Skip to main content
sharethis


   


  



15 ปีของการต่อสู้เรื่อง ป่าชุมชน กำลังมาสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านจากหลายพื้นที่มาปักหลักอยู่ที่รัฐสภา 2 กลุ่ม เพื่อกดดันให้มีการบรรจุวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ผ่านชั้นกรรมาธิการร่วมฯ โดยเร็วก่อนหมดสมัยประชุมนิติบัญญัติในวันที่ 19 ธ.ค.นี้


 


กลุ่มหนึ่ง-กลุ่มใหญ่ คาดหัวด้วยผ้าเขียวมาเปิดเวทีอภิปรายกันหน้ารัฐสภาอย่างดุเดือด "เราต้องรักษาป่าต้นน้ำไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต พี่น้องครับ เราต้องแสดงพลังสนับสนุน พ.ร.บ.ป่าชุมชนของกรรมาธิการร่วมฯ กำหนดเขตอนุรักษ์พิเศษ ป่าต้นน้ำสุดท้าย ไม่ให้ใครหน้าไหนอ้างเป็นป่าชุมชนเอาป่าไปทำปู้ยี้ปู้ยำ" คำกล่าวตอนหนึ่งของผู้นำที่ขึ้นไฮด์ปาร์ค


 


กลุ่มหนึ่ง-ชาวบ้าน 99 คนที่เดินเท้ามาจากเชียงดาว 35 วันเต็ม ส่วนใหญ่เป็นชาวปกากญอจากแดนเหนือ มานั่งพักปักหลักอยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ "เราถูกยึดเวทีหน้าสภาไปแล้ว ตอนนี้ฝั่งนู้นแรงมาก เห็นมีกินเหล้ากันด้วย เราไม่อยากปะทะ ต้องหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด เพราะเราเดินภาวนามาตลอดทาง มาโดยสันติวิธี" 1 ใน 99


 


นี่คือสภาพการณ์วันที่ 13 ธ.ค. วันแรกที่ชาวบ้านออกมาแสดงพลัง "ประชาไท" ได้วิ่งลอกพูดคุยกับชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม ทำให้มองเห็นแง่มุมบางอย่าง


 


ก่อนจะมีข่าวว่าม็อบหน้ารัฐสภาเป็นม็อบจัดตั้งของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเกณฑ์คนจากอุทยาน 121 แห่งมาเสริมในการชุมนุมวันที่ 2 ก่อนที่รายการฮิต "ถึงลูกถึงคน" จะจับชาวบ้าน-ยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรฯ มาคุยกันอย่างถึงพริกถึงขิงในคืนวันที่ 14 ธ.ค.


 


 


กลุ่มคาดหัวเขียวหน้ารัฐสภา


 



แม่ลัน ทองทา - เดินมาทักนักข่าวว่าเป็นยังไงบ้าง จึงถูกสัมภาษณ์


ชาวบ้าน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา


 


"มาครั้งนี้ไม่อยากให้ไปทำลายป่า อยากให้สงวนป่าอนุรักษ์ไว้อย่ามาทำเป็นป่าชุมชน ที่พะเยาก็มีที่ทำป่าชุมชน แต่เขาไม่เอาป่าอนุรักษ์มาทำ ส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรมเอามาฟื้นฟู ปลูกหญ้าแฝก ปลูกไม้ปลูกง่าย เพราะป่าเปรียบเสมือนซูเปอร์มาเก็ต ถ้าเป็นป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านไปหาเห็ด หาหน่อไม้ หาของป่าได้ มันไม่ผิดกฎหมาย แต่อย่าไปทำลายตัดต้นไม้ อย่างที่บ้านแม่นี่ผักหวานกับไข่มดแดงนี่อันดับหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไร เพราะเราไม่ได้ไปล้มไม้"


 


"ถ้าเป็นป่าชุมชนที่เราร่วมกันรักษาไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นป่าชุมชนเราตัดปัญหามันจะเกิด แล้วกฎหมายมันจะออกมาว่าถ้าให้ชุมชนอนุรักษ์ อย่าตัดไม้ทำลายป่า ก็อยากให้เป็นอย่างนี้ ถ้าหากให้ อย่าทำลาย เพราะมันมีอยู่ 2 อย่าง ตรงไหนถ้าป่ามันเป็นธรรมชาติมาก ต้นไม้ใหญ่มันเยอะ พ่อค้ากับเจ้าหน้าที่ก็จะไปรื้อมาขายกัน ชาวบ้านมันไม่มีสิทธิ์ที่จะไปว่า ถ้ากฎหมายออกมาอย่างนี้ชาวบ้านมีสิทธิห้ามได้"  


