Skip to main content
sharethis

ตลาดโบราณ "ศาลเจ้าโรงทอง"


วิถีชีวิต ชุมชนดั้งเดิม แห่งเมืองวิเศษไชยชาญ


 


โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกวุฒิสภา


 


 


-1-


เช้ามืดของวันที่ 6 ธันวาคม เวลาประมาณตีสาม ผมถูกปลุกขึ้นมาด้วยเสียงโทรศัพท์


 


เสียงจากปลายสายบอกข่าวร้ายว่า ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ชุมชนบ้านเกิดของผมกำลังถูกไฟไหม้เป็นบริเวณกว้าง บ้านของผมและอีกนับร้อยหลังคาเรือนวอดวาย ผมใจหายวาบ เพราะเคยคิดนึกกังวลอยู่ก่อนว่า วันหนึ่ง หากไฟมาเยือน ตลาดโบราณชุมชนริมแม่น้ำน้อยที่ผมเคยใช้ชีวิตมาตั้งแต่เกิดจนโต คงจะต้องดับสูญ


 


55 ปี ของชีวิตผม อยู่มาได้ไม่ถึงครึ่งของชีวิตชุมชน "ศาลเจ้าโรงทอง" ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอวิเศษไชยชาญ ที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตชนบทของไทย เมื่อกว่า 100 ปี มาแล้ว ชุมชนแห่งนี้จึงสะท้อนเอกลักษณ์ของจีนผสมไทย ไว้อย่างลงตัวน่าสนใจ


 


-2-



 



           


ย้อนทวนความทรงจำเมื่อยังเล็ก ผมจำได้ว่า แม่จะจัดกระเป๋า ตระเตรียมของฝาก ซึ่งส่วนมากจะเป็นไข่เป็ดลงในกล่องกระดาษ และแต่งตัวให้ผมตั้งแต่ตอนบ่าย เพราะเวลาประมาณบ่าย 3 โมง เรือแดง เรือสองชั้นที่วิ่งมาจากสิงห์บุรี โพธิ์ทอง จะล่องมาถึงท่าตลาดศาลเจ้า เพื่อมุ่งหน้าเข้าบางกอก เพราะถ้าพลาดเรือที่วิ่งวันละเที่ยวเดียวแล้วละก็ หมายความว่าผมหมดช่องทางเดินทางเข้าบางกอกในวันนั้นเลย


 


เรือโดยสารเป็นเรือ 2 ชั้น ชั้นบนสำหรับคนโดยสาร และชั้นล่างจะเอาไว้ขนส่งเป็ด ไก่ ปลา ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรเข้าไปขายที่บางกอก ผู้โดยสารหลายสิบคนจะนั่งนอนบนชั้น 2 ของเรือ เอกขนกอยู่บนผืนเสื่อที่เรือจัดเตรียมไว้ให้ ถึงเวลานอน ก็นอนเรียงแถว หันศีรษะเข้ากลางลำเรือทั้ง 2 ข้าง ซ้าย-ขวา ส่วนขาก็จะชี้ออกไปที่กาบเรือ


 


เมื่อเรือออกเดินทางจากตลาดศาลเจ้าโรงทอง จะล่องไปตามแม่น้ำน้อย ผ่านสี่ร้อย บางจัก คลองขนาก ก่อนจะไปหยุดรับคนและสินค้าที่อำเภอผักไห่ อำเภอบ้านแพน (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) หลังจากนั้นก็แล่นตามแม่น้ำเจ้าพระยา กว่าจะผ่านลานเท ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยากว้างที่สุดก็เป็นเวลาดึก ทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมาบนเรือกลางดึก จะรู้สึกอ้างว้าง เพราะมองเห็นฝั่งไกลลิบ นานๆ จะเห็นแสงตะเกียงริบหรี่ ยิ่งบางครั้งที่ต้องเดินทางกลางฝนและลมแรง พวกเราจะต้องช่วยกันรีบดึงผ้าใบที่ม้วนอยู่มาปิดข้างเรือ กันฝนสาด ไม่เช่นนั้นก็คงได้หนาวกันทั้งลำ


 


เรือจะล่องมาถึงท่าเตียน ตรงข้ามวัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) ในตอนประมาณตีห้า


 


