Skip to main content
sharethis


 


วันที่ 4 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 6 นับเป็นวันที่มีสีสันความเคลื่อนไหวมากที่สุดวันหนึ่ง เมื่อประชากร 3 ใน 4 ของโลกลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิ์


 


กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทุกกลุ่มประกอบไปด้วย G-20 (ประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าเกษตร นำโดย บราซิล, อินเดีย) G-33 (ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการให้มีสินค้าที่ต้องการมาตรการปกป้องพิเศษเพื่อดูแลภาคเกษตรในประเทศ นำโดย ฟิลิปปินส์) และ G-90 (ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด-LDC ในทวีปแอฟริกา แปซิฟิค และแคริบเบียน) ได้แถลงข่าวร่วมกันระบุว่า การพัฒนาของประเทศต่างๆ ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วย "ชุดข้อเสนอการพัฒนา" (Development Package) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกลไกอื่นๆ ด้วย


 


ประเทศกำลังพัฒนาที่รวมกันครั้งนี้ นับเป็นประชากร 3 ใน 4 ของโลก ที่แสดงความไม่พอใจชุดข้อเสนอการพัฒนา (Development Package) ที่ประเทศพัฒนาแล้วพยายามนำเสนอเพื่อจูงใจให้การเจรจารอบโดฮาจบลงได้


 


รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อคืนนี้ (15) ในการประชุมห้องเขียว กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ได้ปะทะคารมกับ นายร็อบ พอร์ทแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐ อย่างยาวนานหลายชั่วโมง โดยกลุ่มประเทศ LDC ไม่พอใจที่เหมือนถูกหลอกจาก "ชุดข้อเสนอการพัฒนา" ในประเด็นการไม่จำกัดโควต้า และไม่เก็บภาษีสินค้าจากประเทศ LDC เพราะแท้จริงในข้อเสนอของสหรัฐฯ ให้โควตาฟรีเฉพาะบางประเทศเท่านั้น และยังสงวนสิทธิขอเก็บภาษีกับสินค้าบางประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศดังกล่าว


 


ในส่วนของการเจรจาการค้าบริการ (GATS) จากเดิมร่างของประธาน ในภาคผนวก ซี (Annex C) เป็นไปตามข้อเสนอของสหรัฐและสหภาพยุโรปที่ให้มีความผูกพันขั้นต่ำของทุกประเทศสมาชิกในการเปิดการค้าเสรี (complementary approach) และเปิดโอกาสให้มีการยื่นข้อเสนอให้เปิดภาคบริการแบบ plurilateral  นั่นคือให้กลุ่มประเทศยื่นข้อเสนอให้ประเทศนั้นๆ เปิดภาคบริการ ซึ่งเป็นการบังคับให้ทุกประเทศสมาชิกเปิดเสรีภาคบริการไม่ว่าจะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม


 


วันนี้ (16) มีข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆที่น่าสนใจ โดยกลุ่ม G-90 (ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด-LDC ในทวีปแอฟริกา แปซิฟิค และแคริบเบียน) เสนอเนื้อหาทางเลือก เพื่อแก้ไข ภาคผนวก ซี (Annex C) แต่ยังถูกประธานเก็บข้อเสนอนี้ ไม่เผยแพร่ต่อประเทศสมาชิก ทำให้กลุ่ม G-90 ไม่พอใจอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เวเนซูเอล่า แอฟริกาใต้ และเคนย่า เสนอให้ตัด ภาคผนวก ซี (Annex C) ทิ้งไปเลย


 


ทางด้านนายปีเตอร์ แมนเดอร์สัน ผู้แทนสหภาพยุโรปออกมาแถลงข่าวตอบโต้ว่า ท่าทีของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กำลังทำให้การเจรจาถอยหลัง


 


วันนี้ในศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง ยังคงมีการประท้วงที่มีสีสันเช่นเคย โดยเครือข่าย "โลกไม่ได้มีไว้ขาย" ได้จัดแสดงละครสั้นเรื่อง ปาสคาล ลามี่ และ กล่องของพ่อมด โดยผู้แสดงเป็น นายปาสคาล ลามี่ ผู้อำนวยการ WTO จะคอยเสกสิ่งต่างๆ ให้กับบรรษัทข้ามชาติตามต้องการ ทำให้ประชาชนคนยากจนทั่วโลกไม่พอใจ แย่งคาถามาเสกเป่าจน ผู้อำนวยการ WTO กลายเป็นกบ


 


ขณะที่บริเวณสวนวิคตอเรีย มีการจัดตั้งศาลจำลองเพื่อพิพากษาคดีที่กลุ่มผู้หญิงจากทั่วโลกเรียกร้องให้เอาผิดองค์การการค้าโลก โดยผู้พิพากษาทั้ง 5 คน ได้ฟังคำให้การของผู้หญิงจากกลุ่มต่างๆ ก่อนที่จะมีคำพิพากษาด้วยเสียงเอกฉันท์ว่า WTO มีความผิด ที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิง ทำให้ผู้หญิงอดอยาก ตกอยู่ในภาวะทุพภิกภัย ใช้เทคโนโลยีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง บีบบังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นโสเภณี เพราะชีวิตไม่มีทางเลือก เมื่อต้องตกอยู่ในความยากจนและถูกไล่ออกจากที่ดินตัวเอง นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาว่า WTO ได้ละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจของสหประชาชาติอีกด้วย


 


จากนั้นกลุ่มผู้หญิงกว่า 500 คนได้เดินขบวนถือป้าย Women say no to WTO มุ่งหน้าไปยังศูนย์ประชุมเพื่อบอกกล่าวคำพิพากษาต่อการประชุมที่กำลังดำเนินอยู่


 


นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมจากสหภาพแรงงานเกาหลีได้เดินทางไปยังสถานกงสุลเกาหลีใต้และสถานกงสุลสหรัฐฯในเกาะฮ่องกง โดยผู้ชุมนุมได้ไปปาไข่ใส่ และพ่นสีกาฟีตี้ประณามสหรัฐที่ตึกของสถานกงสุลสหรัฐฯ ว่า Down Down WTO และ No Bush ผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจเล็กน้อย แต่ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม


 


วันนี้ ณ จุดหวงห้ามของศูนย์ประชุม ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเดินประท้วงเข้ามาใกล้สถานที่ประชุมมากที่สุดบนถนนฮาร์เบอร์ มีชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งได้นั่งอดข้าวประท้วงตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกา เพื่อเป็นการแสดงความสมานฉันท์กับคนทุกข์ยากจากการค้าเสรีทั่วโลก โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงเลิกกำหนดเขตพื้นที่หวงห้ามเพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความกังวลของพวกเขาที่มีต่อข้อตกลงของ WTO และขอให้ WTO เอาการเกษตรและการประมงออกจากการเจรจา เพราะอาหารเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไม่ควรเอาความจำเป็นของคนไปค้ากำไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net