 


"กฎหมายก็กำลังจะออกอยู่นี่แหละ แต่ให้เป็นเจ้าของร่วมกัน อย่าเอาให้ผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะคราวก่อนที่พวกบนดอยเข้ามากรุงเทพฯ คราวที่แล้ว เขาก็จะเอาของเขาไง แต่เราไม่ให้ มันต้องช่วยกันรักษา ถ้าราชการร่วมมือกับชาวบ้านมันก็จะไปกันได้ เพราะกฎหมายรองรับเรา ถ้าผู้ที่ดูแลไปทำลายมันฟ้องเขาได้ ตอนนี้มันฟ้องไม่ได้มันไม่มีกฎหมาย"


 


"ปัญหาคนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์อยู่ก่อนนะเหรอ จะอยู่ก็ให้เขาอยู่ เขาอยู่อยู่แล้ว ดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องไล่เขาก็ได้ แต่อย่าขยายมา อย่าไปทำลายอีก เพราะบางคนมันไม่อยู่ที่เก่ามันทำไร่เลื่อนลอย ถ้าเรามีขอบเขตให้เขา เขาก็ทำอยู่ที่เดิม"


 


เครือวัลย์ ใจอารีย์   - เปิดสมุดเพื่อดูโน้ตที่จดไว้ หลังจากถูกถามว่า มาเพื่ออะไร


 


บ้านเด่นตะวันใต้ ต.สบเตียะ อ.อมทอง จ.เชียงใหม่


 


"เรามาคัดค้านป่าต้นน้ำมาทำเป็นป่าชุมชนนะคะ เพราะคนบนดอยเขาจะเอาป่านี้เป็นป่าส่วนตัว เป็นที่อยู่ของเขา แล้วเขาทำให้ต้นน้ำเสียหาย ไม่มีต้นไม้ดูดน้ำ ฝนตกน้ำก็ทะลักลงมาข้างล่าง ปลูกพืช ปลูกกะหล่ำอย่างนี้ ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงเยอะ ทำให้น้ำข้างล่างเสียหาย"


 


"ถ้าเป็นไปได้ก็ควรย้ายชุมชนบนเขาลงมาอยู่ข้างล่างไปเลย ให้มาอยู่เท่าเทียมกันกับคนพื้นล่าง เพราะมาทำป่าชุมชนข้างล่างมันไม่ใช่ต้นน้ำ มันเป็นป่าธรรมดา"


 


 


 


 


สว่าง วิญญา   - นั่งอยู่กับกลุ่มชาวบ้านค่อนข้างมีอายุอีกฝั่งหนึ่งของถนน


ชาวบ้าน ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่


 


"เราอยากให้ป่าต้นน้ำมันอยู่เหมือนเดิม แล้วก็ให้ชาวเขาดูแลก็ได้ ชาวเราดูแลก็ได้ ให้มันเป็นสมบัติร่วมกัน ไม่ต้องยกให้ใคร ดูแลร่วมกัน ทุกวันนี้ที่ป่าบ้านพ่อถูกตัดมาต้นเท่านี่ (ทำมือประกอบกว้างประมาณ 2-3 ฟุต) แล้วเจ้าหน้าที่ถูกจับไหม ไม่ถูกจับหรอก กฎหมายมันยุติธรรมไหม แล้วตาสีตาสาอย่างพ่อมีสิทธิไหม เราเป็นคนไทยเหมือนกัน"


 


"ที่เขาว่าชาวเขาทำลายป่านี่มันก็จริง ปี 2503 นี่ป่ามันยังสมบูรณ์อยู่เลย ตอนนี้ไม่มีแล้ว ไม้ขนาดสองคนโอบสามคนโอบไม่มีแล้ว พวกเจ้ารัฐพวกชาวเขานั่นแหละ"


 


"กฎหมายป่าชุมชนอยากให้ทำได้ แต่ว่าชาวเขาต้องกำหนดให้อยู่ชัดเจนห้ามขยาย แล้วก็ให้เขาช่วยดูแลได้ แต่ที่สำคัญไม่อยากให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามายุ่ง เพราะที่ผ่านมาเราเห็นเต็มตาแต่เราพูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว แม้แต่นายอำเภอก็แตะไม่ได้"


 