ในยามนั้น การเดินทางทางเรือ เป็นยานพาหนะเดียวที่คนศาลเจ้าโรงทองใช้ เด็กในวัย 5 ขวบอย่างผม ก็อดจะตื่นเต้นไม่ได้กับการเดินทางไกล โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องไปถ่ายปัสสาวะที่ห้องสุขาข้างเรือ ซึ่งเป็นห้องไม้ยื่นออกไปตอนท้ายเหนือหางเสือเรือ และเมื่อมองลงไปในร่องไม้ ก็จะเห็นใบพัดเรือพัดปั่นสายน้ำเป็นฟองสีขาวกระจายอยู่เบื้องล่าง เด็กตัวเล็กๆ จึงต้องกลัวลื่นตกลงไปเป็นที่สุด


 


ผมจะเก็บท้องไว้ ไม่ยอมกินอาหารเย็นที่แม่ใส่ปิ่นโต เตรียมไปกินบนเรือ แต่จะคอยซื้อข้าวแกงจากแม่ค้าที่พายเรือสามปั้นมาขายที่เรือของเราในตอนพลบค่ำ โพล้เพล้ ที่ตลาดบ้านแพน ใช่ว่ารสชาติของข้าวราดแกงจะอร่อยวิเศษเลิศเลอ แต่ผมตื่นเต้นที่จะได้กระทงใบตองที่ใส่ข้าวราดแกง เพราะเมื่อกินเสร็จ ก็จะได้ลอยกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นความสุขของลูกชาวบ้านชนบทอย่างผมในเวลานั้น


 


-3-


 




 


"ศาลเจ้าโรงทอง" ในเวลานั้น เป็นทั้งชื่อของตลาด ชื่อของชุมชน และชื่อของตำบลที่มีคนจีนและไทยผสมอยู่ริมแม่น้ำน้อย แม่ของผมเคยเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่แม่ยังเล็ก ก็อาศัยอยู่กับยายในเรือนแพริมแม่น้ำน้อย และเมื่อแต่งงานอยู่กินกับพ่อที่เป็นครูประชาบาล ก็มาอยู่ที่ห้องแถวไม้ ที่ตลาดกลาง เพื่อขายหนังสือเรียน และเครื่องเขียนสำหรับนักเรียน ตั้งชื่อร้านขายหนังสือว่า "ร้านประชาบาล"


 


ชีวิตของผมเริ่มต้นที่ "ร้านประชาบาล" เกิดและเติบโตในชุมชนชนบทริมน้ำ คุ้นเคยกับการเดินทางด้วยเรือ ตลาดศาลเจ้าโรงทองมีท่าเรืออยู่ 3 ท่า คือ ท่าตลาดเหนือ ท่าตลาดกลาง และท่าตลาดใต้ ทั้ง 3 ท่า อยู่ติดกัน เดินถึงกันง่ายดาย แต่ละท่าก็จะมีเรือ 2 ชั้น แล่นเข้ามาจอดรับคนและสินค้า แยกจากกัน คือ มีเรือเขียว แล่นมาจอดที่ตลาดเหนือ เรือแดงจอดที่ตลาดกลาง และเรือสีเลือดหมูจอดที่ตลาดใต้ ผมนิยมเดินทางด้วยเรือแดงก็เพราะบ้านผมอยู่ตลาดกลางนั่นเอง


 


ในแต่ละท่าเรือ ก็จะมีถนนดินเป็นช่องทางเดินตั้งฉากกับลำน้ำ และสองข้างถนนดินก็จะมีเรือนไม้ 2 ชั้น เรียงรายไปตามทางเดิน(ถนนดิน) และกลางถนนก็จะมีหลังคาคลุมถนนดินไว้กันแดดและฝนอีกด้วย


 


ยามเช้าตรู่ ชาวบ้านซึ่งจับปลาได้หลากชนิด ปลากด ปลาช่อน ปลาค้าว ปลาดุก ปลายกราย ปลาหางแพน ฯลฯ รวมทั้งกุ้งแม่น้ำตัวโต ๆ ผักทุกชนิด บรรทุกเรือพายเข้ามาขาย โดยขึ้นที่ท่าน้ำ และนำขึ้นมาขายบนถนนดินที่มีหลังคาคลุม


 


เมื่อขายได้เงินก็จะซื้อเสื้อผ้า เครื่องใช้ จากตลาดศาลเจ้าฯ กลับบ้าน เช่นเดียวกับเรือ 2 ชั้นที่วิ่งเข้าบางกอก เมื่อส่งสินค้าเกษตรที่ท่าเตียนแล้วก็บรรทุกเสื้อผ้า เครื่องใช้ หนังสือเรียน และคนโดยสาร กลับมาถึงตลาดศาลเจ้าโรงทองตอนเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น


