญ่หลวงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศในปีใหม่ที่จะมาถึง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net