"นี่ชาวบ้านก็เพิ่งต่อสู้กับการไม่สร้างรีสอร์ตในพื้นที่ป่าอินทนนท์ของผู้มีอำนาจ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ป่าจะเหลือเหรอ มันก็ควรต้องช่วยกันดูแล พื้นที่ป่าที่สำคัญๆ ก็ต้องดูแลร่วมกันทั้งประเทศ ทั้งชาวเขาชาวเรา แต่ไม่ไว้ใจรัฐแหละ ที่ผ่านมาเราก็ต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เราต้องรักษาป่าไว้ให้ลูกหลาน"  


 


 


กลุ่มธรรมชาติยาตรา


เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ


- นั่งนวดเท้าริมฟุตบาท เพราะร่วมเดินมากับขบวนตั้งแต่วัดดอนเมือง และเคยร่วมเดินกับชาวบ้านในช่วงจังหวัดพิษณุโลกราว 40 กม.


 


"ธรรมชาติยาตราครั้งนี้ตั้งเป้าจะสื่อสารกับสังคม โดยทุกคนก็รู้ว่าพอพูดเรื่องป่าชุมชนมันเหมือนวิ่งชนกำแพง คือ มันไม่ใช่เรื่องของใครจะดูแลรักษาป่าเท่านั้น แต่เหตุผลข้างหลังลึกๆ คือ รัฐไม่ยอมกระจาย อำนาจ ผลประโยชน์แลรายได้ เอาง่ายๆ อนุญาตให้เกาะช้าง เกาะพีพี เขาใหญ่ ทำรีสอร์ต ทั้งที่ถ้าเป็นป่าชุมชนนายทุนจะมีที่ในป่าเป็นร้อยเป็นพันไร่ได้ไหม ไม่ได้หรอก"


 


"นี่ชาวบ้านเดินมาเกือบ 900 กิโล เพื่อนยังไม่มาแยแส มาดูแลเลย มันน่าจะมาจับเข่าคุยกันว่าเป็นยังไงบ้าง เดินมา 900 กิโล มันน่าจะมาพลิกดูมือดูตีนหน่อยว่าชาวบ้านเป็นยังไง ไม่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน แต่บางคนก็บอกสมน้ำหน้า ไปเลือกเขาเข้ามา"


 


"สังคมเข้าใจเรื่องป่าชุมชนยาก เพราะอะไร เพราะสังคมทั้งสังคมก็เรียนหนังสือมาว่าชาวบ้านทำลายป่า ชาวเขาทำลายป่า ฉะนั้น ชาวบ้านเห็นพวกเราเดินมาก็ว่ามาม็อบ ก่อความวุ่นวาย เป็นพวกต่างด้าวมาขอสัญชาติ ว่าไปเรื่อย มองด้วยความไม่เข้าใจ"


 


"ป่าที่พูดถึงนี่ชาวบ้านเขาดูแล ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายเลย จะเรียกว่าไปยกป่าให้เขาได้ยังไง รัฐต่างหากไปเอาของเขามา กฎหมายป่าชุมชนนี้คือคืนสิทธิให้เขาดูแลอย่างเดิม แล้วกฎหมายมาตราไหนกันที่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ ไม่มี มีแต่ให้มีสิทธิดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลยั่งยืน มันก็เหมือนทรัพย์สินส่วนรวมที่อยู่ในตำบลหมู่บ้านไหน ที่นั่นก็ต้องดูแล"


 


"จริงๆ ต้องตั้งคำถามกับคนกรุงเทพฯ ให้มากว่า เมื่อไหร่จะหยุดบริโภค ที่กดดันให้คนชนบทต้องเร่งล้างผลาญทรัพยากร ดูซิบ้านใหญ่ๆ ปูนมาจากไหน ระเบิดภูเขาไหม เสาบ้าน 20-30 ต้นใช้ไม้เท่าไหร่ บ้านชาวบ้านก็แค่เล็กๆ ชาวบ้านใช้ไม่หมดหรอก ใช้ครึ่งเผาครึ่งก็ยังเทียบกับที่คนเมืองใช้ไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่ฟุ่มเฟือย ป่าเรามีไว้ให้คนไทยใช้มันไม่หมดหรอก ที่สำคัญคือมีไว้ขายนี่แหละ มีไว้ส่งไปอเมริกา"


 


สรศักดิ์ เสนาะพงไพร (รูป) - นั่งนวดเท้า และจดบางอย่างในสมุดโน๊ตขะมักเขม้น


ชาวปกากญอ จากอ.สะเมิง จ.เชียงใหม่


 