 


ตลาดศาลเจ้าโรงทอง จึงเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าในชุมชนชนบทรอบข้าง ตลอดมา


 


- 4 -


ตกเย็น ชาวตลาดจะลงมาที่ท่าน้ำ เพื่ออาบน้ำ ล้างจาน ซักล้าง คนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น ก็ฝึกหัดว่ายน้ำในแม่น้ำหรือลำคลองที่แยกจากแม่น้ำ เมื่อว่ายน้ำเก่งแล้ว การว่ายไปเกาะเรือพ่วงก็เป็นกีฬาที่ท้าทาย ตื่นเต้นยิ่งนัก เพราะจะต้องว่ายออกไปจับสายเชือกที่พ่วงระหว่างเรือเอี้ยมจุ้น เลือกเรือที่ลากทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือ เพื่อว่าเวลาปล่อยจะได้ลอยคอล่องน้ำกลับบ้านได้ เมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็ตักน้ำกลับขึ้นไปใช้ในเรือนแถวไม้ แยกตุ่ม (โอ่ง) น้ำใช้และน้ำกินออกจากกัน แล้วบรรจงใช้สารส้ม กวนน้ำให้ใส แยกตะกอนให้ตกอยู่ใต้พื้นโอ่ง


 


ผมเกิดได้ไม่กี่ปี ตลาดศาลเจ้าโรงทองก็มีไฟฟ้าใช้ แต่เป็นไฟฟ้าที่เกิดจากเครื่องปั่นไฟที่ขายไฟฟ้าให้ชาวตลาด ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ในยามที่ไม่มีไฟหรือไฟฟ้าดับ ตะเกียงลาน (ตะเกียงมีลานหมุนพัดลมเล็กๆอยู่ด้านล่าง) ก็เป็นที่นิยม เพราะสามารถได้แสงสว่างและสามารถวางหม้อเล็กๆ สำหรับต้มน้ำ หรือต้มไข่หวานกินในยามค่ำคืนได้


 


- 5 -


ตั้งแต่เด็ก ผมเคยสงสัยว่า ทำไมถึงเรียกชุมชนที่นี่ว่า "ศาลเจ้าโรงทอง" พี่สาวและพี่เขยที่อายุโตกว่าผมเกือบ 15 ปี เล่าให้ฟังว่า ก็เพราะที่นี่มีศาลเจ้าของชาวจีน ตั้งอยู่ที่ตลาดตาฉั่ว (มุมหนึ่งของชุมชน) ผมก็นึกออกทันที เพราะทุกปี ผมจะชอบไปดูงิ้วที่เขามาเล่นฉลองหน้าศาลเจ้า มีพิธีเทกระจาด แจกสิ่งของประจำปี ก็ที่ลานหน้าศาลเจ้า และลานแห่งนี้ยังเป็นสนามบาสเกตบอลที่ผมไปเล่นออกกำลังกายอยู่เสมอ


 


แต่ทำไมจึงมีชื่อว่า "โรงทอง" ติดไปด้วย ก็ได้รับคำสันนิษฐานว่า มีโรงทำทองรูปพรรณที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ที่ร้านห้องแถวเรือนไม้ ใต้ต้นมะขาม ชื่อว่า "ร้านต้นมะขามช่างทอง" ร้านนี้มีชื่อเสียงในการทำสายสร้อย และทองรูปพรรณต่าง ๆ จนต่อมาได้มาเปิดร้านสาขาที่บางกอกอีกด้วย


 


ที่นี่จึงมีชื่อว่า "ศาลเจ้าโรงทอง"


 


-6-


แม้ตลาด "ศาลเจ้าโรงทอง" จะเป็นชุมชนชาวจีนที่อพยพมาอยู่ มีศาลเจ้าเป็นที่เคารพบูชา แต่ชาวตลาดศาลเจ้าโรงทอง ก็มีวัดนางใน พุทธศาสนสถานที่เป็นที่ยืดเหนี่ยว "หลวงพ่อนุ่ม" เป็นพระที่คนในตลาดศาลเจ้าฯ ให้ความเคารพนับถืออย่างสูง เสมือนเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นและชุมชน


 


เมื่อแม่แต่งงานอยู่กินกับพ่อของผมที่เป็นครูบ้านนอก หลวงพ่อนุ่มก็แนะนำให้ประกอบสัมมาอาชีพ คือ ขายหนังสือเรียนและเครื่องเขียน ทำให้ลูกของแม่ทั้ง 3 คน ได้อานิสงส์ คือ คุ้นเคยกับหนังสือและรักการอ่านหนังสือ การเขียนหนังสือ มาจนถึงทุกวันนี้