"เดินธรรมชาติยาตราในร่างกายเรามันเจ็บมันปวด มันเหนื่อยล้าในช่วงแรกๆ เป็นอาการทางกายภาพ แต่ว่าจิตใจเรานิ่ง เราศึกษาอะไรมากขึ้น มีความตั้งใจภาวนาไม่คิดอกุศล เรายังเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าฟ้า แม่ธรณี ซึ่งคนละเลยตรงนี้ ละเลยมิติธรรมชาติ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งอาจทำให้เขาลืมไป การมาครั้งนี้ก็เป็นการบอกอีกมิติ อีกมุมมองหนึ่ง ที่ผ่านมาเราคุยกับรัฐมนตรี ส.ส. ว่ากันด้วยตรรกะ แต่ว่าความรู้สึก ความเป็นคนมันไม่มี ความเป็นพี่เป็นน้อง คุยด้วยจิตใจที่แท้จริงไม่มี แล้วเราหวังจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ในสังคม"


 


"ส่วนตัวแล้วพ.ร.บ.ป่าชุมชนนี้ เรามายืนยัน อยากให้ส.ส.ที่เคยยกมือผ่านพ.ร.บ.นี้ 341 เสียง ผ่านมา 2 ครั้งแล้ว ไม่อยากให้การยกมือ 2 ครั้งของส.ส.สูญเปล่า  เฉพาะฉบับที่ถูกแก้ไขโดยกรรมาธิการร่วมนี้ อำนาจเบ็ดเสร็จไปอยู่ที่รัฐมนตรีมากไป เรายอมรับไม่ได้ในฐานะที่เป็นผู้เสนอกฎหมายคนหนึ่ง"


 


"กระทบยังไง ง่ายๆ เลยก็คือ กฎหมายนี้ใช้ทั่วประเทศ ถ้าคนใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในทางที่ไม่ชอบ ก็จะทำให้พี่น้องที่ไม่มีโอกาสเสนอกฎหมายทะเลากับคนที่เสนอกฎหมายว่า พวกคุณเสนอกฎหมายไม่ดี ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้เสนอแบบนี้"


 


"เหตุผลที่มีเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษเข้ามาในพ.ร.บ.นี้ มันมีเหตุผลอยู่ว่า  หน่วยงานที่เคยดูแลจะได้งบประมาณน้อยลง ถ้าให้จัดตั้งป่าชุมชนได้ ก็ต้องถ่ายโอนงบประมาณมาให้อบต. อบจ.ดูแล  แล้วถ้าจัดตั้งป่าชุมชนได้มาก มีตัวอย่างที่ดีเกิดขึ้นมาก มันก็จะยิ่งเห็นด้านไม่ดีของราชการ มีการคอร์รัปชั่นที่ไหน มีการย่ำยีป่าที่ไหนโดยรัฐ ก็จะถูกเปิดเผย แต่ตอนนี้ชาวบ้านเขาพูดไม่ได้"


 


"แล้วถ้าเขตอนุรักษ์พิเศษนี้เข้ามาในพ.ร.บ.จริง ก็จะกระทบเรื่องการมีส่วนร่วมดูแล้วคงยากจะเกิดขึ้นจริง แล้วความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรทุกวันนี้มันก็รุนแรงอยู่แล้ว แล้วชาวบ้านในป่าก็จะถูกดำเนินคดีมากขึ้น ต่อมาคือ ผลกระทบในด้านความรู้สึกของชาวบ้าน เมื่อกฎหมายที่ชาวบ้านเสนอถูกแก้เละเทะอย่างนี้ ความเชื่อมันศรัทธาในรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิชุมชนก็จะเสื่อมและจะน้อยลง"


 


"นอกจากนี้ที่ผ่านมาเรามีกฎหมายว่าด้วย ดิน น้ำ ป่า แยกจากกันชัดในเชิงการบริหาร แต่ว่าสิ่งเราเหล่านี้มันสัมพันธ์กัน เราก็ว่าน่าจะเสนอกลไก เครื่องมือที่สัมพันธ์กันได้ แล้วก็เอื้อต่อการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนได้ มากกว่าการมากดดันใครคนใดคนหนึ่ง เราจึงเสนอว่ากฎหมายน่าจะมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วให้ทุกภาคส่วนของภาครัฐมาคุยกัน ถกเถียงกัน โดยที่ไม่มีตำแหน่งหรือสังกัดค้ำคอ เป็นการแก้ปัญหาที่ระบบ ปรับปรุงกฎหมายที่ไม่สอดคล้อง"


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net