 


คนในชุมชนตลาดศาลเจ้าฯ จะไปทำบุญ ฟังเทศน์ ที่วัดนางในทุกวันพระ และทุกเช้าจะมีพระสงฆ์จากวัดนางใน วัดสำโรง วัดเขียน และวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียง เดินแถวเข้ารับบิณฑบาตหลายสิบรูป ผ่านหน้าบ้านของผมทุกเช้า เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้ได้มีโอกาสเริ่มชีวิตประจำวันด้วยการตักบาตรทำบุญ


 


-7-


การเดินทางทางน้ำคือหัวใจของชุมชน เราจึงเรียกตลาดศาลเจ้าโรงทอง ด้านที่ติดแม่น้ำน้อยว่า "หัวตลาด" และด้านตรงข้ามที่มีวัดนางในอยู่ว่า "ท้ายตลาด" เจ้าของตลาดแต่ละแห่งก็คือเจ้าของท่าแต่ละท่า กล่าวคือ เจ้าของจะมีเรือนไม้ริมน้ำอยู่ติดท่าเทียบเรือของตน เป็นเจ้าของที่ดินและกิจการในตลาดส่วนของตน เจ้าของตลาดทั้ง 3 คน เป็นผู้มีอิทธิพล กว้างขวาง เป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง ตั้งเรือนอยู่หัวตลาด


 


ผมเกิดและโตในตลาดศาลเจ้าโรงทอง จึงได้รับรู้เรื่องราวว่าก่อนผมเกิดได้ไม่นาน (ย้อนหลังจากปัจจุบันประมาณ ๖๐ ปี) ดินแดนแทบแขวงเมืองวิเศษชัยชาญและสุพรรณบุรี มีไอ้เสือใหญ่ ที่เป็นที่รู้จักเลื่องลือคือ เสือฝ้าย เสือใบ เสือดำ และเสือมเหศวร ที่ยิ่งใหญ่ขนาดสามารถปิดล้อมปล้นตลาดสำคัญๆ ในแถบนี้ได้ เจ้าของตลาดจึงต้องเป็นผู้มีอิทธิพล บารมี ไม่แพ้ไอ้เสือทั้งหลาย


 


ในที่สุด ทางราชการได้ส่งกองปราบ นำโดยร้อยเอกยอดยิ่ง เข้าปราบปราม จับเป็น แต่จับตายเป็นส่วนมาก หากเป็นนางโจรก็จะถูกบังคับให้เอามือล้วงเข้าไปในตะข้องที่ขังงูพิษ แต่ถ้าเป็นไอ้โจรก็จะถูกยิงตาย


 


จะเป็นด้วยความบังเอิญหรือไม่ เจ้าของตลาดผู้มีอิทธิพลก็ถูกลอบสังหารที่โรงหนัง ขณะกำลังเข้าดูการแสดง


 


ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เมื่อผมยังเล็กอยู่จำได้แต่เพียงว่า เมื่อพายเรือ หรือลงเล่นน้ำในแม่น้ำ นอกจากจะต้องระวังปลาปักเป้าที่มีอยู่ชุกชุมเหมือนปลาอื่นๆ แล้ว ยังต้องระวังศพที่ลอยมาตามน้ำ ศพหมาเน่าก็มีให้เห็นบ่อยๆ แต่ที่พบหลายครั้งก็คือ ศพคนตายที่ลอยมาตามลำน้ำ ซึ่งยากจะรู้ได้ว่าเขาลอยมาจากที่ใด นานแค่ไหน? และเป็นใคร?


 


-8-


ศาลเจ้าโรงทอง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอวิเศษไชยชาญ ที่มีตำนานเล่าขานอย่างภาคภูมิใจในความกล้าหาญของคนท้องถิ่นแห่งนี้ ที่เคยอาสาและถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่พลรบกับพม่า ประวัติของนายดอก นายทองแก้ว วีระบุรุษค่ายบางระจัน ถูกหยิบยกให้พวกเราภูมิใจตลอดมา


 


แม้หมู่บ้านชุมชนสี่ร้อย ที่อยู่ข้างเคียง ก็ได้รับขนานนามจากการที่คนชุมชนแห่งนั้นต้องไปรบทัพจับศึกกับพม่าจำนวน 400 คน และทั้งหมดพลีชีพเพื่อรักษาแผ่นดินเกิด จนได้รับการตั้งชื่อชุมชนเป็นที่ระลึกว่า "สี่ร้อย" ซึ่งยังปรากฏนามเป็นตำบลสี่ร้อย อยู่เคียงข้างตำบลศาลเจ้าโรงทอง


     


-9-


เมื่อหัวตลาดศาลเจ้าโรงทองเป็นแม่น้ำน้อย ท้ายตลาดก็เป็นคลองที่ใช้เดินทางลัดเลาะไปชุมชนอื่นได้ และในฤดูน้ำ ยังสามารถพายเรือในคลองเข้าไปยังนาข้าวได้ ลำคลองเหล่านี้จึงเป็นวิถีชีวิตดังเดิม ที่ชุมชนได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็นที่เสร็จจากธุระการงาน ผมนิยมพายเรือที่ท้ายตลาดเข้าไปในนาข้าว เก็บยอดผักบุ้ง เด็ดสายบัว ผักกระเฉด และเด็ดดอกโสน กินกับน้ำพริกที่เตรียมไปพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ และปลาทอด ผมไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่กินน่ะ คนเมืองกรุงเขาเรียกว่า "น้ำพริกลงเรือ" แต่เราก็เอร็ดอร่อยของเราในเรือจริงๆ


 


พอถึงฤดูแล้ง แผ่นดินท้องนาแห้งสนิท หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พวกเราก็จะออกไปเดินเล่นกลางทุ่ง ไปขี่จักรยานบ้าง เล่นว่าวที่มีหลากสีแต้มเติมฟ้าสีครามบ้าง ตกค่ำก็อาจจะดูหนังในโรงที่มีอยู่แห่งเดียวใกล้ๆ "ศาลเจ้า" อันศักดิ์สิทธิ์ หรือหนังกลางแปลงขายยาที่วัดนางใน


 


เรือนแถวไม้อันเก่าแก่ อยู่คู่ตลาดศาลเจ้าโรงทองมามากกว่าร้อยปี แม้จะปรับเปลี่ยนทางเดินจากถนนดินเป็นคอนกรีต แต่ก็ยังคับแคบไม่กว้างขวางเพราะเป็นถนนที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนเดิน แม้หลังคาคลุมถนนจะถูกลื้อออกไป แต่ลักษณะและบรรยากาศเก่าแก่ก็ยังคงอยู่ ร้านขายยาไทย ยาจีนเก่า ร้านกาแฟแก่ยังคงอยู่ เครื่องบดยาโบราณ กระป๋องและถุงผ้าใช้ชงกาแฟโบราณ ร้านข้าวต้มกุ๊ย ข้าวต้มเครื่องที่มีโต๊ะ จาน ชามตราไก่ ยังคงมีให้เห็น


 


เมื่อที่นี่มีข้าวใหม่ ปลามัน ไข่เป็ดใบใหญ่ มีไข่แดงสีแดงจัด ทั้งอาหารและขนมไทยๆ จากตลาดศาลเจ้าฯ ก็ขึ้นชื่อกระฉ่อนไปถึงเมืองกรุง


 



 


-10-


 


เพิ่งประมาณ 40 ปีมานี่เอง ถนนสายเอเชียถูกตัดผ่านอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ถนนเชื่อมจากจังหวัดอ่างทองไปสุพรรณบุรี ตัดผ่านท้ายตลาดศาลเจ้าโรงทอง ดึงดูดให้ชุมชนคนรุ่นใหม่ย้ายตึกอาคารร้านค้า บ้านช่องออกสู่ท้ายตลาด ริมถนน คนหนุ่มสาวเข้าเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ มากขึ้น


 


คลองท้ายตลาดถูกถม กลายเป็นถนนรอบวัดนางใน ต้นไม้ในวัดนางในถูกตัด เพื่อเอาที่ดินทำเป็นที่จอดรถและโรงแสดงมหรสพ ดนตรีสมัยใหม่ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เสาโทรทัศน์ตั้งสูงตระหง่าน แผงรับสัญญาณภาพบนหลังคาบ้านมีมากมาย ราวกับพระยาแมลงปอเต็มท้องฟ้า


 


สภาพท้ายตลาดปรับเปลี่ยนตามสมัยนิยม แต่ตลาดโบราณของศาลเจ้าโรงทอง ยังคงรักษาไว้ได้ ด้วยเหตุที่มีถนนแคบเป็นถนนคนเดิน รถวิ่งเข้าไม่ได้ จึงเป็นการแบ่งโซนชุมชนเก่า และชุมชนใหม่


 


ชุมชนเก่า คนแก่ของศาลเจ้าโรงทองยังคงรักษาเอกลักษณ์ของห้องแถวเรือนไม้เก่าแก่ ร้านค้าโบราณ ส่วนขนมไทยที่หากินได้ยากได้รับการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นลำเจียก สาลี่ บ้าบิ่น ถั่วตัด ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมกง ข้าวตู และกระยาสารท


 


ทุกวันจะมีปลาจากแม่น้ำหลากชนิด ปลาแห้ง ผักทุกชนิด ผลไม้พื้นบ้าน ที่ชาวบ้านใกล้เคียงนำมาขาย บอกถึงความอุดมสมบูรณ์


 


นักท่องเที่ยว นักอนุรักษ์ และผู้ชอบของเก่า ชอบบรรยากาศเก่าๆ ขนมไทยๆ โบราณ เริ่มสนใจแวะเวียน มาซึมซับอดีตของตลาดโบราณที่หาได้ยาก สื่อมวลชนเริ่มแพร่ภาพ เขียนบทความให้ข้อมูลแก่คนทั่วไป


 


-11-


 




 


แต่แล้ว วันแห่งความทุกข์ยาก ที่น่าสะพรึงกลัวก็มาถึง จะเป็นที่ความประมาท เลินเล่อ คราวประสบเคราะห์ หรืออย่างไร คืนวันที่ 5 ธันวาคมต่อเช้าตรู่ ราวตี 2 เศษๆ ของวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ห้องแถวเรือนไม้ในตลาดเหนือ ลุกลามด้วยลมฤดูหนาว พัดจากเหนือลงใต้ พาเปลวเพลิงมาติดเรือนไม้ตลาดกลางบ้านของผม แล้วไฟยังลามเลีย ไหม้ไปถึงเรือนไม้ตลาดใต้เป็นวงกว้าง


 


แม้ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ จะคอยระมัดระวังเรื่องไฟไหม้มาตั้งแต่ผมยังเด็ก แต่ความไม่พร้อมด้วยเครื่องมือดับเพลิง น้ำดับไฟ แม้ใจของคนตลาดศาลเจ้าโรงทองจะพร้อมอย่างไร ก็ไม่อาจรักษาเรือนไม้โบราณกว่า 100 ปีไว้ได้ คงรักษาได้แต่ชีวิตของคนศาลเจ้าโรงทองที่ไม่สูญเสียเลยแม้สักคนเดียว


 


หลังเกิดเหตุ ไฟเผาไหม้บ้านเรือนเป็นจุณ


 


บ้านไม้เก่าแก่ อันเป็นสถานที่เกิด อาศัย และที่แม่เคยใช้ประกอบอาชีพถูกเผาไหม้ไปสิ้น แม้แต่เสาบ้านก็ยังไม่มีเหลือ ผมยืนดูด้วยความหมดอาลัย นึกถึงป้าย "ร้านประชาบาล" นึกถึงลายฉลุแบบลายกนกที่เป็นช่องลมเหนือประตู เพี้ยมไม้สักผืนใหญ่ของบ้าน นึกถึงแจวเรือของพ่อที่แม่เก็บเอาไว้ แจวอันนี้ "ครูสะเทื้อน" พ่อของผม เคยใช้แจวเรือรับส่งนักเรียนมาโรงเรียน และเมื่อสอนเสร็จตอนเย็นก็แจวเรือกลับไปส่งบ้าน


 


ผมเคยคิดจะเอาป้ายร้าน และแจวมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกที่บ้านกรุงเทพฯ แต่ด้วยความต้องการให้สิ่งของมีค่าเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นสมบัติร่วมของตลาดโบราณ จึงไม่ได้ดำเนินการ


 


นึกแล้วยังใจหาย ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ไม่ควรจะจบแค่เพียงเป็นตำนานเล่าขานถึงตลาดโบราณของสังคมไทย แต่น่าจะถือวิกฤติเป็นโอกาส ที่คนวิเศษไชยชาญจะต้องพร้อมใจกันระดมสติปัญญา มีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริงในการฟื้นฟูชีวิตตลาดศาลเจ้าโรงทองให้มีความหมาย


 


มิใช่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือเป็นอนุสรณ์แห่งความหลัง แต่เพื่อให้คนในชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ อยู่เย็นเป็นสุข สมชื่อของ "ศาลเจ้าโรงทอง" และ "วิเศษไชยชาญ" อ่างทอง สืบไป


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net